The Super Mario Bros Movie ก้าวเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ของปู่นิน ที่อาจขยายไปสู่ จักรวาลนินเทนโด...

พบกันอีกครั้งกับ “รายการรู้รอบเกม” ทาง "ไทยรัฐออนไลน์" และผม "กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ" สำหรับเกมเมอร์นั้นเราน่าจะคุ้นเคยกับเทรนด์กระแสที่ค่ายเกมยักษ์ใหญ่พยายามนำเอาผลงานเกมของตัวมาสร้างเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ หรือที่เราจะเรียกว่าการทำ Adaptation กันนะครับ อันที่จริงน่าจะพูดว่าเทรนด์นี้เนี่ย ไม่ว่าจะเป็นการเอาเกมมาทำเป็นหนัง หรือเอาหนังมาสร้างเป็นเกม มันก็มีมานานนับสิบปีและเติบโตมาแทบจะพร้อมกับอุตสาหกรรมเกมเลย เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา การสร้างหนังหรือละครที่มีการหยิบยกเนื้อหามาจากวิดีโอเกมหรือ เอาวิดีโอเกมไปสร้างเป็นหนัง มักจะประสบความล้มเหลวทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ อาจจะมีข้อยกเว้นเพียงไม่กี่ตัวอย่างเท่านั้นที่สามารถทำกำไรเป็นที่น่าพอใจ หรือได้รับการยอมรับจากแฟนๆ ว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพ

แต่ในช่วงสองสามปีหลังที่ผ่านมานี้ครับ ในวงการงาน Adaptation ถือว่าได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าตกใจและมีนัยสำคัญ คือมันมีคุณภาพสูงขึ้นทั้งในแง่เนื้อหา ความประณีตใส่ใจในงานภาพและเสียง ตลอดจนประสบความสำเร็จทั้งในแง่ยอดผู้ชม รายได้ หรือคำวิจารณ์ ลองมานับกันเล่นๆ เราก็จะเห็นผลงานอย่าง Sonic the Hedgehog, Detective Pikachu, หรือ Mortal Kombat ที่เป็นหนังใหญ่ หรือถ้าเป็นซีรีส์ก็จะมี Arcane: League of Legends, Cyberpunk: Edgerunners, Castlevania, หรือล่าสุดก็คือ The Last of Us ของทาง HBO เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งในตอนที่ฉายจบซีซั่น ทำยอดผู้ชมรวมสูงกว่า House of the Dragon เสียอีก

...

และในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คิดว่าวงการ Adaptation กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อีกครั้ง กับการกระโดดเข้ามาเล่น ของผู้เล่นคนใหม่แต่หน้าเก่า อย่างนินเทนโด ที่พวกเขาได้เข็นมาสคอตอันดับหนึ่งของค่ายหรือจะเรียกว่าอันดับหนึ่งของวงการเกมอย่าง มาริโอ มาลงจอเงินอีกครั้ง หลังจากที่พ่อช่างประชาหนวดงามของเราห่างหายจากจอเงินหลายสิบปี ในภาพยนตร์ The Super Mario Bros ซึ่งหลังจากที่เข้าโรงฉายไปทั่วโลกหนังก็ทำรายได้เปิดตัว 5 วันแรก เป็นสถิติสูงถึง 377 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงที่สุดในกลุ่มภาพยนตร์แนวแอนิเมชัน ซึ่งก่อนหน้านี้ Frozen II เป็นผู้ครองแชมป์เอาไว้

Chris Pratt นักแสดงชื่อดัง ผู้ให้เสียง Mario
Chris Pratt นักแสดงชื่อดัง ผู้ให้เสียง Mario

หากจะพูดถึงเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ กระแสคำวิจารณ์ส่วนใหญ่ไปในทางที่ชื่นชอบ แต่ก็มีบางส่วนที่รู้สึกว่าเนื้อเรื่องอ่อนเกินไป ส่วนตัวผมขออนุญาตแบ่งเป็นจุดที่ชอบแล้วจุดที่ไม่ถูกใจนัก เริ่มต้นจากจุดที่ชอบก็คือทีมงานสร้างหนังออกมาให้ดูได้ง่ายมากเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย งานภาพที่ใช้ก็เน้นสีสันสดใส และตัวการ์ตูนน่ารัก ซึ่งทำออกมาได้สวยงามมาก ส่วนที่ทีมสร้างใส่มาเต็มๆ เน้นๆ แบบต้องขอชมเลยก็คือฉากแอ็กชันในหนัง เรียกว่าอัดมาแน่นเอียดเต็มอิ่มตลอดเวลาชั่วโมงครึ่ง และรายละเอียดจำพวกอีสเตอร์เอกที่อ้างอิงมาจากในเกมก็เยอะมาก แฟนมาริโอต้องถูกใจแน่นอน

ส่วนด้านที่อาจจะไม่ถูกใจมากนัก ก็เช่นเนื้อเรื่องที่ต้องบอกว่าบางเฉียบชนิดที่เรียกว่าแทบไม่มีอะไรซับซ้อนเลยจริงๆ กับจังหวะของหนังที่เร่งค่อนข้างมาก เราไม่มีเวลาได้ทำความรู้จักกับตัวละครดีสักเท่าไร อาศัยว่าคนดูต้องรู้จักจักรวาลมาริโอมาในระดับนึง แต่โดยรวมมันก็ไม่ได้ถือว่าเป็นจุดอ่อนของหนังขนาดนั้น

"Shigeru Miyamoto" บิดาผู้ให้กำเนิดจักรวาลมาริโอ

...

เพราะว่าแต่เดิม เกมอย่าง "มาริโอ" ก็เน้นไปที่การผจญภัยเป็นหลักอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นหนังที่ดูง่ายมาก และไม่น่าแปลกใจเรื่องรายได้ของหนังที่ทำได้ค่อนข้างสูง ถ้าคุณเป็นแฟนมาริโอ หรือแม้แต่เป็นแฟนวิดีโอเกม นี่คือหมุดหมายสำคัญครั้งหนึ่งของวงการ และหนังเรื่องนี้ก็สมควรหาโอกาสไปดูในโรงภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง

แต่สิ่งที่น่าจับตามองมากกว่าสำหรับส่วนตัวคือ หมากต่อไปของนินเทนโด ที่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่หยุดอยู่กับหนังเพียงเรื่องเดียวครับ เพราะปู่นินเข้าซื้อสตูดิโอสร้างหนังอย่าง Dynamo Pictures ซึ่งสตูดิโอนี้ก็เคยมีผลงานในการสร้าง CG ให้กับเกมชั้นนำ เกรด A หลายต่อหลายเกมด้วยกัน แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "Nintendo Pictures" ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งมันน่าจะสะท้อนความเอาจริงเอาจังของพวกเขาในระดับนึงเลย แล้วยิ่งมารวมกับ IP ระดับแม่เหล็กที่ครองใจมหาชนของนินเทนโด อย่าง โปเกมอน หรือ เซลดา เราอาจจะได้เห็นมัลติเวิร์สของจักรวาลนินเทนโด อย่างที่เราเคยได้เห็นในจักรวาล MCU ของมาร์เวล ก็เป็นไปได้นะครับ ยิ่งผลงานชิ้นแรกเปิดประเดิมให้เห็นกันแล้วว่าพวกเขามีศักยภาพเหลือเฟือที่จะสร้างงานที่มีคุณภาพได้แบบนี้ นินเทนโดกำลังจะแผ่แสนยานุภาพออกมานอกวงการเกมได้อย่างที่ไม่เคยมีค่ายเกมเจ้าไหนทำได้มาก่อน

ซ้ายไปขวา
ซ้ายไปขวา "Kaji Kondo" Music Composer "Shigeru Miyamoto" บิดาผู้ให้กำเนิดมาริโอ "Takumi Kawagoe" Nintendo project team

...

ลองคิดดูว่า พวกเขาเป็นผู้พัฒนาเครื่องคอนโซลเกมที่ขายดีมากๆ ของวงการ ต้นทุนก็ไม่สูง กำไรก็มาก, ซอฟต์แวร์เกมของพวกเขาก็คุณภาพเฉียบขาด มีเอกลักษณ์ที่ใครก็ลอกเลียนแบบได้ไม่เหมือน, ประวัติศาสตร์ของบริษัทก็มีที่มาจากการออกแบบของเล่น ที่ยังคงฝังอยู่ใน DNA ของพวกเขาในการดีไซน์อุปกรณ์และสินค้าทุกชนิด และอย่าลืมว่านี่เป็นค่ายเกมค่ายเดียวที่มีสวนสนุกเป็นของตัวเองอย่าง Super Nintendo World และในตอนนี้พวกเขากำลังจะก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์อีก ความยิ่งใหญ่ของปู่นินในตอนนี้ เรียกว่าเทียบชั้นกับดิสนีย์ได้แล้วก็คงไม่เกินเลย

และอยากจะเน้นย้ำอีกครั้ง กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการ Adaptation ที่ดีขึ้นผิดหูผิดตาแบบนี้ มันไม่ได้มีความลับอะไรมากมายไปกว่า ความใส่ใจในเนื้องาน ที่ถูกทำด้วยมือของคนที่เข้าใจมันจริงๆ ในสมัยก่อน เกมจากหนัง หนังจากเกม ถูกสร้างขึ้นมาอย่างทิ้งขว้าง บางครั้งงบประมาณที่จะใช้สร้างเกมนั้น ถูกจัดรวมอยู่ในงบโปรโมตภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉาย ทำนองว่า บริษัทหนังสร้างหนังใหม่ขึ้นมาสักเรื่อง แล้วแทนที่จะไปจ่ายเงินเป็นค่าโฆษณาหนังให้กับสถานีโทรทัศน์, หนังสือพิมพ์ หรือว่า นิตยสาร พวกเขาก็เอางบก้อนนั้นมาทำเกม เพื่อใช้โปรโมตหนังแทน หรือว่าทีมสร้างหนังตั้งใจจะขาย Money Shot มากเกินไป

กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ ครีเอเตอร์สายเกม ไทยรัฐออนไลน์
กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ ครีเอเตอร์สายเกม ไทยรัฐออนไลน์

...

Money Shot ในที่นี้ คือการใส่ฉากบางฉากในหนังที่อาจจะจำลองมาจากในเกมแบบเหมือนเป๊ะ ด้วยเหตุผลว่าฉากนั้นเท่ที่สุด สวยที่สุด เจ๋งที่สุด โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสมเหตุสมผล ที่มาที่ไปของเรื่องราว หรือแม้แต่สนใจว่าตัวเองกำลังพยายามจะเล่าอะไร เอาแต่ยัดฉากที่ผู้สร้างนึกว่ามันเท่ มันไอคอนิกเข้ามาในหนัง แล้วคิดว่าหนังมันจะขายได้ สุดท้ายผลงานที่สร้างออกมาในลักษณะนี้ ก็ไม่มีใครจดจำ และทิ้งความทรงจำอันเลวร้ายให้เราๆ ต้องทนทุกข์กับคำสาปหนังจากเกมมานับสิบปี

สิ่งที่...ทั้งค่ายหนังและค่ายเกมควรจะตระหนักกันได้แล้วก็คือว่า การสร้างหนังจากเกมที่ดีที่สุด ก็คือการเคารพต้นฉบับอย่างจริงใจ, ให้เกียรติ Source material และถ้าหากจะแหวกไปทำอะไรที่พิสดาร หรือว่าเล่นท่ายาก ก็ต้องทำให้ดีกว่าที่มันเคยเป็นมา เน้นสร้างผลงานที่มีคุณภาพไม่ใช่แค่ทำงานส่งๆ ดูถูกคนดู แค่นี้ผลงานชิ้นนั้นก็น่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

รับชม "รายการรู้รอบเกม" เพิ่มเติม :