“มิจฉาชีพยุค 4.0!” ที่กำลังหากินจาก “ช่องโหว่” ของเทคโนโลยี...ทว่า ชาวเน็ตบางรายที่ไม่ทันได้ระมัดระวัง อาจเดินตกหลุมพรางอย่างไม่ได้ตั้งใจ บางรายอาจเผลอไผลเสียทรัพย์อย่างไม่ทันตั้งตัว บางรายอาจเป็นคนดัง บางครั้งอาจเป็นศิลปิน และไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร มิจฉาชีพยุค 4.0 ไม่มีวันปรานี!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับศิลปินชื่อดังอย่าง นายวิโรจน์ เจริญพิพัฒน์สิน หรือ 'ยุ่น วงแบล็คเฮด' และ นายศรัณย์เขษ เจริญสรรพ์ หรือ 'รัน วงเรทโทรสเปค' เหยื่อคนดังที่ถูกลูบคมด้วยน้ำมือมิจฉาชีพยุค 4.0...แม้ว่าคุณจะมีความรู้ความชำนาญในเรื่องของเทคโนโลยีเพียงใด แต่สุดท้าย คุณก็ยังแพ้พ่ายให้กับกลโกงของโจรไฮเทค เป็นเพราะเหตุใด? ทำได้อย่างไร? เรามาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน...

...

ศิลปินดังโดนแฮกเฟซบุ๊ก ยืมเงินเพื่อนทั่ววงการ!

นายวิโรจน์ เจริญพิพัฒน์สิน หรือ 'ยุ่น วงแบล็คเฮด' และ นายศรัณย์เขษ เจริญสรรพ์ หรือ 'รัน วงเรทโทรสเปค' ได้ไล่เรียงเรื่องราวทั้งหมดให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ (5 ก.พ. 60) นายวิโรจน์ (ยุ่น แบล็คเฮด) ถูกมิจฉาชีพแฮกเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมกับส่งข้อความไปขอยืมเงินจากเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กของนายวิโรจน์ เป็นจำนวนหลายสิบราย ซึ่งหนึ่งในเพื่อนๆ ที่มิจฉาชีพทักไปก็คือ นายศรัณย์เขษ (รัน เรทโทรสเปค) ซึ่งนายศรัณย์เขษเข้าใจผิดว่า นายวิโรจน์ นักดนตรีรุ่นพี่ที่เคารพรัก กำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เมื่อนายศรัณย์เขษ เห็นข้อความดังนั้น ตนจึงไม่รีรอที่จะรีบให้ความช่วยเหลือด้วยการโอนเงินจำนวน 5,000 บาท ไปให้นายวิโรจน์(ยุ่น แบล็คเฮด)ทันที (ดูข้อความสนทนาจากภาพประกอบด้านล่าง)

...

“ไม่นานหลังจากที่ผมโอนเงินไปให้มิจฉาชีพที่แฝงตัวเป็นพี่ยุ่นไปแล้ว ผมก็เห็นข้อความจากเพื่อนๆ คนอื่นของพี่ยุ่นที่เขาแชร์กันว่า เฟซบุ๊กพี่ยุ่นโดนแฮ็ก หากมีใครมาขอยืมเงิน อย่าโอนให้เป็นอันขาด เมื่อเห็นดังนั้น ผมจึงได้รู้ว่า พี่ยุ่นไม่ใช่คนที่มายืมเงินผมแน่ๆ แล้ว ผมจึงพยายามยื้อเวลาที่จะพูดคุยกับมิจฉาชีพอยู่ครู่ใหญ่ เพื่อต้องการรู้ให้ได้ว่าพิกัดที่มิจฉาชีพใช้เฟซบุ๊กพี่ยุ่นคุยกับผมนั้นอยู่ที่ไหน แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล” รัน วงเรทโทรสเปค บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาเองจดจำฝังใจ

ไว้ใจ-สนิทสนม กลโกงมิจฉาชีพหลอกต้ม!

“ส่วนเหตุผลที่ผมตัดสินใจโอนเงินในครั้งนี้ ก็เพราะว่า มิจฉาชีพมีการใช้คำพูดคำจาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พี่ยุ่นใช้พูดกับผมเสมอมา และยังมีการเรียกชื่อเฉพาะของผม ซึ่งเป็นชื่อที่จะมีเฉพาะคนสนิทเท่านั้นที่รู้จัก เพราะด้วยความสนิทสนม และความไว้ใจ มันได้กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจโอนเงิน นายศรัณย์เขษ หรือ รัน วงเรทโทรสเปค บอกเล่าตามความรู้สึก ณ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ

...

รัน วงเรทโทรสเปค ยังบอกเล่าต่อไปอีกว่า ภายหลังจากที่ตนโอนเงินจำนวน 5,000 บาท ไปให้มิจฉาชีพแล้วนั้น ตนก็รีบเดินทางไปแจ้งความที่ สน.บางชัน เพื่อลงบันทึกประจำวัน พร้อมกับโทรหาคอลล์เซ็นเตอร์ของธนาคารกสิกรไทยทันที เพื่อขอให้ทางธนาคารอาญัติเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งตนรอสายนานราว 15 นาที จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ และทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารได้แจ้งกับตนผ่านทางโทรศัพท์ว่า ธนาคารไม่สามารถอาญัติเงินของคุณได้

ในวันรุ่งขึ้น (6 ก.พ. 60) นายศรัณย์เขษ หรือ รัน วงเรทโทรสเปค พร้อมกับ นายวิโรจน์ หรือ ยุ่น แบล็คเฮด จึงเดินทางเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

...

6 สเตปแฮกเฟซบุ๊ก เนียนปล้นเงินผ่านแอปฯ กระเป๋าเงินออนไลน์

รัน วงเรทโทรสเปค กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกลโกงของมิจฉาชีพที่ใช้เทคโนโลยีหาประโยชน์กับคนบริสุทธิ์ว่า “ต่อมาภายหลัง จากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ จึงได้ทราบว่า มิจฉาชีพที่แฮกเฟซบุ๊กพี่ยุ่น เพื่อหลอกยืมเงินเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กของพี่ยุ่นนั้น มีการทำงานกันเป็นกระบวนการ โดยขั้นตอนที่ 1. มิจฉาชีพจะเลือกติดต่อไปยังพ่อค้า True Wallet ที่ค่อนข้างมีความน่าเชื่อถือ หรือสามารถรับโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว และพ่อค้าคนนั้นๆ จะต้องมีบัญชีธนาคารผูกไว้กับแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet จากนั้น มิจฉาชีพจะทำทีเป็นแจ้งพ่อค้าว่า ประเดี๋ยวจะมีคนโอนเงินเข้ามาให้ เพราะฉะนั้น ให้พ่อค้าสแตนบายรอรับเงิน และพ่อค้าจะต้องโอนเงินให้แก่มิจฉาชีพทันทีที่เงินเข้า

  • หมายเหตุ : พ่อค้า True Wallet คือ พ่อค้าที่มีบัญชีธนาคารผูกกับแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet ซึ่งทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยรับและโอนเงินจากบุคคลต่างๆ ที่ต้องการใช้จ่ายผ่าน TrueMoney Wallet (ยกตัวอย่างเช่น นายเอ จะโอนเงิน 1,000 บาทไปให้ นายบี โดยผ่านพ่อค้า TrueMoney Wallet ซึ่งพ่อค้าจะหักเงินค่าบริการไป 100 บาท (หรือแล้วแต่จะตกลงกัน) เพราะฉะนั้น นายบีจะได้เงินไปทั้งสิ้น 900 บาท) อย่างไรก็ตาม พ่อค้า True Wallet จะมีรายได้ค่อนข้างดี โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเยาวชนที่ชื่นชอบการเล่นเกม และจะนำบัญชีธนาคารของพ่อแม่ไปผูกกับแอปพลิเคชันดังกล่าว

นายวิโรจน์ หรือยุ่น แบล็คเฮด กล่าวถึงขั้นตอนที่ 2 ว่า มิจฉาชีพจะพยายามแฮกเข้าไปในเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้ใดผู้หนึ่ง โดยเลือกเจ้าของเฟซบุ๊ก หรือเหยื่อ ที่มักจะทิ้งเบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด ชื่อจริงหรือชื่อเล่นไว้ตามเฟซบุ๊ก หรือเจ้าของร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องแสดงเบอร์ ที่อยู่ หรือข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ไว้บนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก จากนั้น มิจฉาชีพจะนำข้อมูลส่วนตัวต่างๆ เหล่านี้ มาถอดเป็นรหัสผ่านเพื่อเข้าสู่ระบบของเฟซบุ๊ก ซึ่งจุดอ่อนของผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในปัจจุบันก็คือ การนำเบอร์โทรศัพท์ ชื่อสกุล หรือข้อมูลส่วนตัวของตนเองมาใช้เป็นรหัสผ่าน ซึ่งเปรียบเสมือนการป้อนพาสเวิร์ดเข้าปากมิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัว


“ขั้นตอนที่ 3 เมื่อแฮกเข้าสู่ระบบเฟซบุ๊กของเหยื่อได้เป็นที่เรียบร้อย ทางมิจฉาชีพจะสวมรอยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก โดยย้อนขึ้นไปอ่านข้อความเก่าๆ ที่เจ้าของเฟซบุ๊กเคยใช้พูดคุยกับเพื่อน จากนั้น มิจจาชีพจะพยายามเลียนแบบคำพูดคำจาในลักษณะเดียวกับที่เจ้าของเฟซบุ๊กใช้ พร้อมกับทักไปหาเพื่อนๆ ของผู้ที่ถูกแฮก เพื่อขอยืมเงิน เหมือนกับที่มิจฉาชีพอ่านข้อความเก่าๆ ที่ผมกับรันคุยกัน” นายวิโรจน์ หรือ ยุ่น แบล็คเฮด บอกเล่ากับผู้สื่อข่าวโดยละเอียด

นายศรัณย์เขษ หรือ รัน วงเรทโทรสเปค กล่าวถึงขั้นตอนต่อไปว่า จากนั้น ขั้นตอนที่ 4 มิจฉาชีพจะหลอกล่อให้เพื่อนของผู้ที่ถูกแฮกเฟซบุ๊ก โอนเงินเข้าไปในบัญชีธนาคารที่ผูกไว้กับแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet ซึ่งบัญชีธนาคารดังกล่าว มิใช่บัญชีของแก๊งมิจฉาชีพ แต่กลับเป็นชื่อบัญชีของพ่อค้า TrueMoney Wallet ที่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกให้รับโอนเงินอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการสืบหาตัวผู้กระทำความผิด ทางเจ้าหน้าที่รัฐก็จะพบเพียงแค่เจ้าของบัญชีที่ถูกมิจฉาชีพหลอกให้รับโอนเงิน ซึ่งเป็นการยากที่จะสืบสาวไปถึงมิจฉาชีพตัวจริงได้

“เมื่อถึงขั้นตอนที่ 5 พ่อค้า TrueMoney Wallet ก็จะนำเงินจากเพื่อนของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ถูกแฮกโอนไปยังแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet ของแก๊งมิจฉาชีพ นายศรัณย์เขษ หรือ รัน วงเรทโทรสเปค บอกเล่าตามข้อเท็จจริงที่ตนได้รับ

“โดยที่มาของแอปพลิเคชัน True Wallet ที่มิจฉาชีพเอาไว้ใช้รับเงินนั้น มาจากการหลอกล่อขอเบอร์โทรศัพท์จากผู้อื่นมาอีกทีหนึ่ง ซึ่งคนผู้นั้นอาจเป็นหญิงสาวมัธยมต้นที่ถูกมิจฉาชีพหลอกจีบ หรือหลอกพูดคุยต่างๆ นานา ให้ตายใจ และเมื่อได้เบอร์โทรศัพท์ของหญิงสาวมาแล้ว ทางมิจฉาชีพจะนำเบอร์ดังกล่าว ไปลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน TrueMoney Wallet และในส่วนของการกรอกชื่อ-นามสกุล, หมายเลขบัตรประชาชนนั้น มิจฉาชีพจะกรอกข้อมูลมั่วๆ ลงไปให้ครบ จากนั้น จะมีรหัส OTP (OTP หรือ One Time Password คือชุดรหัสผ่านใช้ครั้งเดียว) 6 หลัก ส่งเป็น SMS เข้าไปที่โทรศัพท์ของหญิงสาว ซึ่งมิจฉาชีพจะหลอกล่อให้หญิงสาวส่งรหัส 6 หลักนั้นๆ มาให้กรอก เพื่อสร้างบัญชีผู้ใช้ TrueMoney Wallet ให้แก่มิจฉาชีพ และด้วยขั้นตอนเพียงเท่านี้ มิจฉาชีพก็สามารถเป็นเจ้าของบัญชี TrueMoney Wallet โดยลวงให้ผู้อื่นมาเป็นเจ้าของบัญชีแทนได้แล้ว นายศรัณย์เขษ หรือ รัน วงเรทโทรสเปค กล่าวกับผู้สื่อข่าวตามที่ตนได้พูดคุยสอบถามกับหญิงสาวที่ถูกมิจฉาชีพหลอกอีกทีหนึ่ง

นายศรัณย์เขษ หรือ รัน วงเรทโทรสเปค กล่าวถึงกระบวนการที่ 6 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายว่า มิจฉาชีพ จะติดต่อไปยังหญิงสาวที่ถูกหลอกให้เปิดบัญชีผู้ใช้ TrueMoney Wallet เพื่อขอรหัส OTP ที่ส่งเป็น SMS เข้ามายังโทรศัพท์ของหญิงสาว และเมื่อได้รหัส OTP มาแล้ว มิจฉาชีพก็จะนำรหัสนั้นๆ มาใช้ในการนำเงิน (ที่เป็นของผู้บริสุทธิ์) ออกจากแอปพลิเคชันดังกล่าว ไปใช้จ่ายต่อไป

ติดตามคืบหน้าคดีคนดัง...

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าของคดีไปยัง พ.ต.ต.ปฐมพงษ์ ศิลปสุข สารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้รับคำตอบว่า “ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังอยู่ระหว่างติดตามตัวคนร้าย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเบาะแสที่คาดว่าจะติดตามตัวร้ายได้ในเร็วๆ นี้

นอกเหนือจากกรณีของ นายวิโรจน์ หรือ ยุ่น แบล็คเฮด และ นายศรัณย์เขษ หรือ รัน วงเรทโทรสเปค แล้วนั้น ทีมข่าวยังพบเหยื่อที่ถูกต้มด้วยน้ำมือของมิจฉาชีพยุค 4.0 ด้วยวิธีการหลอกล่อลักษณะเดียวกันอีก 2 ราย...

หนุ่มนักแต่งรถโดนแฮกเฟซ เพื่อนเชื่อสนิท แห่โอนเงินเข้ากระเป๋ามิจฉาชีพ!

ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพูดคุยกับ นายพิเชฐ ปานประสงค์ หนุ่มนักแต่งรถวัย 38 ปี หนึ่งในเหยื่อขบวนการแฮกเฟซบุ๊ก ถ่ายโอนเงินผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet ซึ่งนายพิเชฐ บอกเล่าด้วยอารมณ์ขุ่นเคืองเหมือนเหตุการณ์เพิ่งผ่านพ้นมาได้ไม่นานว่า “สำหรับกรณีของผมนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 60 ช่วงเย็นๆ มีเพื่อนโทรศัพท์เข้ามาหาผมมากมาย เพื่อซักถามว่า อั้มๆ (ชื่อเล่นของนายพิเชฐ) จะยืมเงินหรือ และต้องการเร่งด่วนไหม ซึ่งทางผมก็งงมาก จึงรีบปฏิเสธเพื่อนทุกคนที่โทรเข้ามาถามไปว่า ผมไม่ได้ขอยืมเงินใครทั้งสิ้น แต่ทุกคนต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผมส่งข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กไปขอยืมเงิน ซึ่งตอนนั้นผมรู้ทันทีว่า เฟซบุ๊กผมโดนแฮกเข้าให้แล้ว

หนุ่มนักแต่งรถ บอกเล่ากับผู้สื่อข่าวต่ออีกว่า จากนั้นตนจึงรีบเดินทางไปแจ้งความที่ สน.บางเขน ทันที ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับเรื่องแจ้งกับตนว่า ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก หากจะให้ดีต้องไปแจ้งที่ ปอท. ซึ่งทาง ปอท.ก็แจ้งกับตนว่า กรณีเช่นนี้ ตามตัวคนร้ายได้ค่อนข้างยาก ด้วยเหตุนี้ ตนจึงเริ่มติดตามตัวคนร้ายด้วยตัวเอง จนพบว่า เจ้าของบัญชีเป็นพ่อค้า True Wallet คนเดียวกับยุ่น วงแบล็คเฮด และ รัน วงเรทโทรสเปค

“ไม่กี่วันให้หลัง ผมได้มาทราบว่า มีเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กของผมจำนวน 5 คน ตัดสินใจโอนเงินไปให้มิจฉาชีพ คนที่ 1 เป็นพ่อค้าร้านมอเตอร์ไซค์ โอนเงินไปให้มิจฉาชีพจำนวน 1,300 บาท, คนที่ 2 เป็นผู้จัดการธนาคาร โอนเงินไปจำนวน 19,000 บาท, คนที่ 3 เป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร โอนเงินไปจำนวน 2,000 บาท, คนที่ 4 เป็นพนักงานบริษัทเอกชน โอนเงินไปจำนวน 4,000 บาท และคนที่ 5 คนสุดท้ายเป็นเจ้าของปั๊มแห่งหนึ่ง โอนเงินไปจำนวน 4,000 บาท รวมทั้งหมด 5 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 30,300 บาท นายพิเชฐ กล่าวด้วยน้ำเสียงเจ็บแค้น เนื่องจากมิจฉาชีพทำให้ทั้งตนและเพื่อนต้องเดือดร้อน

ผู้บริหารบริษัทเอกชนโดนด้วย! หลงเชื่อเพื่อนเดือดร้อน โอนไม่หยุด ยอดแตะเกือบ 5 หมื่น

น.ส.ดาเรศ ผู้บริหารบริษัทเอกชน วัย 38 ปี หนึ่งในเหยื่อขบวนการแฮกเฟซบุ๊กที่ถ่ายโอนเงินผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet บอกเล่ากับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 60 มิจฉาชีพได้ใช้เฟซบุ๊กของญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ค่อนข้างมีความสนิทสนมส่งข้อความมาหาตน เพื่อขอยืมเงิน โอยอ้างว่า ณ เวลานั้น ไม่สะดวกโอนเงินให้ลูกค้า จึงขอให้ตนเป็นผู้โอนเงินแทน พร้อมกับถ่ายรูปเงินจำนวนมากส่งมาให้ดูว่ามีเงินอยู่ตรงหน้า แต่ไม่สามารถออกไปโอนได้ และให้คำมั่นสัญญาว่า จะโอนเงินคืนในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น

“เราก็เลยตัดสินใจโอนเงินเลย เพราะผู้ที่ทักมาขอยืมเป็นญาติสนิทใกล้ชิดกันมานาน และด้วยความที่เรากำลังยุ่งๆ อยู่กับงาน จึงรีบโอนไปให้ ตอนแรกทักมายืมแค่ 6,500 บาท เราก็ตัดสินใจโอนให้เลย ไม่กี่นาทีต่อมา ทักมายืมเป็นครั้งที่สองอีก 8,000 บาท จากนั้นก็ทักมาอีกเป็นครั้งที่สาม เป็นจำนวน 15,000 บาท และสุดท้ายครั้งที่ 4 เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท รวมเงินที่เราโอนไปให้มิจฉาชีพมีจำนวนทั้งสิ้น 49,500 บาท” น.ส.ดาเรศ จดจำจำนวนเงินโอนทั้งสี่ครั้งได้เป็นอย่างดี แม้เรื่องราวจะผ่านมานานร่วมเดือน

ผู้บริหารบริษัทเอกชน กล่าวด้วยอารมณ์เจ็บช้ำต่อไปอีกว่า หลังจากนั้น ตนจึงเดินทางไปแจ้งความที่ สน.พื้นที่ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งกับตนว่า เหตุการณ์เช่นนี้ตามตัวคนร้ายได้ค่อนข้างยาก และเมื่อได้ยินดังนั้น ตนจึงเริ่มติดตามหาข้อมูลคนร้ายด้วยตนเอง โดยนำชื่อเจ้าของบัญชีที่ตนโอนเงินไปค้นในเว็บไซต์ google จนพบว่า เจ้าของบัญชีเป็นพ่อค้า True Wallet คนเดียวกันกับศิลปินดังยุ่น แบล็คเฮด และ รัน วงเรทโทรสเปค

อย่างไรก็ตาม กรณีมิจฉาชีพแฮกเฟซบุ๊ก เพื่อหลอกถ่ายโอนเงินผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet นั้น มิใช่จะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่ประสีประสากับความล้ำสมัยของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายต่อหลายคน ไม่เว้นแม้แต่ดารา คนดัง หรือศิลปินนักร้องที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี ก็ยังพลาดพลั้งให้กับกลโกง กลโจรอย่างไม่ได้ตั้งใจ...

เพราะฉะนั้น ช่องโหว่สำคัญของเหตุการณ์นี้ คืออะไร?
และ คุณควรทำอย่างไร ที่จะไม่ตกหลุมพรางมิจฉาชีพยุค 4.0?
ต้องติดตามตอนต่อไป!

หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการเหล่านี้ สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่...