แรงงานไทยรอคอยมานาน 2 ปี ในที่สุดค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่ 328-354 บาทต่อวัน จะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 โดย จ.ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง ค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด 354 บาท รองลงมา กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ค่าแรง 353 บาทต่อวัน ส่วน จ.นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี ค่าแรงต่ำที่สุด 328 บาทต่อวัน ซึ่งพิจารณาจากดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศ (GDP) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด

ขณะที่ค่าแรงในแต่ละประเทศมีอัตราไม่เท่ากันจากหลายๆ ปัจจัย ทั้งค่าครองชีพ ภาษี ภาวะเศรษฐกิจ และนโยบายของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างค่าแรงในเดนมาร์ก ประเทศที่มีค่าแรงสูงที่สุดในยุโรป ประมาณ 1,653.34 บาทต่อชั่วโมง ส่วนค่าแรงขั้นต่ำของออสเตรเลีย เฉลี่ยชั่วโมงละ 493 บาท ขณะที่อังกฤษ ชั่วโมงละ 424 บาท สวีเดน ชั่วโมงละ 418 บาท เยอรมนี ชั่วโมงละ 374 บาท ญี่ปุ่น ชั่วโมงละ 302 บาท สหรัฐฯ ชั่วโมงละ 240 บาท เกาหลีใต้ ชั่วโมงละ 256 บาท และไต้หวัน ชั่วโมงละ 224 บาท แม้หลายประเทศมีอัตราค่าแรงสูงกว่าหลายประเทศทั่วโลก แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็สูงตามรายได้เช่นกัน

...

หากเทียบค่าแรงขั้นต่ำต่อชั่วโมงของไทย จากการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง กับประเทศในอาเซียน ไทยอยู่อันดับที่ 6 เฉลี่ย 41-44.25 บาทต่อชั่วโมง ขณะที่ บรูไน ค่าแรงสูงสุดอยู่ที่ 219.28 บาทต่อชั่วโมง หรือวันละ 1,754.24 บาท ส่วนลาว อยู่ที่ 16.88 บาทต่อชั่วโมง หรือวันละ 135.04 บาท และเมียนมา ค่าแรงต่ำที่สุดในอาเซียน 11.21 บาทต่อชั่วโมง หรือวันละ 86.68 บาทเท่านั้น

ย้อนไปเมื่อ 49 ปีที่แล้ว ไทยมีการประกาศอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 12 บาทต่อวัน เป็นครั้งแรกในปี 2516 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และในแต่ละรัฐบาลมีนโยบายที่แตกต่างกันไป หรือมีการปรับขึ้นเฉพาะบางพื้นที่อย่างในกรุงเทพฯ เคยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภายในปีเดียวถึง 2 ครั้ง ในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์, รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนมายุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2555 เคยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดแบบก้าวกระโดด เพิ่มจาก 215 บาท มาเป็น 300 บาท

กระทั่งล่าสุดปรับขึ้น 328-354 บาทต่อวัน มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 แต่ข้อถกเถียงด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าครองชีพปรับสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอาจมองว่าค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่ยังไม่เหมาะสมกับการดำรงชีพ เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายรับ ต้องซื้อสินค้าที่ขยับแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว และส่วนใหญ่ปรับราคาขึ้นไปก่อนที่ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นเสียอีก เนื่องจากต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ยังไม่รวมถึงหนี้สินในช่วงดอกเบี้ยปรับขึ้น แล้วจะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไป.