ทำไม "The Legend of Zelda" Tears of the Kingdom จึงเป็นตัวเต็ง Game of the Year...

หากคุณผู้ชมจำกันได้นะครับ ในรายการรู้รอบเกมตอนที่แล้ว เราได้มีการพูดถึงประวัติศาสตร์ของซีรีส์ The Legend of Zelda เกมเพชรยอดมงกุฎ คู่บารมีของค่ายนินเทนโด ซึ่งผมก็ได้ทำการไล่เรียงวิวัฒนาการ และรูปแบบของเกมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ที่ปัจจุบันก็มีการวางจำหน่ายไปถึง 19 ภาคหลักกันแล้ว จนถึงตอนนี้ผมและเกมเมอร์แฟนๆ เซลด้าทั่วโลก ก็น่าจะได้สัมผัสกับ "The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom" ภาคต่อลำดับที่ 20 ของซีรีส์ ที่วางจำหน่ายมาเป็นเวลา 2 สัปดาห์กันไปแล้ว

ในวันนี้ผมก็เลยอยากจะมาป้ายยา เอ๊ย ไม่ใช่สิ! นำเอาความประทับใจตลอดเวลาที่ผมได้เล่นเจ้าเกมๆ นี้ มาบอกเล่าให้กับคุณผู้ชมทุกคนได้ฟังกัน หรือจะเปรียบเทียบว่าเป็นการเขียนคำนิยมให้กับหนังสือสักเล่มก็ได้นะครับ และพร้อมกันนั้นก็จะเป็นการให้เหตุผลว่า ทำไมผมจึงคิดว่าเกมนี้ อาจเป็นตัวเต็งที่จะคว้ารางวัลเกมยอดเยี่ยมประจำปีไปก็ได้ เชิญรับชมกันได้เลยครับ

...

ประเด็นแรก เรามาพูดถึงเรื่องตัวเลขกันก่อนดีกว่าครับ ตัวเกม "The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom" วางจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค ที่ผ่านมาเท่านั้นเอง แต่ก็ได้ทำลายสถิติของเกมจากค่ายปู่นินไปซะแล้วครับ เพราะหลังวางขายไปเพียง 3 วัน ก็ทำยอดขายทะลุ 10 ล้านชุดไปได้อย่างแบบชิลๆ และมีคะแนนรีวิวที่สูงในระดับยอดเยี่ยมแบบเป็นเอกฉันท์ ชนิดกวาดคะแนนเต็มจากแทบทุกสำนักวิจารณ์ โดยคะแนนรีวิวของเกมในตอนนี้อยู่ที่ 95 คะแนนจาก 111 สำนักรีวิวบนเว็บไซด์ Metacritic!

ประเด็นต่อมาก็คือ หากจะพูดถึงเนื้อหาของเกม ก็ต้องบอกตามตรงว่า "Tears of the Kingdom" นั้น ถือเป็นภาคต่อโดยตรงของ Breath of the Wild ที่ส่งต่อหลายสิ่งหลายอย่างจากภาคเดิม ที่ทำเอาไว้ดีอยู่แล้วมาสู่ภาคใหม่ เช่น ระบบพื้นฐานของเกมส่วนใหญ่ กราฟิก วิธีการควบคุม ระบบการต่อสู้ หรือบรรยากาศของโลกอย่าง "Hyrule" นั้น ก็ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ว่าในภาคนี้ ตัวเกมมีการใส่ระบบอื่น เพิ่มเติมเข้าไปมากมายซึ่งต่างก็น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง จนผมเองอยากจะขอนิยายรูปแบบแนวทางของเกมเป็น Open-World, Sandbox, Puzzle, Action-RPG เพราะว่าตัวเกมได้ให้ความสำคัญ และสะท้อนองค์ประกอบต่างๆ เหล่านั้นออกมาได้อย่างโดดเด่นในทุกมิติ

เพื่อไม่ให้เป็นการสปอยเนื้อหาของเกมมากเกมไป ผมขอเล่าแค่ว่า ต้นเหตุของการผจญภัยในตัวเกมภาคนี้ ก็เพราะ "Link" ต้องออกตามหาตัว "เจ้าหญิง Zelda" จึงทำให้พระเอกของเราต้องออกผจญภัยไปตามสถานที่ต่างๆ ใน "Hyrule" ซึ่งระหว่างทาง จะทำให้เราพบกับตัวละครและเรื่องราวมากมาย ทั้งที่เป็นตัวดำเนินเส้นเรื่องหลัก Main Quest, เนื้อเรื่องรอง Side Quest, ไปจนถึงกิจกรรมจุกจิกทั้งหลายที่อัดแน่นใส่เข้ามาในโลกกว้าง ให้สำรวจและใช้สมองขบคิดไปตลอดการผจญภัย

ขนาดแผนที่ของ Hyrule ในคราวนี้ใหญ่กว่าเดิมมาก การเดินทางครั้งนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนพื้นดิน แต่ยังทะลุท้องฟ้า แล้วก็ท่องบาดาล ผู้เล่นสามารถที่จะปีนป่ายผาสูง ว่ายน้ำข้ามลำธาร หรือโบยบินด้วยเครื่องร่อน ผ่านภูมิประเทศและภูมิอากาศอันหลากหลาย และเต็มไปด้วยอุปสรรคที่รอคอยทุกคนอยู่ ด้วยความที่แผนที่กว้าง การจะเดินทางด้วยเท้าอย่างเดียวก็ดูจะลำบากเกินไป เกมมีระบบการจับม้าป่ามาครอบครอง เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางไปจนถึงใช้ในการแก้ปริศนาได้ หรือระบบการทำอาหารและสวมใส่เครื่องแต่งกายเพื่อเพิ่มความทนทานสภาพอากาศที่สุดขั้วแบบร้อนหรือหนาวจัด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นระบบที่เคยมีมาก่อนในภาคที่แล้ว

...

นอกจากนี้จุด waypoint ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญของเกมแนว Open world แทบทุกเกม ตัว "Tears of the Kingdom" ก็ยังใช้ระบบ Shrine เช่นเดียวกันกับภาคก่อน เทวสถาน เหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก ทำหน้าที่เป็นจุดวาร์ปให้ผู้เล่นสามารถเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ยังเป็นไฮไลต์สำคัญของเกมด้วย เพราะผู้เล่นสามารถที่จะเข้าไปใน Shrine ได้ทุกจุดที่พวกเขาค้นพบ และภายในก็จะมี Puzzle ปริศนาลับสมองที่ท้าทายเฝ้ารอทุกคนอยู่ ซึ่งเมื่อผ่านได้ Shrine เหล่านี้ก็จะกลายเป็นจุดวาร์ปให้ผู้เล่น และยังได้รับรางวัลเป็น Light of Blessing ลูกแก้วแสงที่สามารนำไปแลกเป็นรางวัลสำคัญอย่าง "ค่าพลังชีวิต" หรือ "ค่าสตามินา" อีกด้วย

ค่าพลังชีวิตและสตามินานั้น ดูผ่านๆ ก็ไม่น่าจะมีประเด็นอะไร เพราะเกมจำนวนมากก็ใช้ค่าพลังทั้งสองนี้เป็นทรัพยากรให้ผู้เล่นบริหารจัดการ แต่สำหรับ "Tears of the Kingdom" มันคือปัจจัยสำคัญในการเดินเรื่อง ค่าพลังชีวิตนั้นเป็นความทนทานของผู้เล่นในการรับความเสียหายจากการต่อสู้หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งหากหมดลงตัวละครจะเสียชีวิต ส่วนสตามินา คือ พลังที่เป็นตัวกำหนดระยะการบินร่อน ปีนป่าย หรือว่ายน้ำ ซึ่งหากมีน้อยเราก็จะสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการได้ การสำรวจและเอาชนะ Shrine ให้ได้ เพื่อนำของรางวัลไปอัปเกรดค่าพลังของตัวละครจึงเป็นมีความสำคัญมากต่อเกม

...

ในช่วงต้นของเกมนั้นการตะลุยผ่าน Shrine จะทำให้ผู้เล่นได้พลังพิเศษซึ่งเป็นระบบใหม่และเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ถูกใส่ลงไปในภาคนี้ ได่แก่ Fuse ความสามารถในการเอาวัตถุมาประกอบกับอาวุธหรือโล่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ, Ultrahand การหยิบจับเอาวัตถุมาบิดพลิกและเชื่อมต่อประกบกัน, Recall พลังย้อนเวลาที่ใช้ให้วัตถุย้อนคืนสู่ตำแหน่งเดิม, และ Ascend พลังในการกระโจนขึ้นเพดานเพื่อทะลุขึ้นไปสู่พื้นผิวด้านบนได้ พลังพิเศษทั้ง 4 ชนิดนี้ ได้ระเบิดศักยภาพแห่งความคิดสร้างสรรค์แบบ Sandbox ให้กับผู้เล่นอย่างเต็มเปี่ยม และทำให้ระบบการเล่นของเกมในภาคนี้เปลี่ยนไปมหาศาล

ด้วยเหตุนี้เองไม่ว่าจะเป็นการตะลุย Shrine หรือ การผจญภัยบนโลกกว้าง ทุกย่างก้าวของ Link ล้วนแล้วแต่เป็น puzzle ยิบย่อยนับพันหมื่นชิ้นที่ถูกเรียงร้อยเข้าด้วยกันให้ผู้เล่นต้องขบคิด ด้วยการพิจารณาปัจจัยแวดล้อม เช่น การมีปฎิสัมพันธ์กันของวัตถุภายในเกม ไม่ว่าจะเป็นวัตถุตามธรรมชาติหรือเทคโนโลยี Zonai (โซไน) สิ่งประดิษฐ์ที่มีลักษณะเหมือนกึ่งจักรกลกึ่งเวทมนตร์ และใช้พลังงานในการขับเคลื่อน ความสนุกที่แท้จริงของเกม คือการที่ผู้เล่นสามารถใช้ไอเดียเฟ้นหาทางไขปริศนาและเลือกใช้พลังพิเศษให้เหมาะสมกับปัญญหาที่พบตรงหน้า เช่น ต้องใช้ไอเทมอะไรมาแก้ปัญหา หรือต้องผสมผสานประกอบกับอะไรเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้วัตถุชิ้นใหม่มา เรียกได้ว่าเป็นความลับสมองและเพลิดเพลินอย่างยิ่ง

...

ส่วนเรื่องข้อติติงของตัวเกมนั้นก็อาจจะมีอยู่บ้าง เรื่องสำคัญที่สุดก็คงไม่พ้นประเด็น Performance ซึ่งข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ "The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom" นั้นรันอยู่บนฮาร์ดแวร์ที่มี อายุ 7 ปี เข้าไปแล้วนะครับ ซึ่งสำหรับวงการเกมก็ต้องนับว่ามันเก่ามาก กำลังและสมรรถะภาพของ "Nintendo Switch" ถือว่าด้อยว่าเครื่องเกมคอนโซลหรือ PC ในท้องตลาดปัจจุบันอยู่พอสมควร จึงทำให้ทั้ง Texture ของเกมหยาบ ความคมชัดของภาพอาจจะไม่สูงนัก หรือ เฟรมเรตของเกมที่ล็อกอยู่เพียง 30fps แม้ว่าจะดูสวยงามสมกับ Art direction ที่เกมเลือกใช้ก็ตาม แต่ก็ดูจะเริ่มแสดงให้เห็นแล้วว่า "Nintendo Switch" อาจจะรองรับเกมระดับนี้ได้อีกไม่นาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เกมระดับ Pokemon ภาคหลังๆ ที่วางจำหน่ายออกมาก็มักพบกับปัญหาทำนองนี้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ถ้าคำนึงถึงข้อจำกัดเรื่องกำลังเครื่องแล้ว คุณภาพของเกมในระดับนี้ถือว่าน่าประทับใจมากอยู่ ตัวเกมแทบจะไม่มีบั๊กใดๆ หรือถ้าไม่จับผิดอะไรมันนัก ก็ถือว่าเป็นเกมที่ทำได้เกินตัวมาก

โดยสรุปแล้ว "The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom" คือการปล่อยของอย่างหนักหน่วงของ "Nintendo" ที่ดูแลการสร้างเกมนี้อย่างเอาใจใส่ และปราณีตบรรจงทุกรายละเอียด เกมมีระบบฟิสิกส์ขั้นเทพ มีการออกแบบบรรยากาศได้ยอดเยี่ยม ผ่านทั้งงานภาพและดนตรีประกอบที่แทบจะไร้ที่ติ มีเลเวลดีไซน์ระดับพระกาฬ ที่ขับเน้นความคิดสร้างสรรค์และท้าทายผู้เล่นตลอดการผจญภัย จากระยะเวลาที่ผมเล่นผ่านมาถึง 20 ขั่วโมงในตอนที่เขียนบทความนี้ ผมยังพบสิ่งใหม่ๆ ให้เรียนรู้เกี่ยวกับเกมตลอดเวลา และหยุดตื่นตาตื่นใจกับระบบใหม่ๆ ที่เกมใส่มาให้เราค้นหาไม่ได้เลยจริงๆ และหากใครที่อยากจะเล่นแบบครบจบบริบูรณ์กับคอนเทนต์ทุกอย่างของเกม ก็อาจจะต้องใช้เวลาหลายร้อยชั่วโมง

มันอาจจะไม่ใช่เกมที่สร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมาเหมือนอย่างที่ Breath of the Wild เคยทำ แต่มันได้ต่อยอดและผสมผสานเอาองค์ประกอบของการได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ให้อยู่ในกำมือของผู้เล่น ที่สามารถจะท่องโลกกว้างได้อย่างอิสระตามใจปรารถนา โดยใช้ระบบ logic ของเกมเป็นพื้นฐาน แล้วให้เราเติมจินตนาการเข้าไปเองได้อย่างเต็มที่ และนี่คือสิ่งที่ทำให้ "The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom" นั้นคู่ควร กับตำแหน่งเกมยอดเยี่ยมประจำปีนี้ครับ

อ่านบทความและรับชมคลิปรายการ "รู้รอบเกม" จาก "กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" เพิ่มเติม: