หลังจากที่มีการประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 จนนำไปสู่ปฐมบทของวิกฤติต้มยำกุ้ง ฝันร้ายของใครหลายคน ณ เวลานั้น สถาบันการเงินปิดตัวลง บริษัทหลายแห่งเจ๊ง หนี้สินท่วม คนตกงานจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หนังสือพิมพ์ออกข่าวคนฆ่าตัวตายไม่เว้นแต่ละวัน ... และในวันนี้ได้มาบรรจบครบรอบ 2 ทศวรรษ

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน ชื่อของ “ทนง พิทยะ” ถูกทาบทามจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ให้มานั่งเก้าอี้ รมว.คลัง หลังจากที่ “อำนวย วีรวรรณ” ลาออกเพราะสู้การโจมตีค่าเงินบาทจากต่างชาติไม่ไหว และด้วยคำเชิญที่ยากจะปฏิเสธของนายเก่าว่า “ทนงกลับมาช่วยชาติหน่อย!” เขาจึงทิ้งการท่องเที่ยวบนเกาะฮ่องกงกลับมาช่วยงานทันที

หลังจากที่ทนงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ได้มีการประชุมร่วมกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่วังมัจฉา ครั้งนั้น ธปท.แสดงฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ ว่าเหลืออยู่เพียง 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และในจำนวนนี้เป็นทุนสำรองของฝ่ายออกบัตรที่ต้องใช้หนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรประมาณ 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่ากับว่าเหลือทุนสำรองที่ไร้ภาระเพียง 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งไม่พอรับมืออย่างแน่นอนหากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา

...

ขณะที่ ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 นั้น เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่องจากการกู้ยืมเงินต่างประเทศมาใช้จ่าย มีการนำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออก จนขาดดุลการค้า ซึ่งการเติบโตแต่เพียงตัวเลข ไม่ได้เกิดการขยายตัวอย่างแท้จริง ส่วนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เติบโตอย่างมาก ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนเกิดความต้องการเก็งกำไร ซึ่งดึงดูดให้มีผู้เข้ามาลงทุนในธุรกิจอย่างมากจนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ จนกระทั่งฟองสบู่แตกในที่สุด ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินที่มีการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่รอบคอบ จนนำไปสู่หนี้สูญมหาศาล โดยมีปัจจัยเร่งมาจากการดำเนินนโยบายระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่าแบงก์ชาติจะพยายามแก้ไขปัญหา โดยดึงเงินทุนสำรองที่มีอยู่ไปใช้ หรือกู้เงินมาโปะเพิ่มเพื่อสู้กับค่าเงิน แต่ก็ยังสู้ไม่ไหว จนเมื่อเงินที่มีอยู่หมด แถมยังมีหนี้เพิ่ม ประเทศไทยที่อยู่ในสภาวะขาดเงินหมุนเวียน สุดท้ายจึงจำเป็นต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการเคลื่อนไหวเข้าออกของเงินทุน

ดังนั้น ในที่ประชุมจึงหารือถึงวิธีแก้ปัญหา 2 แบบ 1.ลอยตัวค่าเงิน และ 2.ลอยตัวแบบมีเพดาน ครั้งละ 5-10% ซึ่ง “เริงชัย มะระกานนท์” ผู้ว่าการ ธปท. สมัยนั้น ขอเวลากลับไปหารือกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท. ก่อนที่ วันเสาร์ที่ 28 มิ.ย. 2540 ได้โทรศัพท์กลับมาแจ้งว่าจะ “ลอยตัวค่าเงินบาท” หรือเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทจากระบบคงที่ เป็นระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ

วันถัดมา 29 มิ.ย. 2540 ทั้งคู่จึงไปเข้าพบ พล.อ.ชวลิต นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียนให้ทราบถึงการตัดสินใจดังกล่าว แต่ยังไม่ระบุว่า ว่าจะลอยตัวค่าเงินวันไหน เวลาใด

อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงตอนที่นำเอกสารลอยตัวค่าเงินบาทไปให้กับ พล.อ.ชวลิต เซ็นหลังการประชุม ครม. ในวันที่ 1 ก.ค. 2540 ว่า “ในตอนนั้นท่านนายกฯ ได้ถามว่า ‘จะเอาจริงหรือน้อง’ ผมก็ตอบไปว่า ‘มันอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้วครับ’ พล.อ.ชวลิต ก็จับปากกาเซ็นเอกสารทันที”

ส่วนเหตุผลที่ตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาทในวันพุธที่ 2 ก.ค.2540 ทั้งๆ ที่ได้ตัดสินใจจะลอยตัวตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย นั้น ทนง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เราถามท่านผู้ว่าฯ ธปท.ว่าถ้าลอยตัววันจันทร์ ท่านคิดอย่างไร ท่านก็บอกว่ามันจะมีปัญหากับธนาคารพาณิชย์ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนจะขยับทันที แล้วธนาคารจะปิดบัญชีแบบขาดทุน ต้องเกิดปัญหาตามมาอีกเยอะ จะทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้น ท่านอยากให้มีการปิดบัญชีให้เรียบร้อยก่อน คือหลังวันปิดบัญชีวันที่ 30 มิ.ย. ส่วนวันที่ 1 ก.ค.เป็นวันหยุดของธนาคาร ซึ่งเราทำอะไรไม่ได้ เลยวางแผนว่าเอาวันที่ 2 ก.ค.ซึ่งเป็นวันพุธ”

...

ท้ายที่สุด ทนงจึงได้ตัดสินใจ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ตามข้อเสนอของแบงก์ชาติ หลังจากโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีคลังได้เพียง 11 วันเท่านั้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยไหลรูดจาก 25.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บริษัทเอกชนที่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในมือเวลานั้นมีหนี้เพิ่มขึ้นกว่า 100% ถึงขั้นไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ ต้องประสบภาวะ “ล้มละลาย” จนประเทศไทยต้องไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “ไอเอ็มเอฟ” ให้จัดหาเงินกู้ให้

แต่สิ่งที่น่าสนใจนั่นก็คือ คำขอโทษจากปากผู้เสนอให้นายกฯ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทคนนี้ “ผมก็ต้องขออภัยที่บางคนต้องเจ็บปวด แต่ผมคิดว่าเป็นความเจ็บปวด ซึ่งในที่สุดทำให้เราได้เรียนรู้ แล้วทำให้เราประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา ผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่เจ็บปวดจากการลอยตัวค่าเงินได้เรียนรู้ และฟื้นกลับมาเกือบครบทุกคน ผมก็คิดว่าเขาคงเข้าใจผมแล้ว ก็ต้องขออภัยที่ตอนนั้นเขาต้องเจ็บปวด”

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับเกียรติจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ‘ดร.ทนง พิทยะ’ ผู้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท สู่ปฐมบทวิกฤติต้มยำกุ้ง เปิดใจถึงความรู้สึก ณ ขณะนั้น เขาคิด เขารู้สึก เขาเจออะไรมาบ้างเมื่อ 20 ปีที่แล้ว...

...

ผู้สื่อข่าวเริ่มคำถามแรกว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อนึกถึงการประกาศลอยตัวค่าเงินแล้วมักจะนึกถึงหน้าอาจารย์ทนง? ชายวัยเฉียดเข้าเลขเจ็ดอีกไม่กี่วัน หัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนตอบว่า “มันเป็นความจำเป็นที่ผมจะต้องเข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้อะไรและมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการลอยตัวค่าเงิน หรือการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน จะทำให้ผู้ที่นำเงินจากต่างประเทศเข้ามานั้น เสียหายทันที เพราะจะต้องใช้เงินบาทไปแลกเงินดอลลาร์มากขึ้น โดยจะมีทั้งคนได้-คนเสีย ซึ่งคนได้จะเป็นกลุ่มที่ทำทัวร์ท่องเที่ยวขายของได้ดีขึ้น เนื่องจากค่าเงินถูกลง ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนระบบคนที่เสียก็จะตำหนิ โจมตีเราได้ตลอดเวลา ซึ่งผมต้องยอมรับชะตากรรมที่โดนโจมตีอยู่เป็นสิบปี แต่ผมก็เห็นใจเขาที่ต้องเสียหาย เพียงแต่มันไม่มีทางเลือกให้ผมเท่านั้นเอง”

ก่อนหน้าที่ ดร.ทนง จะเข้ามารับตำแหน่ง รู้มาก่อนหรือไม่ว่าการเศรษฐกิจของประเทศกำลังเผชิญปัญหาใหญ่? อดีตรมว.คลัง ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมไม่เคยคิดนะว่ามันจะรุนแรงขนาดนี้...ก่อนหน้านั้นเราทำงานอยู่ธนาคารก็ไม่เคยรู้ว่ามันรุนแรงแค่ไหน...ไม่เคยรู้ว่าหนี้มีตั้งแสนล้านเหรียญ...ไม่เคยรู้ว่าถูกโจมตีค่าเงินบาท”

...

ยอมรับในฐานะ รมว.คลัง ต้องออกแถลงเสียดแทงใจคนทั่วประเทศ!

ดร.ทนง ยังบอกอีกว่าจำเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้อย่างแม่นยำ เพราะเป็นงานทางการเมืองชิ้นแรกในชีวิต ในฐานะรัฐมนตรีคลัง ซึ่งเป็นผู้กำกับดูและธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องรับผิดชอบออกมาแถลงการปรับปรุงระบบแลกเปลี่ยนเงินตราในครั้งนี้...

“ก็ต้องพยายามทำให้รู้ว่าประเทศชาติอยู่ต่อไปไม่รอด เป็นหนี้จำนวนแสนกว่าล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และไม่มีเงินเพียงพอที่จะไปจ่ายคืน นี่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ประเทศชาติไปไม่รอด รวมทั้ง สถาบันการเงินเริ่มขาดทุนมหาศาล จากสถาบันการเงินขนาดเล็กลามไปสู่สถาบันการเงินขนาดใหญ่เสียหายทั้งหมด ต้องแก้ไขว่าทำอย่างไรที่พวกเขาจะกลับขึ้นมาได้ เพราะเป็นที่ๆ ปล่อยสินเชื่อให้คนที่ต้องการทำมาหากินต่อไป นอกจากนี้ ภาคธุรกิจผู้ที่กู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาก็ขาดทุน และนั่นก็เป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น และเราจำเป็นต้องกลายเป็นผู้ที่รับผิดชอบ”

มองแง่บวก! มีคนได้-เสีย ต้องยอมรับชะตากรรม

รู้สึกอย่างไรที่จะต้องมีประชาชนของประเทศบางส่วนเสียหาย เจ็บปวดกับการประกาศลอยตัวค่าเงินในครั้งนี้? อดีตรัฐมนตรีคลัง กล่าวว่า “ผมคิดในภาพรวมเวลาเปลี่ยนนโยบายเรื่องนี้มีคนได้มีคนเสีย ในภาพรวมมันเป็นบวกของประเทศชาติมากกว่า ถ้าเราจะทำงานเพื่อประเทศชาติเราคิดเป็นรายบุคคลไม่ได้หรอก ผมจะไปคิดไม่ได้หรอกว่าภรรยาผมมีเงินฝากแล้วถูกอายัดไปเท่าไร เราสั่งหยุดกิจการของสถาบันการเงิน ภรรยาผมฝากเงินอยู่หลายล้าน ผมก็ไม่เคยบอกเขา ซึ่งเขาก็ต้องยอมรับชะตากรรมเหมือนๆ กัน ส่วนตัวผมเองก็เสียหายจากหุ้นแบงก์ทหารไทยไป 100 กว่าล้านบาทก็ไม่มีใครรู้”

ดร.ทนง ยังกล่าวอีกว่า “ผมก็ยังเชื่อว่ามีคนไทยเข้าใจผม ถึงแม้ว่าเขาขาดทุน เขาด่าผม แต่เขาก็ไม่ได้ทำร้ายผม ผมก็ต้องขอบคุณทุกคนเลยที่ไม่มีใครคิดจะทำร้ายผม แสดงว่าเขาก็รู้ว่าได้กำไรในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งผมไม่ใช่พ่อค้าผมเลยไม่เข้าใจเขา”

“ใครบอกว่าผมรวย?” ทนง เผย ใครจะรู้ล่วงหน้าว่าต้องลอยตัวค่าเงิน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ดร.ทนง ทราบล่วงหน้าหรือไม่ว่าจะต้องมีการประกาศลอยตัวค่าเงิน? อดีตรัฐมนตรีคลัง ตอบในทันทีทันใดว่า “ไม่มีหรอกครับ ใครจะไปรู้ คนที่มองภาพว่าผมรวยจากวิกฤตินี้ ถ้าผมรวยจริงๆ ก็คงดี แต่มันไม่มีตลาดให้รวย เพราะก่อนการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน แบงก์ชาติกับต่างชาติก็สู้กันอยู่ แต่ตอนผมเข้ารับตำแหน่งแบงก์ชาติเขาไม่สู้แล้ว เขาหยุดแล้ว ตลาดเงินมันวายไปหมดแล้ว ดังนั้น มันเลยไม่มีใครได้กำไรหลังจากที่ผมประกาศลอยตัว

นอกจากนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ หลังจากที่ผมประกาศลอยตัวค่าเงิน แบงก์ชาติตรวจสอบกลับย้อนหลังไปยังทุกธนาคาร ว่ามีการถอนเงินเป็นกรณีพิเศษเพื่อไปเล่นค่าเงินไหม มันก็ไม่มี พูดง่ายๆ ว่า เกมมันจบไปแล้ว ดังนั้น ใครจะโง่ให้ผมทำกำไร และก่อนหน้านั้นก็ไม่มีการซื้อขายแล้ว เพราะแบงก์ชาติหมดเครดิตที่จะไปทำอะไรแล้ว เหมือนกับหวยที่ไม่มีเจ้ามือรับ เพราะเขารู้ว่า รับเมื่อไหร่เขาเจ๊งนั่นคือ ตลาดการเงิน”

4 เดือน 5 วัน! ชีวิตรัฐมนตรีคลัง หลังประกาศแสนเหนื่อย

หลังจากประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ 'ทนง พิทยะ' เป็นอย่างไร? อดีตรัฐมนตรีคลัง ทอดถอนหายใจก่อนตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ว่า “ก็...เหนื่อยครับ เหนื่อยมากเลย ผมเป็นรัฐมนตรีอยู่เพียง 4 เดือนกับอีก 5 วัน ผมมีหน้าที่ต้องหาเงินให้ประเทศชาติ ต้องเข้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ บินไปญี่ปุ่นไปขอร้องให้ช่วยเหลือประเทศไทย บินไปประชุมทั่วอาเซียน พยายามที่จะให้เขาร่วมมือที่จะช่วยกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นงานที่เหนื่อยมากๆ เพราะว่าเราเป็นหนี้อยู่แสนล้านเหรียญ ถ้าเราจะไปขอความช่วยเหลือจากใครมันต้องเป็นองค์กรระหว่างประเทศ โดยเราเข้าไปอยู่ภายใต้ไอเอ็มเอฟ มันก็มีผลเสียเยอะแยะ เพราะเขาเองก็เป็นเหมือนเจ้าหนี้ที่บีบลูกหนี้ ให้ทำอะไรบ้างเราก็ต้องทำตาม เพราะว่าเราไม่มีเครดิตเหลือ ดังนั้น สถานการณ์มันถูกบังคับให้เป็นแบบนี้”

ตอนนั้นมีความหวังแค่ไหนที่ประเทศไทยจะเป็นเอกราชจากไอเอ็มเอฟ ดร.ทนง กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นว่าในประเทศไทย มันมีความแข็งแกร่งอยู่ พื้นฐานมันดี แต่การส่งออกมันไม่เวิร์ก เพราะค่าเงินบาทมันแข็งเกินไป มันเป็นการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว นึกภาพดีๆ ธุรกิจขายของไม่ได้ไปยืมเงินเขามาใช้เพื่อให้เติบโต มันถูกต้องหรือไม่ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เติบโตโดยการกู้เงินเอามาแบ่งกันใช้ในประเทศ ขณะที่ แบงก์ชาติหรือรัฐมนตรีเองก็ไม่กล้าเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเปลี่ยนไปก็ถูกด่า จนกระทั่งทุกอย่างมันสุกงอม และก็หาแพะมาทำ แล้วแพะตัวนั้นบังเอิญเป็นผมเท่านั้นเอง”

เปิดเบื้องหลัง ‘เก้าอี้ขุนคลัง’ ยากจะปฏิเสธ เพราะคำว่า ‘บุญคุณ’

ดร.ทนง เล่าถึงเบื้องหลังการนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีคลังให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า “ผมเป็นนายธนาคารอยู่ และผมมีนายที่ชื่อว่า พล.อ.ชวลิต ท่านมาเป็นนายกฯ และท่านก็ไม่รู้จะไปหาใคร ท่านก็บอกผมว่า ‘ทนงต้องมาช่วยพี่แล้ว’ ผมก็รับปากว่า ‘ครับ’ ต้องเข้าใจว่าผมเองเป็นเด็กบ้านนอกไม่มีตระกูลสูงส่ง แต่ผมรับทุนรัฐบาลไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา จนกลับมาเป็นอาจารย์

และผมก็ได้ดีมาเป็นถึงนายธนาคาร ได้รับความไว้วางใจจากกองทัพให้เป็นนายแบงก์ ธนาคารทหารไทย พอถึงเวลาเขามีปัญหาใช้เราๆ ก็ต้องยอมรับผิดชอบ ถ้ามันเป็นการชดใช้ประเทศชาติ เพราะหากไม่มีเงินทุนจากนิด้า ผมเองก็ไม่มีวันที่จะจบปริญญาเอกได้

ฉะนั้น มันเป็นความรับผิดชอบต่อแผ่นดิน ในเมื่อเขาเลือกเราแล้ว ซึ่งผมไม่ได้อาสาไปเป็นรัฐมนตรีคลัง ขณะที่ตอนนั้นผมไปเดินเล่นอยู่ที่ฮ่องกงแล้วถูกเรียกกลับมา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ชะตาชีวิตแต่ละคนเราไม่รู้หรอกว่าเราทำอะไรบ้าง

ก่อนหน้าผมสมัย นายกฯเปรม ก็มีคนทำคือท่านสมหมาย ฮุนตระกูล ซึ่งท่านก็ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพเหมือนกัน เพราะนักการเมืองอาชีพเขาไม่ทำ ถึงเวลาทำเสร็จเขาก็ด่าเราว่า ถ้าเป็นสมัยเขาจะไม่มีวันเกิดวิกฤติ ผมไม่เคยที่จะคิดทวงบุญคุณใคร และไม่เคยคิดจะบอกว่าผมถูกหรือผิด แต่ผมรู้ว่ามันไม่มีทางเลือกให้ผมแล้ว

และมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมจะปฏิเสธได้ด้วย ย้อนไปในสมัยนั้น พล.อ.ชวลิต เคยขอให้ผมไปเป็นประธานการรถไฟแห่งประเทศไทย และผมกราบท่านบอกว่า ผมขออนุญาตปฏิเสธท่าน ผมไม่ยอมไปเป็นเพราะผมบอกว่างานแบงก์ผมหนักพอแล้ว และจากนั้น ผมก็เผลอไปพลั้งปากพูดว่า ‘เอาไว้ท่านเป็นนายกฯ เมื่อไหร่ แล้วท่านเรียกผมไปรับใช้ ผมจะไปทันที’ สิ่งนี้ก็คือชะตาชีวิต ใครจะไปรู้ว่าท่านจะเป็นนายกฯ เพราะตอนนั้นท่านเป็นรองนายกฯ คมนาคม (หัวเราะ)

ต่อมา พอท่านเลือกตั้งมีสิทธิ์จะชนะเป็นนายกฯ ท่านมาหาผมที่ธนาคารทหารไทย บอกผมว่า ‘ทนงจะมาช่วยหรือยัง’ ผมก็บอกไปว่า ‘ท่านครับ หาคนที่เก่งทางการเมืองจะดีกว่า’ และก็เป็นผมเองที่เอ่ยชื่อท่านอำนวย วีรวรรณ ให้ท่านเลือก เพราะท่านอำนวยคุณวุฒิสูงกว่าผมเยอะ และผมก็กลับไปเป็นนายแบงก์เหมือนเดิมมีความสุข กระทั่ง วันหนึ่งท่านอำนวยลาออก พล.อ.ชวลิต จึงโทรตามให้ผมไปนั่งรัฐมนตรีคลังแทน”

“ผมเป็นแพะ...” ปัญหาสุกงอม ส่ง‘ทนง’ ดาหน้ารับวิกฤติปี 40 

ผู้สื่อข่าวถามอดีตรัฐมนตรีคลังต่อว่า วันนี้เมื่อย้อนกลับไปดู คิดว่าครั้งนั้นตัดสินใจถูกไหม? ดร.ทนง ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ผมคิดว่ามันไม่มีทางเลือกอื่นเลย ต่อให้มันย้อนกลับไปได้ผมก็ต้องทำเหมือนเดิม ทุกอย่างมันสุกงอมมากๆ กฎหมายอยู่ดีๆ ผมจะมาลอยตัวค่าเงินไม่ได้ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ด้วยคนๆ เดียว เพียงแต่แบงก์ชาติเสนอ และผมเป็นผู้สนอง ก่อนที่เราจะร่วมกันเสนอนายกฯ เพื่ออนุมัติเท่านั้น”

จากนั้นอดีตรัฐมนตรีนิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ว่า “อันที่จริงแล้วผมก็ไม่ได้เก่งหรอก ผมเป็นแพะ ผมถูกเลือกเข้ามา ผมต้องตกลงเพราะเป็นหนี้บุญคุณเขา และผมต้องรับผิดชอบ เพียงเพราะผมไปรับปากกับเขาไว้โดยที่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นจริง ผมเป็นแค่เด็กบ้านนอก พ่อไม่มีเงินส่งไปเรียนเมืองนอก แต่ผมได้ทุนไปเรียน จะให้ผมทำอย่างไร ในชีวิตคนเราต้องมีความกตัญญูรู้คุณของแผ่นดิน เราต้องกล้าที่จะเสียสละ เราต้องกล้าที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้องและดีสำหรับประเทศชาติ”

นอกจากนี้ ดร.ทนง ยังตัดพ้อด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังนั้น เหตุใดนักการเมืองหรือรัฐมนตรีก่อนหน้าไม่มีใครคิดจะทำทั้งที่รู้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งที่ไอเอ็มเอฟเคยออกมาเตือน เพราะอะไรทำไมต้องรอคอยให้เป็นชายที่ชื่อ ‘ทนง พิทยะ’ ผู้นี้ และเขาได้เฝ้าถามหาคำตอบของคำถามที่อยู่ในใจข้อนี้มาโดยตลอด แต่สุดท้ายแล้วก็ได้รับคำตอบจากตัวเขาเอง

“ผมได้คำตอบจากตัวเองว่า นักการเมืองเขาจะไม่ตัดสินใจใดๆ ที่จะเกิดความเสี่ยงต่อตัวเอง นักการเมืองไม่ต้องการเสียชื่อ นักการเมืองไม่ต้องการถูกด่า นักการเมืองไม่ต้องการเสียอนาคตทางการเมืองของเขา ขณะที่ ตัวผมเองนั้น ไม่ใช่นักการเมือง ผมก็เลยต้องยอมเสี่ยง ยอมถูกคนก่นด่าเป็นสิบปี และลาออกมาขณะที่ทำงานได้เพียง 4 เดือน 5 วัน คุณเห็นไหมว่าเป็นเรื่องของการที่ถูกเรียกเข้ามาทำงาน หลังจากที่ไม่มีนักการเมืองคนไหนกล้าทำ!”

บทเรียนจากวิกฤติปี 40 สู่ความแข็งแกร่ง

ในท้ายที่สุดนี้ อดีตรัฐมนตรีคลังวัยใกล้เลขเจ็ด กล่าวว่า “ผมว่าสิ่งที่ทำให้เรามีปัญหาชัดเจน คือ เราเติบโต จากสถานะของการเป็นหนี้ เราไม่ได้เติบโตจากความสามารถในการสร้างผลผลิต เรายืมเงินเขามาซื้อของ จับจ่ายใช้สอยกันเอง เศรษฐกิจก็โตได้ แต่ในการเติบโตนั้นเราเป็นหนี้ นั่นแหละคือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งบทเรียนเหล่านี้เราได้เรียนรู้แล้วว่า อย่าทำอะไรให้เป็นหนี้เกินตัว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในประเทศไทย อยู่ที่มากกว่า 8 ต่อ 1 ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 2 ต่อ 1 แสดงว่าสถานะทางการลงทุนของเรากู้ยืมน้อยลง ลงทุนด้วยเงินตัวเองมากขึ้น เก็งกำไรน้อยลง มีการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งกฎของแบงก์ชาติ การปล่อยกู้ การสำรองของธนาคารพาณิชย์ทุกอย่างแข็งแกร่งขึ้นทันที นี่คือ การเรียนรู้จากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 เพียงแต่ขอให้อย่าลืมตัวเท่านั้นเองครับ ไม่เช่นนั้น วิกฤติมันจะย้อนกลับมาเล่นงานคุณได้ทุกเมื่อ”

และนี่ก็เป็นบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งจากอดีตรัฐมนตรีคลัง บุคคลที่หลายคนจดจำเขาได้ในฐานะผู้แถลงลอยตัวค่าเงินบาท จนถูกจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่มีวันลืม.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน