ท่ามกลางกระแสพลังหญิง หรือ "เฟมินิสต์" (Feminist) ที่ถูกปลุกจนลุกติดโชติช่วงชัชวาลไปทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีหลังที่ผ่านมานี้

หากแต่...ในจักรวาลอุตสาหกรรมดนตรีที่มี "ตัวแม่ระดับแม่เหล็ก" อย่าง "เลดี้กาก้า" (Lady Gaga), "บียอนเซ่" (Beyonce) หรือ "เทย์เลอร์ สวิฟต์" (Taylor Swift) ที่สามารถสร้างเพลงฮิตถล่มชาร์ตได้มากมาย กลับมีสัดส่วนของ "ผู้หญิง" ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตความสุนทรีย์ทางใบหูให้กับชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นทั้งในฐานะศิลปิน นักแต่งเพลง หรือโปรดิวเซอร์ ในระดับที่สามารถผลักดันผลงาน จนกระทั่งขึ้นไปอยู่ในชาร์ตเพลงฮิต หรือถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ ในช่วงระหว่างปี 2012-2020 นั้น...กลับมีสัดส่วนเพียงน้อยนิด จนกระทั่ง อยู่ภายใต้เครื่องหมายคำถามที่ว่า "จำนวนไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ"

แล้วอะไรคือ "หลักฐาน" ที่ยืนยันในประเด็นดังกล่าว?

รายงานวิจัยซึ่งถูกจัดทำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สเตซี แอล สมิธ (Professor Dr.Stacy L. Smith) จากสถาบันแอนเนินเบิร์ก มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย (University of Southern California’s Annenberg Institute) เปิดเผยว่า จากจำนวน 900 เพลงฮิตติดชาร์ต ในช่วงระหว่างปี 2012-2020 มีจำนวนศิลปินหญิงคิดเป็นสัดส่วนเพียง 21.6% ด้านนักแต่งเพลงหญิง คิดเป็นสัดส่วนเพียง 12.6% ในขณะที่ ผู้หญิงที่มีโอกาสนั่งแท่นโปรดิวเซอร์ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.6% เท่านั้น

...

โดยรายงานวิจัยดังกล่าววิเคราะห์มาจากฐานข้อมูลชาร์ตเพลงบิลบอร์ด Hot 100 และรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่สาขาหลักๆ ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา เพื่อพยายามตรวจสอบ "ความขาดแคลนของพลังหญิงในอุตสาหกรรมดนตรี"

และตัวเลขที่แลดูแล้ว...น่าวิตกมากที่สุด คือ จำนวนพลังหญิงในอุตสาหกรรมดนตรีเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นปีแห่งปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมต่างๆ ครั้งใหญ่ที่สุดปีหนึ่ง หลังเกิดโศกนาฏกรรม จอร์จ ฟลอยด์ แต่ค่าเฉลี่ยของจำนวนพลังหญิงที่สามารถผลักดันผลงานเพลงขึ้นติดอันดับท็อปชาร์ต กลับลดต่ำลงกว่าปี 2019 เสียอีก

โดยในปี 2019 มีจำนวนศิลปินหญิงที่ติดอันดับท็อปชาร์ต คิดเป็นสัดส่วน 22.5% ในขณะที่ ปี 2020 ลดลงเหลือเพียง 20.2% ส่วนจำนวนนักแต่งเพลงหญิงในปี 2019 อยู่ที่ 14.4% แต่ในปี 2020 ลดลงเหลือเพียง 12.9%

และแน่นอนหนักที่สุด คือ จำนวนโปรดิวเซอร์หญิงจาก 5% ในปี 2019 ลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น! ในปี 2020 ทำให้ปัจจุบัน ตำแหน่งโปรดิวเซอร์ดูราวกับจะกลายเป็น "อาชีพต้องห้าม" สำหรับสาวๆ ไปแล้ว เพราะค่าเฉลี่ยค่อยๆ ลดต่ำลงอย่างน่าใจหายในเกือบทุกๆ ปี

"อุตสาหกรรมดนตรีอาจเป็นข้อยกเว้นสำหรับเหล่าสาวๆ เพราะมันเป็นสถานที่ที่เหล่าพลังหญิงยังคงถูกปิดกั้นเสียงของพวกเธออยู่" ศาสตราจารย์ ดร.สเตซี แอล สมิธ เจ้าของรายงานวิจัยดังกล่าวตั้งข้อสังเกต

หรือว่า....แฮชแท็กสุดประชดประชัน #GrammysSoMale อันลือลั่นในปี 2018 หลัง อาลิสเซีย คารา (Alessia Cara) กลายเป็นศิลปินหญิงเพียงหนึ่งเดียวที่ก้าวเท้าขึ้นรับรางวัลสาขาศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมในค่ำคืนนั้น ควรจะกลับมากระหึ่มท่วมทุ่งทวิตเตอร์กันอีกครั้งดีนะ!

อย่างไรก็ดี AMY X.WANG คอลัมนิสต์จากนิตยสารดนตรีอันทรงอิทธิพลอย่าง โรลลิงสโตน (Rollingstone) ได้วิเคราะห์สถิติจากรายงานวิจัยดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า...

หากมองดูตัวเลขจากรายงานวิจัยดังกล่าวแบบผิวเผินอาจนำไปสู่บทสรุปที่ทึกทักเอาง่ายๆ ได้ว่า บรรดาครีเอเตอร์พลังหญิงขาดทั้งทักษะและมีประสิทธิภาพน้อยกว่า "ผู้ชาย" ในอุตสาหกรรมดนตรี

แต่หากใครเอา "สถิติตัวเลขเหล่านี้" ไปสรุปเช่นนั้น แสดงว่า ไม่ได้ศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์ หรือพยายามหาข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์มากพอ เพราะในรายละเอียดปลีกย่อยที่ลึกลงไปกว่า "เพียงเฉพาะตัวเลขที่เห็น" มันมีอะไรที่สลับซับซ้อนมากกว่าที่คิดไว้เยอะ

...

หรือใครจะเถียงไหมล่ะว่า ในปัจจุบัน นิคกี้ มินาจ (Nicki Minaj) หรือริฮานน่า (Rihanna) มีเพลงฮิตมากกว่าศิลปินชายเบอร์ใหญ่ๆ อย่าง จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) หรือแม้กระทั่ง เอ็ด ชีแรน (Ed Sheeran)

นอกจากนี้ หากใครยังไม่ทราบ ในอุตสาหกรรมดนตรีที่มีทั้งผู้บริหารที่เป็นผู้ชาย และครีเอเตอร์ชายผนึกกำลังครอบครองมาเนิ่นนานหลายทศวรรษนั้น มักมีวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันระหว่าง "ชายและชาย" เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนั่นเท่ากับ เป็นการจำกัดโอกาสในการลืมตาอ้าปากของเหล่าสาวๆ ไปในตัวส่วนหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จำนวนกว่า 900 เพลงในท็อปชาร์ต 9 ปีที่ผ่านมานี้ จะมีอัตราส่วนของโอกาสที่ผลงานเพลงทั้งหมดจะมาจากงานเขียนเพลงของผู้ชายเพศเดียวสูงถึง 57.3% ในทางกลับกัน หากเปลี่ยนเป็นโอกาสที่นักแต่งเพลงผู้หญิงจะเป็นเจ้าของผลงานเพลงทั้งหมดใน 900 เพลงของท็อปชาร์ต 9 ปีที่ผ่านมานั้น มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้เพียง 1% เท่านั้น!

นอกจากนี้ หากถามว่า...อะไรคือเหตุผลสำคัญที่กั้นขวางโอกาสสำหรับ "ศิลปินหญิง" ในอุตสาหกรรมดนตรีมากที่สุด คำตอบนี้คงหนีไม่พ้น "ปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศ"

...

โดยเมื่อปี 2019 ศาสตราจารย์ ดร.สเตซี แอล สมิธ เจ้าของรายงานวิจัยชิ้นนี้ เคยให้สัมภาษณ์กับโรลลิงสโตนเอาไว้ว่า จากการที่ได้สอบถามบรรดาศิลปินหญิง ถึงประสบการณ์ที่หนักหน่วงที่สุดเวลาที่ต้องทำงานร่วมกับ "ผู้ชาย" ในวงการนี้ คำตอบที่ได้รับกลับมา คือ...

"การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความอึดอัดใจ และการถูกเลือกปฏิบัติ"

โดยทั้งหมดที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่เจิดจ้าเสียเหลือเกินว่า ในตัวตนของความที่เป็นผู้หญิงนั้น มันต้องเผชิญกับอุปสรรคหนักหนาเพียงใดกับการที่จะมุ่งหน้าไปสู่ถนนสายดนตรี

ไหนๆ ก็อ่านกันมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว "เรา" จึงอยากขออนุญาตแถมข้อมูลจาก สถาบันแอนเนินเบิร์ก ซึ่งได้ทำรายงานวิจัยเกี่ยวกับโอกาสที่ผู้หญิงจะได้นั่งเก้าอี้เป็นผู้กำกับในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยนำฐานข้อมูลจากภาพยนตร์ 1,300 เรื่องที่ติดอันดับท็อปชาร์ตระหว่างปี 2007-2019 มาทำการวิเคราะห์ จนกระทั่งพบว่า...

จากจำนวนผู้กำกับรวมทั้งหมด 1,448 คน ค่าเฉลี่ยที่ "ผู้หญิง" จะได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์สักเรื่องในช่วง 13 ปีนี้ (ปี 2007-2019) อยู่ที่เพียง 4.8% ในขณะที่อัตราส่วนระหว่างผู้กำกับหญิงต่อผู้กำกับชายอยู่ที่ 1 ต่อ 20!

และสตูดิโอวอลต์ดิสนีย์ (Walt Disney STUDIOS) กลายเป็นค่ายหนังที่เปิดโอกาสให้ "พลังหญิง" ได้แสดงฝีไม้ลายมือในฐานะผู้กำกับเพียง 10 คน จากการใช้งานผู้กำกับรวมทั้งหมด 164 คน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยเพียง 6% ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในบรรดาสตูดิโอยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูดด้วยกันเอง

ลำดับที่ 2 สตูดิโอพาราเม้าท์ พิคเจอร์ส (PARAMOUNT PICTURES) ใช้งานผู้กำกับรวมทั้งหมด 152 คน มีผู้กำกับหญิงเพียง 14 คน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยเพียง 9%

ลำดับที่ 3 สตูดิโอวอร์เนอร์ บราเธอร์ส พิคเจอร์ส (WARNER BROS. PICTURES) ใช้งานผู้กำกับรวมทั้งหมด 240 คน มีผู้กำกับหญิงเพียง 25 คน หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยเพียง 10%

...

ในขณะที่ ค่าเฉลี่ยของผู้กำกับพลังหญิงสำหรับโอกาสในการคว้ารางวัลเกียรติยศของวงการภาพยนตร์ก็แสนจะว้าเหว่ แทบไม่แตกต่างกัน! โดยหากนำข้อมูลของผู้ชนะรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมระหว่างปี 2008-2020 มาทำการวิเคราะห์จะพบว่า...

ค่าเฉลี่ยที่ ผู้กำกับพลังหญิงจะมีโอกาสขึ้นไปกล่าวถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่บนเวทีอันแสนบรรเจิดในฐานะผู้กำกับที่สามารถพิชิตรางวัลออสการ์ (Academy Awards) อยู่ที่เพียง 3.2% (ผู้กำกับชาย 96.8%) ในขณะที่ รางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globes) อยู่ที่ 4.5% (ผู้กำกับชาย 95.5%)

เอาล่ะ...งั้นเราไปกันที่พลังหญิงในอุตสาหกรรมดนตรีกันต่อดีกว่า!

อย่างไรก็ดีผลการศึกษาจากข้อมูลชาร์ตเพลงในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา พบว่า แนวดนตรีที่ศิลปินหญิงโดดเด่นมากที่สุด คือ เพลงป๊อป โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 32% ส่วนแนวดนตรีที่สาวๆ ไปไม่ได้ไกลนัก คือ แนวฮิปฮอป/แร็ป อยู่ที่ 12.3%

ส่วนการเดินก้าวผ่านพรมแดงในฐานะผู้ถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลแกรมมี่ ใน 5 สาขาหลัก ซึ่งประกอบด้วย...

1. บันทึกเสียงแห่งปี
2. อัลบั้มแห่งปี
3. เพลงแห่งปี
4. ศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม
5. โปรดิวเซอร์ยอดเยี่ยม

พบว่า จำนวนผู้หญิงที่ถูกเสนอชื่อ ค่อยๆ ขยับเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยต่ำสุด 7.9% ในปี 2013 และ 6.4% ในปี 2017 สู่ 28.1% ในปี 2021

แต่อย่างไรก็ดี ค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2013-2021 สำหรับการก้าวขึ้นไปรับรางวัลสูงสุดสำหรับศิลปินเพลงทุกหมู่เหล่าผู้ชาย ก็ยังคงเป็นฝ่ายกุมสถิติเหนือกว่าที่ 86.6% ในขณะที่ ฝ่ายหญิงอยู่ที่เพียง 13.4% เท่านั้น

ว่าแต่...แล้วมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ที่จำนวนสัดส่วนพลังหญิงเริ่มค่อยๆ ลดน้อยถอยลงในอุตสาหกรรมดนตรี จนส่งสัญญาณว่า... "ในอีกไม่ช้าอาจทำให้เกิดความไม่สมดุลในระบบ" กันแน่?

เพราะนั่นต่างหากคือ คำถามที่ควรมุ่งหาคำตอบ ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.สเตซี แอล สมิธ เอง ก็ได้พยายามปลุกเร้าให้บรรดาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมดนตรีทั้งหลายพยายามทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในอนาคตต่อไป.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ: