ทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย… ทวงได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ห้ามข่มขู่ ห้ามคุกคาม ห้ามดูหมิ่น และอีกหลายข้อห้าม จาก พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ที่ 'เจ้าหนี้' ต้องรู้!

กลายเป็นกระแสสนั่นโซเชียล จนลามสะเทือนเป็นข่าวทั่วประเทศ หลังจากเพจ 'อยากดังเดี๋ยวจัดให้' โพสต์รูปป้ายของคุณป้าคนหนึ่ง (ภายหลังชาวเน็ตเรียกว่า 'แม่ปูนา') ที่ติดกลางห้าง ซึ่งมีข้อความบนป้ายว่า "ได้โปรดเมตตา คืนเงินค่าสินค้าให้เราด้วยเถอะ เงิน 284,400 บาท สำหรับบางคนอาจจะไม่เยอะ แต่สำหรับครอบครัวเรา มันคือลมหายใจ 4 ชีวิต" พร้อมกันนั้นยังได้แปะรูป 'จั๊กกะบุ๋ม' ดาราตลกที่ป้ายอีกด้วย

หลังจากกระแสโหมกระหน่ำมากขึ้น ฝ่ายจั๊กกะบุ๋มได้ออกมาเคลื่อนไหว พร้อมดำเนินการแจ้งความต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าตนนั้นไม่ได้หลบหนี หรือมีเจตนาเบี้ยวหนี้แต่อย่างใด

ทำให้ชาวโซเชียลสงสัยว่า หากเป็นหนี้จริงจะไปแจ้งความเพราะเหตุใด ทำไมไม่ใช้หนี้ แบบนี้เจ้าหนี้ก็มีแต่เสียหาย ส่วนชาวโซเชียลบางส่วนมองว่า การกระทำของคุณป้าผิดกฎหมาย เหมือนเป็นการประจานคนอื่น

แล้วสุดท้าย… เจ้าหนี้ต้องทวงหนี้ หรือปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะไม่ผิดกฎหมาย? 

ข้อสงสัยนี้นำพาให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ต่อสายตรงพูดคุยข้อกฎหมายกับ 'นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง' อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช). พร้อมเปิดข้อกฎหมาย พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 และถือยกเคสนี้เป็น 'กรณีศึกษา' เรื่องการทวงหนี้ 

...

เปิด พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 : 

นายโกศลวัฒน์ ระบุว่า โดยหลักการแล้ว เป็นหนี้ก็ต้องใช้ เจ้าหนี้มีสิทธิ์ทวงหนี้ได้ แต่ก็ต้องระวัง เพราะการทวงหนี้มีกฎหมายกำกับอยู่  ยกตัวอย่างเช่น ห้ามทวงเกินวันละกี่ครั้ง อย่างการโทรไปทวงหนี้ก็ถือเป็นการทวงแล้ว 1 ครั้ง เขาจะมีกำหนดในรายละเอียดไว้เลย อย่างเช่นโทรศัพท์หาลูกหนี้แล้วเขารับ เจ้าหนี้พูดทวงอย่างชัดเจน แบบนี้ก็นับเป็น 1 ครั้ง 

เอาล่ะครับคุณผู้อ่าน เรามาลองดูตามข้อกฎหมาย ขยายความกันสักหน่อยดีกว่าว่า 'ทวงหนี้อย่างไรถึงจะถูกกฎหมาย' เรื่องนี้เราคิดว่ารู้ไว้ก็ดีนะครับ จะได้เป็นเกราะป้องกันตัวเองไว้ เผื่อวันหนึ่งคุณกลายเป็น 'เจ้าหนี้' จะได้ไม่ทำผิดกฎหมาย

*หมายเหตุ* ข้อความด้านล่างไม่ได้พิมพ์ตัวอักษรตามกฎหมายเป๊ะๆ แต่เป็นการย่อยความให้เข้าใจง่ายขึ้น

เรื่องนี้เราต้องไปดูเนื้อหาในกฎหมายที่มีชื่อว่า พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ลองไล่อ่านมาเรื่อยๆ แล้วจะพบ แนวปฏิบัติและวิธีการทวงถามหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 8 และ มาตรา 9 โดยแต่ละมาตรามีข้อบัญญัติ ดังนี้

เริ่มกันที่ มาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการดังกล่าว

การติดต่อกับบุคคลอื่นนอกจากบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบถาม หรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้นโดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

สรุปจุดนี้ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ห้ามเจ้าหนี้ติดต่อทวงหนี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ นอกจากจะมีคนที่ลูกหนี้ระบุไว้ให้ติดต่อ หรือเจ้าหนี้จะติดต่อคนอื่นก็ได้ แต่ต้องแค่สอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ 

ถ้าพอจะเข้าใจแล้ว เราไปดูกันต่อว่า 'ผู้ทวงถามหนี้' ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร!!!

เริ่มกันที่ข้อแรก ผู้ทวงถามหนี้ ต้องแจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ 

...

ข้อที่สอง ห้ามแจ้งความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลอื่นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และถ้าบุคคลอื่นดังกล่าวถามสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้เท่าที่จำเป็น 

ข้อต่อมา ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมาย หนังสือ หรือสื่ออื่นใดที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ และข้อสุดท้ายในมาตรา 8 ที่ควรรู้ คือ ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้

วิธีการทวงหนี้ที่ถูกกฎหมาย! : 

เข้าสู่ มาตรา 9 ของ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 บทบัญญัติในข้อนี้กำหนดขึ้นเพื่อจะบอกว่า ถ้าเจ้าหนี้จะทวงหนี้ต้องมีวิธีการอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่อง สถานที่ติดต่อ เวลาติดต่อ และจำนวนครั้งที่สามารถติดต่อได้

เริ่มกันที่ข้อ 1 สถานที่ติดต่อ กรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อสถานที่ที่ลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ 

...

แต่… ถ้าลูกหนี้ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า หรือสถานที่ที่แจ้งไว้ติดต่อไม่ได้ และเจ้าหนี้พยายามติดต่อแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงาน หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

ข้อที่ 2 เป็นเรื่องของ เวลา ไม่ว่าคุณจะติดต่อผ่านบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ต้องติดต่อใน วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 น. ถึง 20.00 น. ส่วนถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ให้ติดต่อช่วง 08.00-18.00 น. แต่ถ้าไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้ หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อในช่วงเวลาอื่นตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด 

ส่วนข้อที่ 3 จำนวนครั้งที่ติดต่อ ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และข้อสุดท้ายที่ถูกบัญญัติไว้ใน มาตรา 9 ก็คือ ถ้าเจ้าหนี้ให้คนอื่นไปทวงหนี้แทน ให้คนคนนั้น แจ้งชื่อ นามสกุล หรือหน่วยงานของตนเองและเจ้าหนี้ และถ้าเป็นการทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานมอบอำนาจการทวงจากเจ้าหนี้ด้วย

...

เจ้าหนี้ทวงหนี้ได้แค่วันละ 1 ครั้ง :

มาแวะดูตรงนี้กันสักนิด! สืบเนื่องจากข้อ 3 ของมาตรา 9 คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ประกาศไว้ว่า กำหนดให้เจ้าหนี้สามารถทวงหนี้ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง หากฝ่าฝืนมีโทษทางปกครองตามมาตรา 34 นั่นก็คือ… ปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

แต่ แต่ แต่!!! โทษยังไม่หมดเท่านั้น มีประกาศต่ออีกว่า ถ้าฝ่าฝืนเวลาทวงหนี้ (ข้อ 2 มาตรา 9) มีโทษปรับ 100,000 บาท และต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น ถ้าคุณดันไปทวงกับคนอื่นที่ลูกหนี้ไม่ได้บอกไว้ เสี่ยงโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท

แล้วการทำแบบไหนถึงจะเรียกว่า โทรทวงหนี้ 1 ครั้งแล้ว? 

ข้อมูลจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุไว้ว่า หากมีการส่งข้อความทางแชต เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ก และมีการเปิดอ่าน หรือโทรศัพท์หาลูกหนี้ และทวงหนี้อย่างชัดเจน การกระทำลักษณะดังกล่าว จะนับว่าเป็นการทวงหนี้ 1 ครั้ง

แต่ถ้า… ส่งข้อความแล้วลูกหนี้ไม่เปิดอ่าน โทรศัพท์ไปหาแต่ลูกหนี้ไม่รับ หรือลูกหนี้รับโทรศัพท์แล้ว แต่กดวางสายก่อนพูดเรื่องทวงหนี้ เหล่านี้จะไม่นับว่าเป็นการทวงหนี้

เจ้าหนี้ห้ามกระทำการต่อไปนี้เด็ดขาด!!! : 

ทีมข่าวฯ สอบถาม อธิบดีอัยการ สคช. ต่อไปว่า แล้วการทวงหนี้แบบไหนที่เจ้าหนี้ห้ามทำโดยเด็ดขาด!?

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ตอบว่า ห้ามทวงหนี้โดยวิธีการข่มขู่ ห้ามทวงหนี้โดยวิธีการคุกคาม ซึ่งตรงนี้มีบทบัญญัติว่าเป็นความผิดทางกฎหมายอาญาด้วย การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเนี่ย เช่น ทวงหนี้เกินจำนวนครั้งต่อวันที่กฎหมายกำหนดก็ผิดแล้วครับ และถ้าทวงหนี้ผิดกฎหมาย ลูกหนี้ก็สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ได้ด้วย 

มาถึงตรงนี้ ทีมข่าวฯ ขอยกตัวอย่างจาก มาตรา 11 ของ พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 กันดูอีกสักหน่อย ซึ่งกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามผู้ทวงถามหนี้ กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้

ห้ามทำการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือการกระทําอื่นใดที่ทําให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น และห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น 

นอกจากนั้น 'เจ้าหนี้' ห้ามแจ้งหรือเปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้ ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ อีกทั้ง เจ้าหนี้ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของตนบนซองจดหมาย ที่สื่อว่าติดต่อเพื่อทวงหนี้ นอกซะจากว่าชื่อทางธุรกิจของเจ้าหนี้ ไม่ได้สื่อให้รู้ว่าเป็นการทวงหนี้

"การทวงหนี้ต้องทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหนี้มีสิทธิจะฟ้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ แต่ไม่มีสิทธิไปคุกคาม ถ้าคุณไปข่มขู่ คุกคาม ยื่นด่าทอ แบบนี้กฎหมายก็จะผิด มีโทษทางอาญา" อธิบดีอัยการ สคช. เน้นย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ สอบถามนายโกศลวัฒน์เพิ่มเติมว่า ในกรณีที่มีการแปะป้ายทวงหนี้ตามข่าวที่กำลังเป็นกระแสในสังคม เช่นนั้นถือว่ามีความผิดหรือไม่?

อธิบดีอัยการ สคช. ตอบว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นข้อความในป้ายทั้งหมด จึงอาจจะพิจารณาไม่ได้ละเอียดนัก แต่ถ้าพูดตามหลักการแล้ว ต้องดูว่าแปะที่ไหน หรือแปะอย่างไร เช่น ถ้าใส่ชื่อลูกหนี้ในป้ายด้วย แบบนี้ก็อาจจะผิด หรือไม่ได้ใส่ชื่อ แต่เอาป้ายไปแปะไว้หน้าบ้านลูกหนี้ แบบนี้ก็ทำไม่ได้ เพราะถือเป็นการประจาน 

โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง
โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง

หากมีปัญหา ให้ สคช. ช่วยไกล่เกลี่ย : 

นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง กล่าวทิ้งท้ายถึงเจ้าหนี้ว่า สิ่งที่ห่วงใยสำหรับการทวงหนี้ คือ ถ้าคุณเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ถือผิดกฎหมาย จะมีโทษทางอาญา ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินกฎหมายกำหนด ก็มักจะนำไปสู่การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย เจ้าหนี้เองก็ต้องระวังตรงนี้ด้วย 

"ถ้ามีปัญหาทวงหนี้ หรือไม่เข้าใจการทวงหนี้ ให้โทรสายด่วนอัยการ 1157 สอบถามได้เลยครับ เราจะมีเจ้าหน้าที่คอยรับสาย และคอยให้คำแนะนำ ให้ความยุติธรรมกับลูกหนี้ เจ้าหนี้ ทุกฝ่าย หรือมาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ที่เราเลย เราจะช่วยเป็นตัวกลางให้"


อ่านข้อกฎหมายเพิ่มเติม

กราฟิก : ชลธิชา พินิจรอบ

ภาพ : iStock

อ่านบทความที่น่าสนใจ :