ย้อนกลับไปเมื่อ 29 ปีก่อน ครั้งนายอุทัย พิมพ์ใจชน ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างการแถลงข่าวเคร่งเครียด กลับมีชายรายหนึ่งปาอุจจาระใส่ ส่งกลิ่นกระจายจนผู้เข้าร่วมประชุมแตกกระเจิง แต่อดีตประธานสภาฯ ได้ห้ามปรามเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่คุมตัวผู้ก่อเหตุ ไม่ให้ทำร้ายร่างกาย จากนั้นไม่ได้ติดใจเอาความ จนเป็นที่กล่าวขานถึงภาวะผู้นำของนักการเมือง ที่เปรียบการทำหน้าที่อันทรงเกียรติเหมือนกับดิน

เหตุการณ์ที่กลายเป็นข่าวครึกโครมเกิดขึ้นเมื่อ 7 ก.ย. 2537 นายอุทัย พิมพ์ใจชน ขณะดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว กรณีสั่งพักงานข้าราชการรายหนึ่ง โดยระหว่างที่นั่งบนหัวโต๊ะ มีชายรายหนึ่งแต่งตัวดี แฝงตัวเข้ามาแล้วปาอุจจาระใส่อย่างจัง ท่ามกลางการแตกฮือของผู้เข้าร่วมประชุม

...

ทันทีที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ล็อกตัวผู้ก่อเหตุ และเตรียมจะทำร้ายร่างกาย กลับมีเสียงห้ามปรามดังมาจากหัวโต๊ะที่ผู้ก่อเหตุเพิ่งปาสิ่งปฏิกูลใส่ นายอุทัย ในยุคนั้นถือว่าเป็นนักการเมืองผู้มีชื่อเสียง แต่ระหว่างเกิดเหตุไม่ได้แสดงสีหน้าตื่นตกใจ ดวงตาที่แน่วแน่ยืนยันการทำงานที่ชัดเจน

หลังก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ได้สอบถามชายผู้ก่อเหตุ จนได้รับการยืนยันว่า ต้นเหตุมาจาก ทนเห็นไม่ได้ที่ข้าราชการถูกรังแก เลยได้บุกเข้ามาปาถุงอุจจาระใส่อดีตประธานสภาฯ หลังจากนั้นสื่อมวลชน ได้พยายามขุดคุ้ยประวัติของชายผู้ก่อเหตุ ซึ่งภายหลังบิดาของผู้ก่อเหตุได้เข้าไปขอขมา นายอุทัย พิมพ์ใจชน และมอบพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคล

แต่ในทางกฎหมาย มีการดำเนินคดีต่อจากนั้นแม้นายอุทัย จะไม่เอาความ โดยตำรวจ สน.พระราชวัง เจ้าของท้องที่เกิดเหตุ ดำเนินการสอบสวนส่งฟ้องศาล จนมีคำสั่งให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี ปรับ 6,000 บาท โดยโทษจำคุก ให้รอลงอาญา 2 ปี ซึ่งเหตุการณ์นี้กลายเป็นคดีตัวอย่างที่ถูกกล่าวขานต่อมา

นายอุทัย พิมพ์ใจชน ได้เคยเปิดใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังยุติบทบาททางการเมืองว่า นักการเมืองต้องทำตัวเองให้เปรียบเสมือนดิน เพราะเราตั้งใจรับใช้ประชาชน เขามีสิทธิจะเหยียบย่ำ หรือกระทืบ ขุดร่องเอาดินมาปลูกผัก หรือขุดหลุมเอาขี้มาใส่ กระทั่งขุดเอาดินไปทำเป็นพระห้อยคอ ประชาชนสามารถทำได้

แม้ นายอุทัย พิมพ์ใจชน จะวางมือทางการเมืองไปแล้ว แต่บทบาทอดีตประธานสภาฯ และแนวทางของนักการเมืองผู้ยึดมั่นแนวคิดของประชาธิปไตยยังคงอยู่ ซึ่งประชาชนก็มุ่งหวังให้นักการเมืองยุคใหม่ หันมาดำเนินรอยตามเป็นแบบอย่าง เพื่อให้เกิดการทำงานต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง.