เศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ท่ามกลางกระแสทวงถามถึงนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่เคยหาเสียงไว้ มีการยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการเรื่องระบบหลังได้เป็นรัฐบาล และเริ่มดำเนินโครงการในปีหน้า ให้ทันก่อนครึ่งปี แต่นักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะ ออกมาแสดงความกังวลว่า นโยบายนี้ อาจส่งผลกระทบให้มีหนี้สาธารณะเพิ่ม จนกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
ข้อมูลจาก เอกสารที่พรรคการเมืองยื่นต่อ กกต. ที่วิเคราะห์โดย ทีมงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทย นโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ การแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนคนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งต้องใช้เงิน 5.6 แสนล้านบาท โดยระบุที่มาของเงินจาก 4 แหล่ง ได้แก่ 1. รายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท 2. การจัดเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 1 แสนล้านบาท 3. การบริหารจัดการงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท 4.การบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 9 หมื่นล้านบาท
...
หากวิเคราะห์ถึงแหล่งเงินในการดำเนินนโยบาย จะมีผลกระทบต่องบค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ต้องปรับลดงบลงทุน หรือการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจากภาระหนี้สาธารณะในปัจจุบัน หรือปรับลดสวัสดิการที่ถูกมองว่าซ้ำซ้อน
แม้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สูงมากนัก แต่ไม่ได้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนต้องกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ดังที่หลายพรรคการเมืองเสนอ นอกจากนี้แม้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงจะเกิดเงินเฟ้อ หากรัฐบาลใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไป
พรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ควรกำหนดเงื่อนเวลาของการดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละปี โดยควรระวังไม่ให้การกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงเกินกว่าระดับตามศักยภาพมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดเงินเฟ้อและมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรระวังการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตประเทศจะมีภาระเพิ่มขึ้นจากกองทุนประกันสังคม ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นอีกมากจากการเป็นสังคมสูงอายุ หากหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่รัฐบาลขาดวินัยการคลัง อาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย.