ค้นหานัยที่ซ่อนตัวใน "duck academy" สารคดีไทยที่ดังไกลถึงต่างแดน กับ "นันทขว้าง สิรสุนทร"...

มิเพียง "ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล" จะยิ้มแย้มมีความสุข ในค่ำคืนของรอบสื่อหนัง "โรงเรียนกินนอนสอนเป็ด" เท่านั้น "ลุงสมนึก" ที่ไม่ได้เดินทางมา ก็อาจนอนยิ้มในหัวใจ ที่ลพบุรีบ้านเกิด ก็เป็นได้

ด้านหลังของ อาจารย์สมเกียรติ นั้น มีภาพโปสเตอร์หนัง "duck academy" สีเหลืองดำตั้งอยู่ โปสเตอร์ที่ว่านี้ ถ้าดูดีๆ จะมีเป็ดหลายตัว "เร้น" และ "ซ่อน" อยู่ในที - หรือมองผ่านอีกสองที...ก็มีทั้ง "โจ่งแจ้ง" และ "กระมิดกระเมี้ยน"

เป็ดตัวแรก คือ ชื่อเรื่อง, ตัวที่สอง คือ รูปตัวเป็ดท้องนา, ที่เหลือคือ ตัว D มีตาเป็ด แต่ผมชอบตัวสุดท้าย คือ อักษร y ในคำว่า academy (เหมือนปากเป็ด) แค่โปสเตอร์หลักของหนัง ก็ชวนให้สนุกคิด นั่นหมายความว่า...ถ้าเข้าไปในโรงดูหนัง น่าจะมีอะไรอีก...

...

เป็ดหลายคนในสารคดี "duck academy" ที่ว่านี้ - พาเราไปพบกับชีวิตเล็กๆ ที่น่าสนใจในชนบท, ไปรับรู้เรื่องราวของศัตรูพืชและสารเคมี แต่งดงามสุด.. คือ การเรียนรู้กันและกัน ระหว่างคนกับสัตว์

อย่างที่ทราบว่า หนังเล่าเรื่องของ ลุงสมนึก และครอบครัว ที่ฝึกฝนเป็ด 3,000 ตัว ให้ไปทำภารกิจสำคัญ ที่ไม่มีใครเขาทำกัน

นอกจากภารกิจสำคัญแล้ว เป็ดทั้งหลายยังสะท้อนปัญหาสังคม วิถีชีวิต และสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ อย่างน่าสนใจ

สเกลของเรื่องแบบนี้ ทางของพล็อตแบบนี้ ถ้าไป "อยู่ในมือ" ของบางคน (และบางค่าย) เขาอาจเลือกนำเสนอ ในอีกแบบหนึ่ง คือ เน้นที่ปัญหากระทบ เป็น "ต้นทาง" แบบสารคดีเก่าทั่วไป แต่..."สุริยนต์ จองลีพันธ์" และทีมงาน ไม่ทำอะไรง่ายๆ แบบนั้น คำว่า...ไม่ทำอะไรง่ายๆ แบบนั้น อธิบายและแจกแจงได้ 

ประการแรก, "duck academy" เลือกเล่าเรื่องในมุมมองของ "เป็ด" ไม่ใช่มุมมองของปัญหา ข้อที่สอง แม้ว่าเรื่องจะไม่หนักอึ้ง - แต่ก็มีวิธีการที่ทันสมัย แทรกตัวเป็นระยะๆ นั่นคือ สิ่งที่เรียกว่า comic relief หรือส่วนแทรกที่ตลก มีอารมณ์ขัน (comic relief ช่วยสร้าง ความกลมกล่อมให้กับหนัง และหนังยุคใหม่ ไม่ว่าอยู่ตระกูล (genre) มักใช้ comic relief ทั้งนั้น! (ใครไม่เชื่อลองไปดู fast & furious, top gun, mission impossible ทุกภาค)

มีข้อสังเกตจากบางคนว่า ตัวละครใดที่อยู่ในช่วง comic relief มักเป็นที่รักของคนดู "ได้โดยง่าย" ซึ่งในบริบทนี้ คือ "เป็ด" อีกส่วนหนึ่งที่ "ทำงานอยู่ข้างๆ" แบบน่าชื่นชม คือ การใช้ sound หลายๆแบบ

เสียงของเป็ดที่ฟังไม่ได้ศัพท์, เสียงเล่าเรื่องของ ลุงสมนึกและฝรั่ง, เสียงของดนตรีหรือสกอร์ ที่เลี้ยงหนังไว้ เป็นระยะๆ และเป็นส่วนพิเศษสุด เพราะบ่งบอกตั้งแต่ต้นทางว่า สารคดีนี้ อยู่ในอารมณ์ใด...(หนังใช้เครื่องเป่า บอกความเบิกบานของเป็ด)

...

"นันทขว้าง สิรสุนทร" นักวิจารณ์ภาพยนตร์

ผมไม่แปลกที่คนดูหนังรอบสื่อ ที่ house samyan มีความสุข ยิ้มแย้ม...เพราะสัตว์ที่ ไม่ถูกชื่นชมเท่า "หงส์" หรือมองข้ามมากกว่า "ไก่" ได้นำพาข้อมูลมากมาย มาเรียงร้อย อย่างสนุกสนาน จนเหมือนดูการ์ตูนดิสนีย์ หรือ พิกซาร์

หลังหนังจบ คนอาจคุยกันหลายมุมขอบ - แต่ผมนั่งเม้าท์กับเพื่อนว่า หนังสารคดี ได้เดินทางมาไกลมาก ในแง่ "การเล่าเรื่อง" แบบใหม่ๆ ซึ่งเรารู้กันมานานว่า..."เรื่อง" ไม่สำคัญเท่า "วิธีเล่า"

เช่นนี้แล้ว งานรับเสียงชื่นชมของ duck ก็ทำให้ "ป่าใหญ่ฯ" ได้ปักป้าย การทำสารคดี เคียงคู่ไปกับสารคดีแบบ "เน็ตฟลิกซ์" แบบ underdog films และแบบ "คนค้นคน" หรือ "กบนอกกะลา"...และไม่ว่าจะเป็นแบบไหน "duck acedemy" ก็เดินทางไกลในความสำเร็จ...มากกว่าที่ "เป็ดเดินด้วยเท้า" ไปขึ้นรถซึ่งระหว่างไปขึ้นรถ มัน "ไม่งดออกเสียง!"

...

อ่านบทความ "นันทขว้าง สิรสุนทร" เพิ่มเติม :