"คริสโตเฟอร์ โนแลน" "วิธีเล่า" ที่โดดเด่นกว่า "เรื่องที่เล่า" สี จิตวิทยา และกลยุทธ์โจมตีใน Oppenheimer...

ถ้าจะมองการตลาดเกี่ยวกับ "สี" ก็ต้องบอกว่าช่วง 2-3 ปีมานี้ การใช้สีเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด กับทุกๆ อย่าง

ทิฟฟานี มากับ "สีฟ้า" โดยที่ แอร์เมสไปก่อนหน้าแล้วกับ "สีส้ม" ที่โดดเด้งและโดดเด่นคือ โบเตก้า มากับสีเขียวเข้ม และล่าสุด ปราด้าควงคู่มากับสีเขียวอ่อน

แต่ละแบรนด์ ต่างแยกใช้สี เพื่อบอก "สิ่งที่คิด" และ "ทางที่จะไป"....คริสโตเฟอร์ โนแลน ก็ไม่ใช่ "ข้อยกเว้น"

...

จะเห็นได้ว่าในภาพยนตร์หลายเรื่องของ โนแลน เขาจงใจเอาเรื่องของ "สี" มาเล่นงานคนดูหนัง การเล่นงานของโนแลน วางส่วนต่างๆ ไว้ชัดเจน และใน Oppenheimer "มีสีถึงสามแบบ"

หนึ่ง, สีที่เป็นสีธรรมชาติทั่วไป เช่น ไฟสีเหลืองแดงร้อนแรง และ สอง, สีขาวดำ อันเกิดจากการถ่ายทำด้วยฟิล์มขาวดำ (ในที่นี้คือฟิล์มโกดักขาวดำ) และ สาม, สีเขียวแห้งๆ ที่น่าจะเรียกว่า dry green ตรงข้ามกับ ดาเนียล ลี ที่ใช้ bright green (เพื่อความสนุก)

โนแลน เอาสีมาสลับเล่นในการเดินเรื่องหนัง oppenheimer เพื่อ "โจมตีจิตใจ" คนดู หนังทำให้ผู้ชมรู้สึกถูกกดทับ! หายใจไม่สะดวก สับสนอลหม่าน จากการนำเสนอมุมมองและความคิดของนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกา ที่เป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับนิวเคลียร์

สีธรรมชาติทั่วไปในหนัง, คือสี คือชีวิตมุมมอง ที่ ออฟเพน มองออกไปสู่คนอื่น ขณะที่สีขาวดำของฟิล์ม คือสีที่คนอื่นๆ มองมาที่ตัวเขา...ถ้าแบบนั้น-สีเขียวแห้งๆ คืออะไร ?

สีเขียวแห้งๆ ที่มักโผล่แทรกเป็นระยะๆ คือความหมายของ "จิตใจมนุษย์" โนแลน วิจารณ์ว่า ไม่ว่ามนุษย์จะมอง "กันและกัน" อย่างไร ต่างก็สิ้นหวังในความคิดและเจตนา ที่แสดงออกมา...แม้แต่ ออปเพนไฮเมอร์เอง...

ผมดูหนังของ โนแลน มาราวๆ 80% ของทั้งหมด ตั้งข้อสังเกตว่า แม้เนื้อหารวมๆ ในหนังเขาจะลึกล้ำ จนถึงขั้นสุดงง แต่ "วิธีเล่า" กลับโดดเด่นกว่า "เรื่องที่เล่า"

เพราะมันเต็มไปจิตวิทยา และเขามักจะโจมตีจิตใจคนดูในหนัง ด้วยหลายเทคนิคที่เตรียมมา อาทิเช่น สปีดหนังเร็วช้า, การตัดภาพแบบทันที รวมทั้งสี 

ฉะนั้น ไม่ว่า โนแลน จะเล่าเรื่องของใคร? ของ แบทแมน โจ๊กเกอร์ หรือ ออปเพนไฮเมอร์ หรือบุคคลอื่นๆ ในหนังเรื่องอื่น...ก็ยังมีวิญญาณของ โนแลน สิงสถิตอยู่เสมอๆ แล้วเหมือนจะไม่ออกจากร่างด้วย

...

คำว่า "protagonist" นั้น แปลว่า "ตัวเดินเรื่องหลัก" ในหนัง โดยปรกติ จะมีตัวเดียวคนเดียว แต่ในหนังของ "โนแลน" บางทีเขาก็แอบสร้างตัวเดินเรื่องตัวรอง-ให้มีความเด่นเทียบเคียงตัวหลัก

จุดประสงค์ คือ ต้องการเว้นระยะ ต้องการทำให้คนดู ไม่ผูกพันกับตัวละคร คนใดคนหนึ่งมากเกินไป แล้วก็เกิดความสับสน ระหว่างดูไปเรื่อยๆ ว่า ใครคือคนดีคนเลว

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คือวิธีการของผู้ชายชื่อ "คริสโตเฟอร์ โนแลน" และยังคงทำกับสินค้าที่ชื่อ "Oppenheimer"

บางคนเกลียด บางคนรัก หนังยาวสามชั่วโมงเรื่องนี้...เห็นไหม-ขนาดความรู้สึกคนดู...ยังสับสนแบ่งเป็นสองเลย พี่โนแลน!

หมายเหตุ : ขอแนะนำว่า ควรดูเรื่องนี้ด้วยระบบ ไอแมกซ์

อ่านบทความ นันทขว้าง สิรสุนทร เพิ่มเติม :

...