“เมื่อช่องโหว่ของเรื่องราวปรากฏ การแก้ไขจะเกิดขึ้นหรือไม่?” คำถามที่ทีมข่าวทิ้งท้ายไว้ในรายงานพิเศษ พิษกระเป๋าตังค์ออนไลน์ ตอนที่ 2 นั้น ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถร่วมหาคำตอบให้แก่คำถามข้างต้น ได้จากรายงานพิเศษชิ้นนี้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียง 2 ประเด็นสำคัญที่ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ทิ้งเป็นปมไว้ในพิษกระเป๋าตังค์ออนไลน์ ตอนที่ 2 สู่คำชี้แจงจาก บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ในตอนที่ 3... ทุกความข้องใจจะคลี่คลายหรือไม่ คุณผู้อ่านเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสิน!
ข้อข้องใจที่ 1 : เจ้าหน้าที่รัฐมักไม่ได้รับข้อมูลของมิจฉาชีพจากผู้ให้บริการ เพื่อประกอบการสืบสวน
...
พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ศิลปสุข สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวไว้ในตอนที่ 2 ของรายงานพิเศษว่า “ทางเจ้าพนักงานจะใช้อำนาจตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาศัยอำนาจเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อขอให้ส่งข้อมูลการใช้งานบัญชีของมิจฉาชีพจากผู้ให้บริการรายนั้นๆ แต่ปัญหาสำคัญที่ทางเจ้าหน้าที่กำลังประสบอยู่ก็คือ ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากทางผู้ให้บริการบางราย โดยการประสานเป็นหนังสือราชการตามอำนาจหน้าที่ แต่มักไม่ได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการสืบสวน หรือล่าช้าจนทำให้ไม่สามารถติดตามตัวคนร้ายที่ก่อเหตุได้ทันท่วงที และด้วยเหตุนี้ การทำงานของเจ้าหน้าที่จึงค่อนข้างมีข้อจำกัดหลายด้าน”
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ตอบข้อซักถามในประเด็นดังกล่าวผ่านผู้สื่อข่าวไว้ว่า ทางแผนกตรวจสอบทุจริตของบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ได้มีการทำงานร่วมกับทาง ปอท. อยู่เป็นระยะๆ หากมีการประสานงานมาจากทาง ปอท. ทางหน่วยงานก็จะรีบดำเนินการตรวจสอบทันที ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน หากเจ้าหน้าที่ ปอท. เคยติดต่อกับทางแผนกตรวจสอบทุจริตอยู่แล้ว ก็จะมีช่องทางติดต่อประสานงานมาได้โดยตรง แต่หากไม่เคยติดต่อกับทางบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด เลย อาจจะมีการติดต่อไปยังบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ดังนั้นจึงอาจจะเกิดความล่าช้าหรือการตกหล่นของการประสานงาน ทั้งนี้ ทางบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากได้รับการประสานงานเข้ามา
ทั้งนี้ การติดต่อบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ทำได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางคอลล์ เซ็นเตอร์ ที่เบอร์ 02-647-3333 ทางเฟซบุ๊กที่ https://www.facebook.com/truemoney/ ทางเว็บไซต์ที่ www.truemoney.com หรือทางอีเมลที่ fraud.acn@ascendcorp.com โดยลูกค้าของบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด จะทราบถึงช่องทางที่สามารถติดต่อเราได้
ข้อข้องใจที่ 2 : การสมัครลงทะเบียน เพื่อเข้าใช้งานแอปฯ มีช่องโหว่-ความปลอดภัยต่ำ
พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ กล่าวถึงปมปัญหาที่ 2 ว่า ในการสมัครลงทะเบียน เพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน Wallet ของผู้ให้บริการบางรายนั้น ยังมีช่องโหว่ในเรื่องของการสมัครเข้าใช้งานที่ค่อนข้างง่าย และความปลอดภัยค่อนข้างต่ำ เพียงแค่คุณกรอกหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักโดยการสุ่ม หรือใส่ชื่อ-นามสุกลแบบสุ่ม คุณก็สามารถสมัครเข้าใช้งานแอปฯ ที่ว่านี้ได้แล้ว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ไขข้อข้องใจในประเด็นดังกล่าวผ่านผู้สื่อข่าวว่า ขอเรียนว่า บริษัทฯ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้มีนโยบายที่ชัดเจนและให้ความสำคัญในการควบคุม ดูแล บริหารความเสี่ยง รวมถึงการตรวจสอบการลงทะเบียนและการทำธุรกรรม เพื่อป้องกันการทุจริต ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าทำธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขที่บริษัทฯ กำหนดว่ามีความเสี่ยงสูงหรือมีรูปแบบการทำธุรกรรมที่น่าสงสัย บริษัทฯ ได้จัดให้มีการตรวจสอบข้อมูลบัตรประชาชนที่ใช้ในการลงทะเบียน ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยระบบอัตโนมัติที่มีความแม่นยำสูง มีผลทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นต้น
...
คลี่คลาย หรือ ข้องใจ
คุณคิดอย่างไรกับคำชี้แจงด้านบน?
ส่วนจะมีเหยื่อในลักษณะเดิมออกมาซ้ำรอยหรือไม่ คุณต้องรอดู!
อ่านเพิ่มเติม
หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการเหล่านี้ สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่...