Angry Birds X Sonic การมาบรรจบเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจและเดินหน้าไปต่อ...

706 ล้านยูโร (9.25 ยูโรต่อหุ้น) คือ มูลค่าข้อเสนอซื้อกิจการบริษัทเกมมือถือสัญชาติฟินแลนด์ที่มีชื่อว่า Rovio Enterainment เจ้าของแฟรนไชส์เกมชื่อดัง อย่าง เจ้านกขี้โมโห "Angry Birds" จาก SEGA บริษัทวิดีโอเกมยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1960 และมีแฟรนไชส์เกมทำเงินอย่าง เจ้าเม่นสายฟ้า "Sonic the Hedgehog" โดยข้อเสนอควบรวมกิจการครั้งสำคัญนี้ ถูกคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่า เป็นความทะเยอทะยานที่จะนำไปสู่การสร้าง “Super Game” ในระนาบเดียวกับเกมที่สามารถสร้าง Community ผู้เล่นขนาดมหึมาที่สามารถทำเงินได้ไม่รู้จบต่อเนื่องยาวนานหลายๆ ปี เช่น เกมสุดฮิตของผู้คนในยุคนี้อย่าง "Fortnite" หรือ "Minecraft"

การบรรจบกันระหว่าง Rovio และ SEGA :

...

สำหรับข้อเสนอ 706 ล้านยูโร ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่ามูลค่าตลาด 896 ล้านยูโร ของ Rovio เมื่อครั้งเปิดตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2018 ถึง 20% โดยมีสาเหตุหลักมาจาก “ความพยายามในการกระจายความเสี่ยงเรื่องรายได้” ยังคงไม่บรรลุผลสำเร็จอย่างที่ตั้งความหวังเอาไว้ นั่นเป็นเพราะนับตั้งแต่มีการเปิดตัวเกม Angry Birds เมื่อปี 2009 มาจนถึงปัจจุบัน รายได้หลักของบริษัทมากถึง 70-80% ยังคงมาจาก “แฟรนไชส์เกมเจ้านกหัวร้อน” ไม่เปลี่ยนแปลง!

โดยตามรายงานผลประกอบการของ Rovio ระบุว่าในปี 2022 จากรายได้รวม 305 ล้านยูโร ของบริษัท เป็นรายได้ที่มาจาก แฟรนไชส์เกม Angry Birds ถึง 246 ล้านยูโร หรือคิดเป็น 80.89% ส่วนในปี 2021 จากรายได้รวม 276 ล้านยูโร เป็นรายได้ที่มาจาก แฟรนไชส์เกม Angry Birds ถึง 208 ล้านยูโร หรือคิดเป็น 75.49%!

ทั้งๆ ที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Rovio มีความพยายามอย่างหนักในการนำคาแรกเตอร์ของตัวละครในเกม Angry Birds ไปสู่โมเดลธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง การ์ตูน แอนิเมชัน ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งของเล่น แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ “ไม่มีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน” ได้กลับคืนมา และนี่เองจึงเป็นเหตุผลว่า “เพราะเหตุใดรายได้หลักของ Rovio จึงยังคงต้องมาจาก แฟรนไชส์เกม Angry Birds อยู่ต่อไป”

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Rovio ก็แทบไม่แตกต่างอะไรกับกรณีที่เกิดขึ้นกับ SEGA เช่นกัน นั่นเป็นเพราะความพยายามผลักดัน คาแรกเตอร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของบริษัทอย่าง Sonic เข้าสู่ฮอลลีวูดไม่ประสบความสำเร็จมากเช่นที่ตั้งความหวังเอาไว้ อีกทั้งแหล่งรายได้หลักอันแสนงดงามที่เคยสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทมาเนิ่นนานอย่าง “ธุรกิจตู้เกมปาจิงโกะ” ซึ่ง SEGA เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ นั้น ณ ปัจจุบัน เริ่มมีผลกำไรที่ค่อยๆ ลดลงตามลำดับ อันเป็นผลมาจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่ค่อยๆ ลดลง ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้สนใจที่จะเล่นตู้เกมปาจิงโกะมากเท่าใดนักด้วย

...

เป้าหมายของ SEGA :

“ท่ามกลางตลาดเกมทั่วโลกที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลาดเกมมือถือมีศักยภาพสูงเป็นพิเศษและเป็นเป้าหมายระยะยาวของ SEGA ที่เราจะเร่งการขยายตัวในธุรกิจนี้ต่อไป โดย Angry Birds นั้น ถือเป็นที่รักของผู้คนทั่วโลก ผมจึงมั่นใจว่า การผสมผสานระหว่าง สองแบรนด์ คาแรกเตอร์ ฐานแฟนคลับ ตลอดจนวัฒนธรรมองค์กรและการทำงานของทั้งสองบริษัทจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่สำคัญต่อไปในอนาคต” ฮารูกิ ซาโตมิ (Haruki Satomi) CEO ของ SEGA กล่าวในการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ

...

เพราะอะไรตลาดเกมมือถือจึงสำคัญ? :

จากรายงานของ International Data Group หรือ IDG ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยทางการตลาดชื่อดังระดับโลก ระบุว่า ตลาดวิดีโอเกมทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 263,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2026 จากการที่มีอัตราการเติบโตรายปีแบบผสม (Compound Annual Growth Rate) หรือ CAGR 3.5% จากปี 2022-2026 และสำหรับเฉพาะ "ตลาดเกมมือถือ" (Mobile Gaming) นั้น คาดว่าจะเติบโต CAGR 5% ของตลาดเกมทั่วโลกโดยรวม หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 56% ของตลาดเกมทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่า เป้าหมายการเข้าควบรวมกิจการ Rovio ของ SEGA ในครั้งนี้ นอกจากจะได้แฟรนไชส์เกมสุดฮิตอย่าง Angry Birds ซึ่งมียอดการ Download บนมือถือรวมกันมากกว่า 5,000 ล้านครั้งมาไว้ในกำมือ ซึ่งสามารถนำไป Collab กับ Sonic คาแรกเตอร์สุดฮิตของบริษัท เพื่อต่อยอดขายในรูปแบบความบันเทิงต่างๆ เช่น อนิเมะ หรือสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ภายใต้ลิขสิทธิ์แบรนด์ SEGA แล้ว

...

อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของ SEGA คือ การนำเอาความสามารถและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเกมมือถือของ Rovio ไปปรับใช้ในการนำสารพัดเกมที่มีอยู่อย่างมากมายโดยเฉพาะบนเครื่องคอนโซลต่างๆ ในอดีต ไปแปลงลงสู่สมาร์ทโฟนและแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อขยาย Portfolio เกมของ SEGA ออกไปทั่วโลกนั่นเอง!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง