ธุรกิจ Fast Fashion ความเร็วที่ทำให้โลกเกิดความไม่ยั่งยืน จากปัจจัยที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายระดับ...
สำนักวิจัย Research and Markets คาดการณ์ว่า "ธุรกิจ Fast Fashion" ในปี 2023 จะขยายตัวแตะระดับ 122,000 ล้านดอลาร์สหรัฐ (4.3 ล้านล้านบาท) โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) 15.6% และคาดว่าภายในปี 2027 ตลาดจะขยายตัวได้ถึง 184,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.5 ล้านล้านบาท) และมี CAGR 10.7%
ภายใต้การผลิตเสื้อผ้าใหม่ออกสู่ตลาดมากกว่า 100,000 ล้านชิ้นต่อปี โดยมี “ตลาดยุโรปตะวันตก” เป็นตลาดใหญ่ที่สุดที่พร้อมโอบรับ “ธุรกิจที่กำลังเบ่งบานนี้” ส่วนอันดับที่ 2 คือ “ตลาดเอเชียแปซิฟิก”
โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ “ธุรกิจ Fast Fashion” เติบโตได้อย่างต่อเนื่องเป็นเพราะปัจจุบัน “กลุ่มเยาวชน” (Youth) อายุ 15-24 ปี ซึ่งหากอ้างอิงตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่ามีอยู่ประมาณ 1,200 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 16% ของจำนวนประชากรโลก มีความต้องการเสื้อผ้าที่ “ตอบโจทย์” เรื่องการออกแบบที่ต้องโดดเด่นไม่เหมือนใคร เข้าถึงเทรนด์แฟชั่นได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญต้องมีราคาจับต้องได้
...
บรรทัดด้านบนทั้งหมดนั้นคือ “ผลดี” ที่ชาวโลกได้รับจากธุรกิจ Fast Fashion อย่างไรก็ดีภายใต้การขยายตัวของธุรกิจ Fast Fashion ที่ว่านี้...ในอีกมุมหนึ่งย่อมมี “ราคาที่ชาวโลกต้องจ่าย” ด้วยเช่นกัน "โดยเฉพาะประเด็นปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม"
อะไรคือ...ผลกระทบที่เกิดจากธุรกิจมูลค่า 4.3 ล้านล้านบาทที่ว่านี้กันบ้าง? วันนี้ “เรา” ลองไปร่วมกันรับฟัง “ข้อมูล” ต่างๆ มาประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ร่วมกัน!
ราคาที่ชาวโลกต้องจ่ายให้กับธุรกิจ Fast Fashion :
จากรายงานวิจัย The environmental price of fast fashion ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงบนวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง Nature ระบุว่าในทุกๆ กระบวนการผลิต “เสื้อผ้า” เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรม Fast Fashion ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นจากจุดเริ่มต้น คือ การใช้น้ำและสารเคมีเพื่อทำไร่ฝ้ายสำหรับนำไปผลิตเส้นด้ายและสิ่งทอ เรื่อยไปจนกระทั่งถึงการปล่อย “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” หรือ Co2 ในระหว่างกระบวนการผลิต หรือแม้กระทั่ง “เสื้อผ้าเหล่านี้” ซึ่งอาจจะถูกสวมใส่เพียงแค่ครั้งเดียว หรือไม่เคยถูกสวมใส่เลย ได้ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะกองมหึมาที่ย่อยสลายได้ยากในท้ายที่สุด!
Fast Fashion กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม :
1. น้ำ :
จากรายงานของ The environmental price of fast fashion ระบุว่า ณ ปี 2015 อุตสาหกรรมแฟชั่นโลกใช้น้ำในปริมาณมากถึง 93 ล้านล้านลิตร สำหรับการปลูกฝ้ายและกระบวนการผลิตสิ่งทอ (การฟอกสี, การย้อมสี, การพิมพ์ และการตกแต่งสำเร็จ) ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยต่อปี สำหรับการผลิตสิ่งทอนั้นปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 44 ล้านล้านลิตรต่อปี หรือคิดเป็น 3% ของปริมาณการใช้น้ำเพื่อการชลประทานทั่วโลก!
และเพื่อให้สามารถมองภาพปริมาณการใช้น้ำสำหรับกระบวนการผลิตที่ว่านี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น รายงานดังกล่าวได้มีการเปรียบเทียบการใช้น้ำสำหรับการผลิตเสื้อเชิ้ตและกางเกงยีนส์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...
สำหรับกระบวนการผลิตเสื้อเชิ้ต 1 ตัว จำเป็นต้องใช้น้ำเฉลี่ยประมาณ 2,649 ลิตร! ส่วนกางเกงยีนส์ 1 ตัวจะมีปริมาณการใช้น้ำเฉลี่ยในกระบวนการผลิตประมาณ 7,570 ลิตร!
...
ซึ่งปริมาณการใช้ทรัพยากรน้ำที่มากมายมหาศาลขนาดนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าย่อมต้องส่งผลกระทบให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ที่ถูกใช้เป็นแหล่งผลิตสิ่งทอเพื่อป้อนให้กับ "อุตสาหกรรม Fast Fashion" โดยเฉพาะฐานการผลิตที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังกลาเทศ และศรีลังกา
นอกจากทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคแล้ว การใช้สารเคมีในระหว่างกระบวนการผลิตยังทำให้เกิดน้ำเสียที่ไม่ได้ผ่านการบำบัดที่เหมาะสม ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสำคัญๆ รวมถึงไหลซึมลงสู่ใต้ดินจนกระทั่งทำให้ระบบนิเวศในพื้นที่เสื่อมโทรมด้วย โดยงานวิจัยของ The environmental price of fast fashion ระบุว่า กระบวนการผลิตสิ่งทอป้อนธุรกิจ Fast Fashion ได้ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำสูงถึง 60% ในประเทศกัมพูชา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตสิ่งทอสำคัญของโลก
...
2. มลพิษ :
"ปรากฏการณ์เรือนกระจก"
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental panel on Climate Change) หรือ IPCC ประมาณการณ์ว่า “อุตสาหกรรมสิ่งทอ” เป็นตัวการที่ผลิต “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” หรือ Co2 ซึ่งนำไปสู่ "ปรากฏการณ์เรือนกระจก" (Greenhouse Effect) ซึ่งทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 10% ต่อปี
ในขณะที่งานวิจัยของ Quantis บริษัทที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดัง ระบุว่า ในปี 2016 สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 8.1% ต่อปี
หากแต่ในการหารือตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อปี 2018 นั้นมีการประเมินว่าอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ นี้อาจจะกลายเป็นตัวการที่เร่งการปล่อย Co2 มากถึง 60% ได้ภายในปี 2030
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “อุตสาหกรรมสิ่งทอ” ผลิต “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ออกมาในปริมาณสูงนั้นเป็นเพราะในระหว่างกระบวนการผลิตโดยเฉพาะการสกัดใยผ้าและเส้นใยสังเคราะห์ต้องใช้ความร้อนสูง รวมถึงขั้นตอนการขนส่งนั้นจำเป็นต้องอาศัยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหินจำนวนมาก
ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ Changing Markets Foundation องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ระบุว่า เฉพาะในกระบวนการผลิตเส้นใยสังเคราะห์จากสารเคมีในแต่ละปีนั้น จำเป็นต้องใช้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน) ถึง 1,300 ล้านบาร์เรลต่อปี หรือคิดเป็น 1.35% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลก
...
"ระบบนิเวศและความเสี่ยงต่อมนุษย์"
มีการประเมินว่า “อุตสาหกรรมสิ่งทอ” จำเป็นต้องใช้สารเคมีรวมกันมากกว่า 15,000 ชนิด ในระหว่างกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นทั้ง ยาฆ่าแมลง สารกำจัดวัชพืช สารควบคุมการเจริญเติบโต สารดูดความชื้น สารกำจัดใบ สารฆ่าเชื้อรา
ซึ่งการใช้สารเคมีจำนวนมากมายขนาดนี้ เฉพาะเพียงขั้นตอนการปลูกไร่ฝ้าย นอกจากทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินลดลงแล้วยังมีผลกระทบต่อมนุษย์ในแง่ของการทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น ทำให้เกิดปัญหาด้านระบบสืบพันธุ์ เช่น ภาวะมีบุตรยาก การแท้งบุตร หรือการพิการตั้งแต่กำเนิด หรือเลวร้ายที่สุดอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
"ไมโครพลาสติกในสิ่งทอ"
อ้างอิงจากรายงานของ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติสำหรับยุโรป (United Nations Economic Commission for Europe) หรือ UNECE และ Ellen MacArthur Foundation มีการประเมินว่า "เส้นใยสังเคราะห์" เช่น โพลีเอสเตอร์ อะคริลิค และไนลอน ซึ่งถูกใช้เป็นวัสดุสำคัญในการผลิตเสื้อผ้าในยุคปัจจุบัน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 60% เนื่องจากมีราคาถูกนั้น ตั้งแต่กระบวนการผลิต การสวมใส่ โดยเฉพาะการซักทำความสะอาด จะทำให้ “ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ” (Primary Microplastic) ในเส้นใยสังเคราะห์เหล่านั้นซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เล็ดลอดออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและลอยปะปนอยู่ในทะเลมากถึง 500,000 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 35% ของจำนวนไมโครพลาสติกทั้งหมดที่ถูกค้นพบในมหาสมุทรแต่ละปี
ซึ่ง “ไมโครพลาสติก” เหล่านี้นอกจากเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยากซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศแล้ว หากเกิดเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหารจนกระทั่งเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ในปริมาณสูง มีความเสี่ยงที่จะทำเกิดโรคมะเร็ง หรือทำให้ขัดขวางการทำงานของเส้นเลือดได้ด้วย
"ปริมาณขยะ"
ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Assembly) เมื่อปี 2019 มีการระบุว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นได้ทำให้เกิดขยะที่มีมูลค่ามากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (17.6 ล้านล้านบาท) ในทุกๆ ปี จากการใช้ประโยชน์จากเสื้อผ้าน้อยเกินไป และขาดการนำกลับไปรีไซเคิล
โดยปริมาณขยะจากสิ่งทอนี้คิดเป็นค่าเฉลี่ยสูงถึง 92 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 7% ของปริมาณขยะทั้งหมดในพื้นที่ฝังกลบทั่วโลก ในขณะที่ปริมาณเสื้อผ้าที่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ของปริมาณขยะสิ่งทอในแต่ละปีด้วย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง