ปมศึกศักดิ์ศรี อาชีวะสองสถาบัน 'อุเทนถวาย-ปทุมวัน' นักวิชาการชี้ ปัญหาแก้ได้ แต่ต้องจริงจังและต่อเนื่อง ด้านประธานศิษย์เก่าอาชีวะไทย อยากให้คนไทยเห็นคุณค่า 'อาชีวะ'...

"ปัญหาต้องถูกแก้ไขแบบองค์รวม" นี่คือหนึ่งความเห็น จากคนสองคน ที่ได้พูดคุยกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ แบบที่พวกเขาไม่ได้คุยกันมาก่อน

สองคนที่ทีมข่าวฯ ได้กล่าวถึง คือ 'ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา' หรือ 'ดร.เก่ง' นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล และ 'คุณชิษณุชา นวลปาน' ประธานเครือข่ายศิษย์เก่าอาชีวะไทย ซึ่งเราได้ต่อสายตรงถึงทั้งสองคน เพื่อชวนพูดคุยเกี่ยวกับ 'อุเทนถวาย-ปทุมวัน' ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมไทย 

วันนี้เราจะมาดูกันว่า 'ปฐมเหตุ' แห่งความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้นเมื่อไร และสิ่งใดคือ 'ทางออก' ของปัญหานี้ ความขัดแย้งที่ยาวนานหลายสิบปี จะจบลงได้หรือไม่! ใครต้องยื่นมือเข้ามาบ้าง... มาร่วมค้นหาคำตอบร่วมกัน ผ่านบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ได้เลย!

ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล
ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล

...

ปฐมเหตุแห่งความขัดแย้ง :

ปฐมเหตุ ที่เป็นตัวการสำคัญ สำหรับความขัดแย้งของสองสถาบันที่สืบเนื่องมาหลาย 10 ปีนั้น ดร.ชลัท บอกกับทีมข่าวฯ ว่า มีหลายเรื่องที่คนอธิบาย แต่เหตุการณ์สำคัญหนึ่งคือ การใช้ระเบิดขวดขว้างปาใส่กันใน 'การแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบัน ที่สนามกีฬาแห่งชาติ ปี 2511'

หลังจากนั้น 'ความขัดแย้ง' ก็สะสมมาอย่างยาวนาน ทุกปีจะมีเรื่องราวความรุนแรงระหว่าง 2 สถาบันเกิดขึ้นอยู่เสมอ มีทั้งผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ บางปีเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ทุกๆ ปี มีคนบาดเจ็บ!

"ปัญหาถูกสะสมมาอย่างยาวนาน มีทั้ง 'คนตาย' และ 'คนเจ็บ' จึงกลายเป็นความ 'เจ็บแค้น' ไม่พอใจ ประมาณว่าพี่น้องในสถาบัน ก็คือพี่น้องของตนเอง เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมใช้ไม่ได้ อีกฝ่ายจึงต้องลงมือเอง" ดร.ชลัท กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองสถาบันพยายามหลีกเลี่ยงการ 'ปะทะ' โดยใช้ 'สนามกีฬาและห้างสรรพสินค้า' เป็น 'ตัวแบ่ง' เขตแดน เพื่อลดการเผชิญหน้า แต่หากข้ามเขตแดนเมื่อไร 'จะมีเรื่องกัน' 

"ข้ามมาเล็กน้อย ก็ไม่ได้หรือ" ทีมข่าวฯ ถาม ดร.เก่ง

"ไม่ถึงขนาดนั้นครับ เพราะหากมีการข้ามเขตแดนมาจริงๆ เขาก็จะดูกันว่า 'ตั้งใจ' หรือไม่ ส่วนมากเวลา 'เดิน' ไปไหน พวกเขาจะเดินกันไป 'เป็นกลุ่ม' หลีกเลี่ยงการไปคนเดียว เพื่อเป็นการระวังตัวเองด้วย ถ้าหากจะ 'มีเรื่อง' กัน บางครั้งเขาก็มาเผชิญหน้ากันที่ 'จุดกลาง' เท่าที่เคยเป็นข่าวก็คือ บริเวณสนามกีฬา"

'ชิษณุชา นวลปาน' ประธานเครือข่ายศิษย์เก่าอาชีวะไทย
'ชิษณุชา นวลปาน' ประธานเครือข่ายศิษย์เก่าอาชีวะไทย

จาก 'ปฐมเหตุ' สู่ความขัดแย้งที่ถูกสะสมอย่าง 'ยาวนาน' :

ทางด้าน คุณชิษณุชา ประธานเครือข่ายศิษย์เก่าอาชีวะไทย มองว่าสาเหตุ 'ปัญหา' ที่ถูก 'สะสม' มาอย่างยาวนาน ใน 'ความขัดแย้ง' ของสองสถาบัน ไม่ใช่ 'หุนหันพลันแล่น' แต่เกี่ยวข้องกับ 'ปัจจัยภายใน' และ 'ปัจจัยภายนอก' 

'ปัจจัยภายนอก' คือ 'สิ่งแวดล้อม' ทั้งสถาบัน สภาพสังคม ชุมชน และครอบครัว ส่วน 'ปัจจัยภายใน' คือ 'การครอบงำทางความคิด' ในลักษณะที่ว่า มีการป้อนข้อมูลที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ผ่านกระบวนการประมาณ 2 ถึง 3 กระบวนการ ได้แก่ หนึ่ง การรับน้อง, สอง การถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และสาม การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง (ทั้งจากสื่อ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง) 

...

คุณชิษณุชา ได้ใช้ทฤษฎี-แนวคิดที่จะกล่าวต่อไปนี้ เพื่อศึกษาทำงานวิจัย และอธิบายปัจจัยภายใน ที่เกิดกับเหล่า 'อาชีวะ'

ประธานเครือข่ายศิษย์เก่าอาชีวะไทย กล่าวว่า 'การครอบงำทางความคิด' เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเกิดจากสิ่งแรกคือ 'การครองอำนาจนำ' (Hegemony) สิ่งนี้เป็นการครอบงำความคิด-จิตใจ ใช้อำนาจและความเป็นใหญ่ในการโน้มน้าวผู้อื่น เพื่อให้เกิดการยอมรับแบบกลุ่ม เกิดความยินยอมพร้อมใจ และที่สำคัญคือ 'ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม' โดยที่ผู้ถูกกระทำ ไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่า ตนเองถูกครอบงำทางความคิดไปแล้ว 

ในส่วนต่อมาที่เชื่อมโยงกัน คือ 'ความเป็นปึกแผ่น' (Solidality) มันเป็นความเชื่อที่บุคคลจะยึดถือ 'อำนาจนิยม' ที่คล้ายกัน เป็นเครื่องแสดงความ 'ผูกพัน' ที่ถูก 'ผูกแน่น' และหากสังเกตดูจะพบว่า มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณว่า 'มีตัวตายตัวแทน' รุ่นนี้จบไป รุ่นใหม่มาสานต่อ 

...

ถัดจากนั้นจะเข้าสู่ 'เลียนแบบ' (Theory of Imitation) ซึ่งคนที่ด้อยกว่า จะเลียนแบบคนที่เด่นกว่า เช่น เมื่อก่อนเป็นคนนิ่งๆ ไม่ใช้ความรุนแรง แต่พอเปลี่ยนสังคมใหม่ แล้วพบเห็นความรุนแรงมากขึ้น ก็จะเริ่มเลียนแบบความรุนแรงนั้น เป็นการค้นหาอัตลักษณ์ จนกลายเป็นแฟชั่น และถูกต่อยอดขึ้นสู่ 'ธรรมเนียม' 

ส่วนต่อไปเป็นปฏิกิริยาทางสังคมที่เรียกว่า 'ตีตรา' (Labeling Theory) ในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับ 'สังคม' โดยรวมทั้งหมด ที่มักจะมองนักเรียน 'อาชีวะ' เป็นเด็กเหลือขอ 'เกเร' ไร้มาตรฐาน ซึ่งเราต้องยอมรับว่า คนมักจะมองกันในลักษณะนี้จริงๆ 

"อย่างหลัง พ.ศ. 2530 เริ่มเข้าสู่โลกาภิวัตน์ เป็นยุคที่คุณค่ากับ ‘อุดมศึกษา’ กลายเป็น ‘อาชีวะ’ ถูกด้อยค่า ก็เลยกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยาวนาน" 

อีกสิ่งที่ทำให้ตัวตน 'โน้มเอียง' กระทั่งมองสิ่งต่างๆ ที่ผิดจนกลายเป็นเรื่องปกติและธรรมดา คือ 'การคบหาสมาคมที่แตกต่าง' (Differential association Theory) เป็นเรื่องการเรียนรู้จากพฤติกรรมของผู้อื่น 

ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย เรียกว่า 'วัฒนธรรมรอง' (Subculture Theory) จะเน้นไปที่โครงสร้างทางสังคมในระดับกลาง ที่อาจจะถูกกีดกัน และไม่ได้รับการยอมรับ จึงมีการสร้าง 'ปมเด่น' กลบ 'ปมด้อย' เพื่อตอบโต้สังคมและสนองอารมณ์ตัวเอง

...

ตัวอย่างการสร้าง อัตลักษณ์ และตัวตน ของคนสองสถาบัน :

ประธานเครือข่ายศิษย์เก่าอาชีวะไทย เล่าเกร็ดเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่สำหรับคนสองสถาบัน

เราเข้าใจตรงกันว่า 'พระวิษณุกรรม' มีอยู่องค์เดียว ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น แต่ทางสองสถาบัน มีการสร้าง 'ปาง' ของพระวิษณุกรรม ให้แตกต่างกันออกไป ปทุมวันสร้างปางนั่ง อุเทนถวานสร้างปางยืน 

"ภาษาเด็กช่างเขาเรียกว่า 'พ่อนั่ง' กับ 'พ่อยืน' ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่ได้จบเพียงแค่การสร้างความแตกต่าง ขององค์พระวิษณุกรรม แต่ยังมีการสร้าง 'สัญญะ' เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง ถ้าเป็น 'ช่าง' จะเป็น 'ลูกเฟือง' ส่วน 'ก่อสร้าง' จะเป็น 'ลูกดิ่ง' ในส่วนของ 'ศักดิ์ศรี' จะถูกถ่ายทอดผ่าน 'ศัพท์' เช่น การหาคำกลอน หรือ คำพูดต่างๆ เพื่อ 'บูลลี่' ฝั่งตรงข้าม เหน็บแนมเล็กๆ น้อยๆ"

แนวทางเสนอลดความขัดแย้ง 2 สถาบัน :

ดร.เก่ง กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ลองมองให้เหมือน 'ขนมชั้น' จะพบว่าความรุนแรงนี้มีทั้งหมด '3 ชั้น' ด้วยกัน คือ ชั้นกายภาพ ชั้นความเชื่อ-อุดมการณ์ และชั้นโครงสร้าง-กฎหมาย-กฎระเบียบ ซึ่งการจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ ก็ต้องแก้ไขทั้ง 3 ชั้น ให้ไปด้วยกันทั้งหมด

"ผมเสนอแนวทางว่า ทั้ง 3 ชั้น ต้องทำควบคู่กันไป ให้เป็นวาระแห่งชาติ หากจะแก้ใน 'ชั้นความเชื่อ' ก็ต้องเน้นไปที่เรื่องความรู้และการปลูกฝัง ซึ่งตอนนี้ทางสำนักสันติวิธี มีการคิดหลักสูตรหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า 'สันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา'

สถาบันพระปกเกล้าได้ขับเคลื่อนงานด้านสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยมีท่านเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ให้การสนับสนุน 

ทางสำนักฯ กำลังผลักดัน ให้เกิดการเรียนการสอนหรือการอบรม ด้านสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา และการจัดตั้งกลไก หรือหน่วยงานด้านสันติวิธีในสถานศึกษา กับผู้บริหารของกระทรวงอุดมศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ"

ส่วน 'ชั้นโครงสร้าง' การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดี ต้องมีการสร้างขวัญและกำลังใจ ให้กับคณาจารย์ เพราะหากพวกเขาไม่มีขวัญและกำลังใจ สอนไปก็เท่านั้น ไม่ได้มานั่งใส่ใจลูกศิษย์ ซึ่งตรงนี้เราต้องมานั่งคุยกันว่า จะทำอย่างไรให้เป็นการกระตุ้นที่ยั่งยืน 

อีกส่วนหนึ่ง คือ 'ชั้นกายภาพ' ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มันเห็นได้ชัดเจนว่า มีการยิงปืน และทำร้ายร่างกาย ในส่วนนี้ต้องใช้กระบวนการ 'ยุติธรรม' มาปราบปรามอย่าง 'เด็ดขาด' ในแง่ของกฎหมาย 

ดร.ชลัท กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาพวกเขาคิดว่า 'กระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมได้' จึงต้อง 'ล้างแค้น' เพราะมันมีความเจ็บช้ำ ที่ยังติดอยู่ในใจ เช่น ฝ่ายของเราถูกยิงต่อหน้าแม่ ก็จะไปแก้แค้นอีกฝ่าย โดยการยิงต่อหน้าญาติเช่นกัน ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น กฎหมาย และผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ต้องจับผู้กระทำผิดให้ได้ เพื่อเป็นการลดข้ออ้าง 'การแก้แค้น'  

"เมื่อพูดถึงสามข้อรวมกัน ต้องเป็นการแก้ปัญหาแบบ 'เชิงนโยบาย' ต่อเนื่อง จริงจัง และเข้มข้น ปัญหาจึงจะลดลง"

ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่ทางสถาบันแต่ละแห่ง พยายามดำเนินการก็คือ 'ห้ามรับน้องในสถาบัน' เพราะมุ่งหวังว่า จะลดความขัดแย้ง และการปลูกฝังวัฒนธรรมบางอย่างได้ แต่สุดท้ายก็มี 'การแอบรับน้องนอกสถานที่'

แต่ทาง 'รุ่นพี่' ก็จะให้เหตุผลและมองว่า 'การรับน้อง' เป็นเหมือนการปลูกฝัง วิธีการเอาตัวรอด เช่น ต้องเดินไปเป็นกลุ่ม, ขับรถยังไง เป็นต้น และพยายามทำให้รู้ว่าอีกฝั่งหนึ่ง 'ก็น่ากลัวเช่นกัน' ซึ่งการรับน้องนั้น ค่อนข้าง SOTUS เข้มข้น พี่เน้นสอนน้อง สิ่งนี้จึงทำให้น้องฟังพี่มากกว่าอาจารย์ ซึ่งการรับน้อง เป็นการถ่ายทอดระบบ 'อำนาจนิยม'

10 ปี ที่ผ่านมา 'สองสถาบัน' เคยอยู่ร่วมกันได้ช่วงหนึ่ง เพราะ 'ความไว้ใจ' :

ปัญหาของสองสถาบัน ดร.ชลัท มองว่า เหมือนกับ 'โรคร้าย' และ 'คลื่นทะเล' ขึ้นๆ ลงๆ เรื่องราวที่เกิดขึ้นอยู่ สามารถแก้ไข 'ให้ดีขึ้น' แต่ 'ไม่หายขาด' 

"ปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนโรคร้ายที่ไม่หายขาด แต่เราต้องหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับมัน อย่างมีความสุขที่สุด ยอมรับว่า ฟังดูแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าเคยทำได้"

ดร.เก่ง เล่าย้อนเหตุการณ์ที่ 'สองสถาบัน' หันมา 'ดีกัน' ช่วงหนึ่ง ให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า ช่วง 10 ปีที่แล้ว ผู้บริหารและคุณครูเริ่มหันมาเล่นกีฬาและทำกิจกรรมร่วมกัน หลังจากนั้นตัวเด็กจึงเริ่มเข้ามา ครั้งนั้นเด็กในสถาบันทั้งสอง จึงสามารถเล่นกีฬาด้วยกันได้ มานั่งเรียนด้วยกันได้ ลองนึกภาพว่า พอมาอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกันได้ พวกเขาก็จำหน้ากันได้ ช่วงนั้นจึงเกิด 'ความไว้วางใจ' แต่ในทางกลับกันหากสถานการณ์ไม่ดี การจำหน้ากันได้น้องๆ จะรู้สึกว่าอันตราย

แต่แล้วก็กลับมาเกิดเหตุการณ์ไม่สู้ดีขึ้นอีกครั้ง จึงเริ่มกลับไปแยกกันอยู่เหมือนเดิม ช่วง 10 ปีที่แล้ว มีนักเรียนมาสมัครเรียนมากขึ้นด้วย เพราะความมั่นใจ และไว้ใจเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นปัจจุบัน ผู้ปกครองก็ไม่อยากส่งลูกหลานมาเรียน เรื่องจำนวนเด็กก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าจำนวนนักศึกษาในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ใช่แล้ว! การจะให้ทั้งสองฝ่าย อยู่กันอย่างปรองดอง และสันติ มันต้องเริ่มจาก 'ความไว้ใจ'

ดร.ชลัท กล่าวว่า เรื่องความสัมพันธ์ และความไว้ใจ มันไม่สามารถเกิดได้เร็ว ทุกอย่างต้องค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นมา ซึ่งมันเป็นกลไกระหว่าง 2 สถาบัน นอกจากนั้นต้องมีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมด้วย เช่น สมาคมศิษย์เก่า, กระทรวงศึกษาธิการ, ผู้นำศาสนา, นักจิตวิทยา เป็นต้น ทุกคน ทุกฝ่าย ต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน ไม่ให้ 2 สถาบัน รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว และต้องแก้ปัญหาอยู่ 'คนเดียว' เพราะตอนนี้ปัญหา 'ลุกลาม' ครั้นจะมาให้แก้ไข 'ลำพัง' จะเป็นเรื่องที่ยาก

ประธานศิษย์เก่าอาชีวะไทยเห็นด้วย ต้องแก้ปัญหา 'แบบองค์รวม' :

คุณชิษณุชา กล่าวว่า 'ต้องยอมรับ' ว่า การมองปัญหาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้มองการแก้ปัญหาแบบ 'องค์รวม' แต่พอมีปัญหาถึงจะค่อยแก้ แล้วบางครั้งอาจจะโดนมองว่า นี่เป็นปัญหาของคนส่วนน้อย จนลืมไปว่าปัญหานั้นเกิดกระทบแบบวงกว้าง บางทีผู้ใหญ่อาจจะมอง 'ความขัดแย้งมีอยู่ทุกที่' แต่เราอย่าลืมว่า 'พวกเขายังเด็ก' และต้องมาพบกับการสูญเสียแบบนี้

"แต่ก่อนมันมีปัญหาอยู่แล้ว แต่การสูญเสียน้อย ส่วนตอนนี้ความถี่ของปัญหาน้อยลง แต่มีการสูญเสียเกิดขึ้นทุกครั้ง หากไม่เสียชีวิตก็บาดเจ็บสาหัส"

สิ่งที่อยากฝากถึง :

ดร.ชลัท ฝากถึงการแก้ปัญหาแก้ผู้เกี่ยวข้องว่า ต้องเร่งแก้ปัญหาความรุนแรงทั้ง 3 ชั้น อย่างจริงจัง 'ชั้นกายภาพ' ต้องหยุดความรุนแรงให้ได้ อย่าให้เกิดความสูญเสีย ซึ่งในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความสำคัญอย่างมาก ตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่พลาดยิงครูเจี๊ยบ ถือว่าตำรวจทำงานได้รวดเร็วมาก สิ่งนี้ถือว่าดี เป็นการให้ความสำคัญกับทุกฝ่าย

'ชั้นความเชื่อ' ก็ต้องเร่งสร้างคุณธรรม และจริยธรรม ปลูกฝังกันต่อไป ส่วนของ 'ชั้นโครงสร้าง' ถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะต้องจริงจัง จัดประชุมกันทุกเดือน และมีการสื่อสารกันอยู่เสมอ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า คณาจารย์ทุกท่าน ก็น่าจะสื่อสารกันอยู่แล้ว ในยามที่มีปัญหา 

"ต้องยอมรับว่า อาจจะมีบางคนที่ทำเรื่องไม่สู้ดี แต่ไม่อยากให้มุ่งเน้นว่า จะต้องเสียไปทั้งสถาบัน เพราะคำว่า 'องค์กรอาชญากรรม' ที่หลายคนเรียกกันอยู่ อาจจะไม่หมายถึงคนไม่กี่คน แต่คนฟังอาจจะเหมารวมไปแล้ว ทำให้ภาพลักษณ์ 2 สถาบันดูแย่ 

ผมอยากให้ทั้งสองสถาบันดีขึ้น อยากให้ความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการกลับมา ซึ่งจริงๆ แล้ว วิชาการของสองสถาบันก็ไปไกลมากแล้ว ตัวนักเรียนเองก็เก่ง หาก 'ลด' ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ก็จะยิ่งสร้างพลังที่แข็งแกร่ง"

ทางด้าน ประธานเครือข่ายศิษย์เก่าอาชีวะไทย ฝากข้อความทิ้งท้ายว่า "สุดท้ายไม่มีใครมาตีกันจนแก่ตาย แต่การแก้ไขปัญหาต้องเริ่มจากความจริงใจ จริงจัง ของทุกฝ่าย ไม่มองภาพนี้แบบแยกกันทำ แต่ต้องบูรณาการร่วมกัน ส่วนสำคัญคือ 'ความต่อเนื่อง' ยกตัวอย่างมาตรการที่ได้เคยลองเสนอไว้ เช่น การสร้างตัวตน การให้คุณค่าจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง 

การเอารุ่นพี่ หรือศิษย์เก่า เข้ามาช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ ให้พวกเขา ให้รุ่นพี่เป็นหูเป็นตา เพราะว่า 'รุ่นน้อง' ก็ยังเชื่อมโยงความรู้สึกกับ 'รุ่นพี่' ทุกคนยังให้ความเคารพกัน รุ่นพี่เองก็ต้องชี้ทางน้องๆ ไปสู่ทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่นำน้องไปสู่ปัญหา หรือการแก้แค้น เพราะหากเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น 

หากจะยังรับน้องกัน ก็อยากให้ใส่ข้อมูลดีๆ เข้าไปให้น้อง เพื่อลดความขัดแย้งที่ดีขึ้น พวกคุณมีคุณค่าในตัวเองกันอยู่แล้ว อยากให้นำเสนอย่างสร้างสรรค์"

คุณชิษณุชา กล่าวจบว่า "สังคมมีความขัดแย้งอยู่ทั่วไป แต่เราต้องจัดการปัญหาด้วย ‘สติ’ ไม่ใช้กำลังสมอง ที่สำคัญคือ อย่าไปสาละวนกับความเป็นตัวตนของเรา อยากให้มุ่งพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ

ส่วนผู้คนในสังคม ก็ต้องให้คุณค่ากับนักศึกษาอาชีวะ ที่เขาประสบความสำเร็จ หรือชนะการประกวดต่างๆ เพราะเราจะเห็นข่าวกันน้อยมาก สิ่งดีๆ ต้องช่วยกันสนับสนุน"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก วิทยาเขตอุเทนถวาย และ เฟซบุ๊ก ช่างกลปทุมวัน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :