ปัจจุบันกระแส "การวิ่ง" ได้รับความนิยมอย่างมาก มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็กวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยสูงอายุต่างออกมาวิ่งออกกำลังกายกันมากยิ่งขึ้นๆ ยิ่งช่วงโควิดระบาด การมีสุขภาพที่แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่บ่อยครั้งที่จะมีข่าวเศร้า เมื่อนักวิ่งเสียชีวิตกะทันหันจาก "ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน"
จากกรณีนักวิ่งมาราธอนเสียชีวิตขณะวิ่ง เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก หากนักวิ่งทั้งหลายตระหนักและรู้จักป้องกันตัวเองด้วยวิธีง่ายๆ! เรามาฟัง “โค้ชวิท” หรือ คุณมณฑล หวานวาจา Health Coach เพจ "7 สัปดาห์รอบรู้สู่สุขภาพดี" ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมากว่า 14 ปี แนะนำความรู้ดีๆ กันเลยดีกว่า
: ปัจจัยสำคัญ สาเหตุเสียชีวิต ขณะวิ่งมาราธอน :
หลายคนคาใจ นักวิ่งถือเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว แต่ทำไมจู่ๆ ต้องเสียชีวิตเฉียบพลันขณะวิ่ง ซึ่งสาเหตุนั้น “โค้ชวิท” อธิบายว่า การเสียชีวิตขณะวิ่ง ส่วนมากเกี่ยวกับ “หัวใจ” ซึ่งพบได้ในนักวิ่งที่อาจมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่แต่ไม่รู้ตัว
...
สาเหตุของการเสียชีวิตมักสรุปว่าเกิดจาก “ภาวะหัวใจล้มเหลว” เพราะขณะวิ่งออกกำลังกาย หรือวิ่งมาราธอน หัวใจต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่จู่ๆ หัวใจไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไม่พอ ทำให้หัวใจขาดเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจทำงานไม่ได้ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง
นอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุทำให้เสียชีวิตระหว่างวิ่ง คือ การซ้อมที่ไม่ถูกรูปแบบ เช่น ไม่ซ้อมเลยแล้วไปวิ่ง หรือซ้อม 21 กิโลฯ แต่ไปวิ่ง 42 กิโลฯ หรือซ้อมวิ่งเบาๆ แต่ไปวิ่งเร็ว วิ่งหนักเกินกำลัง ไม่ได้ซ้อมไต่ระดับความหนักไปเรื่อยๆ มาก่อน เพราะฉะนั้นนักวิ่งควรได้ฝึกซ้อมกับโค้ชที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนลงแข่งวิ่งในแต่ละระยะ
: 2 วิธีตรวจ ความเสี่ยงป่วยโรคหัวใจ ก่อนวิ่ง :
แล้วนักวิ่งจะมีวิธีอื่นป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เสียชีวิตขณะวิ่งได้อย่างไร “โค้ชวิท” บอกอันดับแรกต้อง “ตรวจสุขภาพประจำปี” นักวิ่งปกติทั่วไปหรือผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ โรคอ้วน น้ำหนักตัวเกิน พ่อแม่มีกรรมพันธุ์โรคหัวใจ ต้องตรวจสุขภาพหรือประเมินสุขภาพตัวเองก่อนวิ่งทุกครั้ง ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
1. ประเมินสุขภาพตัวเองเบื้องต้นก่อนวิ่ง หรือที่เรียกว่า Thai CV risk score ของมหาวิทยาลัยมหิดล ฟรี โดย คลิก กรอกข้อมูลตามความเป็นจริง เช่น อายุ เพศ ป่วยโรคเบาหวานหรือไม่ สูบบุหรี่หรือเปล่าความดันโลหิตเท่าไร มีคอเลสเตอรอลรวมเท่าไร หากกรอกข้อมูลครบแล้ว จะมีข้อมูลแสดงผล ว่ามีความเสี่ยงเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ หากผลระบุความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ต้องไปทำตรวจหัวใจตามวิธีข้อต่อไป คือ
2. ตรวจสมรรถภาพหัวใจ ด้วยวิธี EKG เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ประเมินอัตราการเต้นของหัวใจว่ามีจังหวะการเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ หรือมีความสม่ำเสมอหรือไม่ ช่วยแพทย์วินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด โดยนักวิ่งควรจะตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง สามารถตรวจได้ ใน รพ. ต่างๆ ที่ให้บริการ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่สูง หรืออาจจะทดสอบเดินสายพาน เรียกว่า Exercise Stress Test (EST) ซึ่งจะมีความแม่นยำกว่า EKG ความแม่นยำประมาณ 60-80% แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าแบบ EKG ซึ่งผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ มีภาวะอ้วนน้ำหนักตัวเกิน ควรจะทดสอบเดินสายพานก่อนวิ่ง
...
และวิธีฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) วิธีนี้เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด เป็นการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography) หรือเรียกว่า การฉีดสีผ่านสายสวนหัวใจ เพื่อดูเส้นเลือดของหัวใจว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือความผิดปกติอื่นๆ ของหลอดเลือดหัวใจบ้างหรือไม่ รวมถึงใช้ติดตามผลการรักษาภายหลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจวิธีนี้จะได้รับสารทึบรังสีเพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์หัวใจที่แม่นที่สุด แต่ราคาจะค่อนข้างสูงมาก
: อาการเตือน เสี่ยงวูบล้มฉับพลันขณะวิ่ง :
ขณะวิ่ง ผู้ที่รู้สุขภาพตัวเองดีที่สุดคือตัวเรา เพราะฉะนั้นโค้ชวิท แนะนำให้สังเกตความรู้สึกและระบบหายใจตัวเองว่ายังหายใจสบาย คล่องดีไหม และ Talk Test พูดกับตัวเองว่าขณะวิ่งพูดได้จบประโยคไหม หากเหนื่อยเล็กน้อยแต่พูดได้เป็นประโยค แต่หากเหนื่อยจนพูดไม่เป็นประโยค หรือหายใจหอบก็ต้องผ่อนการวิ่ง หยุดจิบน้ำตามจุดบริการ หรือทุกครึ่งชั่วโมงต้องจิบน้ำ นอกจากนี้หากมีอาการอื่นๆ ดังนี้ ควรหยุดวิ่งและขอความช่วยเหลือคนข้างๆ ทันที
...
1. เจ็บแน่นหน้าอก
2. รู้สึกจะเป็นลม หน้ามืด หมดสติ
3. เหนื่อยง่ายกว่าที่ควรจะเป็น
4.ใจสั่นผิดปกติ
: 4 หลักวิธีช่วยเหลือเบื้องต้น หากคนข้างๆ วูบล้มขณะวิ่ง :
หากเกิดกรณีฉุกเฉิน นักวิ่งล้มหมดสติเฉียบพลัน การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จากประสบการณ์ในการวิ่งมาหลายปี โค้ชวิท ชี้แนะ ผู้จัดงานวิ่งควรมีเ เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) ให้เตรียมพร้อม หรือติดตั้งไว้ตามสถานที่ออกกำลังกาย วิธีปฐมพยาบาลหากนักวิ่งหมดสติ ควรปฏิบัติเร่งด่วน ดังนี้
1. ตั้งสติ แล้วตีบ่า ตีไหล่ เพื่อดูว่าหายใจหรือไม่
2. รีบ Call for help ที่ 1669 สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน และให้คนอื่นช่วยหาเครื่อง AED จากนั้นรีบช่วยฟื้นคืนชีพด้วยวิธีปั๊มหัวใจ หรือ CPR ภายใน 10 นาทีให้ได้ เพราะทุก 1 นาทีที่หายไป คือโอกาสรอดชีวิตน้อยลง 10% ซึ่งสายด่วน 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินจะช่วยบอกวิธีทำ CPR
3. รีบส่ง รพ. ที่มีเครื่องสวนหัวใจเพื่อขยายหลอดเลือดให้ไหลกลับไปเลี้ยงหัวใจ
...
รู้อย่างนี้แล้ว ผู้มีหัวใจ "รักการวิ่ง" ไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ หรือมืออาชีพ
อย่าลืมมาตรวจสุขภาพก่อนวิ่งกันนะคะ
: ข่าวน่าสนใจ :