กูรูประเทศเกาหลี วิเคราะห์ คดี Burning Sun ชี้เป็นเรื่องเลวร้ายสุด เหมือน “แก๊งอาชญากร” ในวงการ K-POP กับปัญหา ความยุติธรรมที่บิดเบี้ยว ชื่อเสียง เส้นสาย เงิน และอำนาจ...

กลับมาพูดถึงอีกครั้ง สำหรับเรื่องราว "จองจุนยอง" หรือ “ซึงรี" อดีตสมาชิกวง Bigbang หลังจากสารคดีของ BBC มีการตีแผ่เบื้องหลังคดีอื้อฉาวของเขา และ ไอดอลคนอื่นๆ ที่ร่วมขบวนการกระทำการชั่วร้าย แอบถ่ายคลิปการล่วงละเมิดทางเพศ ภายในผับหรู Burning Sun ในย่านกังนัม ซึ่งเขาเป็นหุ้นส่วน ตั้งแต่ปี 2018 

การเปิดเผยเหตุเรื่องโสมมนี้ มาจากชายคนหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่และผู้จัดการผับ Burning Sun รุมทำร้ายร่างกาย เพราะเขาได้พยายามเข้าไปช่วยหญิงสาว ที่กำลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมา คือการโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม แต่กระนั้น เขาก็ยังให้ ข้อมูลที่สำคัญว่าผับดังกล่าวเป็นจุดศูนย์รวมที่เต็มไปด้วยการค้าประเวณี ยาเสพติด 

เมื่อเป็นข่าว สื่อได้ตามจับจ้อง กระทั่งนำไปสู่ความจริงแสนดำมืด และพบว่ามีการล่วงละเมิดหญิงสาว นับ 10 คน แอบถ่ายคลิปอนาจาร มอมเหล้า มอมยาหญิงสาว และกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ มิหนำซ้ำ ยังส่งต่อเหยื่อเหล่านั้นให้กับกลุ่ม VIP ย่ำยี นอกจากนี้ เมื่อเปิดแชตลับ ที่กลุ่มไอดอลคุยกัน ยังเปรียบเทียบหญิงสาวดังเช่น ขยะ แลกเปลี่ยนคลิปกันอย่างสนุกสนาน ขณะที่ กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการกับเหล่าศิลปินไอดอลเหล่านี้ก็ถูกตั้งคำถาม (อ่านเบื้องหลังฉบับเต็มแบบ Storytelling คัง คยอง ยุน ผู้ทำลาย Burning Sun Scandal

...

มุมมืด “สังคมเกาหลี” กับความเลวร้ายของคดี Burning Sun

ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า กรณี “ซึงรี” นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โดยมากที่เกิดขึ้นกับวงการ K-POP นั้น จะมีลักษณะ “ค่ายเพลง” มีอำนาจเหนือศิลปิน ฉะนั้น ศิลปิน จะไม่ค่อยกล้าทำอะไรผิด หรือ สุ่มเสี่ยงต่อค่ายนำไปสู่การเสียชื่อเสียง เพราะ “ค่าย” จะลงโทษ หรือ แบนนักร้อง คนนั้นทันที ยกเว้น กรณี “ศิลปิน” คนนั้นเบอร์ใหญ่ ค่ายต้องตามง้อ...แต่สุดท้าย ก็จะไม่ได้ทำอะไรที่เป็น “ปรากฏการณ์” แบบนี้ 

Bigbang ถือเป็นบอยแบนด์ มีอำนาจเยอะมาก มีจุดขาย และรายได้หลักของค่ายอยู่ช่วงหนึ่ง ฉะนั้น เมื่อ “ซึงรี” เป็นข่าวฉาว หุ้นบริษัทถึงกับได้รับผลกระทบอย่างหนัก และหุ้นตก 10-20% และนี่เองเป็นที่มาว่าเพราะอะไร ทางค่ายจึงให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และในภายหลัง จึงถูกให้ออก...  

ดร.ไพบูลย์ กล่าวว่า ตอนที่เกิดเรื่อง “ซึงรี” อยู่ในช่วงเกณฑ์ทหาร ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ทราบว่ามีการวิ่งเต้นกันหรือไม่ ทำให้สุดท้ายแล้ว จากคดีหนักๆ มากมาย หลายคดี กลายเป็นว่า มีการตัดสินลงโทษจำคุกเพียง 3 ปี และวันดีคืนดีอัยการทหาร ก็เรียกไปคุยและบอกว่า “ให้รับเถอะ” เดี๋ยวลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง กลายเป็นว่า เขาติดคุกแค่เพียง 1 ปี 6 เดือน ล่าสุด พ้นโทษออกมาแล้ว...

ประเด็นที่นำไปสู่การลงโทษนั้น มาจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ที่กระทำกับเหยื่อ ถึงแม้บางคนจะเต็มใจเข้าหาไอดอล คนที่ชื่นชอบ อยากได้อ้อมกอด หรือหอมจากศิลปินที่ตัวเองรัก แต่...ถามว่าเขาอยากมีเพศสัมพันธ์ด้วยไหม ถ้าเขาไม่อยาก ก็ถือว่าเป็นการละเมิด ที่สำคัญ คือ สิ่งที่คุณทำนั้น มีการแอบถ่าย เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีการมอมเมาส่งต่อไปให้แขกวีไอพี 

“การกระทำดังกล่าว ถือว่าเป็นการใช้ช่องทางที่ตัวเองเป็นไอดอล เอาสาวๆ สวยๆ มาเสิร์ฟให้ และที่สำคัญคือ หากไม่มีหลักฐานชัดเจนขนาดนี้ ศาลทหารเกาหลีอาจจะไม่ลงดาบ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ ที่มีบางคนพยายามช่วยเหลือเขาและพรรคพวก” 

ดร.ไพบูลย์ อธิบายเพิ่มว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการบันเทิงเกาหลี โดยมาก จะมาจากความผิดบุคคลต่อบุคคล หรือจากงานเลี้ยงต่างๆ แล้วเกิดการกระทำผิด แต่ สำหรับเคสนี้ เหมือนเป็นการทำเป็น “ขบวนการ” ลักษณะเป็นแก๊งอาชญากรรม นอกจากนี้ ยังมี “เงินสนับสนุน” ที่มาจากต่างประเทศ 

...

“ความรุนแรงมันมาก ไม่ใช่ว่า “ผู้ชาย” คนหนึ่ง หลอกผู้หญิงคนหนึ่งไปทำอนาจารแล้วก็จบ แต่ “กลุ่มศิลปิน” เหล่านี้ ที่ไม่ได้มีแค่ “ซึงรี” คนเดียว มีคนอื่นๆ ที่เรียกว่าเป็นตัวตึงของวงการ ซึ่งจะเรียกว่ามุมมืด หรือ ยากูซ่าของวงการบันเทิงเกาหลีก็ได้ เพราะมี “เงิน” และ “ชื่อเสียง” รวมตัวกันเป็น “แก๊ง” ซึ่งเรื่องนี้รัฐต้องเร่งจัดการ ขณะที่ค่ายเพลง เขาก็ไม่อยากให้มีแบบนี้ เพราะหากพวกเบอร์ใหญ่รวมตัวกัน มันสามารถสร้างการต่อรองได้”

ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน
ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน

“ซึงรี” กับเส้นทางหากินใหม่ มุ่งอาเซียน แทนบ้านเกิด 

ภาพรวมของสังคมเกาหลีนั้น ยังคงมี ปัญหาเรื่อง “ชายเป็นใหญ่” อยู่ จะเรียกว่า “อำนาจนิยม” ยังอยู่ฝ่ายชาย ซึ่งในภาพรวมของสังคม ก็ยังแตกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ผิดแน่ๆ 2.คุณไปหาเขาเอง? เรื่องแบบนี้ยังมีให้เห็น 

...

“เขาทำถึงขนาดนี้ แต่เขายังเดินสายไปนู่นทำนี่ได้ แปลว่า คนที่ยังให้การสนับสนุนซึงรี เวลานี้ อาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือ เคยได้ผลประโยชน์ ตอนที่เขายังรุ่งโรจน์อยู่  และจากข่าวที่เผยแพร่มาตลอด ก็พบว่า มีความพยายามในการปิดเรื่องนี้ แปลว่า มีคนแบ็กอัปให้ แต่สุดท้ายมันปิดไม่อยู่” ดร.ไพบูลย์กล่าว 

กูรูประเทศเกาหลีใต้ เชื่อว่า เวลานี้ “ซึงรี” ไม่กล้าทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง ในประเทศตัวเองแล้ว ฉะนั้น เขาจึงเลือกเดินสายไปต่างประเทศ และที่สำคัญ คือ บางประเทศ เขาก็สามารถแยกเรื่องส่วนตัว กับผลงาน ออกจากกัน บางคนมองว่าเขาโดนลงโทษไปแล้ว และยังชื่นชอบในผลงาน ก็อาจจะสนับสนุน นอกจากนี้ เขาเองก็พยายามทำตัวให้เป็นข่าว เพราะ “ข่าว” หมายถึงโอกาสที่จะหาเงิน ขณะเดียวกัน ในประเทศตัวเอง เชื่อว่าแฟนคลับ 70-80% คงหมดศรัทธาไปแล้ว จึงต้องไปหาลูกค้าในแถบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้ เพื่อหาแฟนด้อมที่เหลือ.. 

นิติรัฐ กับความยุติธรรม ที่รอเวลาของเกาหลีใต้ 

กูรูเกาหลี ชี้ว่า ในเชิงกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมนั้น เกาหลีใต้ ถือว่ามีความเป็น “นิติรัฐ” ค่อนข้างสูง หมายความว่า “คนทำผิด” ต้องโดนลงโทษ ถึงแม้ว่าจะมีตำรวจเลว ตำรวจรับเงินคอร์รัปชัน อย่างที่เราเห็นในหนัง แต่สุดท้ายก็จะถูกลงโทษ โดยมีเงื่อนของเวลามาเกี่ยวข้อง 

...

แม้ประเทศเขา จะดำเนินนโยบายกฎหมายเป็นใหญ่ แบบตะวันตก แต่รากฐานความเชื่อ ศาสนาเขายังเป็นแบบตะวันออก ประเทศเกาหลีมีความนับถือต่อ ลัทธิเต๋า โดยเฉพาะ “ขงจื๊อ” และ รากความเชื่อของขงจื๊อ จะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ เช่น พ่อแม่พี่น้อง รุ่นพี่รุ่นน้อง เพื่อนกับเพื่อน สามีกับภรรยา และหากสังเกตดีๆ มีจำนวนไม่น้อย ที่เมื่อนักการเมืองเกาหลี ลงจากอำนาจแล้ว ก็มักก่อเหตุทำร้ายตัวเอง จนเสียชีวิต หรือ แม้แต่ถูกตั้งข้อหา ติดคุกติดตาราง ยกตัวอย่าง กรณี ประธานาธิบดีบางคน ถึงแม้ไม่ได้ทำผิดกฎหมายโดยตรง แต่คนรอบข้างกระทำผิด โดยใช้อำนาจที่ได้มาจากความสัมพันธ์ที่มีกับประธานาธิบดี เช่น ภรรยา ใช้อำนาจ จากการหลังบ้าน ปธน. แล้วให้น้องชายตัวเองไปรับเงินจากกลุ่มแชโบล ซึ่งถามว่า ปธน. รู้ไหม ก็คิดว่าน่าจะรู้ หรือ มารู้ภายหลังก็ตาม 

“ในระหว่างที่อยู่ในอำนาจ คนกลุ่มนี้ก็มักจะไม่โดนอะไร แต่เมื่อลงจากอำนาจเมื่อไหร่ เจอตามสืบ ตามสอบ ก็จะโดนดำเนินคดี คนใดคนหนึ่ง ไม่พี่น้อง ก็ญาติ หรือตัว ปธน. เอง” 

นี่เองคือมิติความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ในการช่วยเหลือกัน แม้ที่ผ่านมา จะพยายามบอกว่า “เกาหลีใต้” ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน แต่ความเป็นจริง คือ เส้นสาย การช่วยเหลือกันในส่วนบุคคล ก็ยังมีให้เห็น คล้ายกับประเทศไทย แต่ดีกรีบางกว่า เขาไม่ได้ทำแบบประเจิดประเจ้อ เหมือนกับของเรา และของเราทำกันจนเป็นเรื่องที่รับกันได้แล้ว” 

แนวคิดเปลี่ยน K-POP ที่เปลี่ยนไป จาก Born to be สู่การ เดบิวต์  

กูรูประเทศเกาหลีใต้ เผยว่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีมีความเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ “แฟนด้อม” ที่เป็นแฟนๆ K-POP ก็มีทัศนคติเปลี่ยนไป เมื่อก่อนผู้หญิงจะชอบแต่บอยแบนด์เท่านั้น แต่ปัจจุบัน แม้จะเป็นวงผู้หญิง ผู้หญิงก็ให้การสนับสนุน 

เมื่อก่อน เรามี ดงบังชินกิ ซุปเปอร์จูเนียร์ บิ๊กแบง จนมาถึง BTS ซึ่งเราจะเห็นว่ากลุ่ม เกิร์ลกรุ๊ป ไม่ได้เกิดเท่าไร กระทั่งในยุคหลัง กลุ่มผู้หญิงจะโดดเด่นมากขึ้น และผู้หญิงให้การยอมรับมากขึ้น 

สมัยบิ๊กแบง เรียกว่าเป็นยุค K-POP 2.0 ตอนนั้นเขาจะปั้นในลักษณะ Born to be เรียกว่ามีแววอยู่ก่อน แล้วค่อยนำมาหาแนวทาง รวมวง 

แต่ปัจจุบัน K-POP 4.0 คือ สร้าง เจียระไน ขึ้นมา จับมาฝึกตั้งแต่เล็ก เช่น หาเด็กๆ ในไทย เวียดนาม มารวมกับเด็กสาวเกาหลี เซ็นสัญญานานๆ สอนทุกสเตปใหม่ ดังนั้น มันคือการลงทุน และคุมเข้ม ทุกอย่างในชีวิตจะถูกจัดการให้ ดังนั้น โอกาสที่คุณจะแตกแถวจึงยากมาก เพราะเขาจะถูกมอนิเตอร์ตลอด ภายใต้ระบบพี่เลี้ยง 

“แตกต่างจากยุค บิ๊กแบง ศิลปินยุคนั้นมีอิสระมากกว่า รุ่นใหญ่ ที่ต้นสังกัดควบคุมอะไรไม่ได้แล้ว ดังนั้น เทรนด์ในยุคนี้จึงมุ่งไปทาง เดบิวต์ มากกว่า” ประธานศูนย์เกาหลีศึกษาฯ มธ. กล่าว 

อ่านบทความที่น่าสนใจ