ปัญหาสำคัญที่อยู่คู่เมืองกรุงเทพฯ อมรฟ้า มาหลายสิบปี และถึงทุกวันนี้ ก็ยังคงอยู่ นั่นก็คือ ปัญหา “รถเมล์” ที่มีหลากหลายมิติ เริ่มตั้งแต่ปัญหาเบสิกที่สุด คือ รอนาน ขับเร็ว หวาดเสียว ลากยาวไปถึงปัญหารถเก่า ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเรียกว่า เห็นมาตั้งแต่ยุค 90 ถึงวันนี้มันก็ยังวิ่งอยู่...สงสัยจะมีอะไหล่ไว้ซ่อมเยอะ?

ถ้าจะไล่เรียงปัญหา ก็คงต้องย้อนดูอดีตที่ผ่านมาก่อน ว่าเริ่มต้นตรงไหน เพื่อที่จะส่องหาแนวทางออก ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ กูรูรถเมล์ไทย ที่ติดตามเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ได้บอกเล่า เรื่องราวในอดีตของรถเมล์ไทย (ใน กทม.) ว่า วิวัฒนาการของรถเมล์ใน กทม. นั้น อดีต เป็นรถบรรทุก มาดัดแปลงตัวถังรถเพื่อมาขนคน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2

ต่อมา รัฐบาลได้มีการขายรถบรรทุกให้เอกชน จึงมีการดัดแปลงมาเป็นรถประจำทาง และปล่อยให้มีการเลือกเส้นทางเดินรถเอง ไม่ให้ซ้ำกัน กระทั่งเกิดปัญหาในเรื่องเส้นทางเดินรถ จนกระทั่ง ปี 2518 สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้มีมติ ครม. รวมรถโดยสาร เป็นบริษัทเดียว ชื่อว่า “บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด” มีรัฐถือหุ้น 51% เอกชน 49% ก่อนจะมีปัญหาด้านข้อกฎหมาย กระทั่งกลายเป็น "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 ในสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

...

นี่คือวิวัฒนาการ กว่าจะมาเป็น รถเมล์ และ ขสมก.

สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของ “รถเมล์ไทย” และเป็นหนึ่งเดียวในโลก ก็คือ กระเป๋ารถเมล์ ที่มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “กระบอกเก็บตั๋วรถเมล์” เป็นภูมิปัญญาแบบไทยๆ ที่มีที่เดียวในโลก แต่ก็มีปัญหาที่เกิดขึ้นหลายส่วน

ชำแหละ “รถเมล์” คร่ำครึ 30 ปี

กูรูรถเมล์ไทย เผยว่า รถเมล์ที่วิ่งในกรุงเทพฯ มีสภาพเก่าเกือบทั้งหมด เพราะการเปลี่ยนรถเมล์ครั้งใหญ่ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ช่วง ปี 2544 ตอนนั้นเริ่มมีรถเมล์ ยูโรทู กระทั่งเริ่มเปลี่ยนอีกครั้งในปี 2561 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รถเมล์ที่ก้าวขึ้นมาแล้วไม่มีบันได

แต่ปัญหาคือ ก็ยังมีรถเมล์เก่าวิ่งในท้องถนน ซึ่งรถเมล์ครีมแดง ถือเป็นรถเมล์เก่ามาก เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2534 หรือเกือบ 31 ปีมาแล้ว ขณะที่ยูโรทู เริ่มใช้ในปี 2544 ก็กว่า 21 ปีแล้ว...

สำหรับรถเมล์ที่ถูกเปลี่ยนในสมัย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2561) ถือเป็นรถเมล์ที่ดี เพราะอย่างใน ลอนดอน ปี 2006 เขาตั้งเป้า รถเมล์ต้องไม่มีบันได เพราะถือเป็นการอำนวยความสะดวกกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ หรือคนพิการ...แต่ก็ถือเป็นการใช้รถเมล์ที่ยังล้าหลังในต่างประเทศ

ปัญหา “รถเมล์ไทย” เป็นอะไรที่ล้าหลังต่างประเทศอย่างมาก เพราะไม่ได้มีรถเมล์ทุกคัน ที่เหมาะกับ คนพิการ คนแก่ หรือแม้แต่คนที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่น คนมีอาการปวดหลัง การก้าวขึ้นบันได ก็จะเกิดอาการปวด นี่ยังไม่รวมชาวบ้านที่มีอาชีพค้าขาย เช่น การยกของขึ้นรถเมล์ หรือมีรถเข็นของ ซึ่งถ้ามีทางลาด ที่ใช้ขึ้นรถเมล์ได้ ก็จะช่วยเรื่องการยกของ แต่ถ้ามีบันได มันก็ต้องยกหลายๆ เที่ยว เป็นต้น

กระทั่ง ล่าสุด ที่มีการเปิดตัวรถเมล์ รุ่นใหม่ไฟฟ้า 2022 ของไทย กลับมามีบันไดอีก ปัญหานี้อยู่ที่ กรมขนส่งทางบก ของไทย ที่ไม่มีข้อกำหนดว่า “รถเมล์รุ่นใหม่” ต้องไม่มีบันได สิ่งที่รู้สึกคือ การคิดและออกแบบของเรา ไปโฟกัสอยู่ที่คนพิการ แต่ไม่คิดถึงเวลาที่ใช้จริง

ข้อดี ของรถเมล์ รุ่นใหม่ คือ เป็นรถเมล์ไฟฟ้า เชื่อว่าเป็นผลดีในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องสภาพอากาศ และมลภาวะ (ถึงแม้จะมีไม่กี่คัน ณ เวลานี้) ที่ กทม. กำลังเผชิญกับปัญหา PM 2.5 ซึ่งรถเมล์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อยควันดำ

รถเมล์เก่า กับปัญหา PM 2.5

...

กูรูรถเมล์ไทย บอกว่า รถเมล์ ที่วิ่งใน กทม. ค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 30 ปี รถที่ใช้ส่วนมากยังคงใช้น้ำมัน เช่น ดีเซล และระบบเผาไหม้คงไม่ไหวแล้ว หากมองอย่างเป็นธรรมคือ ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนรถแล้ว ถึงแม้ปัญหา PM 2.5 ไม่ได้มาจากรถเมล์ทั้งหมด แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีรถเมล์จำนวนหนึ่งกำลังสร้างปัญหา

รถเมล์ครีมแดง ใช้น้ำมันดีเซล มีทั้งหมด 1,520 คัน (ที่มาข้อมูล : รายงานประจำปี ขสมก.ปี 2563) ใช้น้ำมันดีเซล วิ่งพร้อมกันจริงๆ ปี 2534 มีทั้งหมด 3 รุ่น จากนั้นก็เป็นรถปรับอากาศ ครีมน้ำเงิน วิ่งครั้งแรก ปี 2538 ใช้น้ำมันดีเซลเช่นกัน ยังพบว่ายังมีวิ่งอยู่

รถยูโรทู ซึ่งประเทศพัฒนาแล้ว เขาใช้รถยูโร 7 กันแล้ว ซึ่งตอนนี้มี มีรถอีซูซุ 325 คัน ฮีโน่ 325 คัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีประมาณ 700 คัน ซึ่งก็ยังใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมียูโรทรี ที่มี 489 คัน นอกจากนี้ ยังมีรถร่วมอีกประมาณ 300-400 คัน

เมื่อเทียบกับข้อมูลใหม่ ในปี 2565 จากเว็บไซต์ ขสมก. พบว่า มี จำนวนเส้นทางที่ รถเมล์ ขสมก. วิ่งอยู่ 118 สาย เอกชนร่วมบริการยังวิ่ง 6 สาย ส่วนจำนวนรถของ ขสมก. มีทั้งสิ้น 2,885 คัน เอกชนร่วมบริการ 65 คัน ซึ่งถือว่าลดลงจากปี 63 มากกว่า 100 คัน และอาจจะมีรถเมล์รุ่นใหม่ รถเมล์ใช้พลังงานทดแทน รวมไปถึงพลังงานไฟฟ้า แต่รถที่ยังใช้น้ำมันก็ยังมีเยอะอยู่

ส่วนสถิติผู้ใช้งานเฉลี่ย/วัน

ต.ค. 64 รถธรรมดา 246,520 คน รถปรับอากาศ 227,933 คน รวม 474,453 คน
พ.ย. 64 รถธรรมดา 284,074 คน รถปรับอากาศ 269,094 คน รวม 553,168 คน
ธ.ค. 64 รถธรรมดา 300,988 คน รถปรับอากาศ 279,313 คน รวม 580,301 คน
ม.ค. 65 รถธรรมดา 279,394 คน รถปรับอากาศ 260,782 คน รวม 540,176 คน
ก.พ. 65 รถธรรมดา 293,481 คน รถปรับอากาศ 273,668 คน รวม 567,148 คน
มี.ค. 65 รถธรรมดา 280,566 คน รถปรับอากาศ 269,753 รวม 550,319 คน

เรียกว่า แต่ละวัน ยังมีคนกรุงเทพฯ ใช้งานรถเมล์ของ ขสมก. เฉลี่ยมากกว่า 5 แสนคน ถึงแม้จะมีระบบขนส่งอื่นๆ ด้วย

...

“ความจริงรถเมล์ของไทย เป็นรถเมล์ที่อยู่กับเมืองกรุงเทพฯ นานมาก 20 กว่าปี ยังใช้รถเมล์คันเดิม ทั้งที่จริงแล้ว ในมาตรฐานสากล ต้องมีการเปลี่ยนทุก 7-10 ปี” กูรูรถเมล์ กล่าว

ปัญหาด้านเส้นทาง กับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ในรอบ 20 ปี มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางมาตลอด สมัยก่อน “รถร้อน” กับ “รถแอร์” จะวิ่งเส้นทางไม่ทับกัน แต่รถเมล์บางเส้นทางก็มีเลขเดียวกัน แต่จะแยกกันด้วยคำว่า “ปอ.”

กระทั่งยุคหนึ่ง ความเจริญเข้ามา หรือคนมีเงินมากขึ้น ก็เริ่มมีรถเมล์ที่วิ่งในสายเดียวกัน แต่มีให้เลือกแบบมีแอร์กับไม่มีแอร์ จนกลายเป็นว่า คนใช้รถเมล์เริ่มงง

ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ปอ.2 กับรถเมล์ สาย 2 ต่างกันอย่างไร กระทั่ง ปี 2544 เป็นที่มาของการเปลี่ยนตัวเลข

จากตัวเลข ปอ.1 2 หรือ 3 กลายเป็นเลขที่ขึ้นต้นด้วย 5 เช่น 501, 502, 503

ในปี 2544 (ยุคทักษิณ ชินวัตร) ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเลขสายรถเมล์ครั้งใหญ่ที่สุด

ข้อดี : จากที่คนใช้รถเมล์เกิดอาการสับสน ทำให้มีความชัดเจนขึ้น อีกทั้งหลักการจำก็ไม่ยาก เพราะจาก ปอ.1 กลายเป็น 501

...

โดยทั่วไป คือ มีหลักการที่ไม่ซับซ้อน มีเหตุและผลรองรับ และปัจจุบัน ก็ยังใช้อยู่ แม้จะผ่านมา 21 ปีแล้ว ถึงแม้จะยังได้ยินคนใช้งานเรียกว่า “ปอ” อยู่บ้าง

รถเมล์วิ่งไกล ไม่จำเป็นต้องอ้อม...

ด้วยที่เมืองขยายตัว ทำให้รถเมล์มีการวิ่งระยะไกลมากขึ้น ยกตัวอย่างสาย 40 วิ่งไปลำสาลี ปิ่นเกล้า ซึ่งถือเป็นรถที่วิ่งไกล และนานมาก ถ้าวิ่งแบบรถไม่ติดมากก็ใช้เวลา 1.30 ชั่วโมง แต่ถ้ารถติดก็ 2.30 ชั่วโมงขึ้นไป

หากมีพิจารณาเส้นทางก็จะรู้ว่า เป็นการเดินรถที่อ้อมมาก เมื่อดูสายอื่นเช่น 73 สวนสยาม - สะพานพุทธ หรือ 514 มีนบุรี-สีลม

“ถ้าคิดดีๆ จะรู้ว่า เส้นทางที่วิ่งไกล ไม่จำเป็นต้องวิ่งนานเสมอ ยกตัวอย่าง สาย 515 จาก ศาลายา - อนุสาวรีชัยฯ เส้นทางไกลเหมือนกัน แต่วิ่งได้เร็วและหลายรอบ ฉะนั้น เราต้องมีพิจารณาหลักคิด เพื่อหาเส้นทางรถเมล์ ซึ่งมีหลักคิดหลายแบบ เช่น จากรอบการทำงานพนักงานขับรถ หากทำงาน 8 ชั่วโมง ซึ่งใน 8 ชั่วโมงนี้ ถ้ารถเมล์วิ่งได้ไม่ถึง 2 รอบ แบบนี้แปลว่า...ขับอ้อมแน่นอน”

ฉะนั้น เวลานี้เมืองกำลังขยาย มากกว่า 20 ปีก่อน สาย 73 หรือ 514 คือวิ่งไม่ทันแน่นอน นี่คือสาเหตุทำไมรถของ ขสมก. จึงวิ่งไม่เต็มเส้นทาง หรือที่เรียกว่า “รถเสริม” ส่งผลให้คนรอนานไปอีก ดังนั้น การเปิดเส้นทางใหม่ ควรเป็นเส้นทางที่กระชับ ไม่ได้หมายถึงให้วิ่งสั้น แต่ต้องวิ่งให้เร็วขึ้น เพราะ กทม.ยังเป็นเมืองที่ชาวบ้านยังต้องเข้ามาทำงาน

อีกทั้งการต่อสายรถเมล์ ก็ยังกลายเป็นเรื่องที่ต้อง “วัดดวง” เพราะต้องรออีกคันหนึ่งมา ซึ่งความจริง ไม่มีใครอยากนั่งรถเมล์หลายต่อ

ฉะนั้น การออกแบบเส้นทางถึงต้องคิดถึงคนใช้ รวมไปถึงพนักงานขับรถและกระเป๋าด้วย นอกจากนี้ ก็ควรศึกษาพฤติกรรมของคนใช้ในพื้นที่ต่างๆ ด้วย ว่าเขาเดินทางไปทางไหน

การคิดเส้นทาง จำเป็นต้องคิดให้รอบคอบกว่านี้ ซึ่งความจริง เราอาจจะต้องปรับปรุงเส้นทางรถเมล์ทุก 5 ปีด้วยซ้ำ เพราะเมืองมีการเปลี่ยนแปลง แต่สายรถเมล์ไม่มี มันจึงล้าหลังตลอด ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามบริบทเมืองที่เปลี่ยนไป

ปัญหาเล็กน้อยที่ยิ่งใหญ่ของคนใช้รถเมล์

หากเรามองลึกลงไป มันมีปัญหาหลายส่วน ตั้งแต่ป้ายที่บอกเลขสายรถเมล์ หากเราสังเกต จะรู้ว่ามองไกลๆ แทบไม่ชัดเลย แต่เมื่อมาใกล้ๆ บางครั้งโบกไม่ทันก็ไม่จอดอีก

ในความเป็นจริง “ทุกส่วน” ของรถเมล์ ล้วนมีความสำคัญ เริ่มตั้งแต่ประตู มีความกว้างเหมาะสมหรือไม่ วัสดุที่ใช้บนพื้นรถเมล์ มีอะไรกันลื่นหรือไม่ ราวจับ ต้องสูงแค่ไหน กริ่งรถเมล์ มีรอบคันหรือไม่

รถเมล์สีฟ้า ปรับอากาศ หากใครเคยใช้จะรู้ว่า คนที่นั่งด้านหลัง จะรู้ว่าไม่มีกริ่งให้กด ฉะนั้น หากคนนั่ง จะลงป้ายรถเมล์ ก็ต้องวิ่งมากดที่ประตูเพื่อบอกให้คนขับจอด หรือบางคนนั่งเพลินๆ แล้วเห็นว่าถึงป้ายแล้ว จะลง ก็กดกริ่งไม่ทัน

เรื่องงงมากๆ คือ ทำไมการพัฒนารถเมล์ ถึงเดินถอยหลังจากอดีต ทั้งรถเมล์รุ่นก่อนๆ ตั้งแต่ปี 2534 ก็มีกริ่งรอบคัน เรื่องนี้เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้ใส่ใจ หรือยกตัวอย่างป้ายไฟของรถเมล์รุ่นใหม่ ที่มีพื้นหลังสีดำ แล้วเลขป้ายที่เป็นตัววิ่ง ในต่างประเทศ เขาใช้เม็ดไฟสีเหลือง สีขาว เพื่อตัดกัน แต่บ้านเราใช้ สีแดง ซึ่งมันเป็นอะไรที่อ่านยาก ยิ่งเม็ดสีมีขนาดใหญ่ มันยิ่งทำให้มองยาก

นี่คือ ปัญหาจากประสบการณ์การใช้งาน ที่ไม่มีใครคำนึงถึง ถ้าเราโบกไม่ทัน ก็ไม่ได้ขึ้น ก็แค่นั้น..?

คำว่า “แค่นั้น” สำหรับคนบางคนมันมีค่ามาก เพราะเวลาแต่ละนาทีเดี๋ยวนี้มันสำคัญกว่าแต่ก่อน เราสามารถหาเงินจากธุรกิจออนไลน์ แค่ 10 นาที ที่เรารอรถเมล์ อาจจะทำให้เสียลูกค้าได้

“นี่คือเรื่องง่ายๆ ถ้ารถเมล์ไม่ปรับตัว พวกเราก็จะแย่ไปด้วย...”

สาเหตุที่ระบบรถเมล์ยังมีปัญหา เพราะคนดูแลไม่เข้าใจ?

กูรูด้านรถเมล์ บอกสั้นๆ ว่า คนที่คิดไม่ได้นั่งรถเมล์ แต่คนที่นั่งรถเมล์ไม่ได้คิด คนที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ จำเป็นต้องลองใช้งานมันก่อน ตราบใดที่เขาไม่ได้ใช้ เขาก็ไม่มีทางเข้าใจ ว่าการรอรถเมล์นานแค่ไหน

“คนที่ควบคุมบอกว่า ไม่มีรถเมล์ขาดระยะ แต่คนที่รอจริงๆ เขาบอกว่ามันขาดระยะ แสดงว่า มีบางอย่างที่มันผิดแปลก ต้องหาและแก้ปัญหา...”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : sathit chuephanngam

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ