“สืบ นาคะเสถียร” ครั้งทำหน้าที่หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2529 จะพกกล้องถ่ายรูปติดตัวไปด้วยเสมอ ภาพถ่ายหลายใบสะท้อนชีวิตการทำงานท่ามกลางข้อจำกัด แววตาของสัตว์ป่า ที่ไม่มีโอกาสร้องขอชีวิต! คำพูดของ “หัวหน้าสืบ” ที่ว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” จึงสะท้อนผ่านภาพถ่าย และส่งต่อแนวคิดการอนุรักษ์ให้กับคนรุ่นต่อมา

ปี พ.ศ. 2529 ห้วงเวลาสำคัญในชีวิตของ “สืบ นาคะเสถียร” เมื่อมารับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี เกือบทุกครั้งที่ออกไปช่วยเหลือสัตว์ป่า กลางสายน้ำที่ถาโถมเข้ามาจมพื้นที่ป่าเดิม “สืบ” จะพกกล้องถ่ายรูปติดตัวไปด้วยเกือบทุกครั้ง เพื่อเก็บภาพการทำงาน เป็นการศึกษาวิจัยผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ซึ่งม้วนฟิล์มช่วงเวลาดังกล่าว ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

...

ภาพความตายของสัตว์ป่าที่จมน้ำ ยิ่งทำให้ “สืบ” ทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ แต่สุดท้ายกลับค้นพบว่า ต่อให้อพยพสัตว์ทั้งป่าไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกตัวจะอยู่รอดและสืบพันธุ์ต่อได้ จากนั้นจึงเริ่มเดินหน้าสู่เส้นทางนักอนุรักษ์ โดยปี พ.ศ. 2530 เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จ.กาญจนบุรี

“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” กลายเป็นคำพูดที่ “สืบ นาคะเสถียร” กล่าวทุกครั้ง เมื่อขึ้นเวทีอภิปราย และกลายเป็นคำพูด ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด หลังเสียงปืนในราวป่าดังขึ้น...

หากย้อนกลับไปถึงการทำงานในช่วงที่ “สืบ นาคะเสถียร” เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี เต็มไปด้วยข้อจำกัด การอพยพสัตว์ป่าในพื้นที่มากกว่าหนึ่งแสนไร่ มีงบประมาณเริ่มต้นเพียงแปดแสนบาท ไม่มีการอนุมัติอุปกรณ์ช่วยชีวิตสัตว์ แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้จากพรานในพื้นที่ บวกกับประสบการณ์ของคนในทีม

การรับหน้าที่หัวเรือในการช่วยเหลือสัตว์ป่า เพื่ออพยพออกจากเขื่อนเชี่ยวหลาน สามารถช่วยเหลือสัตว์ได้ 1,364 ตัว ส่วนที่เหลือต้องตายไปเกือบหมด “สืบ” จึงเข้าใจว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติได้ เลยได้ร่วมกิจกรรม เช่น คัดค้านรัฐบาลในการสร้างเขื่อนน้ำโจน บริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี

...

รายงานการอพยพสัตว์ต่อสาธารณชน เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักภัยป่า และยืนยันว่าการสร้างเขื่อนมีโทษมากกว่าคุณ เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชดเชยภายหลังไม่ได้ แต่ความพยายามนั้นไร้ผล จนนักอนุรักษ์รวมกลุ่มสนับสนุนแนวทางของ “สืบ” ทำให้โครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนยุติลง

พ.ศ.2532 “สืบ นาคะเสถียร” ได้รับทุน เรียนต่อปริญญาเอกที่อังกฤษ แต่ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แต่พบปัญหาเช่น การตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของบุคคลที่มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า และปัญหาเหล่านี้ ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่

...

เลยพยายามเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครอง แต่กลับยังไม่ได้รับความเอาใจใส่จากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

จนวาระสุดท้ายมาถึง... 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร ได้เขียนพินัยกรรมไว้ ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคม และราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

...

หลังการเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร สร้างแรงกระเพื่อมให้คนไทยหันมาสนใจการอนุรักษ์ป่ามากขึ้น และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ จนถึงปัจจุบัน

ภายหลัง การเสียชีวิตของ “สืบ” มีการวิจัยถึงสัตว์ป่า ที่ช่วยเหลือในการอพยพออกจากเขื่อนเชี่ยวหลาน พบว่า มีสัตว์ที่สูญพันธุ์ เช่น วัวแดง เสือโคร่ง หมาใน นากจมูกขน เสือปลา และนาก ชนิดที่หาได้ยากในโลก

เช่นเดียวกับสมเสร็จ ที่เคยอยู่ในอาศัยในพื้นที่ป่า ซึ่งมีการก่อสร้าง เขื่อนเชี่ยวหลาน เมื่อต้องอพยพย้ายไปอยู่ในพื้นที่ป่าใหม่ ต้องปรับเปลี่ยนชีวิตจากเดิมที่อยู่ในพื้นที่ภูเขา เมื่อถูกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ กลับต้องใช้ชีวิตยากขึ้น ต้องไปอยู่ในพื้นที่ลาดชัน ทำให้ใช้ชีวิตลำบากในการดำรงเผ่าพันธุ์ต่อ

ภาพถ่ายการช่วยเหลือสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลาน ของ สืบ นาคะเสถียร เป็นสมบัติอันล้ำค่า ย้ำเตือนให้ผู้คนเห็นถึงความโหดร้าย ของการยึดพื้นที่ป่า ทั้งที่สัตว์ป่า ไม่มีโอกาสร้องขอชีวิต.

ภาพจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร