สถานการณ์โควิดในไทย ยังไม่น่าไว้วางใจ ทำให้หลายองค์กรจำเป็นต้องให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home มีการลากยาวมาตั้งแต่การเริ่มระบาดระลอก 3 เมื่อต้นเดือนเม.ย. จนถึงปัจจุบัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

การทำงานที่บ้านในช่วงแรก อาจติดขัด ไม่คุ้นชินสำหรับหลายๆ คน แต่ด้วยสถานการณ์ต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง และในที่สุดสามารถปรับตัวเรียนรู้ตามทักษะของแต่ละคน แม้การทำงานอาจไม่สะดวกเหมือนการทำงานในออฟฟิศ จากข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ทำให้งานสะดุด ไม่ราบรื่น

การทำงานที่บ้านกินเวลานานมากกว่า 3 เดือน กลายเป็นว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ในการบริหารชีวิตระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว อาจไม่มีความสมดุล นำมาซึ่งความกดดัน ความเครียดสะสม และเหนื่อยมากกว่าการทำงานในออฟฟิศ จากความคาดหวังของผู้บริหารต่อพนักงาน ต้องทำงานไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ จนส่งผลต่อสุขภาพจิต ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

เมื่อทำงานที่บ้านภายใต้ความกดดัน จนแทบไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย นอกจากอ้วนขึ้นแล้ว ยังมีอาการออฟฟิศซินโดรม ปวดหลังปวดเมื่อยตามร่างกาย และบางคน อาจถึงขั้นหมดไฟในการทำงานก็มี

...

ผลสำรวจของอะโดบี (Adobe) จากกลุ่มตัวอย่าง 5,500 คน ทั้งพนักงานบริษัท ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ใน 7 ภูมิภาคทั่วโลก พบว่า 49% ของพนักงานบริษัท และ 56% ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระบุว่า ทุกวันนี้ใช้เวลาทำงานยาวนานกว่าเดิม ทำให้รู้สึกกดดัน เครียด และเหนื่อยล้ามากขึ้น

แม้การทำงานที่บ้านจะยืดหยุ่นในการทำงานได้ แต่องค์กรมีความคาดหวังเพิ่มขึ้นว่าพนักงานจะต้องพร้อมทำงานอยู่เสมอ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ถูกหลอมรวมไปด้วยกัน โดยพนักงานบริษัท ทำงานเฉลี่ย 44.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำงานเฉลี่ย 45.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มากกว่าชั่วโมงทำงานในภาวะปกติ ขณะที่พนักงานบริษัท 35% ระบุว่า มีแผนจะเปลี่ยนงานในปีหน้า และ 61% ระบุเหตุผล ต้องการออกแบบตารางเวลาชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น

เนื่องจาก Work From Home ลดระยะเวลาการเดินทาง ทำให้คนจำนวนมาก ใช้เวลาว่างที่เพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงไปกับการทำงาน พร้อมแรงกดดันจากองค์กร ต้องพร้อมติดต่อได้เสมอ แม้กระทั่งหลังเวลาเลิกงาน ทำให้พนักงานบริษัทเกือบครึ่งหนึ่ง และ 3 ใน 5 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รู้สึกกดดัน จะต้องตอบกลับอีเมล และแก้ปัญหาให้กับลูกค้าหลังเวลางาน

ผลสำรวจยังระบุกลุ่มคน Gen Z มากกว่าครึ่ง มีแผนจะหางานใหม่ในปีหน้า เพราะ 56% มีความพึงพอใจน้อยที่สุดกับ work-life balance และรู้สึกกดดันมากที่สุดที่ต้องทำงานในช่วงเวลาทำงานตามปกติ 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น โดยเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่ม Gen Z บอกว่ามักจะทำงานบนเตียงนอนเป็นประจำ

ในประเด็นหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout เป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้หญิงในสหรัฐฯ และอังกฤษ โดย 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประสบกับปัญหาพนักงานรู้สึกเหนื่อยล้า และหมดไฟในการทำงาน เพราะความเครียด.