การพูดถึงระบบการเมือง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในภาพรวม มักถูกมองไว้ก่อนว่าเป็นคอมมิวนิสต์เผด็จการ ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเสรีประชาธิปไตย ที่ประเทศส่วนใหญ่อุ้มชู

อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ถือเป็นเพียงมรดกตกทอดมาจากยุคสงครามเย็นเมื่อกว่า 3 ทศวรรษก่อน ที่มีการกำหนดเรื่องราวจับทาสีให้เป็นดำและขาว ฝ่ายหนึ่งคือพระเอกฝ่ายหนึ่งคือผู้ร้าย ไม่ได้มองว่าจีนในวันนั้นกับจีนในวันนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ชูหลักการ “ปฏิรูปและเปิดกว้าง” จนมาถึงยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ชูหลักการ “ความเป็นจีน”

ด้วยเหตุนี้การจะเข้าใจสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มากขึ้น จึงควรมีการปรับมุมมองกันใหม่ว่า คอมมิวนิสต์จีนที่ว่านี้ ไม่ใช่การปกครองในแบบมาร์คซิส-เลนิน แต่คือชื่อของ “พรรค” ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารประเทศ และเหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ผู้นำมีหน้าที่ในการกำหนดทิศทางที่ประเทศกำลังจะมุ่งไป

ในยุคของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ประสบความสำเร็จในยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้มาตรฐาน ตามเป้าหมาย 100 ปีขั้นแรกไปแล้ว มีแผนการชัดเจนในการสร้าง “ความเป็นจีน” ยุคใหม่ ภายใต้หลักการสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือ “โมเดลแบบจีน” หรือ China Model ซึ่งหมายถึงการสร้างตัวอย่างให้โลกเห็นว่า คนเราไม่ได้มีทางเลือกเพียงทางเดียว และจีนขอเสนอตัวเป็นทางเลือกให้แก่ประเทศต่างๆ สร้างชะตากรรมร่วมกันเพื่อฝ่าฟันบททดสอบและอุปสรรคต่างๆ ของศตวรรษที่ 21

โมเดลแบบจีนเป็นกระบวนการความคิดที่เกิดขึ้นจากมุมมองว่า จีนเคยมีความยิ่งใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) คิดเป็นสัดส่วน 30% ของโลก แต่สุดท้ายต้องมาพ่ายแพ้แก่อำนาจและอิทธิพลของต่างชาติ ที่ทำให้สัดส่วนจีดีพีดังกล่าวลดเหลือไม่ถึง 5% ในช่วงเวลาของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุคของประธานประเทศเหมา เจ๋อตง ดังนั้นการจะนำจีนกลับไปสู่จุดนั้น คือสิ่งที่ควรจะเป็น และการเรียกจีนว่าเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ คงไม่ถูกต้องเท่าไรนัก และควรจะเรียกกันว่า เศรษฐกิจกลับมาเกิดใหม่

ภายใต้กรอบโมเดลแบบจีน ยังมีใจความสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ดำเนินรอยตามกันมานั้น เป็นระบบที่สมบูรณ์จริงหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้วย่อมอยู่ภายใต้ตัวละครที่มีสิทธิขาดในการคัดค้านวีโต้ 3 กลุ่มคือ กลุ่มทางการเมือง กลุ่มล็อบบี้ยิสต์ และกลุ่มที่มีผลประโยชน์ ขณะที่โมเดลแบบจีนพยายามที่จะหยิบยื่นสิ่งที่จำเป็นแก่ชาติบ้านเมืองคือ การส่งเสริมความมีสมดุลทางสังคม ด้วยศูนย์กลางการเมืองเพียงหนึ่งเดียวที่มีความเสถียรภาพ ระบบความคิดการทำงานที่พร้อมจะแก้ปัญหา ความหลากหลายในการดำเนินนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม และการตอบสนองต่อความต้องการของคนส่วนใหญ่

การสร้างความเป็นจีนยุคใหม่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังควบคู่ด้วยหลักการสำคัญประการต่อมานั่นคือ “ความฝันแบบจีน” หรือ China Dream อันหมายถึงแผนการฟื้นคืนจีนให้กลับเป็นดั่งยุคทอง สั่งสมความมั่งคั่ง พัฒนาศักยภาพทางความมั่นคง ผลักดันการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และวางตำแหน่งของจีนอย่างเหมาะสมในระเบียบโลก

ซึ่งการจะบรรลุความฝันแบบจีนได้นั้น จำเป็นต้องมีของ 3 สิ่ง ประกอบด้วยรากฐานการเมืองที่มั่นคงภายใต้การบริการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน การพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้เจริญรุ่งเรือง และการพาตัวเองเข้าไปมีบทบาทสำคัญในเวทีประชาคมโลก ขณะที่รัฐบาลจีนกำลังแสดงให้โลกเห็นแล้วว่า จีนมีความมั่นใจในสองสิ่งแรก และอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อทำให้สิ่งที่สามประสบความสำเร็จ

โมเดลแบบจีนและความฝันแบบจีน กำลังมีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆสำหรับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความตึงเครียด และความพยายามในการรักษาอำนาจของขั้วอิทธิพลเก่า เพราะ ณ เพลานี้จีนถือเป็น “ทางเลือก” ที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป การเข้าไปลงทุนของจีนในแอฟริกาและลาตินอเมริกา ได้ส่งผลให้จีนกลายเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเบอร์หนึ่งแก่ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเหล่านั้น ขณะที่ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย(AIIB) กลายเป็นทางเลือกในการเข้าถึงเงินทุนที่น่าดึงดูด เหมือนกับที่ธนาคารโลกเวิลด์ แบงก์ และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)เคยทำมาในอดีต

เช่นเดียวกับ “โครงการแถบและเส้นทาง” (BRI) เส้นทางสายไหมยุคใหม่ที่เชื่อมโยงทวีปยูเรเชียและมหาสมุทรอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน ไปจนถึงการแสดงจุดยืนทางด้านสันติภาพ การเจรจากับกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานที่ใครๆก็หมางเมิน การเสนอแนวทางเจรจาเพื่อนำไปสู่การหยุดยิงระหว่างยูเครน-รัสเซีย หรือการพยายามเข้ามีส่วนร่วมในการลดความตึงเครียดสถานการณ์การสู้รบในภูมิภาคตะวันออกกลาง

แต่แน่นอนสิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับกลุ่มที่มีความรู้สึกสูญเสียอิทธิพลที่เคยมีมา และพยายามขับเคลื่อนเดิมเกมการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งรัฐบาลจีนใช้สูตรแข็งอ่อนรวมประสาน หวังยื่นไมตรีแต่ก็ไม่ยอมถอยในเรื่องที่ไม่สามารถรับได้ อย่างการดำเนินนโยบาย “จีนเดียว” เพื่อรักษาความเป็นปึกแผ่น ป้องปรามความพยายามแบ่งแยกดินแดน เหมือนที่อาณาจักรจีนเคยบอบช้ำมาเมื่อในอดีต

ณ วันนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนเลือกแล้วที่จะใช้การค้าเป็นหนทางในการรักษาสันติภาพและการสร้างเสถียรภาพแก่ระเบียบโลก แทนที่จะเลือกใช้การขยายอิทธิพลด้วยกำลังทางทหาร จีนเสนอหนทางกับคู่เจรจา เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ในสภาพ “วิน-วิน” ชนะด้วยกันทั้งคู่ จีนเสนอการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจที่ไม่อยู่ใต้พันธนาการของใครและมีรูปแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน มีความเคารพต่อกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน

ประเทศหุ้นส่วนได้รับชัยชนะ จีนก็ได้รับชัยชนะไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้คือผลพวงจากหลักการความเป็นจีนของรัฐบาลจีนยุคใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์การเมืองและแนวคิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง