ภายหลังจากที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอสกู๊ปซีรีส์ “พิษกระเป๋าตังค์ออนไลน์” ไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุด มีผู้เสียหายจำนวน 2 รายได้เข้ามาร้องทุกข์กับทางทีมข่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากศิลปินดังที่ปรากฏเป็นข่าว ก็ยังมีเหยื่ออีกหลายรายที่ตกหลุมพรางให้กับมิจฉาชีพยุค 4.0 ที่เข้ามาแฮกเฟซบุ๊ก พร้อมกับหลอกล่อให้โอนตังค์ผ่านแอปกระเป๋าเงินออนไลน์เช่นกัน คนเหล่านี้โดนอะไร สูญเสียกันไปเท่าไร ต้องติดตาม!
..ท่านสามารถกดอ่าน "พิษกระเป๋าตังค์ออนไลน์" เพื่อประกอบความเข้าใจ และสามารถอ่านเรื่องราวที่ศิลปินดังพบเจอได้ ที่นี่..
นายนกุล นิลศรี เจ้าของธุรกิจส่วนตัววัย 49 ปี บอกเล่ากับผู้สื่อข่าวด้วยอารมณ์ขุ่นเคืองเหมือนเรื่องผ่านมาได้ไม่นานว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2559 เวลาราวๆ เที่ยงคืน มีโทรศัพท์จากน้องสาวโทรเข้ามาหาผม จับใจความสิ่งที่น้องสาวพูดได้ว่า “พี่หนุ่มทักแชตเฟซบุ๊กมาเหรอ เห็นพี่บอกจะยืมเงิน 10,000 บาท” และเมื่อผมได้ยินเช่นนั้น ผมตกใจและมึนงงอย่างมาก
...
“ตอนนั้น ผมรีบปฏิเสธไปทันที เพราะผมไม่รู้เรื่องใดๆ เลยว่า ผมไปขอยืมเงินใครตอนไหน จากนั้น ผมก็ล็อกอินเข้าเฟซบุ๊กของผมทันที ผลปรากฏว่า ผมเข้าเฟซบุ๊กของตัวเองไม่ได้แล้ว เฟซบุ๊กของผมที่ออนไลน์อยู่ กลับไม่ใช่ตัวผมอีกต่อไป ซึ่งน้องสาวที่โทรมาหาผมตอนนั้น ก็ถือว่าโชคดีมากที่เขายังไม่ได้โอนเงินไปให้มิจฉาชีพที่แฝงตัวเป็นผม แต่เจ้ากรรม มีเพื่อนในเฟซบุ๊กของผมอีก 6 คนถูกมิจฉาชีพหลอกได้สำเร็จ” นายนกุล เจ้าของธุรกิจชาวราชบุรี โอดครวญ
“เพื่อนอีก 5 ท่านในเฟซบุ๊กของคุณนกุล โดนกันไปเท่าไร อย่างไรบ้าง?” ผู้สื่อข่าวซักถามเจ้าของเฟซบุ๊กที่ถูกแฮก ซึ่งได้รับคำตอบว่า “เพื่อนคนหนึ่งที่เป็นพนักงานขายประกันชีวิต หลงเชื่อมิจฉาชีพว่าเป็นผมขอยืมเงิน เพื่อนคนนี้โอนไป 15,000 บาท, เพื่อนคนที่สองเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว หลงเชื่อเหมือนกัน โอนเงินไปให้มิจฉาชีพ จำนวน 6,000 บาท, เพื่อนคนที่สามเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โอนเงินไปจำนวน 13,940 บาท, คนที่สี่ประกอบอาชีพค้าขาย โอนเงินไปจำนวน 15,000 บาท และคนที่ห้าเป็นนักดนตรี โอนเงินไป 5,000 บาท รวมทั้งสิ้น 5 คน เป็นจำนวนเงินกว่าครึ่งแสน” นกุล หนุ่มใหญ่ผู้ถูกแฮกเฟซบุ๊ก ไล่เรียงความสูญเสียของเพื่อนๆ
ทั้งนี้ บัญชีที่เพื่อนๆ ของนายนกุลโอนเงินไปนั้น เป็นบัญชีของหญิงวัยกลางคนที่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน ซึ่งต่อมาภายหลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองราชบุรี ได้ทำการเรียกหญิงคนดังกล่าวให้เดินทางพบที่ สภ.เมืองราชบุรี แต่ในวันเวลาที่หญิงผู้นั้นเดินทางมาถึง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งให้ นายนกุล และผู้เสียหายทั้ง 5 คนได้รับทราบ
ต่อมา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งความคืบหน้ามาที่นายนกุลว่า เจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายโอนเงินไปนั้น เป็นแม่ของเด็กวัยรุ่นชายคนหนึ่ง ซึ่งเด็กคนดังกล่าว เป็นพ่อค้า True Wallet
- หมายเหตุ : พ่อค้า True Wallet คือ พ่อค้าที่มีบัญชีธนาคารผูกกับแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยรับและโอนเงินจากบุคคลต่างๆ ที่ต้องการใช้จ่ายผ่าน TrueMoney Wallet (ยกตัวอย่างเช่น นายเอ จะโอนเงิน 1,000 บาทไปให้ นายบี โดยผ่านพ่อค้า True Wallet ซึ่งพ่อค้าจะหักเงินค่าบริการไป 100 บาท (หรือแล้วแต่จะตกลงกัน) เพราะฉะนั้น นายบี จะได้เงินไปทั้งสิ้น 900 บาท ส่วนพ่อค้า True Wallet ได้กำไร 100 บาท) อย่างไรก็ตาม พ่อค้า True Wallet จะมีรายได้ค่อนข้างดี โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเยาวชนที่ชื่นชอบการเล่นเกม และจะนำบัญชีธนาคารของพ่อแม่ไปผูกกับแอปพลิเคชันดังกล่าว
“เด็กผู้ชายที่เป็นพ่อค้า True Wallet ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตัวเองถูกมิจฉาชีพหลอกให้รับโอนเงินจากผู้เสียหาย และถูกหลอกโอนเงินต่อไปที่แอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet ของมิจฉาชีพอีกทีหนึ่ง ซึ่งเด็กผู้ชาย หรือพ่อค้า True Wallet พยายามยืนยันว่า ตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องนี้ทั้งสิ้น และล่าสุด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองราชบุรี ก็ยังไม่สามารถหาตัวคนร้ายตัวจริงได้ และยังไม่มีผู้เสียหายคนใดได้รับการชดใช้” เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ผู้ถูกแฮกเฟซบุ๊ก เล่าถึงความคืบหน้าของคดีความ
...
“ก่อนหน้าที่ คุณนกุล ถูกแฮกเฟซบุ๊ก คุณใช้พาสเวิร์ดที่สามารถเดาได้ค่อนข้างง่ายหรือเปล่า?” ผู้สื่อข่าวถามตรงๆ กับหนุ่มใหญ่เมืองโอ่ง เขาตอบสั้นๆ ว่า “ผมใช้รหัสผ่านเกี่ยวกับวันเดือนปีเกิด และเบอร์โทรศัพท์ของผม แต่ต่อมาภายหลังผมได้เปลี่ยนมาใช้ 2-step verification หรือการตรวจสอบความปลอดภัย 2 ขั้นตอน ในช่วงเข้าสู่ระบบของเฟซบุ๊กแล้ว”
ทั้งนี้ พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ศิลปสุข สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เคยกล่าวเตือนประชาชนผ่านผู้สื่อข่าวไว้ว่า “คุณไม่ควรตั้งรหัสผ่านที่มาจากข้อมูลส่วนตัวของคุณเอง เช่น วัน เดือน ปีเกิด, เบอร์โทรศัพท์, ชื่อจริงหรือชื่อเล่น เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ มิจฉาชีพจะสามารถสืบค้นข้อมูลส่วนตัวของคุณได้จากโลกอินเทอร์เน็ต และจะนำมาคาดเดาเป็นรหัสผ่านในการแฮกเฟซบุ๊กของคุณได้โดยง่าย”
...
นอกเหนือจากหนุ่มเมืองโอ่งที่ได้ร้องทุกข์ผ่านทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์แล้วนั้น ยังมี น.ส.อภิษฎา ศรีปัญญา สาวเมืองพัทยาที่ถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินในทำนองเดียวกันด้วย
น.ส.อภิษฎา ศรีปัญญา สาวไทยวัย 34 ปี ระบายความทุกข์ที่คั่งค้างอยู่ภายในใจให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2560 เวลาราวๆ 15.00 น. แฟนเก่าของเธอได้ส่งข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กมาหาเธอ เพื่อขอยืมเงินจำนวน 8,000 บาท เพื่อนำไปจ่ายค่าสินค้าวัสดุก่อสร้าง พร้อมกับสัญญาว่า จะคืนเงินให้เธอในเช้าวันถัดไป และด้วยความที่แฟนเก่านั้นดีกับเธอเสมอมา แต่วันนี้อดีตคนรักกลับเดือดร้อนต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน เธอจึงไม่รีรอที่จะโอนเงินให้แฟนเก่าทันที 8,000 บาท
“เราโอนเงินไปได้เกือบ 40 นาที จู่ๆ พี่สาวของแฟนเก่าก็โทรมาบอกว่า เอ (ชื่อสมมติแฟนเก่า) ไม่ได้แชตไปยืมเงินใครนะ เอ โดนแฮกเฟซบุ๊ก พี่เองก็หลงเชื่อโอนเงินไปให้โจร 9,500 บาทเหมือนกัน ตอนนั้นก็งงและเจ็บใจมากว่า เดี๋ยวนี้เขาต้มตุ๋นคนดีๆ กันด้วยวิธีไฮเทคขนาดนี้เลยหรอ” อภิษฎา สาวพัทยา เล่าถึงนาทีที่รู้ความจริง
...
“ตอนแรกเราก็ตะหงิดๆ ใจอยู่เหมือนกัน เพราะหลังจากที่เราโอนเงินไปให้แล้ว 8,000 บาท ทางมิจฉาชีพก็ใช้เฟซบุ๊กแฟนเก่าทักมาถามอีกว่า มีเงินอีก 12,000 บาทไหม เราก็บอกไปว่า ไม่มีแล้ว เพราะเงิน 8,000 นั้นก็ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของแฟนคนปัจจุบันด้วย ทีนี้เราก็เลยโทรเข้าไปที่เฟซบุ๊กของแฟนเก่า ซึ่งปรากฏว่า เขาไม่รับ และบล็อกเราทันที” สาวพัทยา บอกเล่าถึงความไม่ชอบมาพากล
จากนั้น น.ส.อภิษฎา กับพี่สาวของอดีตคนรัก ก็เดินทางไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.เมืองพัทยา ทันที ล่าสุดทางผู้สื่อข่าวติดต่อไปยัง ร.ต.อ.เฉลียว บุญคุ้ม ร้อยเวรสอบสวน สภ.เมืองพัทยา ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวถึงความคืบหน้าของคดีดังกล่าวผ่านผู้สื่อข่าวว่า “ตอนนี้มีหลายคดีมาก ผมจำคดีนี้ไม่ค่อยได้ อย่างไรก็ตาม ให้ผู้เสียหายโทรมาหาผม หรือเข้ามาพูดคุยกันที่ สภ.เมืองพัทยา จะดีกว่า”
ล่าสุด ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการ ได้ชี้แจงผ่านผู้สื่อข่าวว่า บริษัทฯ ได้ตระหนักถึง และให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด ปัจจุบัน บริษัทฯ มีนโยบายที่ชัดเจนและให้ความสำคัญในการควบคุม ดูแล บริหารความเสี่ยง รวมถึงการตรวจสอบการลงทะเบียนและการทำธุรกรรม เพื่อป้องกันการทุจริต ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าทำธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนดว่ามีความเสี่ยงสูง หรือมีรูปแบบการทำธุรกรรมที่น่าสงสัย บริษัทฯ ได้จัดให้มีการตรวจสอบข้อมูลบัตรประชาชนที่ใช้ในการลงทะเบียน ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยระบบอัตโนมัติที่มีความแม่นยำสูง มีผลทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นต้น