17 ปี ประวัติศาสตร์เลือกตั้งโมฆะ เมื่อ 2 เม.ย. 2549 โดย 3 พรรคฝ่ายค้าน คว่ำบาตร ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง นำสู่การชุมนุมต่อต้าน การนั่งเก้าอี้นายกฯ อีกสมัยของ ทักษิณ ชินวัตร แต่เหตุการณ์บานปลาย เมื่อมีคำตัดสินลงโทษ กกต. บางส่วน จนเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
จุดเริ่มต้นระเบิดเวลาการเมือง ปะทุขึ้นวันที่ 24 ก.พ. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศยุบสภา ท่ามกลางความแปลกใจของหลายฝ่าย เพราะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้คะแนนท่วมท้นเกินกึ่งหนึ่งของสภา แต่ความมั่นคงในการบริหารราชการ เริ่มถูกสั่นคลอนทั้งการเมืองในสภาและนอกสภา ด้วยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
...
ท่ามกลางการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและผู้สนับสนุน จนเกือบมีเหตุการณ์ “ม็อบชนม็อบ” หลายครั้ง เลยมีการยุบสภา โดยให้เหตุผลว่า
“...ได้เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น แม้ระยะแรกอยู่ในกรอบกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้อง ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวาง อาจรุนแรงขึ้น ส่อเค้ามีการเผชิญหน้า จนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวาย หากใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลเข้มงวด แม้แต่รัฐบาลพยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา ยังไม่อาจแก้ไขปัญหา...”
ห้วงเวลานั้นเป็นภาวะการเมืองที่แหลมคม การชุมนุมนอกสภาเริ่มก่อตัวรุนแรง การยุบสภานำมาสู่การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่คือ 2 เม.ย. 2549 แต่ถูกโต้แย้งจากพรรคฝ่ายค้าน ระบุว่าเป็นการกำหนดวันเลือกตั้งกระชั้นชิด เกิดการประท้วงของ 3 พรรคฝ่ายค้าน ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง
การจัดเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 มีการตั้งคำถามจากประชาชน ถึงการจัดพื้นที่คูหาเลือกตั้ง เพราะมีการให้ผู้ลงคะแนนหันหน้าเข้าผนัง โดยผู้ใช้สิทธิหันหลังออกมายังหน่วยเลือกตั้ง ทำให้คนที่สังเกตการณ์ภายนอกสามารถเห็นการลงคะแนนได้ ในบางกรณี ขณะเดียวกันยังเกิดการต่อต้าน ฉีกบัตรเลือกตั้งหลายแห่ง และคณะกรรมการเลือกตั้งท้อนถิ่นบางแห่ง ยื่นหนังสือลาออก
...
ผลเลือกตั้งครั้งนั้น แม้ฝั่งรัฐบาลได้รับคะแนนเสียงส่วนมาก แต่ผู้มาใช้สิทธิไม่ออกเสียงมากถึง 9 ล้านคน หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวง เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้น มีผู้ที่ไม่ลงคะแนนเสียงจำนวนมาก ซึ่งต่อมามีสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะตัดสินใจเว้นวรรคทางการเมือง
8 พ.ค. 2549 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 เป็นโมฆะ เหตุผลสำคัญคือ กกต. กำหนดการจัดคูหาในลักษณะ ที่บุคคลภายนอกสามารถสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใด การกำหนดวันเลือกตั้งไม่เหมาะสม และไม่เที่ยงธรรม โดยกำหนดวันเลือกตั้งห่างจากการยุบสภาเพียง 35 วัน ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง วันที่ 15 ต.ค. 2549
...
ไม่ทันที่การเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้น กลางดึกวันที่ 19 ก.ย. 2549 คณะรัฐประหาร เคลื่อนกำลังพลยึดอำนาจ ช่วงเวลานั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ขณะเดินทางอยู่ในต่างประเทศ พยายามออกแถลงการณ์ฉุกเฉิน ผ่านดาวเทียมจากสหรัฐอเมริกา แต่ไม่นานมีคำสั่งหยุดการแพร่ภาพ
17 ปี เหตุการณ์เลือกตั้งโมฆะ สะท้อนบทบาทการเมืองไทย ความเห็นต่าง ที่สุดท้ายการตัดสินด้วยการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ย่อมเป็นทางออกที่ยุติธรรมเสมอ.