• ประวัติศาสตร์การเมืองพม่า ทหารยึดอำนาจไม่บ่อยเท่าใดนัก แต่หลังจากทำสำเร็จ ก็มักจะอยู่ยาว และการยึดอำนาจของกองทัพพม่า ไม่ว่ายุคใดสมัยใด มักจะเป็นการเริ่มต้นสร้างระบอบใหม่ที่มีทหารเป็นแกนกลางเสมอ 
  • มิน อ่อง หล่าย ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะลงจากอำนาจหลังจากการเลือกตั้ง แต่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่า การเลือกตั้งต่างหาก ที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบใหม่
  • ในทัศนะของตัตมาดอว์ การพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งคือความผิดพลาด เพราะกองทัพพม่าสูญเสียอำนาจในการควบคุมการเมืองให้กับพลเรือน


สามวันหลังจาก พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี ประกาศจัดตั้งรัฐบาลรักษาการโดยกำหนดให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มอาเซียนก็มีมติรับรองให้รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนคนที่สอง ดาโต๊ะ เอรีวาน เปฮิน ยูซูฟ (Dato Erywan Pehin Yusof) เป็นผู้แทนพิเศษอาเซียนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองในพม่า นั่นเป็นสิ่งบอกเหตุว่าประชาธิปไตยพม่าไปไกลจนกู่ไม่กลับแล้ว

วันที่ มิน อ่อง หล่าย ขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขรัฐบาลทหารพม่านั้นเป็นเวลาครบ 6 เดือนพอดีนับจากวันที่เขาทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แต่นับเป็นวันเริ่มต้นที่จะแผ้วถางทางให้กับระบอบการเมืองใหม่ที่จะมีอายุยืนยาวนับต่อจากนี้ไปอีกนานพอสมควร

ประวัติศาสตร์การเมืองพม่าบอกให้รู้ว่า ประเทศนี้ทหารยึดอำนาจไม่บ่อยเท่าใดนัก แต่มักจะอยู่ยาว

มิน อ่อง หล่าย ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะลงจากอำนาจหลังจากการเลือกตั้ง แต่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากว่า การเลือกตั้งต่างหาก ที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบใหม่ของเขา มากกว่าจะเปิดทางให้นักการเมืองพลเรือนกลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง

...

การยึดอำนาจของกองทัพพม่า หรือ ตัตมาดอว์ (Tatmadaw) ไม่ว่ายุคใดสมัยใด มักจะเป็นการเริ่มต้นสร้างระบอบใหม่ที่มีทหารเป็นแกนกลางเสมอ

นายพลเน วิน ยึดอำนาจในปี 1962 สถาปนาระบอบเผด็จการทหารภายใต้ชื่อโครงการสังคมนิยมแบบพม่า ซึ่งมีอายุยืนยาวถึงปี 1988 ก่อนนักศึกษาประชาชนจะลุกฮือประท้วง และถูกโค่นล้มโดยนายทหารรุ่นน้องซึ่งสถาปนาระบอบเผด็จการทหารที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า เน วิน เล็กน้อย ภายใต้ชื่อสภาฟื้นฟูระเบียบและกฎหมายแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council:SLORC) จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council: SPDC) ซึ่งเปิดประเทศและเปิดกว้างทางเศรษฐกิจพอประมาณ

กระทั่งปี 2010 คณะ SPDC ตระหนักว่าไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้อีกต่อไปโดยปราศจากการเลือก จึงต้องยอมแปลงโฉมผ่านระบอบการเลือกตั้งและรัฐสภา มีนายทหารชื่อ พลเอกเต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดี และมีพรรคการเมืองชื่อ สหสามัคคีเพื่อการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ซึ่งหากว่าไปแล้วก็คือปีกการเมืองของตัตมาดอว์นั่นเอง

ระบอบใหม่นี้อยู่ได้แค่เพียงสมัยเดียว ก็พ่ายแพ้แก่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ของ ออง ซาน ซูจี ในอีก 5 ปีถัดมา

ในทัศนะของตัตมาดอว์ นั่นคือความผิดพลาด เพราะกองทัพพม่าสูญเสียอำนาจในการควบคุมการเมืองให้กับพลเรือน จึงเป็นเหตุผลให้ มิน อ่อง หล่าย ต้องยึดอำนาจ และสถาปนาระบอบการเมืองแบบใหม่ที่มีกองทัพเป็นแกนกลางและตัวเขาเองเป็นประมุขรัฐบาล

นับจากนี้ไป มิน อ่อง หล่าย มีงานที่จะต้องทำอีกมากมาย เริ่มตั้งแต่บรรจุนายทหารที่เขาไว้ใจให้ควบคุมฝ่ายบริหารทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น เขาประกาศรายชื่อมุขมนตรีประจำทั้ง 7 รัฐ และ 7 ภาคเสียใหม่ ส่วนใหญ่เป็นนายทหารระดับผู้บังคับกองพัน เพื่อช่วยควบคุมการบริหารงานในท้องถิ่น ซึ่งเป็นระบอบคล้ายๆ กับสิ่งที่ พลเอกอาวุโส ตัน ฉ่วย เจ้านายของเขาเคยทำมาก่อน

หากไม่มีใครว่าอะไร มิน อ่อง หล่าย ก็อาจใช้ระบอบแบบนี้ปกครองประเทศไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากประชาชน กองทัพพม่าก็เลือกใช้วิธีการปราบปรามอย่างรุนแรงมากกว่าประนีประนอม ถ้ามีแรงกดดันจากนานาชาติมาก เขาจะพยายามสร้างระบบการเลือกตั้งที่ทำให้พรรคทหารชนะการเลือกตั้งเพื่อค้ำจุนอำนาจกองทัพในการเมืองต่อไปตราบนานเท่านาน

ขณะที่กลุ่มอาเซียน ซึ่งพม่าก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วย ได้ประกาศรายชื่อผู้แทนพิเศษอาเซียนในกิจการพม่าชนิดที่สร้างความผิดหวังให้คนทั่วโลก เพราะหลังจากที่เจรจากันอยู่กว่า 3 เดือนนับจากวันที่มีฉันทามติกันในเรื่องนี้ ว่าอาเซียนจะต้องตั้งผู้แทนพิเศษเพื่อแก้วิกฤตการณ์พม่า

บรูไน ซึ่งเป็นประธานอาเซียน ก็ได้ตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองเป็นผู้แทนพิเศษเสียเอง นัยว่าเป็นทางเลือกประนีประนอมที่สุด ด้วยว่าไทยและอินโดนีเซียต่างก็แข่งขันกันเสนออดีตรัฐมนตรีของตัวเอง คือ วีรศักดิ์ ฟูตระกูล และ ฮัสซัน วีราจูดา เข้าชิงตำแหน่ง และมิน อ่อง หล่าย ก็ดูจะมีความโน้มเอียงมาทางไทย เพราะเชื่อว่าผู้แทนไทยคงจะเข้าอกเข้าใจนักรัฐประหารมากกว่า ด้วยว่ามาจากระบอบการเมืองที่มีรากฐานแบบเดียวกัน

แม้หลายฝ่ายเชื่อว่า ผู้แทนพิเศษชาวบรูไนน่าจะดีกว่าคนไทย เพราะไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมอะไรกับผู้นำตัตมาดอว์มากนัก แต่ชุมชนนานาชาติดูไม่ค่อยให้ความเชื่อถือนัก ว่านักการทูตชาวบรูไนจะสามารถแสดงบทบาทนำในการแก้ปัญหาให้กับพม่าได้ แม้รัฐบาลทหารพม่าจะแสดงปฏิกิริยาออกมาเชิงบวกว่า ‘ยอมรับได้’ กับคนที่จะมาเป็นผู้แทนพิเศษของอาเซียน แต่นั่นก็เพราะ มิน อ่อง หล่าย เคยพบกับ เอรีวาน เปฮิน ยูซูฟ แล้วเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน และคงประเมินออกว่า รัฐบาลทหารพม่าจะไม่ต้องเผชิญแรงกดดันอะไรจากผู้แทนพิเศษของอาเซียนคนนี้แน่นอน มิหนำซ้ำอาจได้อาศัยผู้แทนพิเศษและกลุ่มอาเซียนในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลใหม่ของ มิน อ่อง หล่าย และลดแรงกดดันจากประเทศตะวันตกได้อีกด้วย

...

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนนักในเวลานี้ว่าผู้แทนพิเศษของอาเซียนมีแผนการจะทำอะไรเพื่อช่วยให้ประชาชนชาวพม่ารอดพ้นจากวิกฤตการณ์ในคราวนี้ได้ ถึงวันที่ 5 สิงหาคม ตัตมาดอว์สังหารประชาชนของตัวเองไปแล้ว 948 คน และจับกุมคุมขังมากกว่า 7,000 ราย นับแต่ยึดอำนาจ โดยที่อาเซียนทำอะไรไม่ได้เลย

การสู้รบระหว่างตัตมาดอว์กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ยังดำเนินต่อไป ยังไม่นับว่ามีคนติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 319,250 คน และ 10,988 รายต้องสังเวยชีวิตให้กับโรคร้ายนี้ไปแล้ว เพราะรัฐบาลทหารพม่าไร้ความสามารถในการควบคุมโรคและกลุ่มอาเซียนก็ทำอะไรไม่ได้อีกเหมือนเดิม