เงิน ! เงิน ! เงิน !

ถึงแม้ปัจจัยสี่ของการดำเนินชีวิต จะไม่มี "เงิน" อยู่ด้วย แต่เบื้องหลังการจะให้ได้ปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร, ที่อยู่อาศัย, เครื่องนุ่งห่ม หรือยารักษาโรค โดยทั่วไปก็คงปฏิเสธได้ยากว่า ไม่ต้องใช้เงิน ...

แล้วอย่างไม่ทั่วไปล่ะ มีใครเป็นตัวอย่างได้ว่า ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน ก็สามารถมีชีวิตอย่างเป็นสุขได้ ?

คำตอบคือ มี !

ตัวอย่างรู้จักกันดีที่สุด คือ เฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau) กวี นักคิด นักเขียน และนักธรรมชาติวิทยา ชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือ Walden (ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2397)

ทอโร ใช้ชีวิตอย่างสันโดษสองปีในป่าลึก ที่บึงวอลเดน ในบ้านหลังเล็กๆ ที่สร้างขึ้นเองจริงๆ จากวัสดุธรรมชาติและของเหลือใช้ ต้องจ่ายเงินสำหรับการสร้างบ้านทั้งหลังจริงๆ เพียง 28 ดอลลาร์ 12 เซนต์ ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุที่หาจากธรรมชาติ หรือของเก่าไม่ได้ เช่น ตะปู, ตะปูควง, บานพับ, สายยู ฯลฯ

ตลอดชั่วชีวิตของ ทอโร เขาปฏิเสธ "วัตถุนิยม" ทุกประเภท รวมทั้งเงินด้วย แต่เขามิใช่จะสามารถมีชีวิตอย่างเป็นสุขเท่านั้น หากชีวิตและความคิดของเขา ยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่บุคคลสำคัญของโลก ดังเช่น มหาตมะ คานธี อีกด้วย

ทว่า ทอโร เป็นกรณีพิเศษจริง สำหรับคนที่พูด และทำอย่างเต็มปากได้ว่า เงินไม่สำคัญ สำหรับคนแทบทั้งหมดทั่วโลก กล่าวอย่างมั่นใจได้ว่า ล้วนเห็นเงิน เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต

แล้วผู้เขียนล่ะ ?

ผู้เขียน ก็ไม่ปฏิเสธ ความสำคัญของเงิน

แต่ประเด็นของเราวันนี้ ผู้เขียนกำลังเชิญชวนท่านผู้อ่าน มาช่วยกันคิดเรื่อง ความสำคัญของเงินว่า สำคัญจริง ๆ แค่ไหน?

...

ผู้เขียน ขอเริ่มต้นชวนท่านผู้อ่านคิดเรื่องความสำคัญของเงิน ด้วยการนำเสนอ "บทสรุป" ประเด็นเรื่องของเรา คล้ายกับการ "สปอยล์" ภาพยนตร์ฉากจบตั้งแต่ต้น

บทสรุปประเด็นเรื่องของเรา ที่ผู้เขียนขอนำมาเสนอตั้งแต่ต้น คือ เงินมีความสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน แต่เป็นความสำคัญ อย่างมีเงื่อนไข!

เงื่อนไขอย่างไร?

เงื่อนไข ที่ผู้เขียนขอนำมาเพื่อชวนท่านผู้อ่านช่วยกันคิด มี 2 เงื่อนไข

หนึ่ง คือ ที่มาของเงิน และสอง คือ การใช้เงิน

แล้วมี "หลักการ" อะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ?

คำตอบ คือ มี!!

เป็น "หลักการ" ตามเป้าหมายของชื่อคอลัมน์ "เชื่อ...คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์" นี้เอง

หลักสำคัญพื้นฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์ คือ หลักของ เหตุ (Cause) และ ผล (Effect) หรือ Causality ซึ่งแตกต่างไปจาก เหตุผล (Reason) เพราะใครจะทำอะไร ก็ล้วนแต่มีเหตุผลทั้งนั้น

คนไปทำร้ายคนอื่น ก็มีเหตุผลของตนเอง เช่น ไม่ถูกชะตา หรือเคยถูกทำร้ายมาก่อน

คนไปลักขโมยของ ก็มีเหตุผล เช่น ก็อยากได้ ก็เพราะหิว ก็เพราะไม่มีเงินซื้อ หรือมีเงิน แต่ก็ขโมย เพราะไม่อยากจ่ายเงิน

แต่ "เหตุและผล" อย่างวิทยาศาสตร์ คือความตระหนักว่า ทุกสิ่งทุกความเป็นไปที่เกิดขึ้น ในทุกระดับ ล้วนเป็น "ผล" ที่มี "เหตุ" เป็นปัจจัยมาก่อน

ถึงแม้มนุษย์แต่ละคน จะมีความคิด ความปรารถนาที่แตกต่างกัน แต่ถ้าถามหา เป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ทุกคนแล้ว ก็คงตอบได้ไม่ยากว่า ทุกคนอยากเป็นคนประสบความสำเร็จ และมีความสุขอย่างแท้จริง

น่าสนใจว่า โดยทั่วไป มักจะเข้าใจกันว่า "ความสำเร็จ"  กับ "ความสุข" เป็นของคู่กันเสมอ

แต่ในความเป็นจริง มันอาจไม่เป็นเช่นนั้น

แล้วเรา (ทุกคนที่อยากประสบความสำเร็จอย่างมีความสุขที่แท้จริง) ควรจะทำอย่างไร?

นี่คือโจทย์ใหญ่ของมนุษย์ตลอดมา ที่ยาก ซับซ้อน และท้าทาย

...

แต่วันนี้ เราจะแตะเฉพาะเรื่องของความสำเร็จอย่างมีความสุขที่แท้จริง ในส่วนที่เกี่ยวกับ เงิน ...

เงิน กับการประสบความสำเร็จ อย่างมีความสุขที่แท้จริง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ชัดเจนลงไปอีก ก็คือ การหาเงิน กับการใช้เงินอย่างไร จึงจะทำให้เกิดความสำเร็จอย่างมีความสุขที่แท้จริง ?

คำตอบที่ดูง่ายๆ และชัดเจน อาจจะผุดขึ้นมาในสมองอย่างทันทีว่า ก็ต้องหาเงินให้ได้มากๆ สิ ยิ่งมากยิ่งดี เพราะหาเงินได้มาก ก็แสดงว่า เป็นคนประสบความสำเร็จ แล้วก็ต้องมีความสุขอย่างแน่นอน เพราะเมื่อมีเงิน อยากได้อะไร อยากมีความสุขอย่างไร ก็ซื้อได้ด้วยเงิน

เป็นคำตอบที่ดูง่าย และชัดเจน ก็จริง และก็ไม่ผิดไปเสียทั้งหมด แต่ไม่ใช่คำตอบที่แสดงถึงความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง ได้ทั้งหมด

แล้วคำตอบ "ถูกที่สุด" เกี่ยวกับ "การหาเงิน" และ "การใช้เงิน" ที่จะทำให้เกิดเป็นความสำเร็จและความสุขอย่างแท้จริง เป็นอย่างไร ?

สำหรับการหาเงิน!

คำตอบตรงที่สุด คือ ต้องหาเงินอย่างถูกต้อง ถูกทาง อย่างสุจริต และต้องใช้เงินอย่างเหมาะสม

เป็นคำตอบที่ดูจะต้องขยาย!

สำหรับการหาเงิน สิ่งที่ควรจะต้องขยาย ก็คือวิธีการหาเงิน ที่จะต้องระวัง หรือตระหนักว่า ไม่ใช่!

ที่จะต้องระวังเป็นพิเศษ คือ การหาเงิน หรือที่มาของเงิน จากแหล่งที่ไม่ถูกต้องหรือผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้มาในทรัพย์สินที่ไม่ควรจะได้รับ ดังเช่น การทุจริต คอร์รัปชัน การโกง การหลอกลวง และการพนัน

...

ระวัง : คำกล่าว "โจรปล้น 10 ครั้ง ยังเหลือบ้าน ไฟไหม้ 10 ครั้ง ยังเหลือที่ เล่นการพนันครั้งเดียว ไม่เหลืออะไรเลย" ยังเป็นจริงเสมอ

อีกอย่างหนึ่งที่ควรจะตระหนักอยู่เสมอ คือ อย่าอยากได้ ในสิ่งที่ไม่สมควรจะได้!

แล้วผิดหรือไม่ ที่อยากมีเงินมากๆ?

ไม่ผิดอย่างแน่นอน!

แต่ต้องตระหนักว่า ต้องได้เงินมากๆ มาอย่างถูกต้อง ถูกทาง และสุจริต ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ดีต่อทั้งประเทศและของโลกด้วย เพราะจะเกิดขึ้นได้เฉพาะกับคนที่ตั้งใจ หรือขยันมากเป็นพิเศษ หรือมีความสามารถมากเป็นพิเศษในเรื่องของการสร้างสรรค์ การสร้างนวัตกรรม หรือทางด้านศิลปะการแสดง เป็นศิลปินระดับชาติ และของโลก

แล้วสำหรับการใช้เงินล่ะ?

การใช้เงินอย่างเหมาะสม เป็นอย่างไร?

อย่างตรงๆ ที่ผู้เขียนเห็น และตระหนัก คือ ต้องไม่ใช้เงินเกินกว่าที่หามาได้!

ดูเหมือนว่า ความคิดเช่นนี้ จะส่งเสริมการเป็น คนใจแคบ ใช่หรือไม่ ?

ผู้เขียนมั่นใจว่า ไม่ใช่เพราะการ "ให้" ของคนเรา ไม่จำเป็นจะต้อง "ให้เงิน" เสมอไป การ "ให้" แก่คนอื่น แก่สังคม แก่โลก มีหลายวิธี ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์ และปัญญา

ถ้าจะถามหาหลักประกันการจัดการเงิน หรือรายได้ดีที่สุด ผู้เขียนยึดหลักที่ได้มาจากคำสอนของคุณครูท่านหนึ่ง (ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา) ว่า ....

เงิน ที่ได้มา ให้แบ่งเป็น สามส่วนเสมอ

...

หนึ่ง เพื่อใช้จ่ายสำหรับชีวิตประจำวัน และที่ต้องรับผิดชอบ

สอง เพื่อเก็บ

และสาม ถ้าเหลือ ก็เป็นรางวัลแก่ชีวิตตนเอง และช่วยคนอื่น

หลักการจัดการเงินนี้ สำคัญเป็นพิเศษในช่วงชีวิตวัยกำลังเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว

หลังจากนั้นล่ะ ?

ถ้ามีฐานการเงินที่มั่นคงพอ ก็สามารถผ่อนคลายส่วนที่หนึ่ง และส่วนที่สองได้ แต่เอาใจใส่ในส่วนที่สามมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยคนอื่น

ตัวอย่างที่ผู้เขียนขอยกมากล่าวถึง คือ โจว เหวินฟะ ดารานักแสดงจีน ผู้สู้ชีวิตทำงานสารพัดชนิดมาก่อน จนกระทั่งประสบความสำเร็จระดับประเทศ และโลก มีทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สินเงินทอง แต่เขาก็ได้เขียนพินัยกรรมมอบทรัพย์สินทั้งหมดของเขากว่า 22,000 ล้านบาท ให้กับองค์กรการกุศลเพื่อผู้ยากไร้ โดยที่ตัวเขาในปัจจุบัน (วัย 67 ปี) กลับใช้ชีวิตอย่างธรรมดาสามัญที่สุด แต่งตัวธรรมดา เดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ กินอาหารอย่างธรรมดา ในร้านอาหารทั่วไปร่วมกับคนอื่นๆ ในฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม "คีย์เวิร์ด" สำคัญที่สุดของความสำเร็จ และความสุขอย่างแท้จริง คือ เงินที่ได้มา ต้องหามาได้อย่างถูกต้อง ถูกทาง และสุจริต แล้วก็จะได้พบกับความสำเร็จและความสุขอย่างแท้จริง

สำหรับท่านที่ไม่ร่ำรวยเป็นเศรษฐี แต่ได้ใช้ชีวิต หาเงินและใช้เงินอย่างถูกต้อง ถูกทาง ถึงแม้จะ "ไม่รวย" ในบรรทัดฐานของสังคม แต่ท่านก็จะ "ไม่จน" อย่างแน่นอน

ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นสรุปรวบยอดอย่างรวบรัดที่สุด เกี่ยวกับเงิน ที่ผู้เขียนยึดตลอดมา ว่า "เงิน สำคัญ แต่ไม่สำคัญที่สุด!" 

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ มีหลักของท่านเองเกี่ยวกับ "เงิน" และ "ความสำคัญของเงิน" อย่างไร?