Beautiful Game...บริจาคตั๋วบอลพรีเมียร์ลีก การตลาด น้ำใจ และเทรนด์โลก!
สูงกว่าคุณ หม่ำ จ๊กม๊ก, ลุยๆ บิ๊กไบค์แบบ ทอม ครูซ และไม่ใช่ผู้ชายพูดมาก คล้ายเหลียง เฉาเหว่ย สรรพคุณนี้ น่าจะอธิบายภาพย่นย่อของ ชัยวัฒน์ สกุลญานนท์วิทยา แฟนแมนฯยูฯ ชาวหาดใหญ่ ที่สมัครเป็นเมมเบอร์ตั๋วปี season ticket มาเกือบ 20 ปี! พูดให้ชัด โก้ หรือ ชัยวัฒน์ มีหนึ่งที่นั่งใน Old trafford มาเนิ่นนาน แม้ไม่แสนนาน หรือยาวนาน...
วันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" มองเห็นประเด็นใหม่ที่น่าสัมภาษณ์ พูดคุยกับเขา เมื่อผู้ชายคนนี้ บริจาคตั๋วบอลของผีแดง ให้กับสโมสรนำไปให้ฟรี กับเด็กยากไร้ คนที่ไม่ทีโอกาสทางสังคม ในนาม Manchester United Foundation มีอะไรที่น่ารัก โจ่งแจ้งและแอบซ่อน ในน้ำใจนี้ของแชริตี้ไหม?
...
"ปรกติเลย หนึ่งซีซั่น ผมก็จะได้ดู 19 แมตช์ในบ้าน คือในสนาม old trafford แต่ก็ไม่มีทางที่จะบินไปดูได้ครบ ทุกๆ ปี บัตรก็จะเหลือ เกมที่ไม่ได้ไปดู คือทิ้งไป" โก้ เกริ่นให้ผมฟัง
"ทีนี้หลังโควิดผ่านไป แมนยูฯ มีนโยบายใหม่แจ้งมาทางอีเมลว่า นับจากนี้ คุณต้องมาดูอย่างน้อย 10 เกมขึ้นไป ไม่อย่างนั้น สโมสรอาจจะ พิจารณายกเลิกการเป็นเมมเบอร์"
โก้ บอกว่า มันสะเทือนเหมือนกัน เพราะถ้าใครเป็นเมมเบอร์ตั๋วปี ติดต่อกัน 25 ปีรวด จะมีชื่อสลักติดพนักที่นั่ง 1 เก้าอี้ในสนามแมนยูฯ ไปตลอดชีวิต...
แต่สิ่งนี้อาจไม่สำคัญ เท่าแนวคิดช่วยเหลือสังคม ที่ผีแดงนำเสนอ แมนยูฯ จึงมีทางออกสำหรับ คนที่มาดูได้น้อย หรือไม่ครบ 19 เกมว่า ให้บริจาคตั๋วนัดที่ไม่มาให้ แมนยูฯ ฟาวน์เดชั่น
"เพื่อนำไปให้กับเด็กที่ยากไร้ หรือคนที่ไม่มีโอกาสสำหรับเรื่องนี้" เขายังเล่าต่ออีกว่า
"แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องบริจาคหมดนะครับ เราอาจขายคืนให้กับแมนยูฯ ก็ได้ เช่นผมอาจบริจาค 9 เกม ขายคืน 7 เกม แล้วไปดู 3 แมตช์"
สนทนากับ โก้ มาถึงตรงนี้ ผมถามเขาว่า วิเคราะห์กิจกรรมนี้ได้มั้ย "บริจาคตั๋วบอล"?
"มันดีแน่ๆ แหละครับ" โก้ตอบทันที
"แต่มันก็เป็นการตลาดอยู่ในที เพราะการแชริตี้ช่วยเหลือสังคม ก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นเทรนด์ที่หลายๆ ทีม ก็ทำมากขึ้น คุณจะมาขายเฉยๆ แล้วไม่มีอะไร ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว"
"มีอะไรอีกมั้ย นอกจากนี้" ผมถาม..
"ผมคิดว่า ระยะหลังๆ สนามบอลไม่ชอบใจที่มันว่าง ที่นั่งมันว่าง เวลาออกทีวีมันไม่น่าจะดี ตั๋วขายหมดนะ ไม่เหลือ แต่ทำไมบางเกม มันเห็นเก้าอี้ว่าง การแชริตี้ตั๋ว หรือขอซื้อคืน นัดที่คุณไม่มาดู จึงเป็นทางออก ได้ทั้งการตลาดและการกุศล"
โก้ เล่าว่าปีนี้ เขาบริจาคตั๋วไปหมดแล้ว มีบ้างที่ขายคืน ผมสงสัยว่าถ้าขายคืน-ได้กำไรหรือขาดทุน?
"ไม่มีกำไร ขาดทุนครับ เขาคืนเงินเท่าเดิม ตามราคาตั๋วเกมนั้น สมมติราคา 37 ปอนด์ในเกมไม่ใหญ่ ก็ได้ 37 ปอนด์ คืนมาทางบัญชีเรา ฉะนั้น เทียบกับ ทิ้งตั๋วไปทุกๆ ปี การแชริตี้ บริจาคตั๋วไป ต้องดีกว่าแน่นอน"
...
ฟังเรื่องของ "ชัยวัฒน์ สกุลญานนท์วิทยา" แล้ว ทำให้ผมนึกไปถึง การช่วยเหลือสังคมผ่านแฟนบอล ในอเมริกาใต้ บางทีม เปลี่ยนสีเสื้อสโมสรเป็นขาวดำ และสนุกคิดว่า เสื้อจะกลับมาฟ้า เหลือง แดง ม่วง แบบเดิม ถ้ามีการบริจาคเลือดให้โรงพยาบาลท้องถิ่นจนเพียงพอ ผลก็คือ...แฟนบอลไปท่วมโรงพยาบาล จนได้เลือดเพียงพอ และสีเสื้อทีม กลับมาใช้สีแบบเดิม
อีกเคสคือ ในลีกล่างของฮอลแลนด์ บางทีมใช้วิธี คิดเงินค่าตั๋วเข้าสนาม แบบสนุกนึก ถ้าทีมชนะ แฟนบอลจ่ายค่าตั๋วตามปรกติ แต่ถ้าทีมเล่นแพ้ ดูฟรีครับนัดนั้น! แล้วถ้าดันเสมอล่ะ? ก็ออกคนละครึ่ง ตั๋ว 200 บาท ก็จ่ายร้อยเดียว เขาเรียกว่า Football pay-per-point
โก้ ขอตัวไปเข้าห้องน้ำ พอกลับมา ผมเลยถามเขาว่า ช่วงก่อนโควิด กับหลังโควิด
"แมนยูฯ ทรีตแฟนบอล ที่ถือตั๋วปี ต่างกันไหม?"
"ต่างกันมากครับ... แต่ก่อน เขาจะส่งของชำร่วย ของที่ระลึก ใส่กล่องเป็นแพ็กให้ทุกคน ส่งไปทั่วโลก ผมได้ทุกปี แต่พอหลังโควิดมา ตั้งแต่ปีที่แล้ว เขายกเลิก มันไม่มีประโยชน์อะไรมาก สิ้นเปลืองวัสดุ กระดาษ พลาสติก คิดแค่คนดู 80,000 ปีนึง สิ้นเปลืองเยอะ เลิกไปก็ดีครับ"
...
ผีแดงพันธุ์แท้ ชาวหาดใหญ่ ศิษย์สำนักแสงทองอันโด่งดัง ยืนยันว่า เขาจะกลับดูแมนยูฯ ตั้งแต่ปีหน้า และจะบริจาคตั๋ว เหมือนเดิม
เขียนถึงถ้อยคำนี้ แล้วก็นึกต่อว่า...
การบริจาค แม้จะเป็นเทรนด์ หรือการตลาด
การลงมือทำ-ดีกว่าเงียบเฉย
เช่นนี้แล้ว จะ Pay-per-point หรือบริจาคเลือด...จะให้ตั๋วหรือลดราคา
นี่ต่างหากคือ Beautiful Game
ที่ฟุตบอล เดินทางมา...นันทขว้าง สิรสุนทร
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
...