24 ก.พ. 2565 นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากทำสงครามกับยูเครน จนถึงปัจจุบัน ได้ทำให้โลกปั่นป่วนไปทั่ว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นสูง และหลายประเทศรวมทั้งไทยเจอกับวิกฤติเงินเฟ้อ ราคาสินค้าแพงขึ้น เพราะต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมัน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามมา ขณะที่รายได้ลดลงหรือยังคงเดิม

การลดภาษีสรรพสามิตดีเซล เป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลไทย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน ในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลในประเทศให้อยู่ในระดับไม่เกินลิตรละ 35 บาท โดยที่ประชุม ครม. ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2565 เห็นชอบต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน ก่อนจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 20 ก.ค.2565 และยังช่วยลดภาระการอุดหนุนเงินจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จากปัจจุบันอุดหนุนที่ลิตรละ 3 บาท

ถือเป็นการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ครั้งที่ 3 กระทบรายได้รัฐรวมทั้งสิ้น 57,000 ล้านบาท ตั้งแต่ออกมาตรการเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 18 ก.พ. - 20 พ.ค.2565 ลดลงลิตรละ 3 บาท กระทบรายได้รัฐ 17,000 ล้านบาท จากนั้นได้ต่ออายุมาตรการออกไปอีกระหว่างวันที่ 21 พ.ค. - 20 ก.ค.2565 ลดลงลิตรละ 5 บาท กระทบรายได้รัฐ 20,000 ล้านบาท และครั้งล่าสุดเริ่มวันที่ 21 ก.ค. - 20 ก.ย.2565 ลดลิตรละ 5 บาท กระทบรายได้รัฐ 20,000 ล้านบาท

...

เพราะหากไม่ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 บาท และแน่นอนจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ รวมถึงค่าขนส่ง ทำให้ราคาสินค้าต้องปรับขึ้นอีกตามมา จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

ขณะที่สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท จะต้องหาแหล่งเงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาท มาเสริมสภาพคล่อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ และกระทรวงพลังงานกำลังเร่งเจรจากับโรงกลั่นทั้ง 6 แห่ง หวังจะได้เงินกำไรส่วนเกินจากค่ากลั่นมาช่วยอุดหนุนราคาพลังงาน เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งต้องรอผลการเจรจาจะออกมาเป็นรูปแบบใด ในห้วงวิกฤติราคาพลังงานในประเทศไทย เป็นโจทย์ท้าทายผู้เกี่ยวข้องว่าจะหาทางออกอย่างไรต่อไป.