ต้องถอดบทเรียนไม่ให้เกิดซ้ำอีก จากเหตุการณ์เพลิงไหม้บ้านและพังถล่มลงมา ภายในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 เขตทวีวัฒนา กทม. ทำให้อาสาสมัครกู้ภัยพลีชีพ 4 คน และเหยื่อในบ้านเสียชีวิตอีก 1 รวม 5 ศพ คาซากปรักหักพัง หลังเพลิงเริ่มสงบลงและเกิดเสียงปูนดังลั่น ขณะเจ้าหน้าที่กำลังฉีดน้ำไม่ให้ไฟปะทุขึ้นอีก กระทั่งอาคารพังถล่มลงมา จนเกิดเหตุโศกนาฏกรรม
...
ย้อนไปในปี 2548 เคยเกิดเหตุลักษณะนี้มาก่อน ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 ม.ค. 2548 เกิดเหตุเพลิงไหม้ บริษัท ยูไนเต็ด ยูเนียนพาร์ท จำกัด จำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ และอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ สูง 7 ชั้น จำนวน 5 คูหา ภายในซอยวัดดวงแข ถนนพระราม 6 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กทม.
ขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นวันหยุด เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสวนมะลิ ได้นำกำลังประมาณ 10 นาย แต่งชุดผจญเพลิงพร้อมหัวฉีดดับเพลิงครบชุด พังประตูอาคารเข้าไปภายใน เพื่อค้นหาผู้ที่ติดอยู่ ท่ามกลางกลุ่มควันที่ยังหนาทึบ อีกส่วนหนึ่งขึ้นไปฉีดน้ำบนทางด่วนที่อยู่ใกล้ๆ ลงมาเลี้ยงไว้เพื่อไม่ให้ลุกลาม จนกระทั่งเวลา 15.35 น. ความร้อนระอุของเปลวไฟ ทำให้ตัวอาคารแตกร้าวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะผนังตึกด้านข้างร้าวปริส่งเสียงดังลั่น
ทันใดนั้นตึกสูง 7 ชั้น ทั้งหลังได้พังครืนถล่มลงมาในพริบตา พร้อมกับเศษเหล็กเศษปูนหล่นใส่กระเช้าดับเพลิงจนหักได้รับความเสียหาย ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงถูกเศษอาคารหล่นใส่อีก 4-5 คน ทั้งหมดถูกนำส่ง รพ.เลิดสิน ขณะเดียวกัน รถกระบะอีซูซุ สีน้ำเงิน ของบริษัทที่จอดอยู่ด้านหน้าอาคารอีก 3 คัน พังยับเยินไปทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ถูกซากอาคารทับเสียชีวิต และอีก 5-6 คนไม่ทราบชะตากรรม
เหตุการณ์วันนั้นเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือ ร.ต.อ.สุรเดช เชื้อทิน อายุ 51 ปี รอง สว.ดับเพลิงบรรทัดทอง ช่วยราชการดับเพลิงสวนมะลิ ซึ่งเข้าไปสำรวจตัวอาคารพร้อมกับลูกน้องอีก 4 คน ได้ใช้โทรศัพท์มือถือแจ้งกับเจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิงสวนมะลิที่อยู่ด้านนอก ว่าถูกตึกถล่มทับบาดเจ็บอยู่บริเวณตัวอาคารชั้น 2 เจ้าหน้าที่จึงช่วยกันใช้เครื่องมือเจาะกำแพงตึกด้านข้างเข้าไปช่วยเหลือ แต่การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่สามารถหาตำแหน่งที่แน่นอน อีกทั้งซากปรักหักพังกองพะเนินสูงเท่าตึก 2 ชั้น ทำให้ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ จนในที่สุดเมื่อเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อไปอีกครั้ง ร.ต.อ.สุรเดช ไม่รับสายแล้ว
...
แม้เวลาผ่านไปยาวนานจนถึงค่ำคืน เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยยังคงค้นหาผู้ติดอยู่ในซากอาคาร และผูกตัวด้วยลวดสลิงโรยตัวจากรถยกลงไปบนกองซากอาคาร เพื่อใช้ไฟฉายส่องหาผู้บาดเจ็บ ตามซอกอาคาร ก่อนใช้รถยกยกเศษซากอาคารบนกองตึก เพื่อเปิดพื้นที่ด้านบน แล้วค่อยๆ ลงไปค้นหาผู้ที่ติดอยู่ด้านใน โดยนำซากเศษอิฐเศษปูนออกทีละชิ้นทีละแผ่น ตั้งแต่ข้างบนลงไปด้วยความยากลำบาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถล่มซ้ำอีก
...
ก่อนไปเจอร่างเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยรายแรก ในสภาพไร้วิญญาณ ถูกคานคอนกรีตหล่นลงมาทับเสียชีวิต ในลักษณะกึ่งนั่งกึ่งยืน ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เหลืออีก 5-6 คน ยังหาตัวไม่พบ โดยวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 10 ม.ค. 2548 ได้พาดหัวข่าว "ไฟไหม้ตึก 7 ชั้นถล่มฝังทั้งเป็น ตร.ดับเพลิง 10 ชีวิต." ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุโศกนาฏกรรมในอดีต มีการสูญเสียเจ้าหน้าที่ตำรวจดับเพลิง และอาสาสมัครกู้ภัยได้พลีชีพขณะทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ โดยมีธงชาติห่อร่างออกมาจากซากปรักหักพังอย่างสมเกียรติ.
...