จากกรณี ดราม่าแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ภายหลังจากเมื่อวันที่ 7 มกราคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ถึงมาตรการของรัฐ หากผู้ติดเชื้อไม่ดาวน์โหลดแอปหมอชนะ ถือมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 มีโทษหนักถึงจำคุกหรือปรับ จนเกิดเสียงวิจารณ์อย่างมากจากประชาชน

กระทั่งล่าสุด รัฐบาลกลับลำไม่ดาวน์โหลดแอปหมอชนะไม่ติดคุก แต่ขอความร่วมมือให้ดาวน์โหลดแอป เพราะเป็นประโยชน์มากต่อเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการโรค ซึ่งแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" จะช่วยแจ้งเตือนเมื่อพบผู้ป่วยรายใหม่ที่เคยพบปะใกล้ชิดในระยะแพร่เชื้อ เพื่อให้ทราบอย่างรวดเร็ว และเฝ้าระวังตนเองอย่างทันท่วงที รวมถึงประโยชน์ของแอปหมอชนะ ถ้าสมมติติดโควิด-19 จะทำให้เวลาสอบสวนโรคทำได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ไม่ต้องมานั่งนึกกันว่าแต่ละวันไปไหนมา

แอปหมอชนะ มีความเสถียรแค่ไหน ดาวน์โหลดแอปมาใช้ เปิดบลูทูธแล้วแบตหมดเร็ว สาเหตุจากอะไร กรณีผู้ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนดาวน์โหลดแอปได้ หรือไม่มีเงินเติมเน็ต ออกนอกบ้านทำให้ข้อมูลไม่ครบ ปัญหาดังกล่าวที่เป็นส่วนหนึ่งให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประชาชนนี้ เพื่อความเข้าใจกระจ่างแจ้ง เราไปฟังคำตอบจาก ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผอ.สำนักงานพัฒนาดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA) อดีตผู้ช่วยอธิการบดี ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและยุทธศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมพัฒนา "หมอชนะ"

...

: ย้อนที่มาแอป "หมอชนะ" :

จุดเริ่มต้นของแอป "หมอชนะ" ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 63 หลังเกิดการระบาดโควิดในไทย ดร.สุพจน์ ย้อนเล่าว่า เป็นการผนึกกำลังระหว่าง "ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชน และภาครัฐ" โดยกรมควบคุมโรคทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล

แอป "หมอชนะ" ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจำนวนมาก เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย และช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรคและบุคลากรทางการแพทย์สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็วจากบันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งานแอป "หมอชนะ" ด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth

ประโยชน์ของแอปหมอชนะ หากสมมติติดโควิด กรมควบคุมโรคจะดูข้อมูลในแอปหมอชนะที่ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลเอาว่ามีใครลงแอปหมอชนะบ้าง และอยู่ใกล้ชิดในช่วง 14 วันที่ผ่านมาแล้ว กรมควบคุมโรคก็สามารถส่งข้อความไปแจ้งเตือน เข้าข่ายความเสี่ยงให้กักตัวเอง 14 วัน หรือสัมผัสใกล้ชิดเลยจริงๆ ให้รีบติดต่อกรมควบคุมโรคเพื่อตรวจดูว่าติดเชื้อหรือเปล่า

: แอปหมอชนะ แจ้งเตือนจริง ไม่สูบแบต :

สำหรับข้อสงสัยของประชาชน กรณีดาวน์โหลดแอปหมอชนะมาใช้งานแล้วแบตหมดไว ดร.สุพจน์ อธิบายว่า หากทุกคนดาวน์โหลดแอปหมอชนะ ต้องเปิดจีพีเอส และบลูทูธร่วมด้วยเพื่อบันทึกตำแหน่งที่เราเคลื่อนที่ โดย GPS จะจับสัญญาณในพื้นที่โล่ง แต่หากเข้าไปในอาคาร เช่น ห้างสรรพสินค้า บลูทูธจะบันทึกตำแหน่งแทนโดยมือถือจะส่งสัญญาณบลูทูธไปมือถืออีกเครื่องของคนที่เรานั่งใกล้ชิด ระยะประมาณ 15 เมตร ส่วนสาเหตุที่แบตมือถือหมดไวจากการใช้แอปหมอชนะ ดร.สุพจน์ ยืนยัน "ขณะนี้แก้ไขแล้ว"

นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีอีกเรื่อง กรณีผู้มีรายได้น้อยอยากดาวน์โหลดแอปหมอชนะมาใช้ หรือดาวน์โหลดมาแล้วไม่มีเงินเติมเน็ต ขณะนี้กำหลังหารือผู้ประกอบการหาทางยกเว้นค่าบริการใช้เน็ต

...

หลังมีกระแสดราม่า 2-3 วันที่ผ่านมา ดร.สุพจน์ เผยข้อมูลว่า ทำให้วันนี้ (9 ม.ค. 64) จำนวนตัวเลขผู้ดาวน์โหลดใช้แอปหมอชนะเติบโตขึ้นจาก 6 แสน ล่าสุด 5 ล้านกว่า โดยข้อมูลการแถลงของ นพ.ทวีศิลป์ ระบุ ตัวเลขการดาวน์โหลดแอปหมอชนะตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. มียอดดาวน์โหลด 3.69 ล้านราย, 5 ม.ค. มียอดดาวน์โหลด 1.5 ล้านราย, วันที่ 6 ม.ค. มียอดดาวน์โหลด 1.65 ล้านราย จนกระทั่งวันที่ 7 ม.ค. ที่มีประเด็นร้อนแรงเรื่องถ้าไม่พบผู้ป่วยไม่ดาวน์โหลดแอปจะมีความผิด มียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นเป็น 3.69 ล้านราย

และเมื่อวานหลังมีการสอบสวนโรค ดูข้อมูลจากแอปหมอชนะของผู้ติดเชื้อและได้มีการแจ้งเตือนผู้เกี่ยวข้องเคยใกล้ชิดไปแล้ว 112 ราย และขณะนี้ ได้มีการเตรียมป้องกันไม่ให้เกิดแอปล่มกรณีที่คนใช้จำนวนมากไว้แล้ว ขอประชาชนมั่นใจและดาวน์โหลดแอปมาใช้กันให้มาก เพื่อป้องกันตัวเองและผู้อื่น ช่วยกันหยุดยั้งเชื้อโควิด

"แอปจะเก็บข้อมูลการเดินทางไว้ในระบบเฉยๆ โดยที่ไม่มีการเรียกเก็บเบอร์โทรศัพท์ ไม่มีเก็บชื่อ เก็บที่อยู่ใดๆ ทั้งสิ้น ระบบที่เก็บจะรู้รหัสเป็นภาษาคอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ขอให้ประชาชนคลายกังวลได้ แอปหมอชนะเก็บเท่าที่จำเป็น คือ ไทม์ไลน์การเดินทาง และภาพถ่ายจะอยู่ในมือถือเท่านั้น ไม่ได้ส่งไปที่เซิร์ฟเวอร์ คนที่รู้ได้มีแค่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากใช้แอปแล้วไม่สะดวกอย่างไร โทรแจ้งไปที่คอลเซ็นเตอร์ 1111" ดร.สุพจน์ กล่าว

...

: ข่าวน่าสนใจ :