หลังจากในตอนที่แล้ว “เรา” พูดเรื่องความคล้ายคลึงระหว่าง “Soonyang Group” และ “Samsung Group” กันไปแล้ว ในตอนนี้ “เรา” ลองไป “ทบทวน” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ที่ปรากฏอยู่ใน “Reborn Rich” และนำไปสู่จุดพลิกผันในซีรีย์ในแบบ “ไม่สปอยล์ เนื้อหา” กันต่อ

ในเมื่อลำดับชีวิตการ Reborn ของ “ชิน โดจุน” (Jin Dojun) คาแรกเตอร์นำจาก ซีรีย์สุดฮิต “Reborn Rich” ซึ่งรับบทบาทโดย “ซง จุงกิ” (Song Joong Ki) เริ่มต้นขึ้นในปี 1987 ก่อนจะค่อยๆผันแปร “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์" ตั้งแต่ยุค 80 จนถึง ยุค Millennium เพื่อฟูมฟักทรัพย์สินผ่าน “มิราเคิลอินเวสต์เมนต์” เพื่อนำไปใช้ล้างแค้น “ชนชั้นช้อนทอง” ซุงยัง กรุ๊ป

...

แล้วระหว่างยุค 80 ถึง ต้นยุค 2000 มีเหตุการณ์สำคัญอะไรที่ผู้มาจากอนาคตอย่าง “จิน โดจุน” หยิบฉวยไปใช้บ้าง? วันนี้ “เรา” ไปลองทบทวนกันในแบบ “ไม่สปอยล์ เนื้อหาของซีรีย์ Reborn Rich” กันดู

เหตุการณ์ที่ 1 :

29 พ.ย.1987 : เครื่องบินโดยสารโคเรียนแอร์ถูกลอบวางระเบิด

เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 707 ของ สายการบินโคเรียนแอร์ ไฟลท์ 858 แบกแดด-โซล ประเทศเกาหลีใต้ ระเบิดเหนือทะเลอันดามัน ขณะกำลังบินมาแวะพักเครื่องครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทย เป็นเหตุให้ผู้โดยสาร 104 คน และลูกเรืออีก 11 คน เสียชีวิตทั้งหมด

จากการสืบสวนพบว่า สาเหตุของการระเบิดในครั้งนี้ เป็นฝีมือของ "สายลับเกาหลีเหนือ 2 คน" โดยสายลับซึ่งเป็นชายและหญิง ที่ใช้ชื่อและหนังสือเดินทางปลอมของญี่ปุ่น ได้แอบติดตั้งระเบิดที่ซุกซ่อนเอาไว้ในวิทยุเหนือห้องโดยสาร ระหว่างการแวะพักเครื่องครั้งแรกที่ กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ โดยหลังจากเสร็จภาระกิจแอบติดตั้งระเบิดเรียบร้อยแล้ว สายลับเกาหลีเหนือทั้ง 2 คน ไม่ได้กลับไปขึ้นเครื่องและได้หลบหนีออกจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ก่อนจะไปจนมุมและถูกจับกุมได้ที่สนามบินประเทศบาห์เรน ขณะกำลังรอเครื่องเพื่อบินต่อไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลี

อย่างไรก็ดีขณะถูกจับกุมสายลับชายได้ตัดสินใจกัดแคปซูลยาพิษที่ซ่อนอยู่ในบุหรี่จนเสียชีวิต ส่วนสายลับหญิง ไม่ได้กระทำอัตวินิบาตกรรมตามไป และได้ถูกจับกุมตัวไปทำการสอบสวนจนรับสารภาพ

โดยสายลับหญิงรายนี้อ้างว่า สาเหตุของการลอบวางระเบิดในครั้งนี้ มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อเป็นการ “ข่มขวัญ” ประเทศเกาหลีใต้ ที่กำลังอบอวลไปด้วยความยินดีปรีดาสำหรับการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 1988

...

เหตุการณ์ที่ 2 :

2 ก.ค. 1997 : ไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี "พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ" ประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” และลุกลามไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย รวมถึงเป็นการดับความหวังการก้าวขึ้นเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชียของไทยไปในที่สุดด้วย

โดยการประกาศ “ลอยค่าเงินบาท” ได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกครั้งใหญ่ทั่วเอเชีย เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า “สกุลเงิน” อื่นๆในภูมิภาคอาจตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงแบบเดียวกับไทย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีสถานะหนี้ต่างประเทศใกล้เคียงกัน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ เกาหลีใต้ เป็นเหตุให้ประเทศเหล่านี้ต้องประสบปัญหา “เงินไหลออกอย่างกระทันหัน” อีกทั้งยังไม่สามารถกู้ยืมเงินในระยะสั้นได้ ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือ บริษัทยักษ์ใหญ่และสถาบันการเงินภายในประเทศส่วนใหญ่ต้องถึงกาลล่มสลาย และในท้ายที่สุดประเทศต้องไปขอความช่วยเหลือจาก "กองทุนการเงินระหว่างประเทศ" หรือ IMF ในบั้นปลาย

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ “ประเทศเกาหลีใต้” ซึ่งเลือกใช้กลยุทธการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้แรงหนุนการขยายตัวของภาคการส่งออกและเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยสูงและอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เพื่อดูดซับเงินจากต่างประเทศและเอื้ออำนวยต่อการส่งออกเช่นเดียวกับประเทศไทย นั้น ค่าเงินวอน “อ่อนค่าลง” มากกว่า 50% ในช่วง 6 เดือนแรกของวิกฤต (อ่อนค่ามากที่สุดที่ 2,000 วอน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 844 วอน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐก่อนเกิดวิกฤต)

...

ขณะที่ GDP ต่อหัวลด ลงถึง 18.5% ในช่วงระหว่างปี 1996-1997 รวมถึงต้องไปขอความช่วยเหลือจาก IMF ด้วยเม็ดเงินรวมสูงถึง 59,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทย 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

นอกจากนี้ ยังมี "แชโบล" (Chaebol) ถึง 11 ตระกูล ที่ต้องล้มละลายลง ในขณะที่อีกมากกว่า 10 ตระกูลจากทั้งหมด 50 ตระกูล มีความเสี่ยงที่จะล้มละลายจากผลพวงวิกฤตดังกล่าวในปี 1997 ด้วย!

เหตุการณ์ที่ 3 :

15 พ.ค.1997 : Amazon เปิด IPO วันแรก

จากร้านขายหนังสือออนไลน์ที่สุดแสนธรรมดาและได้กำรี้กำไรเพียงเล็กน้อย แถมสถานที่ก่อตั้งบริษัทยังเป็นเพียงโรงรถเก่าๆในบ้านเช่า จากเงินทุนเพียง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้แม้แต่เจ้าของอย่าง “เจฟฟ์ เบซอส” ยังต้องลงมือบรรจุหีบห่อส่งสินค้าด้วยตัวเอง

หากแต่ในเวลาต่อมาบริษัทที่ว่านี้ ได้กลายร่างเป็น อภิมหา E-Commerce อันทรงอิทธิพลในระดับโลก ที่มีชื่อว่า “แอมะซอน” (Amazon) ซึ่งเปิด IPO วันแรกในช่วงกลางปี 1997 ในราคาเพียง 18 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น 

...

ขณะที่ปัจจุบันหุ้นของ “แอมะซอน” อยู่ที่ 85.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น (สิ้นสุดวันที่ 27ธ.ค.22) และจากรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2022 บริษัทสร้างยอดขายสุทธิ 127,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีกำไรก่อนหักภาษี 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เหตุการณ์ที่ 4 :

19 ธ.ค.1997 : TITANIC ออกฉายรอบปฐมทัศน์

มันคือ ภาพยนตร์ทุนสร้างสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของฮอลีวูดด้วยเม็ดเงินถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลพวงมาจากการถ่ายทำที่ล่าช้าและเต็มไปด้วยความปราณีตและละเอียดอ่อนในทุกมิติของ “เจมส์ คาเมรอน” ผู้กำกับ หนำซ้ำมันยังเป็นภาพยนตร์ที่มีความยาวมากถึง 3 ชั่วโมง 14 นาที จนส่งผลให้โรงภาพยนตร์ฉายได้น้อยรอบต่อวันซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อการ “สร้างรายได้” ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในฮอลีวูดจึงเชื่อมั่นว่า “เรือยักษ์ลำนี้” จะกลายเป็น "ภาพยนตร์ที่ล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์"

หากแต่ “ความจริงที่เกิดขึ้น” คือ "TITANIC" กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์สุดฮิตตลอดกาลและมีคนยอมจ่ายเงินซื้อตั๋วเข้าไปดูซ้ำ “ตำนาน รักแจ็กกับโรส” อย่างไม่รู้เบื่อ จนกระทั่งหนังทำเงินรวมทั่วโลกไปถึง 2,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐในบั้นปลาย! ส่วนในเกาหลีใต้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำเงินไปรวม 17,287,679 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เหตุการณ์ที่ 5 :

1 ม.ค. 2000 : ความเสี่ยงวิกฤต Y2K

ก่อนที่ “Y2K” จะถูกนำชื่อมาใช้ในวงการแฟชั่น ณ ปัจจุบัน หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนเข้าสหัสวรรษ “Y2K” ซึ่งย่อมาจาก “Year 2 Thousand” คือชื่อที่สื่อถึง “ความน่าสั่นสะพรึง” ซึ่งขยายความหวาดกลัวไปทั่วโลก เพราะมันอาจทำลายล้างอารยธรรมส่วนใหญ่ในโลกให้ล่มสลาย จากการที่ “คอมพิวเตอร์ทั่วโลก” ที่ควบคุม อุตสาหกรรม , ระบบการเงินการธนาคาร , หรือแม้แต่ระบบควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ “ไม่เข้าใจ” การเปลี่ยนผ่านจากวันที่ 31 ธันวาคม ปี 1999 ไปสู่วันที่ 1 ม.ค. ปี 2000 จนอาจย้อนกลับไปทำงานราวกับว่ามันทำงานอยู่ในปี 1900 หรือ เมื่อเกือบหนึ่งศตวรรษก่อน อันเป็นผลมาจากคอมพิวเตอร์ในยุคอดีตสามารถเก็บข้อมูลได้ไม่มากนัก จึงมีการเขียนโปรแกรมปฏิทินในระบบปฏิบัติการด้วยการแสดงตัวเลขเพียง 2 หลัก ไม่ใช่ 4 หลัก ด้วยเหตุนี้ มันจึงอาจทำให้คอมพิวเตอร์บางเครื่อง ที่ยังไม่ได้มีการออกแบบระบบปฏิบัติการให้คลอบคลุมถึงปี 2000 อาจทำงานผิดพลาดขึ้นได้

แต่แล้วในที่สุด...โลกของเรา ก็ผ่าน ความน่าสะพรึงที่ว่านี้ จนสามารถเรียก “Y2K” ว่าเป็นแฟชั่นที่รวมความสนุกในการแต่งตัวและความไร้ขีดจำกัดมารวมไว้ด้วยกันเช่นในปัจจุบันแทนในที่สุด

เหตุการณ์ที่ 6 :

11 ก.ย. 2001 : ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถูกก่อวินาศกรรม

ยากที่จะลืมสำหรับเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก โดยนอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากแล้ว มันยังมีผลทำให้มูลค่าของตลาดวอลสตรีทหายไปมากกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเทขายอย่างตื่นตระหนกของบรรดานักลงทุนในวันถัดมา จนต้องมีการประกาศปิดทำการจนถึงวันที่ 17 กันยายน ซึ่งถือเป็นการปิดที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เกิด "The Great Depression" หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

โดยอุตสาหกรรมการบิน โรงแรม ท่องเที่ยว และ ประกันภัย กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุก่อวินาศกรรมในครั้งนี้มากที่สุด และเป็นเหตุให้ต้องมีการปรับลดพนักงานลงจำนวนมาก จนกระททั่งทำให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดว่า ผลพวงจากเหตุวินาศกรรมดังกล่าวอาจฉุดให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ดี การประกาศสงครามต่อต้านการก่อร้ายอย่างชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนนำไปสู่การส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา รวมถึงการประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ได้กระตุกความเชื่อมั่นของนักลงทุนจนทำให้ วอลสตรีทกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายนได้อีกครั้งภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟฟิก sathit chuephanngam

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง