“ฮักกโย พกรยอก” (학교 폭력) หรือ “ความรุนแรงภายในโรงเรียน” ของประเทศเกาหลีใต้ ถูกหยิบขึ้นมากลายเป็น “จุดสนใจ” อีกครั้ง หลัง The Glory ซีรีส์ที่เต็มไปด้วยความหม่นมัวและเคียดแค้นซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับ “ใบหน้าที่สวยไร้ที่ติและแสนสว่างไสว” ของ “ซง ฮเย กโย” (Song Hye-Kyo) นางเอกระดับ A-list ของเกาหลีใต้ ซึ่งพลิกคาแรกเตอร์แบบ 180 องศา เพื่อมารับบทนำใน “ซีรีส์ 16 ปี ล้างแค้นยังไม่สายเรื่องนี้”

ที่ผ่านมา “ประเด็นความรุนแรงภายในโรงเรียนของเกาหลีใต้” (Bully) ได้ถูกนำเสนอผ่านซีรีส์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และแต่ละครั้งมักจะทำให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ขึ้นในสังคมเกาหลีใต้ได้ทุกครั้งเช่นกัน นั่นเป็นเพราะมันคือ “อีกหนึ่งบาดแผลทางสังคม” ที่เกิดขึ้นจริง อันเป็นผลมาจาก “ช่องว่างระหว่างชนชั้น” ในประเทศเกาหลีใต้....แล้วอะไรคือ “ความจริง” ที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาของเกาหลีใต้ วันนี้ “เรา” ไปไล่เรียงกันทีละประเด็น

...

แรงบันดาลใจและเพราะอะไรจึงชื่อ The Glory :

“คิม อึนซุก” (Kim Eun-Sook) มือเขียนบท "ซีรีส์ The Glory" ซึ่งเคยสร้างผลงานให้ “ซง ฮเย กโย” โด่งดังไปทั่วเอเชีย จาก "ซีรีส์ Desendants of the Sun" มาแล้ว ยอมรับว่าได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนบทมาจากการที่เธอกำลังจะมีลูกเข้าเรียนในระดับมัธยมปลาย ฉะนั้น ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนจึงถือเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ สำหรับเธอ

ส่วนสาเหตุที่เธอตั้งชื่อซีรีส์นี้ว่า The Glory เป็นเพราะเมื่อได้ไปทำการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดโดยเฉพาะการได้พูดคุยกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในโรงเรียนหลายต่อหลายคนเพื่อนำไปใช้ในการเขียนบท พบว่า “สิ่งที่เหยื่อต้องการมากที่สุด คือ คำขอโทษอย่างจริงใจ” นั่นเป็นเพราะในช่วงเวลาของการถูกกระทำทารุณนั้น สิ่งที่เหยื่อสูญเสียไปคือ “ศักดิ์ศรีและเกียรติยศของความเป็นมนุษย์” ฉะนั้นการได้รับคำขอโทษจากผู้ที่กระทำ จะทำให้เหยื่อเหล่านั้น สามารถกลับไปยังจุดเริ่มต้นของชีวิตได้อีกครั้ง และด้วยเหตุนี้ เธอจึงได้ตั้งชื่อซีรีส์นี้ว่า The Glory เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนทุกๆ คน

ข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความรุนแรงในโรงเรียนของเกาหลีใต้ :

วังตา (왕따) ผู้ถูกไล่ล่า เหยื่อ : 

อ้างอิงจากข้อมูลของ กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ (Republic of Korea Ministry of Education) ที่มีการทำแบบสำรวจนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในช่วงระหว่างปี 2019-2022 พบว่า...

ปี 2019 :
จากผลสำรวจนักเรียนตั้งแต่ระดับ ป.4 - มัธยมปลายรวม 3.72 ล้านคน
เคยพบประสบการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน 1.6% (59,520 คน)
โดยแยกเป็นระดับประถมศึกษา 3.6%, มัธยมต้น 0.8%, มัธยมปลาย 0.4%

ส่วนพฤติกรรมการกลั่นแกล้งประกอบด้วย 1. ถูกใช้ความรุนแรงทางวาจา 35.6% 2. รวมกลุ่มกลั่นแกล้ง 23.2% 3. Cyberbullying 8.9% 4. ทำร้ายร่างกาย 8.6%

ปี 2020 :
จากผลสำรวจนักเรียนตั้งแต่ระดับ ป.4 - มัธยมปลาย รวม 3.57 ล้านคน
เคยพบประสบการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน 0.9% (32,130 คน)
โดยแยกเป็นระดับประถมศึกษา 1.8%, มัธยมต้น 0.5%, มัธยมปลาย 0.2%

ส่วนพฤติกรรมการกลั่นแกล้งประกอบด้วย 1. ถูกใช้ความรุนแรงทางวาจา 33.6% 2. รวมกลุ่มกลั่นแกล้ง 26% 3. Cyberbullying 12.3%

**หมายเหตุ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่เรียนออนไลน์**

...

ปี 2021 :
จากผลสำรวจนักเรียนตั้งแต่ระดับ ป.4 - มัธยมปลายรวม 2.95 ล้านคน
เคยมีประสบการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน 1.1% (32,450 คน)
โดยแยกเป็นระดับประถมศึกษา 2.5%, ระดับมัธยมต้น 0.4%, ระดับมัธยมปลาย 0.2%

ส่วนพฤติกรรมการกลั่นแกล้งประกอบด้วย 1. ถูกใช้ความรุนแรงทางวาจา 41.7% 2. รวมกลุ่มกลั่นแกล้ง 14.5% 3. ทำร้ายร่างกาย 12.4% 4. Cyberbullying 9.8%

ปี 2022 :
จากผลสำรวจนักเรียนตั้งแต่ระดับ ป.4 - มัธยมปลายรวม 3.21 ล้านคน
เคยมีประสบการณ์ความรุนแรงในโรงเรียน 1.7% (54,570 คน)
โดยแยกเป็นระดับประถมศึกษา 3.8%, มัธยมต้น 0.9%, มัธยมปลาย 0.3%

ส่วนพฤติกรรมการกลั่นแกล้งประกอบด้วย 1. ถูกใช้ความรุนแรงทางวาจา 41.8% 2. ทำร้ายร่างกาย 14.6% 3. รวมกลุ่มกลั่นแกล้ง 13.3% 4. Cyberbullying 9.6%

จากข้อมูล 4 ปีหลังสุดนี้จะเห็นได้ว่า ปัญหาความรุนแรงจากการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของเกาหลีใต้ ยังคงมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เพราะแม้แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ต้องหันมาใช้วิธีเรียนออนไลน์จนทำให้นักเรียนไม่ค่อยได้พบปะกัน "วิธีการกลั่นแกล้งก็ถูกปรับเปลี่ยนไปใช้ Cyberbullying จนมีสถิติพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ" ซ้ำร้ายไปกว่านั้นจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เมื่อโรงเรียนในเกาหลีใต้กลับมาเปิดเรียนได้ตามปกติในช่วง 2 ปีหลังสุดนี้ สถิติการกลั่นแกล้งในโรงเรียนได้เริ่มปรับตัวกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งแล้ว

...

อิลจิน (일진) ผู้ไล่ล่า อันธพาลในโรงเรียน : 

บทลงโทษผู้ใช้ความรุนแรงภายในโรงเรียน :

บทลงโทษสำหรับผู้ใช้ความรุนแรง (กลั่นแกล้ง) ในโรงเรียนของเกาหลี มีทั้งหมด 9 ระดับ ประกอบด้วย...

ระดับที่ 1 ซึ่งเป็นการลงโทษที่เบาที่สุด คือ การขอโทษเหยื่อเป็นลายลักษณ์อักษร
ระดับที่ 2 ห้ามติดต่อสื่อสารกับเหยื่อ
ระดับที่ 3 ทำงานด้านบริการให้กับโรงเรียน
ระดับที่ 4 ทำงานด้านบริการให้กับชุมชน
ระดับที่ 5 เข้าโปรแกรมการศึกษาพิเศษหรือโปรแกรมบำบัดพฤติกรรม
ระดับที่ 6 พักการเรียนชั่วคราว
ระดับที่ 7 ห้ามเข้าห้องเรียน
ระดับที่ 8 ย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่น
ระดับที่ 9 ถูกไล่ออกจากโรงเรียน

ทั้งนี้จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ พบว่าในช่วงระหว่างปี 2016-2019 มีผู้ที่ได้รับบทลงโทษระดับที่ 1 (ขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษร) รวม 73,912 กรณี ส่วนอีก 50,051 กรณี ได้รับบทลงโทษระดับที่ 2 (ห้ามติดต่อเหยื่อ) ในขณะที่อีก 37,373 กรณี ถูกบทลงโทษระดับที่ 3 (ทำงานด้านบริการให้กับโรงเรียน) และอีก 46,194 กรณี ได้รับบทลงโทษระดับที่ 5 (โปรแกรมการศึกษาพิเศษหรือบำบัดพฤติกรรม)

...

ส่วนผู้ที่ถูกลงโทษในระดับที่ 8 (ย้ายไปโรงเรียนอื่น) มีจำนวน 7,895 กรณี และผู้ถูกลงโทษขั้นรุนแรงที่สุด คือระดับที่ 9 ถูกไล่ออกจากโรงเรียน มีจำนวนเพียง 625 กรณี

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ถูกบทลงโทษดังกล่าว บันทึกประวัติพฤติกรรมการกลั่นแกล้งเหยื่อทั้งหมดจะถูกลบทิ้งภายในระยะเวลา 2 ปี หลังจากเรียนจบ ซึ่งนั่นเท่ากับว่า “ผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้” นอกจากจะกลายเป็นผู้ที่มีประวัติขาวสะอาดหลังพ้นกำหนดระยะเวลาสั้นๆ แล้ว ยังนับเป็นการเปิดโอกาสสำหรับ “การออกล่าเหยื่อคนใหม่ได้” อีกครั้งด้วย และนั่นจึงทำให้ “เกิดคำถามใหญ่ขึ้นว่า...บทลงโทษเหล่านี้ เพียงพอต่อการชดเชยให้กับเหยื่อที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกทารุณกรรมอย่างแสนสาหัสหรือไม่?”

ความพยายามแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของเกาหลีใต้ :

ผลสำรวจปี 2020 ของกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้พบเรื่องที่น่าตกตะลึงที่ว่า สาเหตุที่นำไปสู่การกลั่นแกล้งในโรงเรียน มากถึง 28.1% (จากจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมการสำรวจรวม 9,000 คน) ให้เหตุผลว่า เป็นเพียงการหยอกล้อเล่นๆ ในขณะที่ 19.2% เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษ! ส่วนอีก 14.7% อ้างว่าสาเหตุของการกลั่นแกล้งเกิดจากพฤติกรรมและรูปลักษณ์ของเหยื่อที่ดูแปลกประหลาด

ในขณะที่จำนวนของผู้ตกเป็นเหยื่อมากถึง 6% ตอบแบบสำรวจว่า “ไม่เชื่อว่าจะมีใครให้ความช่วยเหลือพวกเขาจากการถูกกลั่นแกล้งได้!” ซึ่งหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่สนับสนุนประเด็นนี้ คือ จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ พบว่า แม้จะมีกล้องวงจรปิดมากถึง 18,179 ตัว ในโรงเรียนทั่วกรุงโซล แต่ในจำนวนนี้มากถึง 93% เป็นกล้องที่มีคุณภาพต่ำจนไม่สามารถระบุตัวผู้ที่ก่อเหตุและเหยื่อได้อย่างชัดเจน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สถานที่ในโรงเรียนที่มักนิยมใช้ในการทารุณกรรมเหยื่อ เช่น ห้องน้ำ และในห้องเรียนส่วนใหญ่ ยังไม่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดอีกด้วย

ขณะเดียวกัน “ครู” ส่วนใหญ่โดยเฉพาะครูประจำชั้น ยังมักลังเลที่จะให้ความช่วยเหลือเหยื่อหรือแสดงความรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังด้วย อันเป็นผลมาจากโรงเรียนส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ตัดทอนงบประมาณลง จนทำให้สัดส่วนครูสัญญาจ้างระยะสั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวในช่วงระหว่างปี 2008 - 2012 จนเป็นผลให้ ณ ปัจจุบัน สัดส่วนครูทั่วประเทศถึง 1 ใน 10 เป็นครูสัญญาจ้างระยะสั้น

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีใต้ จึงเดินหน้าอย่างจริงจังในการหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการผลักดัน กฎหมายป้องกันและแก้ไขความรุนแรงในโรงเรียน (School Violence Prevention and Countermeasures Act) ซึ่งครอบคลุมการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบมากขึ้น และมีการบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หนึ่งในมาตรการที่ต้องการแสดงให้สังคมเห็นว่า “ครั้งนี้เอาจริง” ในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือ ความพยายามแก้ไขกฎหมายการรับโทษอาญา (จำคุก) ของเยาวชน ด้วยการลดอายุขั้นต่ำของผู้ต้องรับโทษทางอาญาจาก 14 ปี ลงมาอยู่ที่ 13 ปี และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาเกาหลีใต้

หลังหลายๆ กรณีในช่วงระยะหลังมานี้ มีการใช้ความรุนแรงกลั่นแกล้งเหยื่ออย่างทารุณโหดร้ายจนบางครั้งเกือบเสียชีวิต รวมไปจนกระทั่งถึงมีพฤติกรรมกดดันและคุกคามจนทำให้เหยื่อถึงขั้นตัดสินใจฆ่าตัวตาย จนทำให้สังคมเกาหลีใต้ตั้งคำถามขึ้นด้วยความตื่นตระหนกว่า “นี่คือการกระทำของเด็กจริงหรือ?”

*** หมายเหตุ ตาม "กฎหมายเยาวชนของเกาหลีใต้ (Juvenile Law)" ซึ่งบังคับใช้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ฉบับแก้ไขปรับปรุงล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2007 ระบุว่า ผู้ที่มีอายุระหว่าง 10-14 ไม่ต้องรับผิดทางอาญาจากการกระทำผิดกฎหมาย และจะอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลแผนกคดีเยาวชน ซึ่งมีบทลงโทษสถานเบา เช่น การทำงานบริการสังคม หรือถูกกักตัวในสถานพินิจเด็กและเยาวชน เป็นต้น ***

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก Jutaphun Sooksamphun

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง