ธุรกิจโรงหนังปี 2023 จะฟื้น หรือจะฟุบต่อเนื่อง และอะไรคือปัจจัยที่จะทำให้ผู้คนยอมทิ้งสตรีมมิง...

Cineworld เชนธุรกิจโรงภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก ที่มีโรงภาพยนตร์ในเครือมากกว่า 751 โรง โดยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 500 โรง และมากกว่า 100 โรง ในสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศในยุโรป ซึ่งได้ประกาศเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ตาม “กฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ” (Bankruptcy Code) ในหัวข้อที่ 11 (Chapter 11) ซึ่งรองรับในกรณีที่องค์กรธุรกิจซึ่งประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อและจะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2022 หลังประสบปัญหาหนี้สุทธิมากมายถึง 8,810 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2022 อันเป็นผลมาจากปัญหาการระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Cineworld ได้ออกมายอมรับว่า “แม้จะมีผู้ให้ความสนใจเข้ามายื่นข้อเสนอซื้อกิจการมากมาย หากแต่...ไม่มีแม้แต่สักรายเดียวที่จะเสนอราคาที่ใกล้เคียงกับหนี้ที่ยังค้างชำระในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!”

...

ด้าน AMC Entertainment Holdings Inc หรือ AMC เชนธุรกิจโรงภาพยนตร์อันดับที่ 1 ของโลก ที่มีโรงภาพยนตร์อยู่ในมือมากกว่า 950 โรงทั่วโลก ประกาศรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุด โดยระบุว่า มีรายได้ 990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 15% และมียอดขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 287.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งๆ ที่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมามีภาพยนตร์บล็อกบลัสเตอร์ที่สามารถทำรายได้ถล่มทลายอย่าง Avatar The Way of Water, Black Panther Wakanda Forever, Top Gun Maverick, Jurassic World Dominion หรือ Spider Man No Way Home มาช่วยเรียกคนกลับเข้าสู่โรงภาพยนตร์อีกครั้งก็ตาม...

โควิด-19 ต้นเหตุธุรกิจโรงภาพยนตร์เข้าสู่ขาลง :

ปี 2018 Box office เฉพาะในตลาดอเมริกาเหนือทำรายได้รวมกันมากกว่า 11,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถัดมาในปี 2019 ทำรายได้รวมกันมากกว่า 11,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีหลังการมาถึงของโควิด-19 ที่นำไปสู่การประกาศล็อกดาวน์และมาตรการจำกัดต่างๆ ตัวเลขรายได้รวมตกฮวบลงมาเหลือเพียง 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงเกือบ 80% จากปีก่อนหน้า แถมในจำนวนนั้นมากกว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรายได้ในช่วงสามเดือนแรกของปี 2019 หรือช่วงก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ อีกด้วย

ปัจจัยอะไรที่ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังไม่ฟื้นตัว :

เศรษฐกิจตกต่ำ :

สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ผู้คนเริ่มลดค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิงนอกบ้าน โดยเฉพาะการเดินทางไปดูภาพยนตร์ที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งจากการเดินทาง ราคาตั๋ว และราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น

การเปิดตัวภาพยนตร์บล็อกบลัสเตอร์ที่ล่าช้ากว่ากำหนด :

กระบวนการผลิตภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพยนตร์ระดับบล็อกบลัสเตอร์เรียกแขก ประสบปัญหาความล่าช้าในการผลิต รวมถึงกำหนดวันเปิดตัว อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งบีบให้สตูดิโอต่างๆ ทั้งลดต้นทุนการผลิต เลื่อนกำหนดวันฉาย หรือยอมตัดใจให้ภาพยนตร์บางเรื่องไปฉายในระบบสตรีมมิง และแม้กระทั่งที่ร้ายที่สุดคือ “ยกเลิกการถ่ายทำ” ไปเลยก็มี ด้วยเหตุนี้ในบางช่วงเวลาโรงภาพยนตร์จึงมี “คอนเทนต์เรียกคนดู” น้อยเกินไปสำหรับการทำรายได้

ธุรกิจสตรีมมิง :

สะดวก ประหยัด คอนเทนต์หลากหลาย และภาพยนตร์มาลงเร็วมากขึ้นทุกทีๆ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำให้ “ทัศนคติ” ของผู้คนที่มีต่อโรงภาพยนตร์เริ่ม “เปลี่ยนแปลง” ไปจากก่อนหน้าการแพร่ระบาด

...

ธุรกิจโรงภาพยนตร์จะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ :

“อดัม อารอน” (Adam Aron) CEO ของ AMC ยอมรับว่า อย่างเร็วที่สุดที่อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์จะกลับไปสู่จุดเดิมก่อนเกิดโรคระบาด เร็วที่สุดคือ ปี 2024 หรือ ปี 2025 อย่างไรก็ดีสำหรับในปี 2023 นี้ คาดว่าจะมีสัญญาณที่ดีสำหรับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องได้ อันเป็นผลจากการคาดการณ์ที่ว่า สตูดิโอต่างๆ ในฮอลีวูดมีแผนที่จะเปิดตัวภาพยนตร์ระดับบล็อกบลัสเตอร์มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 75%!

...

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่อาจทำให้คนเลิกเฝ้าจอสตรีมมิง :

นักวิเคราะห์จาก Rosenblatt Securities สำนักวิจัยและที่ปรึกษาทางการเงินชื่อดังของสหรัฐฯ แสดงความเชื่อมั่นว่า ระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผู้คนนั่งนิ่งๆ เบื่อๆ อยู่กับบ้าน เพื่อรับชมความบันเทิงบนจอโทรทัศน์ แท็บแล็ต หรือสมาร์ทโฟนจอเล็กๆ ผ่านระบบสตรีมมิง น่าจะใกล้สิ้นสุดลงแล้ว

หลังภาพยนตร์อย่าง Avatar The Way of Water และ Top Gun Maverick ซึ่งสามารถสร้างประสบการณ์ความบันเทิงรูปแบบใหม่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่านจอยักษ์ IMAX และระบบ 4DX หรือระบบ MX4D จนสามารถเรียกผู้คนจำนวนมากให้กลับเข้าโรงภาพยนตร์ได้อีกครั้ง และมิหนำซ้ำยังเป็นการมาดูวนกันคนละหลายๆรอบ จนกระทั่งมีส่วนช่วยทำให้ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้สามารถทำเงินได้อย่างถล่มทลาย ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการยืนยันจาก Cinemark เชนธุรกิจโรงภาพยนตร์อันดับ 3 ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา รายได้จากโรงภาพยนตร์ระบบใหม่นี้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนหน้าการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปี 2019

...

ผลลัพธ์สองด้านเมื่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ถึงจุดเปลี่ยน :

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จาก Rosenblatt Securities เชื่อว่าเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ เนื่องจาก “ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น” อาจกลายเป็นการบีบบังคับสตูดิโอต่างๆ ทางอ้อม เพื่อให้มุ่งโฟกัสไปที่ “ภาพยนตร์แฟรนไชส์บล็อกบลัสเตอร์” ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์เทคโนโลยีดังกล่าวได้อย่างเต็มศักยภาพ เหมือนเช่นที่ทั้ง Avatar The Way of Water และ Top Gun Maverick ได้วางมาตรฐานเอาไว้ จนอาจนำมาซึ่ง “จุดจบ” ของภาพยนตร์แนวดราม่าขายศิลปะฟอร์มเล็กต่างๆ อาจถูกขับให้ออกจากโรงภาพยนตร์ เพื่อให้ไปอยู่ในระบบสตรีมมิงแทนก็เป็นได้

นอกจากนี้ หากบรรดาเชนโรงภาพยนตร์ต่างๆ เกิดแห่ไปลงทุนทำโรงภาพยนตร์ในรูปแบบดังกล่าวกันมากจนเกินไป ซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินทุนจำนวนมหาศาลจนพอกพูนหนี้สินที่ยังคงค้างจากช่วง "โควิด-19" แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมอีกข้อคือ เมื่อสัดส่วนของโรงภาพยนตร์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น สัดส่วนของจำนวนผู้เข้าชมต่อโรงภาพยนตร์หนึ่งโรงก็อาจจะลดน้อยลงได้ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการขยับปรับเปลี่ยนใดๆ ในธุรกิจโรงภาพยนตร์หลังจากนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง