มนต์รักนักพากย์ road movie ที่ว่าด้วย เรื่องรัก เมื่อเรายังเล็ก การเติบโตและความเปลี่ยนแปลง...
จะไปเป็น "คู่" หรือ "หมู่คณะ" นั่นคงไม่ใช่หัวใจสำคัญของ "road movie" ลักษณะแนวทางหนึ่งของเนื้อหา ที่เรามักจะได้เห็นและดูอยู่ทุกๆ ปี ไม่มีขาด (เหมือน underdog และ coming-of-age)
เช่นนี้แล้ว มานิตย์และลูกทีม (รับบทโดย ศุกลวัฒน์ คณารศ, สามารถ พยัคฆ์อรุณ และ จิรายุ ละอองมณี) กลุ่มนักพากย์หนังที่เดินทางไปกับรถเร่ขายยาในยุค 70s (ในหนังระบุปี 2513) ที่มี แข (หนึ่งธิดา โสภณ) เป็นผู้ร่วมทาง ใน "มนต์รักนักพากย์" จึงน่าสนใจว่า เขาและเธอ จะเติบโตทางชีวิตและความคิด "ด้วยเหตุการณ์อะไร"
จากตำบลนี้ไปอำเภอนั้น จากอยุธยา นครสวรรค์ ไปเพชรบูรณ์ เราได้เห็นว่า อาชีพ "นักพากย์สด หนังเร่ขายยา" ของทีมมานิตย์ ที่เคยราบรื่นมา... ค่อยๆ พบอุปสรรคสำคัญ
"อุปสรรค" ที่ว่าก็คือ นอกจากคู่แข่งที่มากับ "รูปลักษณ์" ทันสมัยกว่า ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม และอุปกรณ์การด้น - ยังมีเรื่อง "การมาถึง" ของ "หนังเสียง" ที่ไม่ต้องการการพากย์อีกแล้ว
...
สิ่งที่เคยบันเทิงเริงรมย์ ใน "ช่วงเวลาหนึ่ง" หรือ "เป็นที่นิยมมาก" ในยุคสมัยหนึ่ง ก็อาจตกกระแส ล้าสมัย อย่างรวดเร็ว โดยที่คนทำงานไม่ได้ "ลดทอนฝีมือ" ลง
เวลาเปลี่ยน - ความนิยมเปลี่ยน
แม้จะแสดงตัวตั้งแต่ชื่อเรื่องว่า เป็นเรื่องราวของนักพากย์ แต่หนังก็สะท้อนตำนาน "มิตร ชัยบัญชา" ที่เติบโตมากับหนังยุคนั้น ประเด็นหลักคือ การแสดงความรัก ผูกพัน ต่อคนพากย์หนังเร่ขายยา โดยแทรกวาง sub-plot ที่ความเป็นเพื่อนของทั้งสี่คน
ส่วนที่ดีที่สุด อยู่ที่ครึ่งเรื่องแรก บทกระชับ ข้อความที่ต้องการสื่อเคลื่อนไปข้างหน้า งานโปรดักชันรายละเอียด ทำออกมาได้ค่อนข้างดี การแสดงของตัวหลัก ก็เป็นที่พึ่งพาได้ (โดยเฉพาะ เวียร์) โดยปรกติ ตัวละครในหนังเดินทาง road movie มักมี "ปมหลัง แผลเก่า" ในอดีต ที่ส่งผลต่อชีวิตปัจจุบัน (บางคน เหินห่าง จับต้องยาก เรียกกันว่า คาแรกเตอร์ปิด)
ทว่า หนังมาด้อยลงไปในช่วงกลางเรื่อง ที่สวิตช์จากการพากย์ ไปเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน conflict ตรงนี้ ไม่น่าเชื่อถือ แม้จะเข้าใจได้ว่า หวังผล ที่ท้ายเรื่อง ปลายพล็อต
ต้นดี กลางด้อย... พอมาช่วงท้าย หนังกลับมาน่าสนใจและมีสีสันอีกครั้งหนึ่ง การผูก "ตำนานมิตร - ความเป็นเพื่อนของทีมมานิตย์ - และคารวะหนังพากย์" กลมกลืน ราบรื่น ไม่รู้สึกสะดุด เมื่อหนังจบ
ผมคิดเอาเองว่า การเลือกนักแสดง "ศุกลวัฒน์ - สามารถ - จิรายุ" คือการตลาดที่เจาะกลุ่มคนดูต่างๆ ทั้ง rural urban และ city
...
เหมือนที่คิดเองอีกแหละว่า การที่ "นนทรีย์ นิมิบุตร" ให้ เวียร์ "ใส่แว่น ติดหนวด" ก็ต้องการ "แทนค่าความหมาย" ว่าเขา ก็คือ "มิตร ชัยบัญชา" ในวงการนักพากย์ (อย่างน้อย เหตุสนับสนุนก็คือ เวียร์ บอกมิตรว่า เขาพากย์เสียง มิตร มาตลอด)
เช่นนี้แล้ว, "การตายของมิตร" จึงมีความเป็นได้มากว่า "นนทรีย์ นิมิบุตร" ต้องการสื่อถึง "การจบสิ้นของยุคสมัยหนังพากย์เร่ขายยา" ในทำนองเดียวกัน...
เหมือนครั้งหนึ่ง ที่ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน เคยทำ Boogie Nights ในปี 1997 แล้วใช้ยุคเพลงบูกี้ จบชีวิตตัวเอง ด้วยการเข้ามาของ "เพลงดิสโก้" ในยุค 80s
หรือวง The Eagles ใช้ "การ solo ยาวๆ ปิดเพลง Hotel California" เพื่อบ่งบอกถึงการหมดยุคสมัยของเพลงฮาร์ดร็อก
ผู้คนไม่มีเวลาละเมียดละไมโรแมนติก (cherish) มานั่งดื่มด่ำ การฟัง solo อะไรอีก....
...
นนทรีย์ นิมิบุตร เป็น 1 ใน 4 คลื่นลูกใหม่ของวงการหนังไทยช่วงปลายทศวรรษที่ 90 ซึ่งหลายปีจากตรงนั้น ยังมีชื่อ จิระ มะลิกุล, เป็นเอก รัตนเรือง และ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
มีทั้งหนังดี ไม่ดีบ้าง เป็นเรื่องปรกติ แต่ก็มีหลายอย่างที่สร้างมาตรฐาน ให้วงการหนังไทย
"เดอะ อุ๋ย" คารวะคนพากย์หนังในอดีต บางที ในอนาคต คนดูไม่ควรลืม ชื่นชมขอบคุณ 4 ฟิล์มเมกเกอร์ ที่เรากล่าวถึง.
...
อ่านบทความ "นันทขว้าง สิรสุนทร" เพิ่มเติม :