การปรับเกณฑ์ให้เบี้ยผู้สูงอายุ ตามรูปแบบใหม่ ที่จะต้องมีเกณฑ์ในการพิสูจน์ความจน ของผู้สูงอายุที่จะอายุครบ 60 ปี ในรายใหม่ กลายเป็นกระแสสร้างความวิตกให้กับหลายคน แม้ในระหว่างนี้จะมีการประเมินถึงความเหมาะสม แต่สำหรับนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ มองว่ามีความเสี่ยงที่คนชรา ที่จนจริง จะตกหล่นจากระบบ จึงมีการเสนอแนวทางการแก้ไขในรูปแบบผสม

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การเปลี่ยนเกณฑ์รับสิทธิเบี้ยยังชีพคนชรา จากเดิมเป็นแบบถ้วนหน้า ต้องมีการพิสูจน์ความจน เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โยนหินถามทางมาแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ทำให้คนแก่ที่กำลังจะอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ได้มีฐานะยากจนจะไม่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพตามแนวทางเดิม แต่คนที่เคยได้รับเบี้ยคนชราอยู่แล้วได้รับต่อไปตามที่บทเฉพาะกาลกำหนดเอาไว้

...

ผลกระทบหลักเกณฑ์ใหม่ชัดเจนว่า ทำให้มีผู้ที่มีสิทธิได้เงินน้อยลง ความคาดหวังของรัฐบาลที่ออกกฎแบบนี้เพราะต้องการประหยัดงบประมาณ ตามที่มีการประเมินเป็นตัวเลขในอนาคตว่าต้องมีการใช้เงินมากกว่าปัจจุบัน ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายเบี้ยคนชรา สาเหตุหลักต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น มาจากผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และงบประมาณเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพ จากเดิมกำหนดไว้ตามขั้นบันไดตามช่วงอายุรายละ 600-1,000 บาท/เดือน ตามที่มีพรรคการเมืองหาเสียงไว้ว่าจะเพิ่มจำนวนงบประมาณเบี้ยคนชรา เช่น พรรคก้าวไกล จะปรับเบี้ยคนชราเป็น 3,000 ต่อเดือน และยังมีพรรคการเมืองบางพรรคที่กำลังอยู่ระหว่างการรวมเสียงฟอร์มรัฐบาลกันอยู่ ก็ใช้ตัวเลข 3,000 บาท/เดือน เหมือนกัน ถ้าทุกคนได้เบี้ยคนชรา 3,000 บาท/เดือน ต้องใช้งบประมาณ 4-5 แสนล้านบาท/ปี หรือเพิ่มขึ้น 5-6 เท่าจากงบประมาณที่ใช้ในปัจจุบัน ถือเป็นภาระของงบประมาณที่มากจริง

เบื้องต้น ควรเป็นการให้แบบถ้วนหน้า แต่ถ้าจะขยายความต่อว่าผมไม่กังวลเรื่องงบประมาณหรือ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขึ้นเป็น 3,000 บาทต่อเดือนจริง ซึ่ง 3,000 เป็นตัวเลข สำหรับคนยากจนจริงๆ ก็อธิบายได้ว่าไม่ได้สูงไปสำหรับการที่ต้องให้กับคนที่ยากลำบากจริง แต่เป็นปัญหาว่างบประมาณ 4-5 แสนล้านบาท จะไปหาจากไหน.