• ปิดประเทศเพราะโควิดระบาด และราคาน้ำมันแพง ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องมา 2 ปี แต่เมื่อเริ่มเปิดประเทศ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงต่อเนื่อง และน่าจะกลับมาเป็นบวกในช่วงปลายปีนี้

  • ราคาน้ำมันน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงต้นปีหน้า ส่วนหนี้สินต่างประเทศของไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ยังอยู่ในระดับต่ำมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

  • คาดการณ์ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย จะกลับมาเป็นบวกและเกินดุลได้ในปี 2566 และเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ได้

เหมือนเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ จะเผชิญสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจการเงินเหมือนปี 2540 ในความเห็นของ ”รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ แต่ความท้าทายใหม่ของเศรษฐกิจไทย อาจกลายเป็นวิกฤติที่ใหญ่กว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล จากปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกขาขึ้น และสร้างแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวสูงขึ้น

“2 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างทางการเงินของกิจการและธุรกิจอุตสาหกรรมบางส่วนอ่อนแอมาก และถูกซ้ำเติมจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด และล่าสุดจากราคาพลังงานแพง มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีหนี้สินเพิ่มมากกว่า 4 ล้านล้านบาท ทั้งกิจการท่องเที่ยว สายการบิน ขนส่ง ค้าปลีก และร้านอาหาร ต้องเพิ่มทุน หรือระดมทุนออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่องและชำระหนี้ ทำให้หนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ เพิ่มขึ้นมากกว่า 31 ล้านล้านบาท”

...

แม้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศ แต่ต้องระมัดระวัง เพราะสูงกว่าจีดีพีของประเทศ กว่า 2 เท่า และมีแนวโน้มว่า สัดส่วนหนี้สินต่อทุนและหนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 หากดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มขึ้น 0.5-1% และสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ทะลุ 60% ไปแล้ว

ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีนี้ อยู่ที่ 86-88% ลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อยจากจีดีพีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงติดอันดับโลก โดยระดับตัวเลขสูงเข้าข่ายวิกฤติหนี้สินครัวเรือน ยังไม่นับรวมการเป็นหนี้นอกการกำกับดูแลของแบงก์ชาติ และหนี้นอกระบบ อาจทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนทั้งระบบทะลุ 90% จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจไทย

จากอัตราการผ่อนชำระหนี้ เมื่อเทียบกับรายได้อยู่ที่ 34-35% จะทำให้มาตรการกระตุ้นการบริโภคได้ผลลดลง เพราะผู้บริโภคจะมีขีดจำกัดในการบริโภคเพิ่ม หากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น และขณะนี้มีลูกหนี้อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือประมาณ 12% ของสินเชื่อรวม ประมาณ 1 ล้านบัญชี หากดอกเบี้ยปรับตัวสูงและเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวดีขึ้น อาจมีลูกหนี้เพิ่มเป็น 15% ของสินเชื่อรวมในช่วงครึ่งปีหลัง และวิกฤติภาคการเงินหากเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จะมาจากกลุ่มนันแบงก์ มากกว่า

นอกจากนี้ปัญหาเงินเฟ้อสูงจากราคาพลังงานแพง และค่าครองชีพเพิ่มขึ้น กระทบต่อครอบครัวรายได้น้อย และกลุ่มคนระดับฐานรากมากที่สุด โดยเฉพาะแรงงานลูกจ้าง จากการที่ผู้ประกอบการผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้า รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง นำมาสู่ความไม่สงบทางสังคมและความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเมือง

“มีความจำเป็นต้องออกแบบโมเดลทางเศรษฐกิจการเมืองไทยใหม่ ให้สอดคล้องกับความท้าทายใหม่ๆ ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากเทคโนโลยีดิสรัปชัน มีความจำเป็นที่สังคมไทย อาจต้องถกเถียงถึงหนทางสู่รัฐสวัสดิการ และการสร้างระบบหลักประกันรายได้พื้นฐานขั้นต่ำ”.