วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2484 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ค่ายกักกัน สตาลาก 8-เอ (Stalag VIII–A) ใกล้เมืองเกอร์ลิทซ์ ประเทศโปแลนด์
อากาศหนาวเหน็บ แต่ก็ไม่เหน็บหนาวบาดเข้าไปถึงกระดูก เท่ากับจิตใจของผู้ถูกจับมากักขังจากผลของสงครามที่ตนไม่ได้ก่อ
แต่ในสภาพอันแสนจะหดหู่และสิ้นหวัง ก็พลันมีเสียงดนตรีดังขึ้น
เป็นดนตรีการแสดงสดครั้งแรกของบทเพลง “Quartet For The End Of Time” (บทเพลงสี่ชิ้นสำหรับจุดจบของเวลา) แต่งโดย โอลิวิเยร์ เมสซิแอน (Olivier Messiaen) นักแต่งเพลง นักเปียโน และนักปักษีวิทยา ชาวฝรั่งเศส ที่ถูกจับมาขังอยู่ที่ค่ายกักกัน
แต่ในสภาพอันแสนสุดจะ “หมดหวัง” เมสซิแอน ก็ไม่ยอมแพ้ และโชคดีที่ก็มีผู้คุมเยอรมันคนหนึ่งอนุญาตและช่วยหาอุปกรณ์พื้นฐานเท่าที่จะหาได้ให้ เมสซิแอน
บทเพลง “Quartet For The End Of Time” จึงเกิดขึ้นได้ และเมสซิแอน กับนักดนตรีอีกสามคน ซึ่งก็เป็นผู้ถูกกักขังเช่นเดียวกัน จึงได้เปิดการแสดงครั้งแรกแก่ผู้ชม ทั้งนักโทษ และผู้คุมหลายร้อยคน
...
ในมหากาพย์มีเพลง!
ในตำนาน และวรรณคดี ก็มีเพลง!
มหากาพย์ “The Iliad” (สงครามกรุงทรอย) ของ โฮเมอร์ มี เทพอะพอลโล เป็นเทพแห่งดนตรี
ตำนาน “โรบินฮูด” แห่งป่าเชอร์วูด ประเทศอังกฤษ มีอะแลน-อะ-เดล (Alan-A-Dale) หรือ วิลล์ สคาร์เลต (Will Scarlet) เป็นวณิพกขับขานเรื่องราวของจอมโจรผู้ปล้นคนรวยแล้วนำทรัพย์สินที่ปล้นได้ไปแจกคนจน
วรรณคดีไทย “กากี” มีคนธรรพ์ กึ่งมนุษย์กึ่งเทวดา เชี่ยวชาญการเล่นดนตรี แต่งบทกลอน ขับร้องถวายแด่ท้าวพรหมทัต แห่งนครพาราณสี
ทุกคนที่ชื่นชอบมหากาพย์ ตำนาน หรือวรรณคดี ล้วนจดจำเรื่องราวความยิ่งใหญ่แห่งวีรกรรม ความกล้าหาญ ความเสียสละ ความรัก และมิตรภาพ ในมหากาพย์ ตำนาน หรือวรรณคดีได้อย่างดี แต่มักจะไม่นึกถึง “ดนตรี” หรือ “เพลง” ขึ้นมาด้วยในทันที
ทั้งๆ ที่ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่าน เช่นเดียวกับผู้เขียนเอง ก็เห็นความสำคัญของ “ดนตรี” หรือ “เพลง” ในมหากาพย์ ตำนาน และวรรณคดี (ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็ให้ลองนึกถึงภาพยนตร์ที่ไม่มีเสียงดนตรี หรือเพลงประกอบ)
“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปโฟกัสในส่วนของ “ดนตรี” หรือ “เพลง” ในมหากาพย์ของชีวิตจริง ซึ่งอาจจะไม่ยิ่งใหญ่อย่างครบเครื่อง เท่ามหากาพย์ของโลก
แต่ในมุมมองหนึ่งก็อาจจะยิ่งใหญ่กว่า มหากาพย์ของโลก เพราะเป็น “มหากาพย์ของชีวิตจริง”
มหากาพย์ของชีวิตจริง เรื่องแรกที่ผู้เขียนขอกล่าวถึงก็คือเรื่องของ โอลิวิเยร์ เมสซิแอน กับ “บทเพลงดนตรีสี่ชิ้นสำหรับจุดจบของเวลา” นั่นเอง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้น เมสซิแอน ถูกเกณฑ์ทหาร ถูกจับ ถูกส่งเข้าค่ายกักกันสตาลาก 8-เอ เป็นเวลาเก้าเดือน จึงได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2484
บทเพลง “Quartet For The End Of Time” ที่เล่นด้วยเครื่องดนตรีสี่ชิ้น คือ เปียโน, ไวโอลิน, เชลโล และปี่คลาริเน็ต บอกเล่าเรื่องราวจากพระคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งวาระสุดท้ายของโลกที่ยกแขนสู่สวรรค์ กล่าวว่า “จะไม่มีเวลาอีกแล้ว!”
หลังจากถูกปล่อยตัวจากค่ายกักกัน เมสซิแอน ก็ได้สร้างผลงานดนตรีอีกมากมาย จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2535 ขณะมีอายุ 84 ปี และ “Quartet For The End Of Time” ก็เป็นหนึ่งในบทเพลงที่สำคัญของโลก
...
ชีวิตและบทเพลง “Quartet For The End Of Time” ของเมสซิแอน จึงเป็นมหากาพย์แห่งบทเพลงของชีวิตจริง ที่สร้าง “กำลังใจ” และ “ความหวัง” ในภาวะที่ทุกข์เข็ญ หดหู่อย่างแสนสาหัส
โอลิวิเยร์ เมสซิแอน เป็นตัวอย่างเรื่องราวของ มหากาพย์แห่งชีวิตจริง ที่มีช่วงเวลาแสนสาหัส แต่ก็มีอายุยืนยาวกว่าแปดสิบปี
ในโลกของดนตรีและเพลง มีมหากาพย์แห่งชีวิตจริงของนักร้องหลายคนที่สร้างความสุขให้กับคนทั้งโลก หรือทั้งประเทศ ที่มีอายุสั้นอย่างน่าเสียดาย
ตัวอย่างนักร้องระดับโลกที่จากโลกเร็วเกินไป เช่น แฮงค์ วิลเลียมส์ เจ้าของเพลง Your Cheatin‘s Heart จากโลกไปเมื่ออายุเพียง 30 ปี จอห์นนี ฮอร์ตัน เจ้าของเพลง All For The Love Of A Girl จากโลกไปเมื่ออายุ 35 ปี บัดดี้ ฮอลลี เจ้าของเพลง That’s Be The Day จากโลกไปเมื่ออายุเพียง 23 ปี และเอลวิส เพรสลีย์ จากโลกไปเมื่ออายุ 42 ปี
...
นักร้องไทยที่จากโลกเร็วเกินไป เช่น สุรพล สมบัติเจริญ เจ้าของเพลง 16 ปีแห่งความหลัง จากโลกไปเมื่ออายุ 33 ปี ชาตรี ศรีชล เจ้าของเพลง สาวผักไห่ จากโลกไปเมื่ออายุ 40 ปี บุปผา สายชล เจ้าของเสียงเพลง ยมบาลเจ้าขา จากโลกไปเมื่ออายุ 43 ปี และพุ่มพวง ดวงจันทร์ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 31 ปี
ทุกชีวิตนักร้องผู้สร้างความสุขให้กับโลก และประเทศ ล้วนมีเรื่องราวเป็นมหากาพย์แห่งเพลงของตนเอง แต่ “เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำมหากาพย์แห่งเพลงอย่างย่อๆ ของนักร้องระดับโลกหนึ่งคน คือ เอลวิส เพรสลีย์ และระดับประเทศไทยของเราหนึ่งคน คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ มา “ทบทวน” และ “รำลึกถึง” กับท่านผู้อ่าน
“ก่อนเอลวิส ไม่มีอะไรเลย!” คำกล่าวของ จอห์น เลนนอน
“ถ้าไม่มีเอลวิส ก็ไม่มี คลิฟฟ์ ริชาร์ด” คำกล่าวของ คลิฟฟ์ ริชาร์ด
...
ในมหากาพย์ หรือตำนาน มีเรื่องราวของวีรบุรุษ ผู้มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็น “อัศวิน” ผู้กล้าหาญ ช่วย “แม่หญิง” ที่ตกอยู่ในอันตราย ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ยึดมั่นในศักดิ์ศรี เกียรติศักดิ์ และสัจจะ
เอลวิส เพรสลีย์ มีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักร้อง และก็ต้อง “อดทน” มุ่งมั่น สร้างความใฝ่ฝันให้เป็นความจริง
เมื่อเรียนอยู่ชั้นเกรด 8 เอลวิส สอบวิชาดนตรีได้เกรดซี และครูสอนดนตรีก็บอกกับเอลวิส ว่า “เธอร้องเพลงไม่เป็น!” และเมื่อหนุ่มน้อยเอลวิส (ทำงานเป็นคนขับรถบรรทุก) สมัครเข้าทดสอบเพื่อเป็นนักร้อง ก็ถูกผู้ทดสอบบอกว่า “คุณขับรถต่อไปดีกว่า เพราะคุณไม่มีทางจะเป็นนักร้องได้หรอก!”
และเมื่อความฝันของเอลวิสเป็นจริงขึ้นมา ก็เช่นเดียวกับหลายเรื่องราวในมหากาพย์หรือตำนาน ที่ “เกียรติยศ” “ชื่อเสียง” ของวีรบุรุษ ก็มากับ “ความเจ็บปวด” “ความสูญเสีย” ด้วย
เอลวิส เกิดวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2478 ที่เมืองภูเพลโล รัฐมิสซิสซิปปี เติบโตในเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี เริ่มต้นอัดแผ่นเสียง (ด้วยเงินตนเอง) กับบริษัทอัดเสียง ซัน (Sun) เพื่อมอบให้ “แม่”
จุดพลิกผันสำคัญสู่ความมีชื่อเสียงของเอลวิสเริ่มต้นกับ ผู้พันทอม ปาร์กเกอร์ ในฐานะผู้จัดการส่วนตัว และการอัดแผ่นเสียงเพลง Heartbreak Hotel กับ บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเพลง คือ อาร์ซีเอ (RCA)
Heartbreak Hotel เป็นเพลงแรกของ เอลวิส ติดอันดับหนึ่งของ Billboard และรายได้เกินหนึ่งล้านแผ่น
ต่อจากนั้นมากับแผ่นเสียงที่ออกต่อเนื่องรายการโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ความฝันของเอลวิส ก็เป็นจริง และก็เป็นจริง “มากกว่า” ที่เอลวิสเคยฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเอลวิสซื้อบ้านเป็นคฤหาสน์เกรซแลนด์ให้กับแม่ ตามที่เอลวิสเคยบอกแม่ว่า “สักวันหนึ่ง ผมจะซื้อบ้านให้แม่อยู่”
นอกเหนือไปจากการเป็นนักร้อง ความใฝ่ฝันยิ่งใหญ่อีกความฝันหนึ่งของ เอลวิส คือ การเป็น นักแสดง (ภาพยนตร์)
แล้วความฝันอยากเป็นนักแสดงของ เอลวิส ก็เป็นความจริง กับภาพยนตร์เรื่องแรก Love Me Tender
ตามมาด้วยภาพยนตร์รวมทั้งหมด 31 เรื่อง
แต่ส่วนใหญ่ภาพยนตร์ของเอลวิส เป็นภาพยนตร์เพลงเบาสมอง
ในขณะที่ เอลวิส อยากจะแสดงภาพยนตร์ดราม่า
เอลวิส จึงไม่มีความสุขนักกับผลงานภาพยนตร์ และเมื่อหมดสัญญาภาพยนตร์ โดยมี Change Of Habbit เป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย ออกฉายปี พ.ศ.2512 เอลวิส ก็เลิกแสดงภาพยนตร์ และหันมาทุ่มเทให้กับการแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างเยี่ยมยอด จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิตในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2520 ที่คฤหาสน์เกรซแลนด์
ความฝันอีกอย่างหนึ่งของเอลวิส หลังหมดสัญญาแสดงภาพยนตร์ คือ การออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลกในยุโรปและเอเชีย
จริงๆ แล้วเอลวิสเคยแสดงคอนเสิร์ตนอกสหรัฐอเมริกาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่กี่ครั้ง และก็เป็นที่ประเทศเดียว คือ แคนาดา
แต่ความฝันออกแสดงคอนเสิร์ตทั่วโลกของเอลวิสก็ไม่เป็นจริง เพราะผู้พันปาร์กเกอร์มีปัญหา ไม่สามารถเดินทางออกนอกสหรัฐอเมริกาได้
ชีวิตของเอลวิสในช่วงหลังหมดสัญญาแสดงภาพยนตร์ ถึงวันสุดท้ายของชีวิต จึงเป็นชีวิตที่ “ถูกจำกัด” อย่างมาก ทำสิ่งที่อยากทำจริงๆ ทุกอย่างไม่ได้ ความสุขอย่างเดียวที่เอลวิสมีก็คือ การแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งเอลวิสก็ทุ่มเทอย่างเต็มที่ จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของชีวิต
มีคำถามว่า ทำไมเอลวิส จึงอายุสั้น?
มีคำตอบ (ทั้งจริงและไม่จริง) มากมาย เช่น เป็นเพราะผู้พันปาร์กเกอร์ทำให้เอลวิส ทำงานหนักเกินไป จึงต้องพึ่งยาเพื่อเสริมสุขภาพและพลัง ถึงข่าวว่า จริงๆ แล้ว เอลวิส ยังไม่ตาย แต่ต้องการ “หนี” ชื่อเสียง เพื่อให้สามารถมีชีวิตอย่างคนธรรมดาทั่วไปได้
คำตอบที่ผู้เขียนเองก็เห็นด้วย คือ คำกล่าวของผู้พันปาร์กเกอร์ ในภาพยนตร์ล่าสุด ประวัติชีวิตของเอลวิส เรื่อง "Elvis" ออกฉายในปี พ.ศ.2565 นี้เอง มีออสติน บัตเลอร์ รับบทเป็น เอลวิส และ ทอม แฮงส์ รับบทเป็น ผู้พันปาร์กเกอร์ ว่า ................
“อะไรฆ่าเอลวิสหรือ? ก็ความรักไงเล่า ความรักที่เอลวิสมีต่อแฟนๆ ของเขา”
จากเอลวิส มาถึง พุ่มพวง ดวงจันทร์!
เรื่องราวชีวิตของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นมหากาพย์ ชีวิตจริง ที่สมควรแก่การยกย่องอย่างที่สุด
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในชื่อจริง รำพึง จิตรหาญ หรือ “ผึ้ง” เกิดวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2504 ที่จังหวัดชัยนาท มาเติบโตที่จังหวัดสุพรรณบุรี ดินแดนถิ่นกำเนิดนักร้องลูกทุ่งแห่งฟ้าเมืองไทยหลายคน เรียนหนังสือถึงชั้น ป.2 ก็ต้องออกจากโรงเรียน ทั้งๆ ที่ยัง “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” มาช่วยทำงานเพราะฐานะครอบครัวยากจน และเป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกรวมทั้งหมด 12 คน
เส้นทางสู่อาชีพนักร้องของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เริ่มต้นตั้งแต่ขณะที่เธอยังเป็นเด็ก ชอบร้องเพลง และก็เข้าแข่งขันประกวดร้องเพลงในงานต่างๆ และก็กวาดรางวัลมามากมาย จนกระทั่ง “ถูกห้าม” ไม่ให้เข้าประกวด เพื่อเปิดโอกาสให้กับคนอื่นๆ
พุ่มพวง ดวงจันทร์ จึงต้องดิ้นรนเพื่อทำความฝันให้เป็นจริง จนกระทั่งใด้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรก คือ “แก้วรอพี่” ของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เมื่อปี พ.ศ.2518 แต่ก็เกิดปัญหาต้องหาสังกัดใหม่ และได้รับการตั้งชื่อให้เป็น “พุ่มพวง ดวงจันทร์” โดย มนต์ เมืองเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2519 จนกระทั่งในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ได้รับการยกย่องเป็น “ราชินีลูกทุ่ง” คนที่สอง ถัดจาก “ราชินีลูกทุ่ง” คนแรก คือ “ผ่องศรี วรนุช”
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ร้องเพลงที่แต่งโดยครูเพลงหลายคน แต่ที่แต่งเพลงให้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ โด่งดังที่สุดก็คือ ลพ บุรีรัตน์ ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ.2548 กับเพลงดังเช่น สาวนาสั่งแฟน, กระแซะเข้ามาซิ, ดาวเรืองดาวโรย, นัดพบหน้าอำเภอ ฯลฯ
หลังประสบความสำเร็จในการร้องเพลง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็ได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ และก็นับเป็นความสำเร็จอย่างน่าทึ่งที่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้แสดงภาพยนตร์รวมทั้งหมดเกือบยี่สิบเรื่อง กับเรื่องแรก “สงครามเพลง” ออกฉายปี พ.ศ.2526 ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร
ชีวิตบนบัลลังก์ “ราชินีลูกทุ่ง” ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นชีวิตที่มีทั้งความสุข กับความฝันที่เป็นจริง เช่นเดียวกับ เอลวิส เพรสลีย์ บนบัลลังก์ “ราชาแห่งร็อกแอนด์โรล” และความกดดันในการรักษาบัลลังก์
แต่กรณีของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เธอต้องเผชิญกับปัญหาความเจ็บไข้ได้ป่วยกับโรค “เอสแอลอี” (SLE) หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง ทำให้เธออ่อนเพลีย และถึงกับ “หมดสติ” ได้ แม้แต่ขณะกำลังร้องเพลงอยู่บนเวที
ความภาคภูมิใจที่สุดอย่างหนึ่งของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ คือ การได้แสดง “พุ่มพวง ดวงจันทร์ อินคอนเสิร์ต” ที่ โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2529
พุ่มพวง ดวงจันทร์ จากโลกนี้ไปในวัยเพียง 31 ปี ในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2535 แต่ก็เช่นเดียวกับ เอลวิส เพรสลีย์ หลังการจากไปของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ผลงานของเธอในฐานะ “ราชินีลูกทุ่ง” ไทย ก็ไม่จางหายไป มีภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์หลายเรื่องที่สร้างจากเรื่องราวชีวิตของเธอ รวมทั้งภาพยนตร์เรื่อง “พุ่มพวง” ออกฉายปี พ.ศ.2554 นำแสดงเป็น พุ่มพวง ดวงจันทร์ โดย เปาวลี พรพิมล
เพลงที่ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นแรงบันดาลใจแก่นักร้องรุ่นใหม่มากมาย
สำหรับผู้เขียน ยอมรับและ “ทึ่ง” ในความสามารถของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่แม้จะ “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” แต่มี “ความจำ” เป็นเลิศ ฟังเพลงใหม่ครั้งเดียวก็จำได้หมด ทั้งเนื้อร้องและทำนอง
ยังมีเรื่องราวมหากาพย์แห่งชีวิตจริงอีกมากมาย และในด้านอื่นๆ นอกเหนือไปจาก ดนตรี และเพลง ท่านผู้อ่านนึกถึงใคร และในด้านอะไรอีกบ้าง?
ที่สำคัญ ตัวท่านผู้อ่านเอง ชีวิตของท่าน ความฝันของท่าน ก็สามารถเป็น มหากาพย์แห่งชีวิตจริงของท่าน ที่ “โลกจะไม่ลืม” ได้ด้วย!