เผยเบื้องหลัง การลาออกของ แพทย์ Intern ที่มีสาเหตุมากกว่าการทำงานหนัก เผยสถิติแพทย์กับ ประชากรไทย เทียบ 1 : 991 พร้อมข้อมูลแพทย์ Intern ลาออกย้อนหลัง แนะ รัฐบาลใหม่ต้องปรับปรุง...

แพทย์ Intern หรือ แพทย์จบใหม่ ที่ต้องใช้ทุน 3 ปี

ปกติแล้ว แพทย์มือใหม่เหล่านี้จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลรัฐที่ขาดแคลน และแน่นอนว่า สิ่งที่รออยู่ก็คือ “งานหนัก” เพราะต้องรับผิดชอบคนไข้มากมายในแต่ละวัน ดังนั้น คนที่อึดถึกทน ถึงอยู่ได้ ส่วนใครที่พอจะมีทรัพย์สิน และทนไม่ไหว ก็ต้องขอลาออก ซึ่งถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาช้านานแล้ว 

ถามว่า “งานหนัก เงินน้อย” จริงหรือไม่ ถ้าจะให้ตอบ ก็ต้องไปฟังแพทย์ตัวจริง ที่อยู่ในระบบสาธารณสุขของเมืองไทย มามากกว่า 30 ปี มาไขคำตอบ 

แหล่งข่าวที่อยู่ในวงการแพทย์ของไทย บอกกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ว่า “ปัญหานี้มีมา 50 ปีแล้ว ทุกวันนี้ยังมีอยู่ แปลว่ามีอะไรต้องปรับปรุง” 

ปัญหาที่เกิดขึ้นแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย คือ จากตัวแพทย์ Intern และ ปัจจัยที่ทำงาน 

หมออาวุโส เผยว่า คนเป็นหมอ ต้องเผชิญงานหนักเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ที่ต่างออกไป คือ คนรุ่นใหม่บางคน จะไม่ยอมอดทนกับงานหนัก อีกทั้งบางคนได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่เป็นอย่างดี มันทำให้มีความรู้สึกว่า ทนต่อไปไม่ไหว รู้สึกอึดอัด 

แต่นอกเหนือเรื่องจากงานหนัก คือ ปัจจัยที่ 2 คือความรู้สึกว่า “ถูกเอาเปรียบ” โดยเฉพาะการถูกเอาเปรียบจาก หมอคนอื่น อาจารย์ผู้ใหญ่บางคนมาสาย กลับเร็ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวด้วย เงินเดือนน้อย บางทีจ่ายช้า ถูกบีบทุกอย่าง นี่แหละคือ สาเหตุที่ทำให้แพทย์ Intern ลาออก 

...

“หากให้พูดกันแฟร์ๆ คือ จะให้ทำงานหนัก อดนอนทุกวัน คนเราก็ย่อมไม่ไหว สิ่งที่เห็นด้วยคือ หมอทุกคนต้องช่วยกันแบ่งเบาภาระ งานหนักพอทนไหว แต่ถูกเอาเปรียบด้วยเลยทนไม่ไหว”

ทำไม หมอจบใหม่ ต้องถูกบังคับไปทำงานต่างจังหวัด 

แหล่งข่าวซึ่งเป็น นายแพทย์อาวุโส เคยตั้งคำถามว่า อาชีพอื่นพอเรียนมาก็ไปทำงานอิสระได้ แต่ทำไมแพทย์ต้องถูกบังคับให้ทำงานต่างจังหวัด หากเป็นหมอผู้หญิงทำอย่างไร หากเป็นลูกสาวคนเดียวที่อยู่กับพ่อแม่มาตลอดทำอย่างไร 

คนเป็นหมอจบมาก็ต้องกลับมาใช้ทุน แต่อาชีพอื่นไม่ต้องใช้ ซึ่งวิธีการแบบนี้ อเมริกาใต้ หรือมาเลเซียเคยใช้มาก่อนเรา ปัจจุบันเขาเลิกแล้ว ความรู้สึกคือ ยิ่งถูกบังคับ ก็ยิ่งจะหนี แทนที่จะให้ไปทำงานด้วยความสมัครใจ แลกด้วยความก้าวหน้าในอาชีพ ซึ่งในความจริง หมอที่ควรถูกส่งไปอยู่ไกลๆ ต้องเป็นคนเก่ง ไม่ใช่หมอใหม่ มุมมองแบบฝรั่ง คือ ต้องให้คนเก่งไปที่ห่างไกล เพราะไม่มีใครมาช่วย แต่ของบ้านเรา คนที่ไป อาจจะยังไม่มีความรู้มากเท่าไร พอเจอปัญหา บางครั้งก็ไม่รู้จะทำอะไร

โอกาสยกเลิก “บังคับ” ส่งไปอยู่ รพ.ห่างไกล 

กับคำถามข้างต้น ต้องยอมรับว่า บางโรงพยาบาลเขาบอกว่าขาดบุคลากรจริงๆ แบบนี้จะพูดอย่างไรได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ หากมีนักเรียนแพทย์เฉพาะทาง เป็นหมอรักษาตา บอกว่า หากเรียนจบจะต้องไปใช้ทุน ที่ รพ.แห่งนี้ ปรากฏว่า โรงพยาบาลได้ซื้อเครื่องมือเกี่ยวกับตาไว้ พอถึงเวลาต้องไปประจำ นักเรียนแพทย์คนนี้ควักเงินใช้ทุน แปลว่า โรงพยาบาลแห่งนี้ก็จะไม่มีหมอรักษาตาไปประจำ 

แต่สำหรับต่างประเทศ ไม่มีปัญหานี้ คือ โรงพยาบาลจะเปิดรับสมัคร หมอรักษาตา คนที่จะมา คือ คนที่ต้องการอยู่แน่นอน เพราะเป็นความตั้งใจมา มาแบบนี้เขาจะอยู่นาน แต่สำหรับเมืองไทย ถูกบังคับเพราะ หากไม่มาเขาก็จะไม่มีสิทธิเข้าฝึกอบรม ถ้าไม่ฝึกอบรมก็ไม่ได้ใบอนุญาต แต่ถ้าใครไม่อยากมา ได้ใบอนุญาต เขาก็ยอมจ่ายเงินใช้ทุน 

ค่าเฉลี่ย “หมอ” ทำงานในแต่ละวัน 

โดยทั่วไป จะอยู่เวร 8 ชั่วโมง แต่บางครั้งอาจจะต้องลากเวรถึง 24 ชั่วโมง แต่สำหรับต่างประเทศ เช่น อเมริกา บางครั้งก็ทำงาน 60-80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งงานปกติแล้ว จะทำแค่ 40 ชั่วโมง ที่ผ่านมา เขาเคยกำหนดว่า หากหมออยู่เวรไม่ควรลากเกิน 24 ชั่วโมง เพื่อมาดูสถิติว่า จะมีคนไข้ตายน้อยลงหรือไม่ สิ่งที่พบ คือ เกิดปัญหาตามมา หมอออกเวรทันทีแล้วมีปัญหาเรื่องการส่งต่อคนไข้ ความรู้สึกเหมือนทิ้งคนไข้ บางคนยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร ทำแบบนี้ไม่ได้ บางครั้งก็ต้องมีการยืดหยุ่นบ้าง 

...

งานหนัก เงินน้อย จริงไหม? 

ทีมข่าวฯ ถามว่า หมอใหม่ ในโรงพยาบาลรัฐ เงินเดือนน้อย...น้อยขนาดไหน แหล่งข่าวคนเดิม บอกว่า วิธีการดูเงินเดือนของประเทศไทย มักจะดูที่การเรียน เรียนนานแค่ไหน แต่ไม่ดูเรื่อง “ความรับผิดชอบ” 

แม้บางอาชีพจะเรียนนานมาก แต่เมื่อมาดูความรับผิดชอบ จะรู้ว่าแตกต่างกัน ไม่เท่ากัน ความยากง่ายไม่เหมือนกัน ซึ่งหากมีตำแหน่งเพิ่มขึ้น เงินก็จะเพิ่มเติม ส่วนค่าเวรที่ได้ น้อยมาก ไม่กี่ร้อยบาท ซึ่งในต่างประเทศ หากหาหมอนาน ก็จะคิดเงินเพิ่ม 

ขาดแคลนแพทย์หรือไม่ ทำให้เกิดปัญหาสะสมยาวนาน 

กับคำถามดังกล่าว แหล่งข่าวที่เป็นแพทย์อาวุโส เผยว่า สมัยนี้ถือว่าวงการแพทย์ได้ผลิตแพทย์รุ่นใหม่เยอะขึ้น หลายสิบปีก่อน ผลิตได้แค่ 200 กว่าคน แต่เดี๋ยวนี้ ปีละ 3,000 กว่าคน ที่สำคัญ ประชากรไทย มีการเกิดน้อยลงด้วย

เมื่อถามว่า ยังถือว่าขาดแคลนหรือไม่ คำตอบของคำถามนี้ คือ “ขาดแคลน” บางพื้นที่ ยกตัวอย่างใน กทม. หมอ 1 คน ต่อประชากร 500 คน แต่บางพื้นที่ในต่างจังหวัด 1 : 3,000-4,000 ของแบบนี้ต้องดูในเชิงลึก ยกตัวอย่างเช่น หลังเขามีประชากร 200 คน แต่ไม่มีหมอเลย อย่างไรก็ตาม ความโชคดีของสมัยนี้ คือ สามารถใช้วิธีการ telemedicine คือ การให้การรักษาให้คำปรึกษาทางไกลได้ ตรงนี้เองคือส่วนสำคัญในการช่วยเหลือ หากเห็นท่าไม่ดี ก็สามารถส่งตัวมารักษาได้ 

...

สถิติ แพทย์ VS ประชากร ค่าเฉลี่ย 1 : 991 

อย่างไรก็ตาม "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้ตรวจสอบฐานข้อมูลจากเว็บไซต์แพทยสภาพบว่า ปัจจุบัน (ข้อมูลถึงวันที่ 4 เม.ย. 66) มีแพทย์ทั้งหมด 72,250 คน แบ่งเป็นชาย 39,207 คน หญิง 33,043 คน ในจำนวนนี้ จำนวนแพทย์ที่ยังมีชีวิต 68,725 คน แบ่งเป็นชาย 36,401 คน หญิง 32,324 คน แพทย์ที่ยังติดต่อได้ 66,685 แบ่งเป็นชาย 34,953 หญิง 31,732 คน 

หากเทียบกับ ประชากรไทย จากเว็บไซต์กรมการปกครอง สถิติล่าสุด (ข้อมูลปี 2565) พบว่า มีประชากรไทยทั้งสิ้น 66,090,475 คน หากเปรียบเทียบกับ แพทย์ที่ยังติดต่อได้ 66,685 พบว่า จะมีอัตราส่วนแพทย์ 1 คน เท่ากับประชากร 991 คน 

สถิติแพทย์ Intern ลาออก 

ทั้งนี้ ทีมข่าวฯ ยังได้ข้อมูลตัวเลข "การลาออกของแพทย์ระหว่างเพิ่มพูนทักษะ" ย้อนหลัง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2565 คือ ในปี 2562 มีแพทย์ลาออก 65 คน คิดเป็นร้อยละ 3.18 ปี 2563 มีแพทย์ลาออก 84 คน คิดเป็นร้อยละ 4.12 ในปี 2564 มีแพทย์ลาออก 112 คน คิดเป็นร้อยละ 5.54 ในปี 2565 มีแพทย์ลาออก 81 คน คิดเป็นร้อยละ 4.38 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากตัวเลข "แพทย์ที่มาจากโครงการการแพทย์ชนบท หรือ CPIRD" พบว่า มีตัวเลขแตกต่างจากหมอทั่วไป คือ... 

ปี 2562 แพทย์จาก CPIRD ลาออก 11 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.54 แพทย์ทั่วไป 54 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.64  

ปี 2563 แพทย์จาก CPIRD ลาออก 13 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.64 แพทย์ทั่วไป 71 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.48 

...

ปี 2564 แพทย์จาก CPIRD ลาออก 21 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.04 แพทย์ทั่วไป 91 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.50 

ปี 2565 แพทย์จาก CPIRD ลาออก 10 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.54 แพทย์ทั่วไป 71 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.84

ทำไมถึง “ผลิต” หมอ มากขึ้นกว่านี้ไม่ได้ 

แพทย์อาวุโส ที่อยู่ในระบบสาธารณสุขไทย เผยว่า การผลิตแพทย์มากเกินไปก็ไม่ดี อย่างเช่น ในยุโรป บางประเทศมีหมอมาก หมอก็ไม่มีงานทำ 

“สิ่งที่ขาดแคลนจริงๆ ไม่ใช่หมอทั่วประเทศ แต่เป็นหมอที่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ เพราะเงินเดือนน้อยมาก หากเทียบกับโรงพยาบาลเอกชน ในขณะเดียวกัน หากดูบุคลากรแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก ก็ถือว่าไม่ขาดแคลน และปัจจุบันนี้ เรามีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระได้ อย่างไรก็ตาม การทำงานในโรงพยาบาลรัฐเองก็ต้องระมัดระวัง คือ เรื่องคดีความ บางครั้งถูกญาติคนไข้ฟ้อง เพราะมีคนตายเกิดขึ้น” 

บางคนบอกว่า จ่ายไปเถอะ ยังไงก็เป็นเงินรัฐบาล แต่...ความรู้สึกคือ บางครั้งหมอก็ไม่ได้ทำอะไรผิด การเสียชีวิตที่เกิดขึ้น มาจากโรคประจำตัวคนไข้เอง

นายแพทย์อาวุโส เล่าว่า แพทย์ที่ขาดแคลนมากที่สุดในเวลานี้คือ ประเภทหมอผ่าตัด เพราะงานหนักมาก และมีความเสี่ยงสูงที่จะโดนฟ้อง 

“หากเป็นหมอ รพ.รัฐ บางครั้งหมอคนเดียวดูทั้งหวอด มาที 30-40 คน ขณะที่ รพ.เอกชน มา 2-3 คน หากผิดพลาดก็โดนฟ้อง”

เมื่อถามว่า หมอ รพ. รัฐ ต้องทำเวลาในการดูคนไข้ด้วย แพทย์อาวุโส ยอมรับว่า แล้วแต่บางคน เพราะหมอเจอคนไข้เยอะมาก คนไข้ก็จะรู้สึกว่า มาแต่เช้า เจอหมอแวบเดียว ซึ่งในความเป็นจริง หมอบางคนจะเก่งมาก แค่ดูแป๊บเดียวก็รู้ว่าป่วยเป็นอะไร แต่ในความเป็นจริงคือ “คนไข้” ต้องการคุย และระบายความในใจ เรื่องนี้เราต้องเข้าใจทั้ง 2 ฝ่าย บางครั้งเราก็ต้องฝึกหมอให้คุยกับคนไข้ และที่เป็นคดีความส่วนมาก มาจากการที่ไม่คุยกันนี่แหละ หากมีการพูดคุยกันเข้าใจ เขาก็จะไม่ฟ้อง เพราะเขาก็ไม่อยากฟ้องอยู่แล้ว 

สิ่งที่รัฐบาลใหม่ ควรเข้ามาแก้ปัญหา “แพทย์ Intern” ลาออก แหล่งข่าวคนเดิมบอกว่า รัฐบาลใหม่ น่าจะต้องมาทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะการใช้ทุนลักษณะบังคับนี้ เราใช้มา 50 ปีแล้ว หากทำแล้วมันไม่ดีขึ้น แปลว่า “ผิดทางแน่นอน” ฉะนั้น ทางแก้เรื่องนี้คือต้องเปลี่ยนวิธีการ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน  

กราฟิก : Anon Chantanant

อ่านบทความที่น่าสนใจ