เมื่อ "น้ำหนัก" ของ "คุณ" มีผลต่อการสิ้นเปลืองพลังงานและนำไปสู่การทำร้ายโลก...
หลัง Covid-19 ผ่านพ้น “ธุรกิจการบิน” เริ่มใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับธุรกิจสายการบิน Low-cost ยังคงเป็น “ทางเลือกสำคัญ” ของคนยุคปัจจุบันในแง่ของการตอบโจทย์เรื่องประหยัดเวลาและเงิน “สำหรับการเดินทางและการท่องเที่ยว” หากแต่ความสะดวกสบายที่ปะปนมากับความโล่งเบาของกระเป๋าเงินจากการเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่ในอีก “มุมหนึ่ง” มีสิ่งที่ชาวโลกต้องร่วมกัน “แบกรับ” ในประเด็นเรื่องการเป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วยเช่นกัน!
เหตุใด “ธุรกิจการบิน” จึงกำลังทำร้ายโลก วันนี้ “เรา” ลองไปรับฟัง “ข้อมูลต่างๆ” เพื่อวิเคราะห์ในประเด็นนี้ร่วมกัน!
...
เครื่องบินแต่ละลำใช้น้ำมันเฉลี่ยมากน้อยแค่ไหน? :
อ้างอิงผลการศึกษาการใช้เชื้อเพลิงจากท่าอากาศยานปารีส ถึง ท่าอากาศยานที่แตกต่างกัน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2022 ของ OAG แพลตฟอร์มผู้ให้บริการด้านข้อมูลสำหรับอุตสาหกรรมด้านธุรกิจการบินชั้นนำของโลก พบข้อมูลการใช้พลังงานที่น่าสนใจ สำหรับเครื่องบินโดยสารชั้นนำประกอบด้วย แอร์บัส A 380, แอร์บัส A 350 และ โบอิ้ง 777 ดังต่อไปนี้...
1. เครื่องบินแอร์บัส A 380 : เที่ยวบิน ลอนดอน - สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์
เวลาที่ใช้ในการบิน : 7 ชั่วโมง 5 นาที
ระยะทาง : 5,498 กิโลเมตร
ความจุน้ำมัน : 72.14 ตัน
อัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงต่อระยะทาง : เฉลี่ย 13.9 ลิตร ต่อ กิโลเมตร
อัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงต่อจำนวนผู้โดยสาร 1 ที่นั่ง : เฉลี่ย 157.7 ลิตร ต่อ ที่นั่ง
ค่าเฉลี่ยการเผาผลาญเชื้อเพลิงขณะทำการบินทั้งหมด : เฉลี่ย 94.54% ของจำนวนเชื้อเพลิง
2. แอร์บัส A 350 : เที่ยวบิน ลอนดอน - ฮ่องกง
เวลาที่ใช้ในการบิน : 11 ชั่วโมง 45 นาที...
ระยะทาง : 9,630 กิโลเมตร
ความจุน้ำมัน : 55.28 ตัน
อัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงต่อระยะทาง : เฉลี่ย 6 ลิตร ต่อ กิโลเมตร
อัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงต่อจำนวนผู้โดยสาร 1 ที่นั่ง : เฉลี่ย 205 ลิตร ต่อ ที่นั่ง
ค่าเฉลี่ยการเผาผลาญเชื้อเพลิงขณะทำการบินทั้งหมด : เฉลี่ย 96.31% ของจำนวนเชื้อเพลิง
3. โบอิ้ง 777 : เที่ยวบิน ลอนดอน - นิวยอร์ก
เวลาที่ใช้ในการบิน : 7 ชั่วโมง 55 นาที
ระยะทาง : 5,539 กิโลเมตร
ความจุน้ำมัน : 52.63 ตัน
อัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงต่อระยะทาง : เฉลี่ย 10 ลิตร ต่อ กิโลเมตร
อัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงต่อจำนวนผู้โดยสาร 1 ที่นั่ง : เฉลี่ย 236.7 ลิตร ต่อ ที่นั่ง
ค่าเฉลี่ยการเผาผลาญเชื้อเพลิงขณะทำการบินทั้งหมด : เฉลี่ย 94.63% ของจำนวนเชื้อเพลิง
*** หมายเหตุ จากรายงานการศึกษาต้นทุนการดำเนินงานของสายการบินภาคการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศในสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 ระบุว่า ต้นทุนด้านเชื้อเพลิงถือเป็นต้นทุนลำดับที่ 2 ของบรรดาสายการบินต่างๆ โดยคิดเป็นสัดส่วน 17.7% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนลำดับที่ 1 คือ ต้นทุนค่าจ้างพนักงานโดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 32.3% ***
...
ธุรกิจการบิน กับ ปัญหามลพิษที่เกิดจากไอเสียอากาศยาน :
จากรายงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ IPCC ระบุว่า บรรดาเครื่องบินต่างๆ ได้ปล่อยสารพิษในชั้นบรรยากาศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น...
1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน)
2. ไอน้ำ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงอย่างสมบูรณ์ จนทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจน เมื่อผสมกับออกซิเจนในอากาศจะเกิดเป็นน้ำ เมื่อเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศระดับสูงกว่า 30,000 ฟุต จะควบแน่นเป็นหยุดน้ำขนาดเล็กจำนวนมาก หากอุณหภูมิของอากาศต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของน้ำมากๆ คือ ระหว่าง -30 ถึง -50 องศาเซลเซียส หยดน้ำขนาดเล็กเหล่านี้จะแข็งตัวจนกลายเป็นผลึกน้ำแข็ง ซึ่งชักนำให้เกิดเมฆชนิดที่เป็นริ้ว ซึ่งทั้งผลึกน้ำแข็งและเมฆจะดักจับรังสีอินฟราเรด และส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกสูงกว่า Co2 ถึง 3 เท่า
3. ฝุ่นและอนุภาค ไอเสียจากเครื่องยนต์อากาศยานจะปล่อยฝุ่นคาร์บอนดำขนาดเล็กออกมา ซึ่งมีผลเสียต่อระบบการหายใจหากร่างกายได้รับนานเกินไป
...
ธุรกิจการบิน กับ ปรากฏการณ์เรือนกระจก :
รายงานจาก องค์กรการบินพลเรือน (International Civil Aviation Organisation) หรือ ICAO เมื่อปี 2014 ระบุว่า การเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ทุกๆ 1 กิโลกรัม จะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 3.157 กิโลกรัม
และเพื่อให้เห็นภาพปริมาณการปล่อย Co2 จาก ธุรกิจการบินมากขึ้น “เรา” ลองไปดูรายงานของสายการบิน ANA ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ระบุว่า เครื่องบินโดยสารที่บินตรงจากโตเกียวไปยังลอนดอน ซึ่งใช้เชื้อเพลิงเฉลี่ย 90 ตัน จะปล่อยปริมาณ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ออกมามากถึง 280 ตัน!
ฉะนั้น การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต่อ เชื้อเพลิง 1 ตัน นั้น จะเทียบเท่ากับปริมาณสระว่ายน้ำขนาด 25 เมตร ฉะนั้น ปริมาณ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” 280 ตัน จึงเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาด 25 เมตร รวมกัน 280 สระนั่นเอง!
...
ด้านงานวิจัย The Contribution of Global Aviation to Anthropogenic Climate Forcing for 2000 to 2018 ซึ่งเผยแพร่ในนิตยสารวิทยาศาสตร์ Atmospheric Environment เมื่อเดือนมกราคม ปี 2021 ระบุว่า ในปี 2018 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินทั่วโลกสร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจากน้ำมือมนุษย์ทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.5%
โดยสัดส่วนดังกล่าวนั้น มาจากการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Co2 ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” (Greenhouse Effect) และทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ของ ภาคการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศถึง 81% ส่วนภาคการขนส่งสินค้าทางอากาศคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19%
และจากอัตราการเติบโตของทั้งภาคการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศและภาคการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง (ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19) คาดว่าภายในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องบินพาณิชย์ทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า! จากตัวเลขที่คาดการณ์ไว้เมื่อปี 2018 ด้วย
ซึ่งประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของ Environmental and Energy Study Institute หรือ EESI ที่ระบุว่า ในปี 2019 ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสายการบิน Low-cost กำลังเบ่งบานนั้น จำนวนผู้โดยสารสายการบินพาณิชย์ทั่วโลกมีตัวเลขรวมกันสูงถึง 4,560 ล้านคน! หรือคิดเป็น 56.68% ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด ณ ปี 2023
สำหรับข้อมูลล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการปล่อย Co2 ที่เกี่ยวข้องกับการบินทั่วโลก จากรายงานของ “องค์การพลังงานระหว่างประเทศ” (International Energy Agency) หรือ IEA มีการระบุว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา “ธุรกิจการบิน” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 2% ของการปล่อย Co2 ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั่วโลกทั้งหมด
โดยสัดส่วนปริมาณการปล่อย Co2 ดังกล่าวซึ่งสูงถึง 800MtCo2 (800 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) นั้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของระดับการปล่อย Co2 จาก “ธุรกิจการบิน” ในช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาด Covid-19 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 920MtCo2 เข้าให้แล้ว!
เครื่องบินประเภทใดปล่อย Co2 มากที่สุด :
จากรายงาน Co2 Emissions From Commercial Aviation 2013, 2018, 2019 ของสภาระหว่างประเทศว่าด้วยการขนส่งที่สะอาด (The International Council On Clean Transportation) หรือ ICCT ในปี 2020 ระบุว่า ในปี 2019 โดยเฉลี่ยแล้วเครื่องบินโดยสารทั่วไปจะปล่อย Co2 ประมาณ 90 กรัม ต่อ ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger Kilometer) หรือ RPK (ค่าเฉลี่ยจำนวนบรรทุกผู้โดยสารที่จ่ายค่าโดยสารของเที่ยวบินทั้งหมดต่อระยะทางที่ทำการบิน)
โดยเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กที่ไม่สามารถบินข้ามทวีปได้ (Smaller regional Aircraft) จะปล่อย Co2 ต่อ RPK สูงถึงเกือบ 80% เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของเครื่องบินประเภทอื่นๆ ในขณะที่เครื่องบินรุ่นใหม่ เช่น Airbus A320neo แบบลำตัวแคบ (มีช่องทางเดินเดียว) ส่วน Boeing 787-9 แบบลำตัวกว้าง จะปล่อย Co2 ต่อ RPK น้อยกว่าเครื่องบินโดยสารรุ่นเก่าในระดับ 30-50%
เครื่องบินโดยสารลำตัวแคบ ที่มีปริมาณการปล่อย Co2 สูงที่สุดระหว่างปี 2013-2019
1. Boeing 737-800
ค่าเฉลี่ยที่นั่งต่อเที่ยวบิน : 174 ที่นั่ง
ค่าความเปลี่ยนแปลงการปล่อย Co2 จากปี 2013-2019 : เพิ่มขึ้น 58%
2. Airbus A320
ค่าเฉลี่ยที่นั่งต่อเที่ยวบิน : 169 ที่นั่ง
ค่าความเปลี่ยนแปลงการปล่อย Co2 จากปี 2013-2019 : เพิ่มขึ้น 59%
3. Airbus A321
ค่าเฉลี่ยที่นั่งต่อเที่ยวบิน : 196 ที่นั่ง
ค่าความเปลี่ยนแปลงการปล่อย Co2 จากปี 2013-2019 : เพิ่มขึ้น 156%
เครื่องบินโดยสารลำตัวกว้าง ที่มีปริมาณการปล่อย Co2 สูงที่สุดระหว่างปี 2013-2019
1. Boeing 777-300 / -300 ER
ค่าเฉลี่ยที่นั่งต่อเที่ยวบิน : 353 ที่นั่ง
ค่าความเปลี่ยนแปลงการปล่อย Co2 จากปี 2013-2019 : เพิ่มขึ้น 67%
2. Airbus A330-300
ค่าเฉลี่ยที่นั่งต่อเที่ยวบิน : 298 ที่นั่ง
ค่าความเปลี่ยนแปลงการปล่อย Co2 จากปี 2013-2019 : เพิ่มขึ้น 39%
3. Airbus A380-800
ค่าเฉลี่ยที่นั่งต่อเที่ยวบิน : 500 ที่นั่ง
ค่าความเปลี่ยนแปลงการปล่อย Co2 จากปี 2013-2019 : เพิ่มขึ้น 112%
น้ำหนักผู้โดยสารเครื่องบิน ที่มีผลต่อการทำให้โลกร้อนขึ้น :
รายงานวิจัย Forecasting World and Regional Aviation Jet Fuel Demand to the Mid-Term ที่มีการเผยแพร่เมื่อปี 2011 คาดการณ์ว่า การที่สายการบินพาณิชย์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาค่าโดยสารที่ลดต่ำลง อีกทั้งยังเต็มไปด้วย “ความต้องการ” ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) หรือ EM จะทำให้ความต้องการ “พลังงาน” (เชื้อเพลิงฟอสซิล) ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.9% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2008-2025
ทั้งนี้นอกจากปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้ สายการบินพาณิชย์ต้องสิ้นเปลืองพลังงานและไปสู่การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำร้ายโลกเพิ่มสูงขึ้น คือ “ปัญหาโรคอ้วน” อันเป็นผลจากประชากรโลกมีน้ำหนักเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น โดยรายงานของ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ในปี 2016 ระบุว่า ความชุกของโรคอ้วนในประชากรโลกระหว่างปี 1975-2016 เพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่า!
โดยประเด็นดังกล่าว ได้รับการยืนยันจากงานวิจัย Economic and Environmental Costs of Obesity : The Impact on Airlines เมื่อปี 2004 ซึ่งระบุว่า ผลการศึกษาในช่วงปี 1994 พบว่า "Extra fuel" หรือ น้ำมันที่ Pilot Command สามารถสั่งเพิ่มจากปริมาณน้ำมัน Minimum fuel ที่คำนวณมาจากการวางแผนการบินในสหรัฐอเมริกา อันเป็นผลมาจากการที่ผู้โดยสารมีน้ำหนักมากขึ้นนั้น อยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านลิตร!
ขณะที่การศึกษาในปี 2014 ที่ครอบคลุมระบบการขนส่งภายในประเทศสหรัฐฯ ระหว่างปี 1970-2010 ได้ระบุว่า ปริมาณ "Extra fuel" สำหรับการโดยสารเครื่องบินภายในประเทศสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 95,200 ล้านลิตร!
ทั้งนี้ “การเผาผลาญน้ำมันส่วนเกิน” ในปริมาณดังกล่าว เป็นผลให้สายการบินพาณิชย์ในสหรัฐฯ สร้าง Co2 ในปริมาณรวมกันสูงถึง 238,000 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคิดเป็น ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงถึง 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเงิน ณ ปี 2012) หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ด้วย!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง