กลายเป็นเรื่อง “ดราม่า” ข้ามประเทศ เมื่อ “กัมพูชา” อ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันมวย ภายใต้ชื่อ “กุน ขแมร์” แทนที่จะเรียก “มวยไทย” โดยมีกติกาทุกอย่างคล้าย “มวยไทย”

ต่อมา ทางสมาพันธ์มวยไทยนานาชาติ หรือ IFMA ได้ยืนยันว่าจะไม่ส่งนักชกไทยเข้าร่วมการแข่งขัน เนื่องจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ได้ยืนยันการใช้ “มวยไทย” ในการแข่งขันระดับนานาชาติ

ขณะที่ ทางกัมพูชา โดย เลขาธิการกรรมการการจัดการแข่งขันซีเกมส์ของกัมพูชา (CAMSOC) และคณะกรรมการโอลิมปิกของกัมพูชา (NOCC) ก็ออกมาตอบโต้ โดยไม่สนใจประเทศไทย และหากมีชาติอื่นๆ ร่วมแข่งขันอย่างน้อย 4 ชาติ ก็สามารถจัดการแข่งขันได้ พร้อมกับตอบโต้ว่า หากซีเกมส์ 2025 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ กัมพูชา ก็จะ “บอยคอต” กีฬามวยไทย เช่นเดียวกัน

นอกจาก “วิวาทะ” ในวงการมวยที่มีศักดิ์ศรี “ค้ำคอ” กันแล้ว ยังมีดราม่าต่างๆ อาทิ ภาพศิลปะการต่อสู้ที่ชาวโซเชียลฯ กัมพูชา ระบุว่าเป็นมวยโบราณ BOKATOR แต่ต่อมาก็พบว่า บุคคลในภาพเป็น “ครูมวย” คนไทย ยังไม่นับรวม กรณี “บัวขาว บัญชาเมฆ” ที่บอกว่าเป็นคนกัมพูชา กระทั่งบัวขาวออกมายืนยันว่าเป็นคนไทย เชื้อสายกูย ไม่ใช่เขมร ตามที่เข้าใจ

ที่มา : เฟซบุ๊ก บัวขาว บัญชาเมฆ
ที่มา : เฟซบุ๊ก บัวขาว บัญชาเมฆ

...

ประเด็นเรื่อง รากความเชื่อและวัฒนธรรม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความขัดแย้งกันระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องเดิมที่เกิดขึ้นเป็นประจำ และประเด็นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา พุทธศาสนา ภาษาศาสตร์ (ภาษาเขมร) ได้ถอดความหมาย และรากศัพท์ และที่มาของ “กุนขแมร์” โดยอธิบายว่า เวลากัมพูชาอ้างเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม มักจะยกมาจาก “ภาพสลัก” ที่อยู่บนผนังปราสาทต่างๆ ที่มีมายาวนานนับพันปี ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายการต่อสู้แบบมวยปล้ำ หรืออาจจะตีความเป็น “ท่ารำอัปสรา” ก็ได้ นอกจากนี้ก็จะมีทหาร และกองทัพ มีทหารฝึกต่อสู้กัน

ฉะนั้น จึงเชื่อได้ว่า ท่าต่างๆ ที่อ้างว่าเป็นท่าต่อสู้นั้น อาจจะเป็นการคิดค้นขึ้นมาใหม่ โดยคนสมัยหลังๆ จึงกลายเป็นท่ามวย ท่าต่อสู้ที่ใครๆ ก็มีกัน.. ซึ่งก็ถือเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการต่อสู้คนแต่ละอาณาจักร เวลาต่อสู้กัน ก็ใช้มือและ เท้า

ถอดรากศัพท์ “กุน ขแมร์”

กุน แปลว่า ศิลปะการต่อสู้ ส่วน “ขแมร์” ก็คือ เขมร

ยกตัวอย่างคำว่า “กุนดาว” จะเป็นการต่อสู้โดยใช้ดาบ “กุนตะบอง” ก็ศิลปะการต่อสู้โดยใช้กระบี่กระบอง

ส่วนที่ กัมพูชา จะไปขึ้นทะเบียน KUN LBOKATOR ซึ่งคำว่า Lbokator ในพจนานุกรม จริงๆ ของกัมพูชา แปลว่าการต่อสู้ ที่ต้องใช้ “กระบอง” ที่มีมือจับไว้ป้องกันแขน ซึ่งนำมาใช้ฟาดและป้องกันได้ด้วย

ฉะนั้น LBOKATOR ไม่ใช่ท่ามวย ซึ่งมันคือการต่อสู้คล้ายกระบี่กระบอง

โดยคำว่า LBOKATOR แยกรากศัพท์ออกเป็น 2 คำ ได้ว่า LBOK หมายถึง การต่อสู้อย่างกล้าหาญ ส่วนคำว่า TOR (โต) คำหลังมาจากคำว่า “สิงโต” โดยมีตำนานเล่าขานว่า มีชายคนหนึ่ง ซึ่งต่อสู้กับสิงโต ที่เข้ามาทำร้ายผู้คน โดยเขาใช้กระบองปราบได้สำเร็จ

ในการจารึกของกัมพูชา มีละเอียดไปถึง “ท่าทาง” หรือ “ชื่อท่า” มวย เหล่านั้นไหม อาจารย์กังวล บอกว่า เพิ่งจะมีหลังๆ ไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งท่าทางก็ถือเป็นสิ่งที่ “ร่วมวัฒนธรรมเดียวกัน”

ฉะนั้น ไม่ได้มีแค่เรื่องมวยที่มีความใกล้เคียงกัน แม้แต่เรื่องประวัติศาสตร์ วรรณคดี ก็ปะปนกัน อาทิ เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ไทยก็บอกว่าเป็นของไทย แต่...กัมพูชาก็มี หรือเรื่อง “ศรีธนญชัย” เมียนมา ลาว เขาก็บอกว่าของเขาก็มี

...

อาจารย์กังวล สรุปว่า ปัญหาเรื่องมวย คือ การใช้วัฒนธรรมร่วมกัน แต่มาเปลี่ยนแปลงกันในยุคหลังๆ ตามวัฒนธรรมท้องถิ่น ในการรบกัน มีการต่อสู้กัน ต่างฝ่ายต่างเห็นวิชาของกันและกัน และเห็นว่าดี ก็มีการเลียนแบบกันไปมาจนไม่รู้ว่ามาจากไหนกันแน่ และไม่รู้ใครที่ครีเอตท่าต่างๆ ขึ้นมาก่อน มือก็ต้องต่อย เท้าต้องเตะ หรือถีบ

“การต่อสู้ เวลาเอาจริงๆ ก็คล้ายกัน เพราะมันคือสงคราม”

ทางออกจากปัญหา “กุน ขแมร์” กับ “มวยไทย”

อาจารย์กังวล ให้ความเห็นว่า ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวลักษณะแบบนี้ มันมีอยู่ทั่วไปในโลก เพราะคนมี 2 มือ และ 2 เท้าเท่ากัน ท่าทางการต่อสู้กันก็คงไม่มีท่าอะไรที่พิสดารไปกว่ากันมาก ฉะนั้นจะเรียกว่าอะไร ใครจะเป็นเจ้าของ ใครมีมาก่อนใคร มันคงเป็นเรื่องยากที่จะไปตัดสิน

แล้วแบบนี้จะแก้ไขอย่างไร ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่ามีอยู่ 3 ทางเลือกคือ

...

1. หาชื่อที่มันเป็นกลางๆ โดยใช้ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ หรือจะใช้ภาษาบาลีก็ไม่เลว เช่น มัลละ (จริงๆ แปลว่า มวยปล้ำ) จะเอาไปผสมกับคำอื่นที่เป็นลักษณะเฉพาะก็ได้ เช่น ยุทธมัลละ อะไรประมาณนั้น แต่ Malla Kick อันนี้ถึงภาษาจะอยู่ในสปีชีส์เดียวกัน แต่ก็ห่างเหินกันอยู่

2. แก้ปัญหาแบบคำว่า เซปักตะกร้อ คือ เอาคำที่พวกนี้มายำรวมกัน อาจจะเป็น "มวยกุนลัตเว" มาจาก ມວຍລາວ-มวยไทย-គុនខ្មែរ-လက်ဝှေ့

3.ในเมื่อเป็นรูปแบบเดียวกันใครเป็นเจ้าภาพก็ใช้ชื่อที่เป็นภาษาของประเทศนั้นไปเลย อันนี้ก็จะเป็น อัตลักษณ์ของการกีฬาในประชาคมอาเซียน ซึ่งไม่เหมือนใครในโลก

"แต่สุดท้ายที่อยากจะถามก็คือ จุดมุ่งหมายที่เราจัดแข่งกีฬา จัดไปเพื่ออะไร ถ้าไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย ก็เลิกจัดเหอะ" อาจารย์กังวล กล่าวทิ้งท้าย 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...