การทรยศหักหลังของลูกเขยอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่นำไปสู่การหย่าร้างแห่งศตวรรษ มีราคาที่ต้องชดใช้มากกว่า 30,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเปิดเผยให้เห็นถึง "บาดแผล" อันเกิดจากน้ำมือกลุ่มแชโบล (อีกครั้ง)...Wedding of the Centuryปี 1988 พิธีแต่งงานของบุตรชายคนโตและทายาทของตระกูลแชโบลอันทรงอิทธิพล กับลูกสาวแสนสวยเพียงคนเดียวของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกขนานนามว่าเป็น “งานแต่งงานแห่งศตวรรษ” (Wedding of the Century) เนื่องจากมันแทบไม่ต่างอะไรกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง “ธุรกิจและการเมือง” ให้แนบแน่นจนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างลงตัวเป็นที่สุด แต่แล้ว...ใครจะเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีหลังจากนั้น “สายสัมพันธ์อันแข็งแกร่ง” ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านการแต่งงานแห่งศตวรรษนี้ จะกลายเป็นเพียง “เศษเถ้าธุลี” จากการถูกกัดกร่อนลงทีละน้อย ด้วย…อำนาจที่ไม่จีรัง การทรยศหักหลัง ความอดทน และท้ายที่สุด คือ การล้างแค้นอย่างสาสม!แต่ก่อนที่ “เรา” จะไปกันต่อ…ไปทำความรู้จักกับ “ตัวละคร” ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวสุดแสนดราม่านี้ด้วยกันสักนิดก่อน! 1. กลุ่มธุรกิจ SK Group กลุ่มธุรกิจอันทรงอิทธิพลอันดับ 2 ของประเทศเกาหลีใต้ ที่มีธุรกิจในเครือมากกว่า 87 แห่ง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางด้านพลังงาน โทรคมนาคม และเซมิคอนดักเตอร์ โดยในจำนวนนี้มี 16 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ และปัจจุบันมีพนักงานทั่วโลกรวมกันกว่า 81,000 คน2. ชเว แท วอน (Chey Tae-Won)ประธานกลุ่มบริษัท SK Group ปัจจุบัน (ปี 2024) จากการประเมินแบบ Real time ของ Forbes ถือครองความมั่งคั่ง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (55,125 ล้านบาท) 3. โน โซ ยอง (Roh Soh Yeong)บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดี โน แท อู (Roh Tae woo) ของเกาหลีใต้ ปัจจุบัน เป็นคุณแม่ลูก 3 และอดีตภรรยาของ “ชเว แท วอน” ประธาน SK Group Wedding of the Century หลังเรียนจบปริญญาตรี จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ ที่มหาวิทยาลัยโซล “โน โซ ยอง” เดินทางไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้พบรักกับ “ชเว แท วอน” ซึ่งเป็นรุ่นพี่ร่วมสถาบัน โดยหลังจากทั้งคู่เรียนจบระดับปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ ก็ได้เดินทางกลับประเทศเกาหลีใต้ ต่อมาในปี 1988 ภายใต้ความสนับสนุนจากทั้งสองครอบครัว ทั้ง “โน โซ ยอง” และ “ชเว แท วอน” จึงได้ตัดสินใจเข้าสู่ประตูวิวาห์ โดยพิธีแต่งงานดังกล่าวถูกยกย่องให้เป็น “พิธีแต่งงานแห่งศตวรรษ” เนื่องจากฝ่ายชายเป็นทายาทตระกูลแชโบล ในขณะที่ฝ่ายหญิง ก็เป็นถึงลูกสาวของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยิ่งไปกว่านั้น พิธีแต่งงานดังกล่าวยังถูกจัดขึ้นที่ทำเนียบบลูเฮาส์ ที่มีนักธุรกิจและนักการเมืองชื่อดังมาร่วมงานอย่างคับคั่งอีกด้วย การหักหลัง ในระหว่างที่ทั้งคู่อยู่กันฉันสามี-ภรรยามานานร่วม 30 ปี จนกระทั่งมีทายาทเป็นลูกสาว 2 คน และลูกชายอีก 1 คน ในสายตาคนภายนอก “โน โซ ยอง” ทำหน้าที่ภรรยาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการยืนหยัดเคียงข้างสามี จากการที่ตกเป็นผู้ต้องหาถึง 3 คดี ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจของ SK Group ซึ่งบางคดี “ชเว แท วอน” ถึงกับต้องรับโทษจำคุก 3 ปี อย่างไม่หวั่นไหวนอกจากนี้ ยังเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วกันอีกด้วยว่า บารมีของ (พ่อตา) ประธานาธิบดี โน แท อู ซึ่งนั่งเป็นผู้นำเกาหลีใต้ ในช่วงระหว่างปี 1988-1993 ยังได้ช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจของ SK Group เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดอีกด้วยแต่แล้วในปี 2015 “ชเว แท วอน” ซึ่งในช่วงเวลานั้น ได้ขึ้นเป็นประธาน SK Group แล้ว ก็ได้ประกาศยอมรับต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการว่า… “มีลูกวัย 6 ขวบ กับภรรยานอกสมรส” ที่เป็นสาวสวยในระดับผู้เข้าประกวดมิสเกาหลี จากนั้นจึงได้ยื่นเรื่องเพื่อขอหย่าร้าง กับลูกสาวของอดีตผู้นำเกาหลีใต้ ที่ตัวเขาเองอ้างว่า “แยกกันอยู่มานานร่วม 10 ปีแล้ว” Divorce of the Century หลังประกาศมีครอบครัวใหม่อย่างเป็นทางการ ประธาน SK Group ได้เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ “หย่าร้าง” กับ “โน โซ ยอง” อดีตภรรยาอย่างจริงจังทันที! อย่างไรก็ดีในขั้นตอนแรก คือ การยื่นขอหย่าร้างโดยการไกล่เกลี่ย (Divorce by Mediation) ในปี 2017 ผลลัพธ์ที่ได้กลับมา “ตามรายงานข่าวของสื่อในเกาหลีใต้” คือ ข้อโต้แย้งให้ฝ่ายชายจ่ายค่าเลี้ยงดู 300 ล้านวอน (7.9 ล้านบาท) พร้อมกับให้แบ่งสินสมรส เป็น “หุ้น SK Group” คิดเป็นสัดส่วน 42.29% ที่อดีตสามีถือครองอยู่ ซึ่ง ณ เวลานั้น (ปี 2017) คิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 1.3 ล้านล้านวอน (34,561 ล้านบาท)! หรือเกือบครึ่งหนึ่งของความมั่งคั่งในกำมือของ “ชเว แท วอน” และจำนวนหุ้นที่ว่านั้น จะทำให้ “โน โซ ยอง” มีบทบาทสำคัญในการบริหารองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของประเทศเกาหลีใต้ทันที ซึ่งแน่นอนว่าข้อเสนอที่ว่านี้ “ย่อมได้รับการปฏิเสธ” และเมื่อทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเจรจาเพื่อหา “ข้อตกลง” ที่สามารถเป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่ายได้ การยื่นขอหย่าร้างแห่งศตวรรษนี้ จึงเข้าสู่กระบวนการ “การหย่าร้างภายใต้การพิจารณาคดีของศาล” (Divorce by Trial) ยิ่งไปกว่านั้น ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาคดีดังกล่าว (ปี 2019) ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยังได้ตัดสินใจยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก “ภรรยาสาวสวยคนใหม่” ของประธาน SK Group เป็นจำนวนเงินถึง 3,000 ล้านวอน (79 ล้านบาท) ด้วย! Round 1 ธันวาคม ปี 2022 หลังการพิจารณาคดีหย่าร้างแห่งศตวรรษมานาน 3 ปี ศาลครอบครัวโซล (Seoul Family Court) หรือศาลชั้นต้น ได้มีคำพิพากษาให้ประธาน SK Group จ่ายค่าเลี้ยงดูให้กับอดีตภรรยาเป็นจำนวน 100 ล้านวอน (2.6 ล้านบาท) พร้อมกับให้แบ่งสินสมรส คิดเป็นมูลค่ารวม 66,500 ล้านวอน (1,767 ล้านบาท) ซึ่งนอกจากจะเป็น “มูลค่าทรัพย์สิน” ที่น้อยกว่าที่เธอเรียกร้องเอาไว้มากแล้ว ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ทรัพย์สิน (เงินสด) ที่ได้รับนั้น ก็ไม่ได้เป็นหุ้น SK Group ตามที่เรียกร้องด้วย ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาคดี : 1. ข้อโต้แย้งของ “ชเว แท วอน” ที่ว่า หุ้น SK Group เป็นทรัพย์สินเฉพาะเจาะจงและเป็นมรดกตกทอดที่ได้รับมาจากครอบครัว “มีน้ำหนักมากกว่า” ข้อต่อสู้ของฝ่าย “โน โซ ยอง” ที่อ้างว่า อดีตประธานาธิบดี โน แท อู มีส่วนร่วมสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของ SK Group ตั้งแต่ยุค 90 ผ่าน “กองทุนเพื่อวัตถุประสงค์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย” (Slush Fund) 2. ข้อต่อสู้ที่ว่า “ชเว แท วอน” สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธาน SK Group ได้ เป็นเพราะอยู่ในฐานะ “ลูกเขยของประธานาธิบดี” ถูกหักล้างด้วยข้อโต้แย้งที่ว่า “ฐานะลูกเขยประธานาธิบดี” ทำให้ชื่อเสียงของเขามัวหมองลงในสายตาคนในครอบครัว หลังประธานาธิบดี โน แท อู ถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน หลังก้าวลงจากอำนาจ ด้วยเหตุนี้ “โน โซ ยอง” จึงยื่นเรื่องอุทธรณ์คำตัดสินเพื่อต่อสู้กับอดีตสามีต่อไป Round 230 พ.ค. 24 ศาลสูงกรุงโซล (The Seoul High Court) มีคำพิพากษาใน “ชั้นอุทธรณ์” ให้ “ประธาน ชเว แท วอน” จ่ายค่าเลี้ยงดูแก่อดีตภรรยา เป็นจำนวนเงินถึง 2,000 ล้านวอน (53 ล้านบาท) และแบ่งสินสมรส (Division Property) ที่คิดเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 1.38 ล้านล้านวอน! (36,688 ล้านบาท) และให้ชำระเป็น “เงินสด”ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาคดี : 1. ข้อโต้แย้งเดิมของ “ชเว แท วอน” ที่ว่า หุ้น SK Group เป็นทรัพย์สินเฉพาะเจาะจงและเป็นมรดกตกทอดที่ได้รับมาจากครอบครัว ถูก “หักล้าง” จากหลักฐานใหม่ของฝ่ายอดีตภรรยาที่ว่า มีจำนวนเงินมากกว่า 34,300 ล้านวอน (903 ล้านบาท) ของอดีตประธานาธิบดี โน แท อู ผ่าน Slush Fund ถูกส่งไปให้กับอดีตประธานของ SK Group (บิดาของ ชเว แท วอน) และประธานคนปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 1990 เพื่อนำไปใช้ซื้อบริษัทในเครือ จนกระทั่งส่งผลในทางอ้อมต่อการประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจของหนึ่งในตระกูลแชโบลอันทรงอิทธิพลของเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่า ณ จนถึงปี 2024 “Slush Fund” ที่ว่านี้ จะไม่มี “ผลการสอบสวน” ที่สามารถยืนยันถึงการมีอยู่ของมันมาตั้งแต่เริ่มมีการสอบสวนเพื่อเอาผิดอดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับ ตั้งแต่ปี 1995 ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ทรัพย์สินที่ได้มาจึงไม่ได้เป็นทรัพย์สินเฉพาะเจาะจง หรือเป็นมรดกตกทอดที่ได้รับมาจากครอบครัว แต่เป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างการแต่งงาน และถือเป็นทรัพย์สินร่วมกันของคู่สมรส2. ศาลให้คำสำคัญกับประเด็นที่ว่า “ชเว แท วอน” ไม่ได้แสดงความสำนึกอย่างจริงใจต่อพฤติกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์ต่ออดีตภรรยา อีกทั้งยังแสดงทัศนคติที่ไม่ให้ความเคารพต่อคู่สมรสอีกด้วย โดยหลักฐานที่มีน้ำหนัก ซึ่งถูกนำมาใช้พิจารณาในประเด็นนี้ คือ จำนวนการโอนเงินรวมมากกว่า 21,900 ล้านวอน (58 ล้านบาท) ระหว่างปี 2015-2019 ที่ประธาน SK Group มอบให้กับ “ชู้รักและลูกนอกสมรส” จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “สินสมรสลดลง” รวมไปจนกระทั่งถึงการที่ “ชเว แท วอน” ได้สั่งระงับทั้งการใช้บัตรเครดิต รวมถึงตัดการช่วยเหลือค่าครองชีพต่างๆ ของอดีตภรรยาทั้งหมดมาตั้งแต่ ก.พ. ปี 2019 ด้วยยิ่งไปกว่านั้น ลูกสาวคนโตและคนรอง ยังได้ให้การต่อศาลอีกด้วยว่า ผู้เป็นบิดาเป็นคนที่ไม่มีความจริงใจ จากการที่ไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง และมักชอบหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบอยู่เสมอๆผลกระทบหลังคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ทรัพย์สินรวมของทั้งประธาน SK Group และอดีตภรรยา มีมูลค่ารวมกัน 4 ล้านล้านวอน (106,312 ล้านบาท) และตัดสินแบ่งให้กับ “ชเว แท วอน” ในสัดส่วน 65% และแบ่งให้กับ “โน โซ ยอง” ในสัดส่วน 35% แต่แม้กระนั้น ยังคงเป็นที่น่าสังเกตว่า ทรัพย์สินที่แม้จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 1.38 ล้านล้านวอน ซึ่งถูกแบ่งให้กับอดีตภรรยานั้น ไม่ได้ถูกตัดสินให้เป็น “หุ้นของ SK Group” ตามที่ฝ่ายหญิงพยายามเรียกร้องมาตั้งแต่แรกแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีล่าสุด ทีมกฎหมายของประธาน ชเว แท วอน ได้ออกมายืนยันแล้วว่า จะยังต่อสู้คดีหย่าร้างแห่งศตวรรษนี้ ในขั้นตอนสุดท้ายที่ศาลฎีกาต่อไป แม้ว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาอีก 2-3 ปี ก็ตามSK Group ปี 2024 ตามรายงานข่าวของสื่อในประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า “ชเว แท วอน” มีอำนาจควบคุมบริษัทในเครือ SK Group จำนวนมาก ผ่านการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกองทุน SK Inc. ซึ่งเป็นกองทุนที่เข้าไปถือครองหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทในเครือต่ออีกที โดยปัจจุบัน (ปี 2024) “ชเว แท วอน” ถือหุ้นในกองทุน SK Inc. ในสัดส่วน 17.73% แต่หากนับรวมเข้ากับหุ้นที่สมาชิกในตระกูลและบรรดาผู้ให้การสนับสนุนถือครองแล้ว สัดส่วนการถือหุ้นที่ว่านี้จะอยู่ที่ประมาณ 25.87% ทางออกการแบ่งทรัพย์สิน หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาให้มีการแบ่งทรัพย์สินมูลค่า 1.38 ล้านล้านวอน หุ้น SK Inc. ดีดตัวเพิ่มขึ้นถึง 9% ทันที เนื่องจากบรรดานักวิเคราะห์ในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่เชื่อว่า “ผลลัพธ์” จากการหย่าร้างนี้ “ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมและบริหารจัดการได้” เนื่องจาก “ประธาน ชเว แท วอน” มีวิธีการที่หลากหลายสำหรับการหาเงินก้อนที่ว่านี้ มาแบ่งให้กับอดีตภรรยาตามคำพิพากษา ไม่ว่าจะเป็นทั้งรูปแบบการจ่ายเงินปันผล, การขายหุ้นบริษัทในเครือออกไปบางส่วน หรือแม้กระทั่งนำหุ้นบางส่วนไปใช้ค้ำประกันเงินกู้ เพื่อหา “เงินสด” มาให้กับอดีตภรรยา โดยไม่จำเป็นต้องกระทบต่ออำนาจการบริหาร SK Group ด้วยการขายหุ้นของ SK Inc. เพิ่มเติม เพราะมีรายงานว่า หากนับเฉพาะเพียงระหว่างปี 2022-2023 นั้น ประธาน SK Group ได้รับ “เงินปันผล” จากบริษัทในเครือ ที่เป็นตัวเลขรวมกันสูงถึง 200,000 ล้านวอน (5,315 ล้านบาท) เข้าไปแล้ว อิทธิพลของแชโบล การตัดสินของศาลอุทธรณ์ใน “คดีหย่าร้างแห่งศตวรรษนี้” ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของผผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีกว่า เศรษฐกิจของประเทศขึ้นอยู่กับอิทธิพลของ “กลุ่มแชโบล” ที่ฝังรากลึกมายาวนาน ดั่งจะเห็นได้จาก ปัญหาความบาดหมางในครอบครัว หรือ การหย่าร้างที่เกิดขึ้นในตระกูลแชโบลที่ผ่านมานั้น ในที่สุดแล้วมักจะจบลงด้วยการชดใช้เป็น “ตัวเงิน” มากกว่าที่จะให้มีการ “แบ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นให้กับคนนอกตระกูลแชโบล” จนกระทบต่อการถือครองอำนาจในการบริหารบริษัทในเครือ และอาจนำไปสู่การสร้างความสับสนวุ่นวายให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน กราฟิก : wimonrat jongjaipanitjarern