มาร่วมสัมผัสและดื่มด่ำไปกับ 3 เกม ที่จะสอนเหล่าเกมเมอร์ให้ร่วมกันเรียนรู้และต่อสู้ เพื่อให้โลกเป็นสีเขียว...

Intro : 

กลับมาพบกันอีกครั้งกับ "รายการรู้รอบเกม" นะครับ ผมเคยพูดไปหลายครั้งในหลายเวทีนะครับว่า นอกจากวิดีโอเกมจะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลแล้วเนี่ย มันยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกหลายหลากนะครับ หนึ่งในนั้น ก็คือมันเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ทรงพลังมากๆ และสามารถถูกนำไปใช้ในการบอกเล่าประเด็นต่างๆ ได้แยบคายมากกว่าการพูดคุยปกติทั่วไป เพราะฉะนั้นวันนี้ผมเลยนำเอาประเด็นที่น้อยคนจะสนใจ หรือทราบว่ามันมีอยู่ในวิดีโอเกมด้วยอย่างการรักษาสภาพแวดล้อมมาพูดคุยกัน ซึ่งก็คือธีมรักษ์โลกนั่นเองครับ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการปกปักษ์รักษาโลกของเราไว้ให้คนรุ่นต่อไป โดยจะนำเอาตัวอย่าง 3 เกมมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้เป็นเกมมือถือหนึ่งเกม เป็นเกมอินดี้หนึ่งเกม และเป็น "เกม AAA" หนึ่งเกม เชิญรับชมกันครับ

...

Reset Earth : 

ขออนุญาตเริ่มต้นกันด้วยเกมมือถือเกมนี้ที่มีชื่อว่า "Reset Earth" ครับ เป็นเกมที่เปิดให้เล่นมาตั้งแต่ปี 2020 โดยมันเป็นเกมที่ได้รับการสนับสนุนจาก UNEP หรือว่า United Nations Environment Programme ในการสร้าง โดยเจ้า UNEP เนี่ยถือว่าเป็นหน่วยงานส่วนหนึ่งของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ประสานงานกับรัฐหรือองค์กรต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของโลกเลย

โดยเกม Reset Earth ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการบอกเล่าเรื่องราวให้กับเด็กและเยาวชนถึงความสำคัญและความสำเร็จของการแก้ปัญหาด้านชั้นโอโซนของโลก หลังจากที่มีการประชุมกันที่กรุงเวียนนาเมื่อปี 1985 ว่าทุกประเทศจะเข้ามามีส่วนร่วมในการปกป้องชั้นบรรยากาศของโลกจากการถูกทำลาย โดยเป็นความร่วมมือทั้งในด้านการค้นคว้าวิจัย ประเมินสภาพชั้นบรรยากาศ แลกเปลี่ยนข้อมูล และยอมรับแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

ตัวเกมจะเกิดขึ้นในปี 2084 ชั้นบรรยากาศนั้นเสื่อมสลายไป จนเป็นเหตุให้โลกถูกปกคลุมด้วยชั้นหมอกควันหนาทึบ ทำให้มนุษย์ทุกคนจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 30 ปี เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย พร้อมกับมีโรคผิวหนังประหลาดที่มีชื่อว่า The Grow คอยคร่าชีวิตผู้คนที่เติบโตถึงวัยผู้ใหญ่ จนไม่มีใครมีอายุยืนยาวเพียงพอที่จะมาถ่ายทอดความรู้ได้ว่าเหตุใด โลกจึงตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ ทำให้เป็นหน้าที่ของกลุ่มเด็กวัยรุ่นตัวละครเอก 3 คน อย่าง Knox, Sagan, และ Terran ที่จะต้องเดินทางย้อนอดีต และสืบหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

รูปแบบของเกมเป็นแนว 2D Action Platform ตะลุยด่านด้านข้างครับ ค่อนข้างจะเรียกว่าเล่นง่ายเลย กราฟิกก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เป็นเหมือนรูปวาดในส่วนของเกมเพลย์ เท่าที่ผมลองเล่นมาเนี่ย เรียกว่าแทบจะไม่มีเกมโอเวอร์เลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าผู้เล่นจะพบกับอุปสรรคใดๆ เช่นกระโดดตกเหว เกมก็จะรีเซตให้มาที่เช็กพอยต์ล่าสุดซึ่งก็มักจะอยู่ใกล้มาก ความท้าทายของเกมจะมีก็ในส่วนของการเก็บ Collectable ต่างๆ เช่น พวกไฟล์เสียงที่จะคอยบอกเล่าเรื่องราวภายในอดีตก่อนที่โลกจะพบกับสภาวะวิกฤติว่ามันเกิดเหตุอะไรขึ้น ซึ่งก็จะถูกซ่อนเอาไว้อย่างแนบเนียนภายในฉาก ประกอบกับตัวละครหลัก 3 ตัวจะมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน และผู้เล่นสามารถสลับสับเปลี่ยนการควบคุมของพวกเขาได้ตลอดเวลาเพื่อใช้ความสามารถพิเศษของแต่ละคนให้เหมาะสมกับสถานการณ์

"กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" ครีเอเตอร์สายเกมไทยรัฐออนไลน์

...

ถึงแม้ตัวเกมจะมีกราฟิกที่จัดว่าธรรมดา แต่งานพากย์ถือว่าจัดมาค่อนข้างเต็มครับ คุณภาพเสียงดีมีคัตซีนให้ชมเป็นระยะๆ ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะว่าความต้องการที่แท้จริงของผู้สร้าง ก็คงไม่ได้อยากจะทำเกมที่มีความซับซ้อนสูงๆ หรือเล่นยากๆ แต่ตั้งใจให้เกมออกมาเป็นรูปแบบของเครื่องมือเสริมด้านการศึกษา และสื่อสารในประเด็นที่ต้องการให้แพร่หลายที่สุดมากกว่า เมื่อเราพิจารณาเป้าหมายของเกมในแง่นั้นก็คงต้องบอกว่าเกมมันตอบโจทย์ที่ผู้สร้างตั้งใจไว้ได้ แต่ก็คงไม่ได้ประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ ซึ่งก็ไม่เป็นไรครับ เพราะเกมเปิดให้ทุกคนเล่นฟรี ทั้งบนระบบ iOS และ Android ใครสนใจเกมนี้ไปโหลดมาเล่นได้เลยครับ

Alba: A Wildlife Adventure : 

เกมที่สองที่ผมจะยกมาพูดถึงในวันนี้ก็คือ Alba: A Wildlife Adventure วางจำหน่ายไปเมื่อปี 2020 เช่นกัน มันเป็นเกมแนว Open World ที่ให้ผู้เล่นเดินสำรวจและถ่ายภาพ โดยเรื่องราวของเกมคือเราจะได้เล่นเป็นเด็กสาวตัวน้อยชื่อ อัลบ้า ที่เดินทางมาเยี่ยมคุณปู่คุณย่าบนเกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และพบว่านายกเทศมนตรีของเมืองกำลังมีแผนการที่จะปรับเปลี่ยนเขตอุทยานให้กลายเป็นโรงแรม โดยมีจุดน่าสนใจคือ ชาวเมืองเสียงแตกว่าพวกเขาควรจะเห็นด้วยและสนับสนุนโครงการนี้ เพราะมันจะสร้างโอกาส สร้างงานสร้างอาชีพให้คนในเกาะ หรือพวกเขาควรจะปกปักษ์รักษาธรรมชาติดั้งเดิมเอาไว้ เราจึงต้องพยายามที่จะช่วยเหล่าสรรพสัตว์และชาวเมืองจากเหตุการณ์นี้ให้ได้

...

ด้านเกมเพลย์นั้นจะเป็นการที่ให้ผู้เล่นเดินสำรวจบนเกาะขนาดย่อมๆ และถ่ายรูปสิงสาราสัตว์ด้วยกล้องจากโทรศัพท์มือถือเพื่อเก็บสะสมไว้ในสมุดบันทึกและระบุว่าสัตว์เหล่านั้นเป็นตัวอะไรกันแน่ และยังมีสัตว์ปริศนาลับซ่อนอยู่บนเกาะ โดยสัตว์ที่เราเคยบันทึกข้อมูลลงไปแล้วก็จะสามารถมาดูรายละเอียดย้อนหลังหรือแม้แต่ฟังเสียงร้องของพวกมันได้ด้วย ซึ่งปริมาณสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เราสามารถเสาะหาหรือสะสมได้นั้น มีมากถึง 60 ชนิด นอกจากนี้เราก็ยังสามารถพูดคุยกับชาวเมือง เพราะว่าจะมี side quest หรือเกร็ดเนื้อเรื่องที่น่าสนใจ อย่างช่วยเก็บขยะเพื่อให้ทัศนะวิสัยของเกาะดีขึ้นได้ด้วย

ภาพของเกมค่อนข้างน่ารักครับ เป็นกราฟิกสามมิติแบบง่ายๆ ที่มีดนตรีเบาสบายคลอเบาๆ ไปเรื่อยๆ ไม่มีเสียงพากย์ แต่เสียงของสัตว์ต่างๆ และเสียงของธรรมชาติ ต่างถูกดีไซน์ออกมาได้ดีเยี่ยม ตัวเกมก็ไม่ยาวสามารถเล่นได้จบภายในรอบเดียวถ้าคุณมีเวลาสัก 2-3 ชั่วโมง แต่มันค่อนข้างให้ประสบการณ์ที่ผ่อนคลายมากๆ ถ้าคุณเบื่อการฆ่าฟันซึ่งพบเห็นได้ในเกมทั่วไป แล้วจะมานั่งเล่นเกมแบบนี้เพื่อฮีลจิตใจที่เครียดและเหนื่อยล้า ผมว่าก็ไม่เลวเหมือนกันนะครับ โดยรวมแล้วแน่นอนว่ามันก็เป็นอีกหนึ่งเกมที่ให้ข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับกับรักษาสภาพแวดล้อม และกระตุ้นให้เราทุกคนออกแรงมีส่วนร่วมในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมคิดว่ามันก็สร้างความอบอุ่นหัวใจได้ดีทีเดียว เหมาะสำหรับเล่นด้วยกันภายในครอบครัวหรือคนที่ไม่ใช่เกมเมอร์ เด็กๆ เองก็น่าจะชื่นชอบความสดใสของมันได้ไม่ยากด้วย คิดซะว่าเล่น Pokémon Snap เวอร์ชันไลต์ก็ได้ แต่สำหรับเกมเมอร์ที่มองหาความท้าทายหรือความเร้าใจแบบดุเดือดเลือดพล่านก็คงจะต้องข้ามไป และไปดูเกมสุดท้ายของวันนี้กัน นั่นก็คือ

...

Final Fantasy VII :

จริงๆ แล้วต้องบอกว่า FF7 เป็นเกมระดับตำนานที่ทุกคนรู้จักกันดีนะครับ วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 1997 บนเครื่อง PlayStation และเพิ่งจะมีการรีเมกไปล่าสุดเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมานี่เอง รูปแบบของเกมนั้นเป็น RPG ที่มีเนื้อเรื่องเข้มข้นครับ เราจะได้รับตัวเอกชื่อ คลาวด์ สไตรฟ์ ทหารหนุ่มผู้มีปมในหัวใจ และต้องออกผจญภัยเพื่อกอบกู้โลกจากเงื้อมมือของ เซฟิรอธ นายทหารรุ่นพี่ที่ต้องการทำลายล้างโลก 

เรื่องราวของ FF7 นั้นจัดว่าติดตราตรึงใจอยู่ในความทรงจำของเกมเมอร์ทั่วโลกเพราะความเข้มข้นของเรื่องราวและเนื้อหา ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็น่าจะนึกถึงเรื่องราวการต่อสู้ของตัวเอกอย่าง "คลาวด์ กับ เซฟิรอธ" หรือไม่ก็ในเรื่องความสัมพันธ์กับตัวละครสาวอย่าง เอริธ หรือ ทีฟา เพราะว่ามันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และค่อนข้างจะเป็นที่จดจำกันมากกว่า แต่แท้จริงแล้วเนี่ย เราสามารถพูดได้เลยนะครับว่า FF7 นั้นนอกจากประเด็นการต่อสู้ระหว่างความดี ความชั่ว ความรัก หรือการค้นหาตัวตนแล้วเนี่ย เกมยังมีธีมของการปกปักษ์พิทักษ์โลกแฝงอยู่อย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน 

เหตุการณ์ใน FF7 เกิดขึ้นบนโลกที่มีชื่อว่า ไกอา ซึ่งภายในดาวดวงนี้ก็จะมีกระแสพลังที่ไหลเวียน และมอบชีวิตให้กับทุกสรรพสิ่ง ซึ่งมันมีชื่อว่า "ไลฟ์สตรีม" แต่ด้วยความโลภของมนุษย์ซึ่งนำโดย "บริษัทผลิตพลังงานไฟฟ้าชินระ" ที่ตั้งอยู่ในมหานครมิดการ์ ก็ได้สูบเอา ไลฟ์สตรีม มาสกัดเป็นพลังงาน มาโกะ และใช้มันอย่างเกินขอบเขต จนทำให้โลกนั้นอ่อนแอลง สุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายและเป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดผู้ต่อต้านการกระทำของบริษัทชินระขึ้นมา และรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม Avalanche อวาแลนซ์ นำโดย แบเร็ต ที่คอยก่อกวนการทำงานของบริษัทชินระจนถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย ถึงขั้นทำภารกิจระเบิดเตาพลังงานมาโกะ และถูกไล่ล่าโดยเหล่า Turks เติร์ก หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และ SOLDIER ทหารหน่วยรบยอดฝีมือของชินระ ซึ่งผลกระทบของการต่อสู้เรียกร้องด้วยวิธีการใช้ความรุนแรงนี้ ก็ได้สร้างความเสียหายให้กับทั้งชาวเมืองมิดการ์ และกลุ่มอวาแลนซ์เองจนบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก นับเป็นจุดตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า "การต่อสู้เรียกร้องในประเด็นต่างๆ ความพอดีนั้นควรจะอยู่ที่ตรงไหน?"

สำหรับใครที่สนใจจะหา Final Fantasy VII มาเล่นเนี่ย ก็สามารถหาได้สองเวอร์ชันใหญ่ๆ นะครับ นั่นก็คือเวอร์ชันที่เคยออกบน "PlayStation" ซึ่งในตอนนี้ก็มีขายแทบจะครบทุกแพลตฟอร์ม ทั้งคอนโซล, PC, หรือแม้แต่มือถือ ด้วยความที่เป็นเกมเก่าราคาก็จะย่อมเยาว์ กราฟิกก็ต้องบอกว่าตามยุคสมัยถือว่าล้ำหน้าในยุคนั้น แต่มาดูตอนนี้ก็อาจจะรู้สึกมันเหลี่ยมไปหน่อย แต่สำหรับใครที่อยากจะเล่นเวอร์ชันรีเมกที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อปี 2020 ก็หาเล่นได้บนแพลตฟอร์ม PlayStation 4 และ 5 รวมถึง PC ก็จะได้พบเห็นการตีความเนื้อเรื่องใหม่ในหลายจุด และงานกราฟิกรวมถึงดนตรีที่ยอดเยี่ยม ที่เกมเมอร์ทุกคนควรมีโอกาสได้สัมผัสมันสักครั้งในฐานะเกมระดับตำนาน

อ่านบทความและรับชมคลิปรายการ "รู้รอบเกม" จาก "กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" เพิ่มเติม: