“โนราโรงครู” พิธีกรรม ความเชื่อสืบทอดกันมายาวนาน ในการเชิญ “ผีบรรพบุรุษ” ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ ได้กลับมาหาลูกหลานผู้สืบเชื้อสายโนรา ในพิธีเข้มขลังแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมไปถึงการ “ตัดเหมรย” หรือแก้บน ในสิ่งที่ได้บนบานเอาไว้ เป็นมากกว่าพิธีกรรมความเชื่อทั่วไป

อะไรทำให้พิธีกรรมความเชื่อนี้ ถูกสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ติดตามภารกิจ See True “ให้คุณเห็นความจริง” ในการลงพื้นที่ภาคใต้ ไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อร่วมพิธีกรรรม “โนราโรงครู” ตามความเชื่อที่ว่าครูหมอโนรา และตายายโนรา คือ ครูและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ คอยปกปักรักษาผู้มีเชื้อสายโนรา มีพลังอำนาจ ดลบันดาล ให้ทั้งคุณและโทษ แก่ลูกหลาน

ทีมงานเดินทางไปบ้านหลังหนึ่ง ในอำเภอเมือง จ.นครศรีธรรมราช หลังก่อนหน้านี้คนในบ้านและญาติพี่น้องต้องเจอปัญหารุมเร้า ทั้งอุบัติเหตุ หนี้สิน ไปจนถึงเจ็บป่วย จึงจัดพิธีโนราโรงครู โดยให้ชานนท์ ปรีชาชาญ ครูหมอโนรา เป็นผู้เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกของวิญญาณ ด้วยการเชิญผีบรรพบุรุษ เข้ามาทรงในลูกหลาน และหลังจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เจ้าภาพและผู้มาร่วมงาน จะมานั่งดูการแสดงโนราคณะครูชานนท์

...

“ธีรพงศ์ มานพศิลป์” เจ้าภาพจัดพิธีโนราโรงครู เล่าว่า ยายป่วยแล้วก็มีอาการแปลกๆ เช่น ตอนนอนป่วยติดเตียง อยู่ๆ ยายก็มารำโนรา พอเราได้เอ่ยปากขอกับครูหมอโนรา หรือบนบานไป ก็สำเร็จทุกครั้ง ปัญหาทุกอย่างกลับคลี่คลายและสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ 

ผีบรรพบุรุษโนรา ประทับร่างลูกหลาน ส่งต่อความห่วงใย

จากนั้นพิธีกรรมสำคัญได้เริ่มขึ้น ลูกหลานที่เป็นร่างทรงถูกเชิญเข้ามาในโรงครู มีผ้าคลุมไว้ที่หัว โดยพิธีกรรมดำเนินไปร่วมครึ่งชั่วโมง มีครูหมอโนรา และตายายโนรา เข้ามาประทับร่างทรงหลายองค์ รวมถึงยาย หรือแม่เฒ่าที่เพิ่งเสียชีวิตไป ได้เข้าประทับร่าง "ธีรพงศ์" ผู้เป็นหลานชาย

เมื่อบรรพบุรุษได้ประทับร่างทรงแล้ว ได้เข้ามาในบริเวณบ้าน เพื่อมาดูห้องที่เคยอยู่ ดูจากลักษณะคล้ายคนแก่ เชื่อว่าเป็นแม่เฒ่าที่จากไปแล้ว และภายในโรงพิธี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ลูกหลานจะได้มีโอกาสพูดคุยสื่อสารกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วอีกครั้ง ด้วยความคิดถึง ความห่วงใย ถูกส่งผ่านให้กันและกัน จนบางคนกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่

"ธีรพงศ์" ผู้เป็นหลานชาย ยืนยัน "เหมือนกับยาย เพราะหลังจากไปไม่ได้คุยอะไร ยังไม่ได้สั่งลา ได้กลับมาเจอกัน ลูกหลานต่างก็ดีใจ มีความสุข ถ้าเป็นช่วงครูบรรพบุรุษลง ก็จะรู้สึกอยากร้องไห้ ได้ยินเสียงตัวเองว่าร้องไห้ หลังจากนั้นก็จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง รู้สึกปลาบปลื้มแทนครู แทนลูกหลาน เหมือนงานรวมญาติงานหนึ่ง เพราะว่าลูกๆหลานๆ ที่อยู่ไกลบ้าน ก็ได้กลับมาบ้าน ได้มารวมตัวกัน มาร่วมกันบูชาครู"

...

เช่นเดียวกับครูชานนท์ บอกว่า เป็นการให้ลูกหลานเข้ามาถามถึงสิ่งที่ขัดข้องอยู่ว่ามันเกิดอาเพศหรืออะไร ครูหมอโนรา ก็จะบอกกล่าวกับลูกหลาน เพื่อให้ไปแก้ไข ส่วนจุดประสงค์การทำโนราโรงครูของชาวบ้าน เพื่อเป็นการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ประจำบ้าน ซึ่งมีการนับถือจากรุ่นสู่รุ่น ทำเพื่อตอบแทนคุณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

“โนราโรงครู มีความศักดิ์สิทธิ์ ลูกหลานบนได้ ไหว้รับ ลูกหลานสามารถขอได้ ในสิ่งที่ขอไม่ได้จากที่อื่น และลูกหลานจะมีความเชื่อกันว่าโนราให้คุณและก็ให้โทษ อย่างลูกหลานทอดทิ้ง ไม่ดูแล หรือไม่ทำพิธีกรรมให้ ลูกหลาน ก็อาจจะมีปัญหาในครอบครัว เจ็บไข้ ได้ป่วย บางคนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ” ครูชานนท์เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม

โนราโรงครู ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต สร้างความผูกพัน

บนความเชื่อและศรัทธาของพิธีกรรมโนราโรงครู ได้สอดแทรกศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิต และเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบรรพบุรุษและลูกหลาน เป็นมนตร์ขลัง ทำให้โนราโรงครู ยังคงถูกสืบทอดผ่านกาลเวลา มาจนถึงวันนี้ และสิ่งที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรม คือ การสร้างความผูกพันในเครือญาติให้ลูกหลาน ได้รู้จักรากเหง้า ได้แสดงความกตัญญูกตเวที และระลึกบรรพบุรุษที่จากไป

...

โนราพิธีกรรม หรือโนราโรงครู อาจเรียกได้ว่าเป็นรากฐานหรือเป็นต้นกำเนิดของศิลปะการแสดงโนรา ที่ใช้ร่ายรำ ทำการแสดง เพื่อความบันเทิง อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในปี 2564 องค์การยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียน "โนรา" เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และสืบสานต่อไป ติดตาม #ข่าวแสบเฉพาะกิจ และภารกิจ See True "ให้คุณเห็นความจริง" จะพิสูจน์ ตรวจสอบ พร้อมลงทุกพื้นที่ ขยี้ทุกความจริง ทุกวันเสาร์ 6 โมงเย็น ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32.