แม้ปัจจุบัน “สารพันปัญหาอีนุงตุงนัง” จาก “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องการกว้านซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อไปขายออนไลน์ หรือปัญหาขายสลากเกินราคา ก่อนจะลามปามไปยังเรื่องถูกหวยทิพย์ที่ไม่มีอยู่จริง จะยังปรากฏต่อสาธารณชนอยู่เนืองๆ และดูราวกับ “ไร้วี่แวว” ในการหาทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน หากแต่ความเป็นจริง คือ ไม่ว่าจะเกิดปัญหามากมายขนาดไหน แต่คนไทยเรา ก็ยังคงชื่นชอบการเสี่ยงดวงเพื่อหวังเป็นเศรษฐีเงินล้าน “ด้วยการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล แบบชนิดตัดไม่ตายขายไม่ขาดอยู่ต่อไป” แล้วอะไร คือ สิ่งที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้ วันนี้ “เรา” ไปร่วมสังเคราะห์ “ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทย กับสลากกินแบ่งรัฐบาล” ด้วยข้อมูลล่าสุดในรายงานของ "ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันประจำปี 2565 ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทัศนคติคนไทย กับสลากกินแบ่งรัฐบาล :

...

จากรายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทยปี 2564 ระบุว่า มากถึง 52.6% ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจ ไม่ถือว่า การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นการพนัน ในขณะที่ 35.2% มองว่าเข้าข่ายการพนัน ส่วนอีก 12.2% ไม่แน่ใจ

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ การขยายตัวของธุรกิจการพนันเข้าสู่สังคมออนไลน์ ทำให้กลุ่มตัวอย่างถึง 13.9% ยอมรับว่า การได้พบเห็น ดารา นักร้อง หรือเน็ตไอดอล แสดงตัวว่าเล่นการพนัน มีส่วน “กระตุ้น” ให้รู้สึกอยากเล่นการพนันด้วย

สถิติการเล่นสลากกินแบ่งรัฐบาลของคนไทย :

สลากกินแบ่งรัฐบาล คือ การพนันยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีประมาณการของคนไทยที่เล่นสลากกินแบ่งรัฐบาลมากถึง 24,626,233 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ แบ่งเป็นเพศหญิง 12.6 ล้านคน (51%) เพศชาย 11.9 ล้านคน (49%) โดยสามารถแยกออกเป็นกลุ่มอายุดังต่อไปนี้

15-18 ปี : 342,000 คน (1.39%)
19-25 ปี : 2.2 ล้านคน (8.93%)
26-29 ปี : 2.2 ล้านคน (8.93%)
30-39 ปี : 5.2 ล้านคน (21.12%)
40-49 ปี : 5.5 ล้านคน (22.33%)
50-59 ปี : 6 ล้านคน (24.36%)
60 ปีขึ้นไป : 2.9 ล้านคน (11.78%)

ส่วนพื้นที่ที่มีสัดส่วนประชากรเล่นสลากกินแบ่งรัฐบาลมากที่สุดคือ...

1. กทม.ปริมณฑล : 4.3 ล้านคน หรือ 55.8% ของจำนวนประชากรในภูมิภาค
2. ภาคเหนือ : 4.4 ล้านคน หรือ 45.9% ของจำนวนประชากรในภูมิภาค
3. ภาคอีสาน : 8.1 ล้านคน หรือ 44.6% ของจำนวนประชากรในภูมิภาค
4. ภาคกลาง : 4.8 ล้านคน หรือ 44% ของจำนวนประชากรในภูมิภาค
5. ภาคใต้ : 2.8 ล้านคน หรือ 38.7% ของจำนวนประชากรในภูมิภาค

สำหรับข้อมูลชุดนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มอายุ 26-59 ปี ถือเป็นนักพนันสลากกินแบ่งรัฐบาลกลุ่มใหญ่ที่สุด จากการที่มีจำนวนรวมมากถึง 19 ล้านคน หรือ 79.17% ของนักพนันสลากฯ ทั้งหมด!

...

ขณะเดียวกัน "ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน" ยังระบุอีกด้วยว่า ในกลุ่มอายุ 15-18 ปี ซึ่งถือเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากกฎหมายมีข้อกำหนดห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีซื้อสลากฯ นั้น ตัวเลขนักพนันสลากฯ ซึ่งมีประมาณ 342,000 คน ยังถือเป็นจำนวนการเพิ่มขึ้นถึง 27.5% เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจในปี 2562 ด้วย!

นอกจากนี้การสำรวจยังพบอีกด้วยว่า "เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี" ที่เล่นพนันสลากฯ ยังมีจำนวนรวมกันมากถึง 700,000 คน ซึ่งมากกว่าเมื่อการสำรวจ 2 ปีที่แล้วที่พบว่ามีเพียง ประมาณ 300,000 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 133.33% ด้วย!

เงินหมุนเวียนในตลาดพนันสลากกินแบ่งรัฐบาล :

สำหรับวงเงินหมุนเวียนรวมในตลาดพนันสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 139,977 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากการสำรวจในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 129,496 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 7%

อย่างไรก็ดี วงเงินหมุนเวียนเฉลี่ยต่องวด (21 งวด) กลับสูงขึ้น โดยอยู่ที่ประมาณ 66,650 ล้านบาท หรือมากขึ้นกว่าการสำรวจในปี 2562 (24 งวด) ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 62,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 6.3% ขณะที่ ค่าเฉลี่ยจำนวนเงินที่คนไทยใช้ในการซื้อสลากต่องวด ต่ำสุด 330 บาท และสูงสุด 575 บาท

...

สำหรับข้อมูลชุดนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในปี 2564 กองสลากงดออกรางวัลรวม 3 งวด แต่กลับไม่ค่อยส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเล่นพนันสลากแต่อย่างใด โดยส่วนใหญ่ถึง 97% ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า ตนเองเพียงแต่งดซื้อสลากในงวดที่งดออกรางวัลเท่านั้น และไม่ได้รู้สึกหงุดหงิดกับการที่ซื้อสลากน้อยงวดลงอย่างใด นอกจากนี้ แม้คนไทยจะซื้อสลากในแต่ละงวดน้อยลงจริง แต่กลับซื้อในแต่ละงวดหนักขึ้นแทน

โดยในปี 2564 คนไทยซื้อสลากเฉลี่ย 16 งวดต่อปี แต่เงินที่ซื้อเฉลี่ยต่องวดเฉลี่ยอยู่ที่ น้อยสุด 330 บาท และมากที่สุดเฉลี่ย 575 บาท ต่องวด ซึ่งค่าเฉลี่ยนี้สูงกว่าการสำรวจเมื่อปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ประมาณต่ำสุด 201 บาท (เพิ่มขึ้น 64%) และมากที่สุด 500 บาท (เพิ่มขึ้น 15%)

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก sathit chuephanngam

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

...