คุยกับ 'กรมทรัพย์สินทางปัญญา' ข้อควรรู้คุ้มครองสิทธิ 'แฟรนไชส์' เรื่องที่ต้องใส่ใจ ป้องกันไม่ให้ใครมาช่วงชิงธุรกิจคุณ...

หากใครคิดจะทำธุรกิจแฟรนไชส์ อยากเป็นเจ้าของกิจการ อยากประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับอาหาร หรือเรื่องใดๆ แล้วยังไม่ได้อ่านสกู๊ปนี้ 'หยุดคิด' ทุกอย่าง แล้วสูดหายใจเข้า-ออกลึกๆ ทำสมาธิ ตั้งสติ อ่านเรื่องนี้ให้จบ เพราะ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอบอกได้เลยว่า 'สกู๊ปนี้' จะส่วนช่วยให้รู้ถึง 'การคุ้มครองสิทธิของคุณ' ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป (แต่หากใครเริ่มกิจการไปแล้ว หรือไม่ได้อยากทำธุรกิจใดๆ ก็ยังอ่านได้นะ)

วันดีคืนดีก็มี 'ดราม่า' โต้แย้งจนดังไปทั่วประเทศ เกี่ยวกับ 'สูตรอาหาร' และ 'ธุรกิจแฟรนไชส์' เมื่อลูกข่ายหนึ่งคนเกิด 'ปรับปรุงสูตร' หลังจากเลิกสัญญาแฟรนไชส์เจ้าดัง ส่วนลูกข่ายอีกคนที่ไม่ได้ต่อสัญญาเหมือนกัน จัดหน้าร้านขายของตามปกติ แต่เจ้าของแฟรนไชส์กลับมองว่า นี่มันคือ 'การก๊อบปี้' ชัดๆ 

เกิดเป็นกระแสโต้เถียงกันไปมา จนคนในสังคมคิดเห็นเป็นสองฝ่าย อย่างไรก็ดี.... เรื่องนี้ 'กฎหมาย' มีคำตอบ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยกโทรศัพท์ต่อสายตรงถึง 'คุณทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์' ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้มาช่วยขยายความ ยกตัวอย่าง มอบความรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ บอกได้เลยว่า ถ้าคุณอ่านจบ เท่ากับ มีความรู้ไว้รักษาสิทธิตัวเองแล้วระดับหนึ่ง 

...

สาธยายมาซะยาวยืด ไปเริ่มกันเลยดีกว่า!!!!

ทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ - ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา
ทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ - ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา

คิดทำธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องใส่ใจทรัพย์สินทางปัญญา :

คุณทักษอร กล่าวว่า ธุรกิจ 'แฟรนไชส์' อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ 'กรมพัฒนาธุรกิจการค้า' แต่ 'องคาพยพ' ที่เกี่ยวข้องและถือว่าสำคัญมากอีกส่วนหนึ่งก็คือ 'ทรัพย์สินทางปัญญา' เนื่องจากแฟรนไชส์ เป็นการที่บุคคลหนึ่ง อนุญาตให้อีกบุคคลหนึ่ง นำธุรกิจของตนไปประกอบการได้ 'เหมือนกัน' ดังนั้น สิ่งที่มักจะพ่วงไปกับกิจการที่ได้รับอนุญาต เช่น เครื่องหมายการค้า, รูปแบบการตกแต่งร้าน หรือบางธุรกิจอาจจะให้ สูตรและวิธีการทำ

"ก่อนที่จะนำธุรกิจตัวเองไปทำแฟรนไชส์ให้ผู้อื่น เจ้าของควรจัดการ 'การคุ้มครองสิทธิ' ของตัวเองให้เรียบร้อย ก่อนจะถ่ายทอดให้ผู้รับสัญญา เพราะหากไม่ดำเนินการ 'คุ้มครอง' ตนเองตั้งแต่ต้น หากมีคนนำไปใช้ หรืออ้างสิทธิ อาจจะไม่สามารถแสดงความเป็นเจ้าของได้"

แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบแฟรนไชส์มีหลากหลาย บางเรื่องอาจจะพ่วงกับการสินค้าและบริการ เช่น แฟรนไชส์อาหาร มีทั้งกรณีที่ให้สูตรไป แล้วนำไปทำเอง หรือต้องซื้อวัตถุดิบที่ปรุงสำเร็จแล้วจากต้นฉบับ เพื่อนำไปขาย 

แฟรนไชส์ที่เป็นลักษณะ 'ควบคุมคุณภาพ' เก็บสูตรความลับไว้ที่เจ้าของคนเดียว จะใช้วิธีการผลิตด้วยตัวเองทุกอย่าง ส่วน 'ลูกข่าย' ทำได้แค่ซื้อของที่ทำสำเร็จแล้วไปขาย จะไม่ได้รับ Know-how (ความรู้เกี่ยวกับลำดับขั้นตอนการทำงาน) หรือสูตร

...

การทำแฟรนไชส์โดยให้ 'สูตร' มีอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องแปลก :

หลายคนอาจจะงง สงสัย และครุ่นคิดว่า "ทำแฟรนไชส์จะให้สูตรไปทำไม" ในส่วนนี้ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา บอกว่า "ไม่ใช่เรื่องแปลก" แต่สิ่งสำคัญคือต้องมี 'การทำสัญญา' ระบุทุกอย่างให้ชัดเจน!

"ตัวอย่างแฟรนไชส์ที่ให้สูตร หรือ Know-how เช่น เชฟที่มาจากต่างประเทศ เขาอาจจะไม่สามารถผลิตของให้ลูกข่ายได้ ด้วยเหตุผลบางอย่าง ก็อาจจะสอน Know-how ไปด้วย แต่ราคาของแฟรนไชส์จะสูงขึ้น เพราะลูกข่ายได้ทักษะในการประกอบอาชีพ และอาจมีเงื่อนไขบังคับมากขึ้น เช่น หากเลิกทำแฟรนไชส์  ต้องไม่ทำธุรกิจแบบเดียวกันในระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับสัญญาและข้อตกลงระหว่างสองฝ่าย"

*** 'สัญญา' = 'สำคัญ' ***

คุณทักษอร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสัญญาต้องระบุอย่าง 'ชัดเจน-ครอบคลุม-รัดกุม' ว่าคนที่ซื้อแฟรนไชส์ไปมีสิทธิ์จะใช้ได้แค่ไหน ส่วนใหญ่เป็นเพียงการให้ใช้แค่ช่วงเวลาหนึ่งตามที่ระบุไว้ และอาจจะมีเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น หากหมดสัญญาจะใช้ชื่อธุรกิจแอบอ้างไม่ได้ หรือ ห้ามใช้สูตร และ Know-how

...

ในกรณีที่ลูกข่ายได้รับ Know-how หรือสูตร แต่วันหนึ่งเลิกต่อสัญญา แล้วนำสูตรนั้นไปปรับปรุงเพื่อขายต่อ แต่เจ้าของไม่ระบุไว้ในสัญญาตั้งแต่แรกว่าห้ามใช้-ปรับปรุง จะถือว่าลูกข่ายไม่มีความผิด

"ความผิดที่ 'อาจจะ' เกิดขึ้น คือคนได้รับข้อมูลนำข้อมูลไปใช้-เผยแพร่ โดยที่เขารู้อยู่แล้วว่าเรื่องนั้นเป็น 'ความลับทางการค้า' เพราะฉะนั้น หากรู้ว่าสิ่งไหนคือ Know-how หรือข้อมูล ที่มีคุณค่าพิเศษต่อกิจการของคุณ หน้าที่ของเจ้าของกิจการคือ ต้องมีมาตรการเก็บรักษาความลับที่ดี ด้วย และระบุให้ชัดเจนไปเลยว่า สิ่งใดเป็น 'ความลับ' เช่น อาจจะทำเป็นเอกสาร และประทับตราว่า 'ความลับห้ามเปิดเผย' ในแต่ละหน้าก็ต้องมีการระบุไว้ด้วยอย่างชัดเจน เป็นต้น"

คุณทักษอร เน้นย้ำว่า... 'ถ้าไม่มี' การระบุไว้อย่างชัดเจน จะไปคิดหรืออ้างว่าคนรับข้อมูล 'รู้ว่าเป็นความลับทางการค้า' ไม่ได้ หรือจะไปฟ้องว่า 'ละเมิด' ก็ไม่ได้อีก เพราะไม่ได้บอกไว้ว่านี่คือ 'ความลับ' ดังนั้น การทำทุกอย่างให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มแรก 'สำคัญที่สุด'

"ต้องบริหารจัดการแบรนด์ให้ดี หากต้องการต่อยอดธุรกิจสู่การทำแฟรนไชส์ ต้องคิดให้ครบทุกมิติอย่างรอบคอบ ต้องคำนึงถึงคุณภาพที่ลูกข่ายจะผลิต เพราะอาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ธุรกิจ"

...

สูตรอาหาร = สิทธิทางปัญญา :

มีหลายอย่างที่เราสามารถจดทะเบียน 'ทรัพย์สินทางปัญญา' ได้ แล้ว 'สูตรอาหาร' จะทำได้หรือไม่!? 

แน่นอนว่า "ทำได้" แต่เรื่องนี้คุณทักษอรบอกไว้ว่า "สูตรอาหาร...คุ้มครอง 'สิทธิทางปัญญา' ได้หลายส่วน แต่ต้องดูเป็นรายกรณี"

เริ่มต้นทำความเข้าใจสิ่งแรก ถ้าคิด 'สูตรอาหาร' แล้วบรรยายสูตร-วิธีทำเป็นลายลักษณ์อักษร เหมือนกับตำราอาหารทั่วไป สิ่งนี้จะกลายเป็นงานเขียนที่เรียกว่า 'ลิขสิทธิ์แบบวรรณกรรม' จะทำได้แค่ 'ห้ามผู้อื่นคัดลอก' สิ่งที่เขียน 'ห้ามนำไปใช้อ้างสิทธิว่าเป็นของตน' แต่ไม่สามารถห้ามคนที่อ่านเพื่อศึกษาวิธีการทำ

แต่... สิ่งที่จะคุ้มครอง 'สูตรอาหาร' ได้ คือ 'สิทธิบัตร' และ 'ความลับทางการค้า'

สิทธิบัตร (Patent) :

เรามาเริ่มต้นกันที่ 'สิทธิบัตร' กันก่อนดีกว่า 

คุณทักษอร บอกว่า หากจะจด 'สิทธิบัตร' ต้องเป็นสูตรอาหารที่ 'ใหม่จริงๆ' เช่น เป็นไข่ที่ผลิตจากพืชไม่ใช่จากไก่ ที่สำคัญหากจะจดสิทธิบัตร ต้องเปิดเผยวิธีการทำ เพราะฉะนั้น สิทธิบัตรจึงเหมาะกับของประเภท 'ครั้งแรกทำยาก แต่พอทำเสร็จปุ๊บใครๆ ก็ทำได้'

"ตามเงื่อนไขของกฎหมาย การจะเป็นสิทธิบัตร ต้องมี 2 อย่าง คือ 'ใหม่' กับ 'มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น' ซึ่งขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น หมายความว่า คนที่มีความรู้ทั่วไปไม่รู้ว่าทำอย่างไร แต่ถ้าบางตำรารู้อยู่แล้วว่าต้องใส่น้ำตาลทรายขาว จะไปเปลี่ยนเป็นน้ำตาลทรายแดง แบบนี้เราไม่เรียกว่ามีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เพราะใครๆ ก็รู้ว่ามันแทนกันได้ ซึ่งจะจดสิทธิบัตรไม่ได้"

ยกตัวอย่างกรณี 'ก๋วยเตี๋ยว' 

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ความรู้ว่า "ถ้าจะจดสิทธิบัตรได้ต้องมีความพิเศษ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยวผลิตจากแป้งที่มีความพิเศษ เป็นเส้นจากแป้งที่ปราศจากกลูเตน (Gluten Free) ทำให้คนแพ้แป้ง สามารถทานก๋วยเตี๋ยวนี้ได้โดยไม่แพ้ แบบนี้จะจดได้ เพราะมันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เสริมเข้ามา หรือ อาจจะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ผสมโปรตีนจากสาหร่ายทะเลน้ำลึก เพื่อทานแล้วเพิ่มโปรตีน กินก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม เท่ากับการเพิ่มโปรตีน 3 เท่า เป็นต้น" อย่างไรก็ตามนี่คือตัวอย่าง...

อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) :

แต่หากคุณยังไปไม่ถึงสิทธิบัตร มีอีกอย่างหนึ่งที่คุณทักษอรแนะนำ และคนไทยยื่นขอจดทะเบียนกันเยอะมาก นั่นก็คือ 'อนุสิทธิบัตร' 

"สิ่งนี้จะลดลงขั้นมาจากสิทธิบัตร เงื่อนไขอย่างเดียวคือ 'ใหม่' ดังนั้น ถ้าของที่มี 'ไม่ล้ำมาก' แต่เป็นสิ่งใหม่ ก็จะคุ้มครองได้ ซึ่งคนไทยจด 'อนุสิทธิบัตร' ที่เกี่ยวกับอาหารไว้เยอะมาก มีหลายเรื่องที่เป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม"

สิทธิบัตรคุ้มครอง 20 ปี ส่วนอนุสิทธิบัตร คุ้มครอง 6 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี 

"ปัจจุบัน 'อนุสิทธิบัตร' ของคนไทย อาจจะยังไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่มากนัก เนื่องจากอาจจะเพิ่งเริ่มศึกษากันอย่างจริงจัง และเคสการฟ้องร้องการละเมิดนั้นยังมีไม่มาก โดยเฉพาะของที่ใหม่และผลิตยาก เพราะโอกาสที่คนจะมาลอกได้เป็นเรื่องยาก

แต่ที่เห็นว่ามีการฟ้องร้องกัน ส่วนใหญ่แล้วเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยาก และไม่ใหม่ในเมืองไทย มีคนทำไว้ก่อนแล้ว แต่ไม่มีใครจดทะเบียนไว้ จนกระทั่งมีคนจดเป็น 'คนแรก' แล้วไปไล่ฟ้องคนอื่น" คุณทักษอร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะจดสิทธิบัตร หรือ อนุสิทธิบัตร แต่ถ้าจดในประเทศก็คุ้มครองเฉพาะในประเทศ ถ้าอยากคุ้มครองที่ประเทศอื่นก็ต้องไปที่ประเทศต้นทางนั้นๆ ซึ่งในตอนนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีบริการยื่นคำขอระหว่างประเทศ ตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty: PCT) เป็นกระบวนการดำเนินความสะดวก การขอจดสิทธิบัตร ตามประเทศภาคีต่างๆ หากคุณผู้อ่านและผู้ประกอบกิจการคนไหนสนใจ ก็ต้องรีบดำเนินการแล้วแหละ...

ความลับทางการค้า (Trade secret) :

อีกส่วนหนึ่งที่สามารถคุ้มครองได้ ก็คือ 'ความลับทางการค้า' ในส่วนนี้คุณทักษอรบอกว่า เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอีกประเภทหนึ่งที่นิยมใช้กันเพราะ 'คุ้มครองง่าย'

'ความลับทางการค้า' พูดง่ายๆ เลยก็คือ "อะไรก็ตามที่คนอื่นยังไม่รู้ว่าทำอย่างไร แล้วคุณเก็บมันไว้เป็นความลับ นั่นก็คือทรัพย์สินทางปัญญาอีกประเภทหนึ่ง เช่น น้ำผัดไทยร้าน ก, ร้าน ข และ ร้าน ค ต่างก็มีสูตรไม่เหมือนกัน และนั่นแหละที่เรียกว่า 'ความลับ'"

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวต่อไปว่า 'ความลับทางการค้า' เหมาะกับของที่ต่อให้เขาได้อาหารที่คุณปรุงเสร็จแล้ว เขาก็ย้อนกลับมาทำเหมือนคุณไม่ได้ เพราะมีเทคนิคเฉพาะตัวเยอะมาก และนี่แหละที่ทำให้เหมาะเป็นความลับทางการค้า

ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ถึงสูตรอาหารที่เป็น 'ความลับทางการค้า' แบรนด์ดังระดับโลก เช่น ไก่ทอดเคเอฟซี (KFC), โดนัทคริสปี้ครีม (Krispy Kreme), โคคา-โคล่า ฯลฯ เหล่านี้ก็จะมีการควบคุมคนในบริษัทอย่างเข้มงวดและรัดกุมมาก คุณสังเกตไหมล่ะว่า แบรนด์ที่ยกตัวอย่างมา มีคนพยายามเลียนแบบมากมาย แต่สุดท้ายก็ได้แค่ 'รสชาติใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด' แต่ไม่มีใครทำได้ 'เหมือน'

และที่สำคัญ คุณทักษอร ย้ำเลยว่า "วันหมดอายุของ 'ความลับทางการค้า' คือวันที่มันสิ้นสภาพการเป็น 'ความลับ' เพราะฉะนั้น...มันจะคุ้มครองไปตลอด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเก็บ 'ความลับ' นี้ไว้ได้นานแค่ไหน"

ความลับทางการค้า ทำได้ด้วยตัวคุณเอง :

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอย่าเพิ่งเดินดุ่มๆ เข้าไปที่ 'กรมทรัพย์สินทางปัญญา' ล่ะ เพราะเขาไม่ได้รับจดความลับ!!!

อ้าว!!! แล้วแบบนี้จะทำได้ที่ไหน มีความลับที่อยากปกปิดไว้เต็มไปหมดเลย...

ผู้เชี่ยวชาญของเราบอกว่า "ความลับทางการค้าคุ้มครองได้อัตโนมัติโดยตัวคุณเอง และมันจะเกิดเป็นเรื่องราวขึ้นก็ต่อเมื่อ 'มีปัญหา' เช่น ถูกคนอื่น พนักงาน เข้ามาล่วงรู้ความลับ แล้วแอบนำไปทำตาม เราก็สามารถฟ้องเขาฐานละเมิดความลับทางการค้า แต่จะต้องมีสิ่งรับรองได้ว่า คุณเป็นเจ้าของความลับนั้น"

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีรูปแบบในการคุ้มครองใดๆ ไม่ต้องจดทะเบียน ไม่ต้องจดแจ้ง เงื่อนไขเดียว คือ คุณต้องรักษาให้เป็นความลับ และมีมาตรการจัดการที่เหมาะสมในแบบของคุณเอง สำคัญคือเอกสารและหลักฐานของเราต้องแน่น ว่าเราเป็นเจ้าของ"

ยกตัวอย่างง่ายๆ หากมีพนักงานใหม่เข้ามาสู่สายการผลิต เราก็ต้องจับเขาทำสัญญาห้ามเปิดเผยข้อมูล หรือในบริษัทต้องระบุชัดเจนว่า คนจะเข้าสู่ระบบการผลิต หรือมีโอกาสล่วงรู้สูตร ต้องเป็นพนักงานระดับใด ต้องมีการสแกนหน้า หรือรูปแบบต่างๆ ซึ่งนั่นก็ อยู่ที่วิธีการของตัวคุณเอง

คุณทักษอร เล่าย้อนอดีตให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า... สมัยก่อน กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีบริการรับแจ้งข้อมูลความลับทางการค้า แต่โดยสภาพความเป็นจริง ความลับทางการค้า มันต้องเป็นความลับ ฉะนั้นโดยกระบวนการ สิทธิ์มันจะเกิดขึ้นระหว่างการเป็นความลับ โดยที่ไม่มีการจดทะเบียนอะไรเลย 

"ประมาณว่า 'คุณมีความลับก็ต้องบอกเรา' แต่ในความเป็นจริงนั้นใช้งานยาก แล้วเวลาที่คุณมาบอก เราก็ไม่อยากรู้ เพราะจะกลายเป็นว่า เราไปล่วงรู้ความลับของคุณ อาจจะทำให้ข้อมูลที่สำคัญหลุดรั่วได้ ส่วนนี้จึงยกเลิกไปเป็น 10 ปี แล้ว"

คิดรอบคอบ-ทำสัญญา ป้องกันผลเสียต่อธุรกิจ :

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา เน้นย้ำและฝากถึงผู้ประกอบการทุกคนว่า การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เรื่องของ 'ทรัพย์สินทางปัญญา' เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะหากบริหารจัดการได้ไม่ดีตั้งแต่แรก อาจจะกลายเป็นปัญหา

ก่อนที่เราจะเริ่มทำธุรกิจ อย่าลืมมองว่า 'ทรัพย์สินทางปัญญา' ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีอะไรบ้าง ให้ครอบคลุมทั้งหมด เช่น ถ้าตั้งชื่อกิจการไว้ อย่าลืมดูว่าชื่อกิจการไปซ้ำกับของคนอื่นที่เขาจดทะเบียนไว้หรือเปล่า เพราะหาทำธุรกิจไปแล้วแต่ชื่อไปซ้ำกับคนอื่นที่จดทะเบียนไว้ ก็ต้องมาเสียเงิน เพื่อแก้ไขทั้งหมด ยิ่งถ้าทำแฟรนไชส์ ก็จะส่งผลถึงลูกข่ายไปด้วย

คุณทักษอร กล่าวต่อว่า หากใครมี 'นวัตกรรม' ก็ควรจดเป็น 'สิทธิบัตร' ก่อนจะเปิดตัว ให้คุ้มครองงานของเราตั้งแต่ต้น เพราะหากออกสู่ตลาดแล้วเกิด 'ดัง' ขึ้นมา คนที่จะลำบากคือคนแรกที่ทำ คนที่ 'ก๊อป' ทำไม่ยาก เขาก็เอาสิ่งที่เราคิดมาตั้งนาน ไปก๊อปขาย เราจะแก้ไขย้อนหลังก็ไม่ทันแล้ว 

"อย่าลืมว่า ทุกอย่างต้องมีสัญญารองรับเสมอ วันแรกของการเริ่มทำธุรกิจ อาจจะเป็นมิตรภาพ เรื่องราวที่ดี และเชื่อใจกัน แต่เงินทองไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้น สัญญาจึงสำคัญมาก"

อ่านบทความที่น่าสนใจ :