เพราะอะไร? ฟุตบอลลีกซาอุดีอาระเบีย Saudi Pro League ถึงต้องทุ่มเงินมหาศาล เพื่อมุ่งหน้าสู่ Vision 2030...

การมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย Vision 2030 ของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย เพื่อนำพาประเทศซาอุดีอาระเบียไปสู่ “ยุคใหม่” ผ่าน 3 เสาหลัก คือ “บันเทิง ท่องเที่ยว และกีฬา” เริ่มเร่งความเร็วและแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะ “กีฬา” หลังมีการหว่านเม็ดเงินจำนวนมหาศาลกวาดต้อน “สตาร์ดัง” มากหน้าหลายตาเข้ามาตกแต่ง “Saudi Pro League” ฤดูกาล 2023/24 ให้ดูดีมีชาติตระกูลมากยิ่งขึ้น หลังการปูทางอย่างใหญ่ยิ่งของเมกะสตาร์ อย่าง “คริสเตียโน โรนัลโด” เมื่อฤดูกาลก่อนหน้า 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : 

...

แล้ว “ซาอุดีอาระเบีย” วางเป้าหมายให้กับ “Saudi Pro League” หรือ SPL เอาไว้อย่างไร? วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันสำรวจ “เป้าหมาย” อันแสนน่า “ริษยา” สำหรับวงการฟุตบอลของประเทศๆ หนึ่งแถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่วางเป้าจะไปฟุตบอลโลกให้ได้ในชาตินี้กันดู!

Saudi Pro League : 

SPL ฤดูกาล 2023/24 มีการเพิ่มทีมจาก 16 ทีม เป็น 18 ทีม และในอนาคตอันใกล้มีแผนจะเพิ่มสโมสรในลีกสูงสุดให้ได้ 20 ทีมเป็นอย่างน้อย เพื่อหวังยกระดับลีกให้ใกล้เคียงกับลีกชั้นนำในยุโรป และไต่ระดับไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุด คือ 1 ใน 10 ลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลกให้จงได้ โดยปัจจุบัน SPL ถูกจัดอันดับจาก Twenty First Group บริษัทข่าวสารด้านกีฬาชั้นนำของโลก ให้เป็นลีกฟุตบอลในลำดับที่ 54 ของโลก

เป้าหมาย 1 ใน 10 ลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก : 

สำหรับ มูลค่ารวมของ SPL ณ ปัจจุบัน (ฤดูกาล 2023/24) ถูกประเมินมูลค่าเอาไว้ที่ 3,000 ล้านริยาล หรือประมาณ 610 ล้านปอนด์ (ประมาณ 27,386 ล้านบาท) ขณะที่รายได้เชิงพาณิชย์อยู่ที่ 450 ล้านริยาล หรือ ประมาณ 91 ล้านปอนด์ (4,127 ล้านบาท) 

อย่างไรก็ดี SPL ได้วางเป้าหมายเอาไว้แล้วว่า จะเพิ่มมูลค่าลีก เป็น 8,000 ล้านริยาล หรือ 1,628 ล้านปอนด์ (73,840 ล้านบาท) ให้ได้ภายในปี 2030 รวมถึงจะเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ เป็น 1,800 ล้านริยาล หรือประมาณ 366 ล้านปอนด์ (16,600 ล้านบาท) ต่อฤดูกาลด้วย 

แหล่งรายได้ของ Saudi Pro League : 

จากรายงานของ Saudi Press Agency หรือ SPA สื่อทางการของซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า ปัจจุบันแหล่งรายได้หลักที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่สำหรับหล่อเลี้ยง SPL มาจาก... 

1. เงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดภายในประเทศ มูลค่า 61 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล (มูลค่ารวม 183 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 8,215 ล้านบาท) รวม 3 ฤดูกาล (2022-2025) 

...

สำหรับบริษัทที่ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดดังกล่าว คือ “Saudi Sports Company” หรือ SSC ซึ่งเป็นบริษัทธุรกิจสื่อกีฬาของทางการซาอุดีอาระเบีย ที่มี Public Investment Fund หรือ PIF กองทุนความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือครองความมั่งคั่งมากกว่า 3.2 แสนล้านปอนด์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่! 

โดยหลังการมาถึงของ “โรนัลโด” มีรายงานว่า SSC ได้ขยายขอบเขตของธุรกิจโดยการเสนอขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดศึก SPL ออกไปมากกว่า 45 ประเทศทั่วโลกแล้ว 

2. เงินจากสปอร์เซอร์หลักที่ให้กับสนับสนุน Saudi Pro League คือ “Roshn” บริษัทพัฒนา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมี PIF เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อีกเช่นกัน! 

โดยภายในระยะเวลา 5 ปี ของการสนับสนุน “Roshn” จะจ่ายให้กับ SPL เป็นเงินก้อนโตถึง 97 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 4,354 ล้านบาท! (ฤดูกาลละ 870 ล้านบาท) 

...

3. การหนุนหลังจาก PIF : 

เดือนมิถุนายนที่ผ่ายมา PIF ได้เข้า "เทคโอเวอร์" 4 สโมสรชั้นนำของ Saudi Pro League อย่าง 1.สโมสรอัล อิติฮัด (Al-Ittihad), 2.สโมสรอัล นาสเซอร์ (Al-Nassr), 3.สโมสรอัล ฮิลาล (Al Hilal) และ 4.สโมสรอัล อาห์ลี (Al-Ahli) โดยเข้าถือหุ้นแต่ละสโมสรในสัดส่วน 75% ซึ่งแม้ว่าในเบื้องต้นจะไม่มีการเปิดเผยมูลค่าการเข้าเทคโอเวอร์ในครั้งนี้ แต่จากสถานะทางการเงินอันแข็งแกร่งของ PIF คงไม่น่าจะมี “คำถาม” ถึงเรื่อง “ฟ่อนธนบัตร” สำหรับการนำมาใช้ดูแลการใช้จ่ายหรือดึงตัวสตาร์ชื่อดังจากทั่วโลกมาเข้าสู่ทั้ง 4 สโมสรนี้อีกต่อไปแล้ว  

Saudi Pro League กับ สตาร์ดังระดับโลก :  

หลังสามารถเรียกร้องความสนใจจากชาวโลก ด้วยการทุ่มเงินก้อนโตจ่ายเป็นค่าเหนื่อยให้กับ “โรนัลโด” ถึง 172 ล้านปอนด์ต่อปี เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมาได้สำเร็จ ล่าสุดบรรดาสโมสรใน SPL ได้ออกกวาดต้อนบรรดานักเตะระดับ A-list จากทั่วโลกเข้ามาเสริมทีม จนถึงกับทำให้บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในยุโรปต้องตกตะลึง

โดยฤดูกาล 2023/24 ของ SPL ซึ่งจะเริ่มฟาดแข้งในวันที่ 11 สิงหาคมที่จะถึงนี้ 18 สโมสรในลีก ได้รับอนุญาตให้มีนักเตะต่างชาติได้สูงสุดถึง 8 คน! (แต่สามารถส่งลงสนามได้สูงสุด 7 คน) ได้ออกไปไล่ซื้อนักเตะระดับท็อปของยุโรปมาร่วมทีมได้แล้วหลายต่อหลายคน ไล่เรียงมาตั้งแต่... 

...

1. สโมสรอัล อาห์ลี (Al-Ahli) ได้ตัว “โรแบร์โต เฟอร์มิโน” ศิลปินลูกหนังและนักเตะที่เหล่าเดอะค็อปแสนรักใคร่มาครอบครอง ด้วยการทุ่มเงินเล็กๆ น้อยๆ เป็นค่าเหนื่อย 17 ล้านปอนด์ต่อฤดูกาล (763 ล้านบาทต่อปี) ภายใต้ระยะเวลาสัญญา 3 ปี 

ส่วนคนถัดมา คือ “เอดูอาร์ด เมนดี” ผู้รักษาประตูจากเชลซี ทุ่มเงินซื้อไป 16 ล้านปอนด์ พร้อมจ่ายค่าเหนื่อย 12 ล้านปอนด์ต่อปี (538 ล้านบาทต่อปี) และสัญญา 3 ปี     

2. สโมสรอัล อิตติฟาค (Al-Ittiffaq) ทุ่มเงินเป็นค่าเหนื่อยให้กับ “พี่เจิด” สตีเวน เจอร์ราร์ด สำหรับบทบาทการเป็นกุนซือ ถึง 8.1 ล้านปอนด์ต่อปี (363 ล้านบาทต่อปี) กับสัญญา 2 ปี 

3. สโมสรอัล ฮิลาล (Al-Hilal) จ่าย 47 ล้านปอนด์ ซื้อตัว “รูเบน เนเวส” มิดฟิลด์พันธุ์แกร่ง พร้อมจ่ายค่าเหนื่อย 15 ล้านปอนด์ต่อปี (673 ล้านบาทต่อปี) กับสัญญา 3 ปี 

คนที่ 2 “เซอร์เก มิลินโควิช ซาวิช” จอมทัพจากเซอร์เบีย จ่ายไป 34 ล้านปอนด์ กับค่าเหนื่อย 17 ล้านปอนด์ต่อปี (763 ล้านบาทต่อปี) กับสัญญา 3 ปี 

คนที่ 3 “คาลิดู คูลิบาลี” แนวรับสุดแกร่งจากเชลซี จ่ายไป 18 ล้านปอนด์ กับค่าเหนื่อย 15.6 ล้านปอนด์ (700 ล้านบาทต่อปี) กับสัญญา 3 ปี 

4. สโมสรอัล อิติฮัด จ่าย 25 ล้านปอนด์เป็นค่าตัว “โจตา” ปีกดาวรุ่งโปรตุกิสจากเซลติก กับค่าเหนื่อย 10 ล้านปอนด์ (448 ล้านบาทต่อปี) กับสัญญา 3 ปี 

คนที่สอง “เอ็นโกโล ก็องเต” มิดฟิลด์ไดนาโมจากเชลซี จ่ายค่าเหนื่อยไปเบาะๆ 86 ล้านปอนด์ต่อปี (3,860 ล้านบาท) กับสัญญา 4 ปี

คนที่สาม “คาริม เบนเซมา” โคตรดาวยิงสัญชาติฝรั่งเศส จ่ายค่าเหนื่อยไปไม่มากไม่น้อยแค่ปีละ 172 ล้านปอนด์ต่อปี! (7,721 ล้านบาทต่อปี) กับสัญญา 3 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้ อดีตดาวยิงเรอัล มาดริด กลายเป็นแข้งที่มีค่าเหนื่อยสูงสุด ของ SPL เท่ากับ โรนัลโด ทันที!  

5. สโมสรอัล นาสเซอร์ ของ โรนัลโด จ่าย 15 ล้านปอนด์ เป็นค่าตัว “มาร์เซโล โบรโซวิช” มิดฟิลด์สารพัดประโยชน์จากอินเตอร์ มิลาน พร้อมจ่ายค่าเหนื่อย 30 ล้านปอนด์ต่อปี (1,346 ล้านบาทต่อปี) กับ สัญญา 3 ปี 

ทั้งนี้ การซื้อขายนักเตะดังกล่าวอาจเป็นเพียง “การเริ่มต้น” เท่านั้น เพราะล่าสุด (สิ้นสุดวันที่ 17 ก.ค. 23) สโมสรใน SPL ยังคงมีข่าวเชื่อมโยงกับเหล่าสตาร์ดังโดยเฉพาะในพรีเมียร์ลีกอังกฤษอีกหลายต่อหลายคน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น คือ “จอร์แดน เฮนเดอร์สัน” กัปตันทีมของลิเวอร์พูล หลัง สโมสรอัล อิตติฟาค ได้ตัว “สตีวีจี” มาเป็นเหยื่อล่อ! 

Saudi Pro League และ อนาคตของซาอุดีอาระเบีย : 

สำหรับการลงทุนให้กับ “กีฬา” ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 เสาหลักของ Vision 2030 นั้น นอกจากเป็นการตั้งความหวังในการนำไปสู่การสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้กับประเทศแล้ว ทางการซาอุดีอาระเบีย ยังมองด้วยว่า “กีฬา” จะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ชักจูงให้ประชาชนในประเทศมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย เพราะก่อนหน้านี้ ผลการสำรวจพบว่า มีประชากรในประเทศมากถึง 60% ประสบปัญหาเป็น “โรคอ้วน” 

ส่วนหากถามว่า Saudi Pro League ณ ปัจจุบัน สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวซาอุดีอาระเบีย หันมาสนใจ “กีฬา” ได้มากน้อยแล้วแค่ไหนนั้น ล่าสุด SPA สื่อทางการของซาอุดีอาระเบีย ระบุว่า ในปี 2015 มีชาวซาอุดีอาระเบีย ให้ความสนใจเรื่องการมีส่วนร่วมในวงการกีฬา เพียง 13% แต่หลังการมาถึงของ โรนัลโด ณ ปี 2022 พบว่ามีชาวซาอุดีอาระเบีย ให้ความสนใจเรื่อง “กีฬา” เพิ่มขึ้นถึง 50%! นอกจากนี้ จำนวนสหพันธ์กีฬาประเภทต่างๆ ซึ่งในปี 2015 มีเพียง 32 แห่ง หากแต่ ณ ปี 2022 ยังได้เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 95 แห่ง 

ซึ่งความกระตือรือร้นต่อเกมกีฬาที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไม่ชนิดเคยปรากฏมาก่อน ทำให้ทางการซาอุดีอาระเบียเชื่อมั่นว่าจะกลายเป็น "รากฐาน" สำคัญในการให้การสนับสนุน Saudi Pro League สามารถเติบใหญ่ได้ต่อไปในอนาคต เพื่อ “ลบคำปรามาส” ของ “อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน” ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ซึ่งออกมาให้ความเห็นก่อนหน้านี้ว่า Saudi Pro League ไม่มีทางขึ้นมาทาบรัศมีลีกฟุตบอลชั้นนำในยุโรปได้ และการทุ่มเงินอย่างบ้าคลั่งของ SPL ที่กำลังเกิดขึ้น จะไม่ต่างอะไร กับ "ไชนิสซุปเปอร์ลีกของจีน" ก่อนหน้านี้ ที่สามารถ “เร้าความสนใจ” บรรดานักเตะชั้นนำในโลกได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น! 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :