ผ่านมาแล้วกว่า 4 ปี สำหรับเหตุการณ์ “13 หมู่ป่า ติดในถ้ำหลวง” เหตุการณ์กู้ภัยที่ต้องใช้มือดีระดับโลก ช่วย นักฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี ที่พลัดเข้าไปติดในถ้ำ และต้องใช้เวลาช่วยเหลือถึง 17 วันเต็ม เซฟชีวิตทุกคนออกมาได้
เมื่อวานนี้ 16 ต.ค.65 ถือเป็นวัน “เปิดถ้ำ” รับนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวชม อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อีกครั้ง... แต่ถ้าใครจะไปตอนนี้ ก็สามารถดูได้แค่หน้าถ้ำเท่านั้น
ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยว “ถ้ำ” แล้ว ก็ต้องพูดคุยกับ นักสำรวจ ซึ่งหนึ่งในกูรูของเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้น นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ เรียกว่าสำรวจถ้ำมาแล้วมากมายทั่วประเทศ
กูรูด้านถ้ำ กล่าวถึงการเตรียมตัวก่อนเที่ยวถ้ำว่า ก่อนไปต้องศึกษาข้อมูลก่อน ต้องเรียนรู้สภาพของถ้ำ หากเป็นถ้ำที่มีลักษณะเข้าง่าย เพื่อชมความงาม ก็ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรมาก แต่หากเป็นถ้ำที่ลักษณะยาว หรือ ต้องสมบุกสมบัน จำเป็นต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เผื่อที่จะเกิดอุบัติเหตุติดถ้ำ
...
เสื้อผ้า : ควรเป็นรองเท้าหุ้มข้อ กางเกงทนการเสียดสี ขูดขีด ระบบไฟ ต้องเตรียมไว้ 2-3 ชุด
อุปกรณ์ช่วยชีวิต : อาหาร น้ำ เชือก ต้องเตรียมเผื่อไว้
คนมีโรคประจำตัว : คนที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ กลัวที่มืด ที่แคบ ควรหลีกเลี่ยง
“สิ่งสำคัญ ควรจะมีไกด์ท้องถิ่นที่ชำนาญเส้นทางร่วมเดินทางไปด้วย เพราะไกด์จะทราบว่าตรงจุดไหนสำคัญ ไม่ควรพลาดที่จะเข้าชม หรือควรหลีกเลี่ยง และที่สำคัญที่สุดคือ “กติกามารยาท” ภายในถ้ำห้ามทำอะไร เช่น การออกนอกเส้นทาง การไปจับ เคาะหินงอกหินย้อย ซึ่งการจับเคาะนั้น เจ้าหน้าที่บางคนก็เข้าใจผิด และกระทำลงไปก็มี เรื่องนี้จำเป็นต้องย้ำให้ทุกคนปฏิบัติ เพราะไกด์บางคนเคาะหินโชว์นักท่องเที่ยว ซึ่งมันจะมีเสียงกังวาล แต่..ผลคือ มันจะเกิดความเสียหาย หินเหล่านี้กว่าจะโตได้ใช้เวลานับพันปี”
ถ้ำที่อันตราย ต้องระมัดระวัง!
นายชัยพร ย้ำว่า ข้อควรระวังคือ การเที่ยวถ้ำน้ำ เช่น ถ้ำหลวง ถ้ำทรายทอง ต้องเช็กสภาพอากาศให้ดี สำหรับตน ก่อนเข้าจะดูพยากรณ์อากาศ ดูภาพดาวเทียมเวลาเที่ยวให้ดี ถึงแม้จะเป็นหน้าแล้งก็ตาม แต่ก่อนเข้าเที่ยวชมก็ควรเช็กพยากรณ์อากาศเสียก่อน
“ครั้งหนึ่งเคยไปสำรวจถ้ำน้ำ แล้วเจอฝนตกลงมา น้ำในถ้ำจะขึ้นเร็วมาก กรณีแบบนี้เราต้องนัดแนะกับคนที่อยู่ภายนอกถ้ำก่อนว่า หากมีฝนตกให้รีบแจ้งเข้ามาเตือนด้วย ถ้ำบางถ้ำจะมีโถงเป็นแนวดิ่งและตัน ซึ่งโถงแบบนี้จะสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งไม่มีกลิ่น ซึ่งอันตรายมาก โดยปีที่แล้วมีสถาปนิกคนหนึ่งที่เข้าไปสำรวจถ้ำ เจอก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งทำให้หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด”
วิธีการเช็กพื้นที่ที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หนาแน่น คือ ใช้เทียนไขลองจุด ถ้าพบว่าเทียนดับ ต้องรีบถอยออกทันที หรือถ้าไปกับทีมที่ได้มาตรฐาน ก็จะมีเครื่องมือวัดคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ช่วยได้...
...
ถ้ำที่อันตราย เช่น มีรอยแตกของหิน, หลุมยุบ หรือ หินที่พร้อมถล่มลงมา ก็ต้องระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้จึงมีการย้ำตลอดว่า การเข้าชมถ้ำในลักษณะผจญภัย ต้องมีผู้เชี่ยวชาญไปด้วย...
สัตว์ในถ้ำ ไม่น่ากลัว แต่อาจดูแปลกประหลาด!
เมื่อถามว่า ภายในถ้ำต้องระมัดระวังสัตว์อันตรายหรือมีพิษ หรือไม่ นายชัยพร กล่าวว่า ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอันตรายต่อมนุษย์ ซึ่งในถ้ำก็จะมี งู ประเภท งูกาบหมากหางนิล จะเข้าไปกินค้างคาว นอกจากนี้ก็แมงมุม เช่น แมงมุมแส้ ตะขาบถ้ำ ขาจะยาว มีหนวดยาวไว้คอยสัมผัสถ้ำ สัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่น่ากลัว เพราะเขาเจอมนุษย์เมื่อไหร่ก็จะหนี หากมีปลาก็จะเป็นประเภทปลาตาบอด
ช่วงท้าย ทีมข่าวให้ กูรูด้านถ้ำ แนะนำถ้ำสำหรับการท่องเที่ยว ซึ่งนายชัยพรได้ให้ข้อมูลการท่องเที่ยวถ้ำ 9 แห่ง แบ่งเป็น “ถ้ำ” สำหรับนักผจญภัย และถ้ำที่ดูสวยงาม ไม่สมบุกสมบัน ได้แก่
4 ถ้ำ นักผจญภัย...
1. ถ้ำแม่ละนา จ.แม่ฮ่องสอน : ดินแดนใต้พิภพ เส้นทางสุดโหด จ.แม่ฮ่องสอน ถ้ำนี้ยาวกว่า 12 กิโลเมตร จะมีโถงยาวโถงหนึ่งที่ต้องเดินประมาณ 8-10 กิโลเมตร เป็นจุดที่น่าเที่ยว สมบูรณ์แบบ
2. ถ้ำน้ำลอด แม่ฮ่องสอน : ถ้ำธรรมชาติมีน้ำไหลผ่าน ที่ต้องล่องแพชมเท่านั้น โดยผ่านโถงสำคัญ 3 โถง ได้แก่ โถงเสาหินหลวง, โถงตุ๊กตา และ โถงผีแมน
3. ถ้ำนกนางแอ่น จ.กาญจนบุรี : ถ้ำที่มีน้ำไหลผ่าน หินย้อยขนาดใหญ่ ในอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ก็ต้องล่องแพ เช่นกัน
4. ถ้ำภูผาเพชร จ.สตูล : มีลักษณะแปลกตา เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย
...
5 ถ้ำสวยงาม
1. ถ้ำคลัง จ.กระบี่ : ถูกยกย่องจากนักสำรวจว่าสวยงามระดับเอเชีย
2. ถ้ำแม่อุสุ จ.ตาก : ถ้ำสวยงามระดับต้นๆ ของไทย ฉายา “โรงละครใต้พิภพ”
3. ถ้ำละว้า จ.กาญจนบุรี : เก่าแก่กว่า 3 พันปี เชื่อว่าเคยมีมนุษย์ถ้ำอาศัย
4. ถ้ำเขาช้างหาย จ.ตรัง : หินงอกหินย้อยสวยงามสลับซับซ้อน ตัวของถ้ำจะลึกประมาณ 500 เมตร
5. ถ้ำพระธาตุ จ.กาญจนบุรี : ถ้ำสูงกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตร ลึก 200 เมตร เชื่อว่ามีพระธาตุลักษณะเป็นหินสีขาวคล้ายหอยสังข์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : sathit chuephanngam
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ