หน้าร้อน สัญลักษณ์ที่ฮอลลีวูดมักหยิบฉวยมาใช้เพื่อทำให้วัยเยาว์หล่นหาย และภาพยนตร์ที่น่าจดจำ...

อาจจะไม่ใช่ "เรื่องบังเอิญ" ที่ทุกๆ Summer ฮอลลีวูดมักจะมี "หนังเกี่ยวกับฤดูร้อน" ออกมาฉายอยู่เสมอๆ ทั้งดีบ้างไม่ดีบ้าง-อีกร้ายๆ ก็เยอะ ที่น่าประหลาดกว่านั้น บรรดา "หนังหน้าร้อน" ทั้งหลายแหล่ มักไม่ค่อยใช้ "ความร้อน" มาเป็นประโยชน์ในทางลึก อะไรนัก ตรงกันข้ามกับหนังกลุ่ม Coming-of-age ที่มักแตะประเด็น "การสูญเสียวัยเยาว์" หลายเรื่องมักใช้ "หน้าร้อน" ช่วงปิดเทอมแบบบ้านเรา "วางสาระสำคัญ" อย่างน่าสนใจ ที่ไม่บังเอิญอีกแน่ๆ ก็คือ หนังกลุ่ม Coming-of-age ดูจะเกี่ยวโยงกัน ระหว่าง "เด็ก-หน้าร้อน-การก้าวข้ามอะไรบางอย่าง"

เมษายนเป็นเดือนที่ร้อนมากของกรุงเทพฯ เวลานี้มาถึงทีไร ผมมักเอาหนังเก่าๆ ที่เกี่ยวกับหน้าร้อนมาดู Stand by me, Nobody know, Little children, Betty blue และ The man on the moon หนังกลุ่มนี้ แม้ไม่ประกาศตัวว่า เป็นหนัง Summer แต่ก็มีฤดูร้อน หน้าร้อน เป็นส่วนสำคัญในหนัง สำคัญ "ขนาดที่ว่า" มันเปลี่ยนแปร พลิกผัน ชีวิตตัวละคร กันไปไกลทีเดียว ผมชอบทุกเรื่องเลยครับ - แต่ถ้าต้องเลือกเขียนถึง ผมชอบ Stand by me กับ The man on the moon มากที่สุด

...

ถ้า Stand by me เป็น "เด็กผู้ชาย" The man in the moon ก็เป็น "เด็กสาว" ว่ากันถึงหนังเด็กผู้ชายก่อน...Stand by me ทำมาจากเรื่องสั้นชื่อ The body ของ "สตีเฟน คิง" หนังเล่าเรื่องของเด็กสี่คน ที่เป็นเพื่อนวัยเยาว์ หัวหกก้นขวิด ทะลึ่งทะเล้นและห่ามบ้างไปตามวัย วันหนึ่ง - ทั้งสี่คนได้ข่าวว่า มีศพผู้ชายปริศนาตายในป่าลึก ถ้าใครพบมันก่อน จะมีรางวัล เป็นฮีโร่และแน่นอน ใครๆ ก็ต้องกล่าวขวัญถึง "ความกล้าหาญ"

พวกเขานัดกันออกตามหา โดยออกไปในบ่ายวันศุกร์ การเดินทางของเด็กกลุ่มนี้ ค่อยๆ พบ "ความยากลำบาก" (ตั้งแต่วิ่งหนีรถไฟ และวิ่งหนีหมา) ก่อนจะไปพบว่า...เมื่อเจอศพจริงๆ นอนตายอยู่ เด็กสี่คนช็อก กับโลกจริงๆ ที่โหดร้าย ที่ไม่ได้มีอะไร สวยงาม น่ารัก ตามแบบฉบับ ฮีโร่ที่คิดฝัน

หลังพบศพ - พวกเขากลัวชีวิตในวันข้างหน้า ทั้งหมดเดินทางกลับบ้านในบ่ายวันอาทิตย์ "ย่านคาสเซิลร็อก" ชนบทเรียบง่าย ที่พวกเขาเติบโตมา ไม่ใช่ คาสเซิลร็อก ที่จากไปเมื่อวันศุกร์ ทั้ง 4 คน ทำวัยเด็ก หล่นหายไปในชายป่า ปีนั้น...

นันทขว้าง สิรสุนทร นักวิจารณ์ภาพยนตร์
นันทขว้าง สิรสุนทร นักวิจารณ์ภาพยนตร์

วัยเยาว์ของ Stand by me หล่นหาย เพราะการเกี่ยวข้องกับ "ความตาย" ไม่เหมือนกับ วัยสาวและความเป็นเด็กไร้เดียงสาของ "รีส วิทเธอร์สปูน" ใน The man in the moon ที่เสียวัย เพราะความรัก...เธอเล่นเป็นเด็กสาวที่ไปหลงรักรุ่นพี่ผู้ชายคนหนึ่ง มีความฝัน ปรารถนาตามแบบเด็กสาวทั่วไปถึงความรัก และในบ่ายร้อนๆ วันหนึ่ง เธอก็ได้จูบแรกจากพี่ผู้ชายคนนั้น บ่ายที่ร้อน แถมมีรัก - น่าจะเป็นร้อนกับรัก ที่สวยงาม

...

ทุกอย่างพังทลายลง เมื่อเธอพบความจริงที่ว่า แท้จริงแล้ว รุ่นพี่ที่จูบเธอ กลับกลายเป็นคู่เดตของพี่สาวเธอเอง พี่สาวที่มักคุยกันก่อนนอนถึง "ผู้ชายบนดวงจันทร์"...หน้าร้อนนั้น - ดวงจันทร์ไม่มี และผู้ชายก็ไม่มา

ทั้ง Stand by me และ The man in the moon ใช้ "หน้าร้อน" เป็นสัญลักษณ์สำคัญ ด้วยการเป็นบริบท ทำร้ายความเยาว์ ความไร้เดียงสา ของตัวละครเด็ก ไม่ถึงกับเป็นแผลชีวิตที่ใหญ่โต ไม่ใช่คดีร้ายแรง แต่เป็น "ช่วงเวลาหนึ่ง" ที่มีผลกับจิตใจเราไปตลอด และเราจะไม่ลืมเรื่องราวแบบนี้

มันอาจจะเจ็บ "อยู่ลึกๆ" แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะนึกถึงมัน "ด้วยความรู้สึกที่ดี"

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง : 

...