Zom 100 : ความฝันที่อยากให้กลายเป็นจริงของเหล่า Salaryman และ 3 สิ่งต้องรู้ก่อนกลายเป็นมนุษย์เงินเดือน...

"อาจารย์ฮะโระ อาโซะ" (Haro Aso) และ "อาจารย์ทาคาตะ โคทาโร" (Takata Kotaro) ผู้รังสรรค์อนิเมะและมังงะ “100 สิ่งที่อยากทำก่อนจะกลายเป็นซอมบี้” (Zom 100 Buckets List of the Dead) หรือ “Zom 100” ซึ่งกำลังเรียกความสนใจจากบรรดาผู้คนทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่โลกตะวันตก ได้บอกเล่ากับสื่อถึง Concept มังงะชื่อยาวเรื่องนี้ ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงนิตยสาร Monthly Sunday Gene-X ของสำนักพิมพ์ Shogakukan ตั้งแต่ปี 2018 เอาไว้ว่า...

“มันคือการแสดงความเห็นต่อสภาพสังคมญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันที่ว่า ผู้คนไม่สามารถทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ ที่นี่เต็มไปด้วย เหล่าซอมบี้”

แล้ว.... “ซอมบี้” ที่ “อาจารย์ฮะโระ อาโซะ” พยายามสื่อถึงนั้นคืออะไร? 

หาก “เรา” พิเคราะห์จากสิ่งที่ “เทนโด อากิระ” (Tendo Akira) ต้องเผชิญในแต่ละวัน มันคงตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่าเหล่า “ซอมบี้” ที่ว่านี้ก็คือเหล่า “มนุษย์เงินเดือน” (Salaryman) ของญี่ปุ่น ที่ว่ากันว่า...ทั้งต้องทำงานหนัก เลิกงานเกินเวลา ห้ามลา ห้ามขาด ห้ามสาย และตกอยู่ภายใต้ระบบอาวุโสในที่ทำงาน เพื่อรอวันที่จะทำให้...มนุษย์เงินเดือนคนต่อไปและต่อๆ ไป...ถือกำเนิดขึ้น! และเข้าสู่วัฏจักรที่ว่านี้...แบบวนลูปกันต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับ...การ “กัด” เพื่อเปลี่ยนคนให้กลายเป็นซอมบี้นั่นเอง!   

...

แล้ว “วัฒนธรรมมนุษย์เงินเดือนของญี่ปุ่น” มีหน้าตาเป็นอย่างไร? วันนี้ “เรา” ลองไปร่วมกัน “วิเคราะห์” ข้อมูลต่างๆ เพื่อเทียบเคียงกับสิ่งที่พยายามบอกเล่าใน “Zom 100” ทั้งเวอร์ชันมังงะ อนิเมะ และ Live Action กันดีกว่า! 

3 สิ่งต้องรู้ก่อนจะกลายเป็นมนุษย์เงินเดือน :

Salaryman : 

มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นนั้นแม้ในเบื้องต้นอาจไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ คือ เป็นผู้มีรายได้หลักจากค่าจ้างและรับคำสั่งจากบริษัทหรือระบบราชการ (กรณีของญี่ปุ่น กลุ่มที่รับเงินเดือนแต่ไม่ได้อยู่ในระบบธุรกิจหรือรัฐบาล เช่น ครู ผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าของร้านอาหาร ไม่ถือว่าเป็นมนุษย์เงินเดือน) 

หากแต่จุดที่มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่น แตกต่างจากประเทศอื่น คือ อุดมคติในเรื่องความทุ่มเทและอุทิศตัวเองให้กับบริษัทอย่างยิ่งยวด เรื่อยไปจนกระทั่งถึงจะต้องจัดลำดับความสำคัญของงานและนายจ้างเหนือสิ่งอื่นใด 

ซึ่งภาระผูกพันที่ว่านี้ ยังเลยเถิดไปถึงช่วงเวลาว่าง ที่จะต้องคำนึงถึงการเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงาน ที่อาจจะมากกว่าการให้เวลากับเพื่อนหรือครอบครัวเสียอีก ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มนุษย์เงินเดือนของญี่ปุ่น จึงมักตกอยู่ภายใต้ความเครียดและแรงกดดันที่สูงมากๆ ในการทำงาน 

ปัจจุบันคนในครอบครัวคนชั้นสูงและคนชั้นกลางโดยเฉพาะลูกชาย ยังคงถูกคาดหวังให้กลายเป็นมนุษย์เงินเดือนและผู้ที่พยายาม “ปฏิเสธ” วิถีชีวิตเช่นนี้มักถูกมองว่า “เป็นบุคคลที่ล้มเหลว”  

1. วัฒนธรรมการทำงานของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่น :

วันเริ่มงาน : 

1 เมษายนของทุกๆ ปี คือ วันเริ่มต้นการทำงานของเหล่ามนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่ รวมถึงจะมีการประกาศเลื่อนตำแหน่งหรือปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของบริษัทด้วย เนื่องจากเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณของบริษัทส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

เวลาทำงานเฉลี่ยของมนุษย์เงินเดือน : 

...

โดยปกติทำงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์ โดยเริ่มทำงานตั้งแต่ 09.00 น. - 17.00 น. หรือ 18.00 น. หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ดีเป็นที่ทราบกันดีว่า เหล่ามนุษย์เงินเดือนของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงต้องทำงานอยู่ในสำนักงานจนถึง 21.00 น. หรือ 22.00 น. เป็นอย่างน้อย! 

แล้ว...เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหนที่ “มนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่น” ต้องทำงานเกินเวลาในทุกๆ วัน เบื้องต้น “เรา” มีข้อมูลอัปเดตจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 15,000 คน จาก 94 อาชีพในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนของ DODA เว็บไซต์บริษัทจัดหางานชื่อดังของญี่ปุ่น ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมปี 2023 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในประเด็นนี้...

จากข้อมูลของ DODA ระบุว่า ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาเฉลี่ยในปี 2022 ของเหล่ามนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นอยู่ที่ 22.2 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งมากกว่าการสำรวจเมื่อปี 2021 ประมาณ 1.4 ชั่วโมง 

โดยอาชีพที่ต้องทำงานล่วงเวลามากที่สุดในปี 2022 คือ Producer, Director  Planner ของบริษัทสื่อรวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ โดย “ทำงานล่วงเวลา” เฉลี่ยถึง 37.1 ชั่วโมงต่อเดือน! สำหรับอาชีพที่ทำงานล่วงเวลาน้อยที่สุด คือ “เลขานุการและพนักงานต้อนรับ” ซึ่งทำงานล่วงเวลาเฉลี่ย 10 ชั่วโมงต่อเดือน!

...

2. ศัพท์มนุษย์เงินเดือนที่ควรรู้ :  

Nomikai : วัฒนธรรมดื่มสังสรรค์หลังเลิกงาน

หนึ่งในวัฒนธรรมของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่น นั่นคือ การออกไปดื่มและสังสรรค์กับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานหลังเลิกงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งโดยมากมีเป้าหมายสำคัญ คือ นอกจากทำให้ทีมเวิร์กภายในแผนกมีความแนบแน่นมากขึ้นแล้ว "ยังถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างคอนเน็กชันกับบรรดาระดับผู้บริหารภายในองค์กรด้วย" 

และถึงแม้ว่าวัฒนธรรมนี้จะไม่ถือเป็นการบังคับ หากแต่เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายข้างต้นแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่มนุษย์เงินเดือนคนไหนจะกล้าปฏิเสธโอกาสสำหรับความก้าวหน้าอย่างแน่นอน 

ถึงแม้ว่า...จะเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานอันยาวนานและอาจต้องเมามายอยู่ในงานเลี้ยงนี้จนดึกดื่น และต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงานในรุ่งขึ้นวนลูปไปแบบนี้เรื่อยๆ ก็ตาม

Nenkojooretsu : การเลื่อนขั้นโดยยึดหลักอาวุโส 

วัฒนธรรมการทำงานของบริษัทญี่ปุ่นถูกสร้างขึ้นจาก 2 เสาหลัก คือ 1. ระบบอาวุโส (Nenkojooretsu)  และ 2. ระบบการจ้างงานตลอดชีวิต (Shuushinkoyoo) ซึ่งระบบนี้แม้ทำให้พนักงานในองค์กรมั่นใจได้ว่าจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หลังเข้าสู่กลางๆ ของอาชีพการทำงาน อีกทั้งจะทำให้พนักงานเกิดความมั่นใจด้วยว่าจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการปรับโครงสร้างในขณะที่ทำงานในองค์กร 

อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่ระบบดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับการที่องค์กรรับประกันอนาคตของพนักงานไว้ให้แล้ว พนักงานจึงต้องแสดงความภักดีต่อบริษัทด้วยการทุ่มเททำงานหนักหรืออาจทำงานล่วงเวลาโดยไม่เรียกร้องผลตอบแทนเพิ่ม รวมถึงต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทเป็นการตอบแทน 

...

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์เงินเดือนของญี่ปุ่นจึงมักประสบปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ จากความเครียดในการทำงาน และมักไม่สามารถสร้างจุดสมดุลระหว่างงานและครอบครัวได้ 

Madogiwa Zoku : ถูกโยกย้ายเข้ากรุ

Madogiwa Zoku หรือ "ชนเผ่าริมหน้าต่าง" หมายถึง เหล่าคนที่มีความสำคัญน้อยที่สุดจะนั่งโต๊ะทำงานรอบนอกที่อยู่ใกล้กับหน้าต่าง ซึ่งในทางปฏิบัติหมายความว่าคนเหล่านี้จะได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ไม่ค่อยมีความสลักสำคัญ หรือมีความรับผิดชอบมากนัก แต่ยังคงได้รับเงินเดือนต่อไป หรือหากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็หมายถึง “การถูกเด้งเข้ากรุ” นั่นเอง 

ทั้งนี้ บริษัทของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับบริษัทอื่นๆ อีกหลายสิบแห่งด้วยการถือหุ้นไขว้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจในระยะยาว

ดังนั้นบริษัทที่อยู่ส่วนบนสุดของพีระมิด จึงสามารถส่งคนระดับผู้จัดการที่ดูแล้วมีแววน้อยที่สุด หรือเคยทำงานผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย มาให้กับบริษัทในเครือที่อยู่ในระดับล่างๆ โดยที่ยังอยู่ในตำแหน่งเดิมและได้เงินเดือนเท่าเดิมได้ต่อไป หากแต่สิ่งที่หายไปคือ “อนาคตและความก้าวหน้า”

Koroshi : เสียชีวิตจากทำงานหนัก  

แม้จะไม่มีสถิติบ่งชี้อย่างชัดเจน แต่ในเบื้องต้นมีการประเมินเอาไว้ว่า น่าจะมีมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นเสียชีวิต จากการฆ่าตัวตาย, โรคหลอดเลือดสมอง, ความดันโลหิตสูง, หัวใจวาย และความเจ็บป่วยอื่นๆ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากทำงานหนัก ผักผ่อนไม่เพียงพอ ผสมกับความเครียดในการทำงาน "อย่างน้อย 10,000 คน ในทุกๆ ปี"

โดยกรณีตัวอย่างที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาอยู่เสมอๆ คือ คดีชายวัย 24 ปี ตัดสินใจกระทำอัตวินิบาตกรรม หลังต้องทนทรมานทำงานให้กับบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งเป็นเวลาถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์! และเป็นเหตุให้ทางครอบครัวตัดสินใจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเป็นเงินถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2000 

*** หมายเหตุ จากงานวิจัยของ University College London พบว่า คนที่ทำงานเฉลี่ยมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนที่ทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถึง 13% ส่วนความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสำหรับคนที่ทำงานหนักเกินไปนั้นจะสูงกว่าคนที่ทำงานปกติถึง 33% ***

Hikikomori : ทำงานหนักจนมีปัญหาสุขภาพจิต ปลีกตัวออกจากสังคม

มนุษย์เงินเดือน ถือเป็นกลุ่มคนที่มีความเครียดมากที่สุดในญี่ปุ่น โดยความเครียดสะสมเหล่านั้น มาจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ 1. ความเครียดในแต่ละวันจากการทำงานหนักและถูกกดดันจากหัวหน้า ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการอดนอน 

2. ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล เกี่ยวกับการถูกเลื่อนตำแหน่งหรือความเสี่ยงที่อาจจะต้องตกงาน การถูกปฏิเสธเงินบำนาญที่ถือเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับการทำงานหนัก และ 3. การสูญเสียสถานะและความเคารพ ซึ่งเชื่อมโยงกับการถูกปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งและถูกเลิกจ้าง

โดยปัจจุบันมีการประเมินว่า มีคนวัยทำงานในญี่ปุ่นประมาณ 1.5 ล้านคน ที่ประสบปัญหาความเครียดสะสม ภาวะซึมเศร้า รวมถึงแรงกดดันจากการทำงานและการเรียน

จนกระทั่งตัดสินใจปลีกตัวออกจากสังคมและหันไปใช้ชีวิตอยู่อย่าง "โดดเดี่ยว" ซึ่งในจำนวนนี้โดยมากมักเลือกกักตัวเองอยู่ภายในห้อง โดยไม่ยอมออกมานอกบ้านเพื่อพบปะกับผู้คน 

โดยจากผลการสำรวจล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า มากถึง 20% ในกลุ่มคนที่ตัดสินใจ “ปลีกตัวออกจากสังคม” คือ คนวัย 40-64 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจาก “ถูกให้ออกจากงาน”  

3. รายได้มนุษย์เงินเดือน : 

หากอ้างอิงจากเว็บไซต์ Salaryexplorer ค่าเฉลี่ยเงินเดือนในประเทศญี่ปุ่น ณ ปี 2023 อยู่ที่ 516,000 เยน (126,094 บาท) หรือ 6,200,000 เยน (1,515,083) ต่อปี 

สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด คือ อาชีพในวงการแพทย์และการดูแลสุขภาพ โดยจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 9,220,000 เยนต่อปี (2,253,075 บาท) โดยอาชีพในกลุ่มนี้ที่มีรายได้เฉลี่ยสูงสุด คือ “ทันตแพทย์” ซึ่งมีเงินเดือนเฉลี่ยประมาณ 1,290,000 เยน (315,235 บาท) หรือประมาณ 15,500,000 เยนต่อปี (3,787,708 บาท)

ขณะที่ อาชีพ Producer, Director, Planner ของบริษัทสื่อรวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งต้องทำงานล่วงเวลามากถึง 37.1 ชั่วโมงต่อเดือนนั้น ตามรายงานของ DODA นั้น DODA ระบุว่ามีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,918,000 เยนต่อปี (957,435 บาท) และมีรายได้เฉลี่ยจากโบนัสประมาณ 811,000 เยน (198,182 บาท)

*** หมายเหตุ Salaryexplorer ระบุว่าเป็นการคำนวณจากฐานเงินเดือนเฉลี่ยต่ำสุด 130,000 เยน (31,767 บาท) และเฉลี่ยสูงสุด 2,300,000 เยน (562,047 บาท) และคิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 11 ส.ค. 66 *** 

การพิจารณาขึ้นเงินเดือนของ Salaryman : 

โดยปกติพนักงานในบริษัทของญี่ปุ่น "จะถูกประเมินผลการทำงานทุกๆ 16 เดือน" ซึ่งผลการประเมินที่ว่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มเงินเดือนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้พนักงานที่มีประสบการณ์ยังคงอยู่กับบริษัทต่อไป อย่างไรก็ดีการขึ้นเงินเดือนจะมีความแตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรม 

แต่อย่างไรก็ดี ตามรายงานของ Salaryexplorer ระบุว่า ค่าเฉลี่ยการขึ้นเงินเดือนในญี่ปุ่นจะอยู่ที่ประมาณ 8% ทุกๆ 16 เดือน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ “สูงกว่า” ค่าเฉลี่ยรวมทั่วโลกซึ่งอยู่ที่เพียงประมาณ 3% ทุกๆ 16เดือนเท่านั้น! 

ส่วนฐานเงินเดือนของบริษัทในญี่ปุ่น ซึ่งมักอิงจากระดับประสบการณ์การทำงานเป็นหลัก โดยพนักงานที่มีประสบการณ์ 2-5 ปี ในทุกอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น จะมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าเด็กจบใหม่และพนักงานระดับเริ่มต้นถึง 32% ส่วนที่มีประสบการณ์มากกว่า 5 ปี มีแนวโน้มว่าจะมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าพวกที่มีระดับประสบการณ์น้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 36%  

และเมื่อทำงานเกิน 10 ปี เงินเดือนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 21% ขึ้นไป ขณะที่เมื่อทำงานเกินกว่า 15 ปีขึ้นไปแล้ว จะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยประมาณ 14%!

นอกจากนี้ ระดับการศึกษาก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการพิจารณาเรื่องฐานเงินเดือนด้วย โดยผู้ที่จบระดับมัธยมปลายมักจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนผู้ที่ได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพจะได้รับค่าจ้างมากกว่าคนที่จบระดับมัธยมปลายประมาณ 17%

ส่วนคนที่จบปริญญาตรี จะได้รับค่าจ้างมากกว่าคนที่ได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประมาณ 24% และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท จะมีรายได้สูงกว่าระดับปริญญาตรีประมาณ 29% ขณะที่ผู้ที่เรียนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก จะมีรายได้สูงกว่าระดับปริญญาโทประมาณ 23%

*** หมายเหตุ ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยล่าสุดของญี่ปุ่น ณ เดือนสิงหาคม ปี 2023 อยู่ที่ชั่วโมงละ 961 เยน (234 บาท) โดยกรุงโตเกียว มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดที่ ชั่วโมงละ 1,072 เยน (261 บาท) ***

เงินโบนัสฤดูร้อนและโบนัสฤดูหนาว :  

โดยปกติมนุษย์เงินเดือนของญี่ปุ่นจะได้รับ "โบนัสฤดูร้อนและโบนัสฤดูหนาว" ส่วนหากถามว่า ปัจจุบันตัวเลขโบนัสที่ว่านี้อยู่ที่ประมาณเท่าไร “เรา” ไปลองพิจารณาจากตัวเลขนี้กัน 

10 ส.ค. ที่ผ่านมา "สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น" หรือ "Keidanren" ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรธุรกิจชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น ได้ออกมาเปิดเผยว่า "โบนัสฤดูร้อน" ของบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นในปี 2023 มีตัวเลขเฉลี่ยสูงถึง 903,397 เยน (220,761 บาท) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี และเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในลำดับที่ 6 นับตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา

ส่วน "โบนัสฤดูหนาว" ซึ่ง Keidanren เพิ่งมีการสำรวจไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานั้น อยู่ที่ตัวเลขเฉลี่ย 894,179 เยน (218,509 บาท) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในลำดับที่ 3 นับตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมาเช่นกัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 

*** หมายเหตุ รายได้พื้นฐานที่ชาวญี่ปุ่นต้องเข้าสู่ระบบการเสียภาษี อยู่ที่ 162,500 เยน (39,709 บาท) ต่อเดือน หรือ 1,950,000 (476,518 บาท) ต่อปี *** 

ทรงผมและเครื่องแต่งกายของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่น : 

อ้างอิงจากเว็บไซต์ JapanBased ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นแก่คนต่างชาติ ได้มีคำแนะนำสำหรับชาวต่างชาติที่จะไปสอบสัมภาษณ์กับบริษัทของประเทศญี่ปุ่นเอาไว้ดังต่อไปนี้...

ทรงผม : ทั้งชายและหญิงไม่ควรย้อมสีผม ผู้ชายควรไว้ผมสั้น ส่วนผู้หญิงควรหวีหรือมัดผมให้เรียบร้อย

เสื้อผ้า : ควรสวมสูทสีเข้มทั่วไปไม่มีลวดลายหรือลายทาง และเสื้อเชิ้ตด้านในควรเป็นสีขาว สำหรับผู้หญิงหากสวมกระโปรงไม่ควรสั้นเกินไป สั้นที่สุดคือความยาวระดับพอดีเข่า และควรสวมถุงน่อง

รองเท้า : ผู้ชายควรสวมรองเท้าหนังขัดเงาสีดำหรือน้ำตาล ผู้หญิงควรสวมรองเท้าส้นสูงไม่เกิน 5-7 เซนติเมตร

การเกษียณของมนุษย์เงินเดือน : 

โดยทั่วไปพนักงานในญี่ปุ่นจะเกษียณ เมื่ออายุครบ 60 ปี อย่างไรก็ดีระบบบำนาญแห่งชาติและเงินสำรองเลี้ยงชีพสาธารณะของญี่ปุ่น จะเริ่มจ่ายเงินให้กับคนเหล่านั้น เมื่ออายุครบ 65 ปีเท่านั้น ทำให้ผู้ที่เพิ่งเกษียณอายุ มักนิยมออกไปหางานพาร์ตไทม์  

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง