“ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่เวลานี้สปอตไลต์การเมืองต่างสาดส่อง แม้กว่า 17 ปี ต้องอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อ 23 ปีก่อน ช่วงนั่งเก้าอี้สูงสุดของผู้นำไทย กลับมีข่าวลือแผนลอบสังหารถึง 4 ครั้ง ไปจนถึงกลุ่มค้ายาเสพติดข้ามชาติตั้งค่าหัวไว้ 80 ล้านบาท ซึ่งทุกเหตุการณ์กลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์

หลายคนเชื่อว่าเหตุการณ์ลอบสังหารเกิดขึ้นจริงกับผู้นำระดับประเทศอย่าง "ทักษิณ ชินวัตร" ครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลายคน "ไม่เคยคิดจะเชื่อ" หากมองย้อนกลับไปอดีตนายกฯ เคยตกเป็นข่าวลอบสังหารถึง 4 ครั้ง

"ระเบิดเครื่องบิน โบอิ้ง 737-400" สุดท้ายตายคนเดียว

เหตุการณ์แรก เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2544 เกิดเหตุไม่คาดฝัน ระเบิดเครื่องบินการบินไทย โบอิ้ง 737-400 ทะเบียน HS-TDC กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่คณะของอดีตนายกฯ ทักษิณ จะเดินทางไป จ.เชียงใหม่ โดยก่อนเวลาออกเดินทางเพียงเสี้ยวนาที เครื่องบินก็ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งลำ มีผู้เสียชีวิต 1 ศพ หลังเหตุการณ์ระทึกครั้งนั้น อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า รายงานของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างชัดเจน สาเหตุของเครื่องบินระเบิดน่าจะมาจากวัตถุระเบิดที่มีผู้นำมาติดไว้ที่ใต้ท้องเครื่องบิน บริเวณที่นั่งวีไอพี

...

"เป็นการปองร้าย ไม่ใช่การก่อการร้าย ไม่ทราบว่าปองร้ายใคร ส่วนคนที่ทำนั้นสิ้นคิด ไม่ต้องทำกับนายกรัฐมนตรี แต่ทำกับใครประเทศชาติก็เสียหาย" คุณทักษิณ ระบุในเวลานั้น

จากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ โดยมี พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ รอง ผบ.ตร. ในเวลานั้น เป็นหัวหน้า ท่ามกลางกระแสข่าวการก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ หรือขบวนการค้ายาเสพติด

กระบวนการสืบสวนหาคนก่อเหตุดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น โดยวันที่ 5 มี.ค. 2544 คณะกรรมการชุด พล.ต.อ.สันต์ ลงความเห็นเป็นการ "วางระเบิด" แน่นอน คาดว่าเป็น "ซีโฟร์" เนื่องจากตรวจพบ สารอาร์ดีเอ็กซ์ ที่เป็นส่วนประกอบของซีโฟร์กระจายอยู่ พร้อมแจกแจงการจุดระเบิด น่าจะเป็นการใช้นาฬิกาประกอบกันเป็นระเบิดแบบแสวงเครื่องในการจุดชนวน แต่ไม่พบซากอุปกรณ์ดังกล่าวในที่เกิดเหตุ

ผลสรุปการสอบสวนของ "คณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NTSB)" องค์กรการบินระดับโลก ระบุสาเหตุจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการเปิดแอร์ระหว่างเติมน้ำมัน สุดท้ายมีแถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับ NTSB ว่า คาดว่าสาเหตุมาจากอุปกรณ์ทำความเย็นทำงานต่อเนื่องอย่างหนักได้ปล่อยความร้อนออกมา เป็นเหตุให้ถังเชื้อเพลิงที่อยู่เหนืออุปกรณ์ทำความเย็นเกิดระเบิด เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกบางฝ่ายมองว่าเป็นการสร้างข่าวเพื่อกลบกระแส “บกพร่องโดยสุจริต” ในคดี “ซุกหุ้น”

ตั้งค่าหัวทักษิณ 80 ล้าน ต้องนั่งรถกันกระสุน เพิ่มชุดคุ้มครอง

เหตุการณ์ที่ 2 ปี 2546 ช่วงสงครามกวาดล้างยาเสพติด มีการปล่อยข่าว “กลุ่มว้าแดง” ตั้งค่าหัวนายทักษิณไว้ 80 ล้านบาท เนื่องจากไม่พอใจนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล ทำให้สูญเสียผลประโยชน์จำนวนมาก จนอดีตนายกฯ ต้องเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งเป็นรถตู้หุ้มเกราะ พร้อมสั่งเพิ่มทีมรักษาความปลอดภัย โดยมีการเพิ่มรถคุ้มครองหลายคัน มีชุดล่าสังหารอาวุธครบมือ

...

ระเบิดทีเอ็นที-ซีโฟร์ ผูกติดกับกระโปรงท้ายใกล้บ้านพักจรัญสนิทวงศ์ 69

เหตุระทึกครั้งที่ 3 ถือว่าโด่งดังมากที่สุด เกิดขึ้นวันที่ 24 ส.ค. 2549 มีการจับกุม ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ ทหารสังกัด กอ.รมน. ขับรถเก๋งยี่ห้อแดวู ภายในบรรทุกระเบิดไปจอดรออยู่บริเวณสี่แยกบางพลัด พบระเบิดทีเอ็นทีและซีโฟร์ผูกติดกันไว้ในกระโปรงท้าย รัศมีทำลายล้างไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ใกล้บ้านพักในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ของคุณทักษิณ และเป็นเส้นทางผ่านของขบวนรถนายกฯ แต่ทีม รปภ. ตรวจพบเสียก่อน

มีการสรุปจากฝ่ายรัฐบาลว่า เป็นการมุ่งลอบสังหารนายทักษิณ โดยคนร้ายถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันเคลื่อนย้ายและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุการณ์ครั้งนั้นหลายฝ่ายมองว่าเป็น “คาร์บ๊อง” มากกว่า “คาร์บอมบ์”

ก้มกราบแผ่นดิน ข่าวสะพัดอาจถูกลอบยิง จึงบินหนีหาย

ครั้งที่ 4 ช่วงรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ หลังนายทักษิณได้เดินทางกลับบ้านและกราบแผ่นดินเกิด ก่อนขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศเพื่อชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วไม่กลับมาอีก พลพรรคฝ่ายนายทักษิณล้วนให้ข่าวตรงกันว่ามีแผนประทุษร้ายจากบางฝ่าย โดยมีการอ้างถึง "สไนเปอร์" หรือพลแม่นปืน ทำให้ "นายทักษิณ" ต้องเดินทางออกนอกประเทศ

...

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นช่วงเวลาของอดีตนายกฯ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่ผ่านหลายเรื่องราว จนกระทั่งต้องไปอยู่ต่างประเทศนาน 15 ปี ก่อนเดินทางกลับไทยครั้งล่าสุด และภายหลังการพ้นโทษก็กลายเป็นบุคคลที่ถูกจับจ้องอีกครั้ง กับการเป็นเบื้องหลังในการให้คำปรึกษาแก่ลูกสาวคนสุดท้อง "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีคนที่ 31.