ก้าวแรกข้อตกลง RCEP 2020 ผ่านไปอย่างสวยงาม ทั้ง 15 ประเทศ จรดปากกาลงนามอย่างพร้อมเพรียง เตรียมเปิด ตลาดเสรี ที่ไร้กำแพงภาษีมากั้น แต่คำถามก็คือ "RCEP ไทยได้อะไร?" ...

จากคำถามนั้น บางคนอาจจะงงๆ อยู่ว่า RCEP ที่ว่านี้... คืออะไร?

RCEP หรือ "อาร์เซ็ป" มีชื่อเต็มว่า Regional Comprehensive Economic Partnership ในความหมายภาษาไทยว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งภูมิภาคที่ว่านั้นก็คือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่รวมกันกว่า 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อาเซียน" (ASEAN), ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ รวมถึง จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

เรียกได้ว่า RCEP คือ ข้อตกลงการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากรกว่า 2,200 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) รวมกันมากถึง 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 793 ล้านล้านบาท

...

หากย้อนกลับไปในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2563 คำมั่นสัญญาหนึ่งที่ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหวียน ซวน ฟุก ยืนยันก่อนที่ 15 ประเทศจะพร้อมใจกันจรดปากกาลงนาม คือ RCEP จะเป็นเครื่องยืนยันบทบาทอันแข็งแกร่งของอาเซียนในการสนับสนุนระบบการค้าแบบพหุภาคี โดยจะพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่หยุดชะงักในช่วงวิกฤติโควิด-19 ไม่เพียงเท่านั้นจะช่วยกระตุ้นการฟื้นเศรษฐกิจให้กับกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมอีกด้วย

แน่นอนว่า ในแง่บทบาทความร่วมมืออันเข้มแข็งของอาเซียน พอจะเห็นภาพออกได้บ้าง แต่ในแง่ของ "ไทย" นั้นก็ย่อมเป็นคำถาม... ว่าแล้วการเข้าร่วม RCEP ไทยได้อะไร?

ซึ่งรัฐบาลได้ชี้แจงเป็นข้อๆ ถึงหมวดสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จาก RCEP ไว้ว่า 1. สินค้าเกษตร เช่น แป้ง มันสำปะหลัง และประมง, 2. อาหาร ผัก-ผลไม้แปรรูป, 3. สินค้าอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์, 4. การบริการ ก่อสร้าง ธุรกิจสุขภาพ และ 5. การค้าปลีก และนอกเหนือจากนั้น RCEP จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันที่ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการลงทุนอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

แต่ RCEP จะมีแต่ข้อดีอย่างเดียวหรือ? ...คำตอบคือ "ไม่!"

RCEP เองก็มี "ข้อเสีย" เช่นกัน... ซึ่งนั่นจะเป็นรูปแบบไหน? และ RCEP ในแง่มุมที่มีขั้วมหาอำนาจเศรษฐกิจอย่าง สหรัฐอเมริกา, จีน และอินเดีย เข้ามาเกี่ยวข้องจะเป็นอย่างไร?

"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" สนทนากับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ และ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดมุมวิเคราะห์ในมุมมองที่ต่างกับทีมเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg

ภาพเบื้องต้น รศ.ดร.สมชาย มองว่า ในระยะกลาง-ยาว RCEP จะนำไปสู่การขยายการบริการและภาคแรงงาน รวมถึงส่วนแบ่งตลาดของ 15 ประเทศจะมีการเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว และอาจส่งผลให้ประเทศต่างๆ มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาทำความตกลงการค้าในรูปแบบ FTA กับ RCEP มากขึ้น ซึ่งผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น คือ การพัฒนาโลจิสติกส์และการท่องเที่ยว

ซึ่ง รศ.ดร.ปิติ ก็มองไปทิศทางเดียวกันว่า "RCEP ไม่ได้เป็นข้อตกลงการค้าที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ต้องใช้เวลา"

...

และแน่นอน... ทั้ง รศ.ดร.สมชาย และ รศ.ดร.ปิติ ก็เห็นตรงกันอีกว่า เมื่อ RCEP มีข้อดี ก็ย่อมมีข้อเสีย

ข้อเสีย RCEP ในมุมมอง รศ.ดร.สมชาย คือ ธุรกิจที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ...จะเจ๊งไป

ขณะที่ ข้อเสีย RCEP ในมุมมอง รศ.ดร.ปิติ ก็เห็นเช่นเดียวกันว่า การเปิดตลาดมากขึ้น ผู้ประกอบการของไทยรายใดที่ไม่มีการเตรียมพร้อม ยังคงทำแบบเดิมๆ ไม่มีประสิทธิภาพ กลุ่มเหล่านี้จะถูก Disrupt แน่นอน การที่ตลาดใหญ่ขึ้น...หมายความว่า สินค้าจากต่างประเทศจะมากยิ่งขึ้น แล้วก็จะเป็นผลเสียกับคนที่ไม่เตรียมตัว ไม่ได้เตรียมพร้อม อาจไม่ถึงกับหายไป... แต่ก็จะเจอการแข่งขันที่รุนแรง

"ข้อตกลงการค้าเกิดขึ้นจากการเจรจา ต้องมีทั้งคนได้และคนเสีย แต่ว่าจะทำยังไงให้ได้ผลดีมากที่สุด ยกตัวอย่าง 'มีดพร้า' ถ้าใช้ทำผลไม้หรืออาหารก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเอาไปปล้น ไปฆ่า ก็เป็นโทษ ...อยู่ที่คนรู้จักเท่าทันหรือเปล่า ของพวกนี้เป็น Tool (เครื่องมือ) เพื่อบรรลุเป้าหมาย"

แต่ก็อย่าเพิ่งวิตกกันเกินไป... ข้อตกลง RCEP ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน และในเวลานี้ RCEP ยังไม่มีผลบังคับใช้ เพราะต้องได้รับการอนุมัติจากกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ รวมถึงคู่ค้าอีก 3 ประเทศเสียก่อน...

...

RCEP และขั้วมหาอำนาจเศรษฐกิจ "สหรัฐอเมริกา, จีน และอินเดีย"

หนึ่งในมุมมองจาก ชอน โรช หัวหน้าทีมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำ S&P Global Rating มองว่า "จีน" ประสบความสำเร็จในการเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตในการนำพา RCEP ให้ข้ามเส้น 8 ปีแห่งการเจรจาที่ชุ่มไปด้วยเลือด หยาดเหงื่อ และน้ำตา... หลังจากที่ "อินเดีย" ประกาศถอนตัวออกจาก RCEP ไปเมื่อปีที่แล้ว

และมองด้วยว่า นี่อาจเป็นก้าวแรกของจีนในการหลอมรวมเศรษฐกิจกับภูมิภาคฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอาจจะขยายไปมากกว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 15 ประเทศนี้ ให้สมกับที่ นายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อ เฉียง พูดเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน ว่า "การลงนาม RCEP จะทำให้เห็นถึงความชัดเจน ความเข้มแข็ง ที่เป็นสัญญาณบวกในการรวมภูมิภาคเข้าด้วยกัน และความเป็นโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ"

ขณะที่ รศ.ดร.ปิติ มองว่า จีนมีบทบาทในอาเซียนมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีอินเดียหรือไม่ก็ตาม แล้วใน RCEP ประเด็นที่มีการพูดกันเป็นเรื่องเศรษฐกิจการค้า-การลงทุนเป็นหลัก ซึ่งจีนเองก็มีบทบาทสูง หากเทียบกับอินเดีย แม้จะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นประเทศที่เน้นการค้าขาย ส่งออก หรืออุตสาหกรรมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าดูผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การไม่มีอินเดีย อิทธิพลของจีนไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะอย่าลืมว่า อย่างไรเสียการรวมตัวของ RCEP เป็นความตกลงที่คุยกันเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก มากกว่าการเมือง ความมั่นคง

...

แต่หากถามว่า การที่ "อินเดีย" ถอนตัวจาก RCEP จะมีปัญหาอะไรไหม?

"ไม่คิดว่ามีปัญหาอะไร..."

รศ.ดร.ปิติ ให้ความเห็นว่า 15 ชาติสมาชิก มีการตกลงกันไว้แล้วในตัวข้อตกลงการค้า เรียกว่า "ภาคยานุวัตร" ซึ่งเป็นตัวบอกว่า หลังจากมีผลบังคับใช้ไปแล้ว คนที่จะอยากสมัครเป็นสมาชิกใหม่จะต้องรออีกกี่วันกี่เดือน โดย RCEP บอกไว้ว่า สมาชิกใหม่ที่จะเข้ามา ทางสมาชิกเดิมต้องมีผลบังคับใช้ 18 เดือน ถึงจะสมัครสมาชิกใหม่ได้ สำหรับอินเดีย สมาชิกเดิม RCEP บอกว่าจะเข้ามาเมื่อไรก็ได้ มาได้เลย

เหตุผลอะไรที่ "อินเดีย" ตัดสินใจถอนตัวจาก RCEP...

หนึ่งในเหตุผลที่ นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี บอกไว้คือ อินเดียมีความกังวลในวิธีการของ RCEP ที่อาจส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอินเดียในอนาคต

ซึ่งจากการที่ 15 ชาติสมาชิก ยินดีต้อนรับอินเดียกลับเข้าร่วม RCEP ทุกเมื่อ ในความเห็นของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจฯ ก็มองว่า นี่เป็นสัญลักษณ์การแสดงถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของจีนในการพยายามสร้างสะพานเศรษฐกิจกับ 3 เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาค

กลับกันในภาพของ "สหรัฐอเมริกา" เองกลับแตกต่างกับ "อินเดีย" ที่ถูกเปรียบเทียบการปฏิบัติของชาติสมาชิกในข้อตกลงการค้า TPP หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) ที่ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวอย่างหน้าชื่นตาบาน จนชาติที่เหลือต้องรวมกลุ่มกันใหม่กลายเป็น CPTPP อย่างในปัจจุบัน และกลายเป็นความท้าทายของ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 โจ ไบเดน ...

ความท้าทายที่ว่านั้นก็คือ โจ ไบเดน จะเลือกกลับเข้าร่วม TPP อีกหรือไม่?

ซึ่งในมุมมองการวิเคราะห์จากนักเศรษฐศาสตร์ของ Bloomberg มองว่า โจ ไบเดน มีความเป็นไปได้ที่จะกลับเข้าร่วม เพราะนโยบายที่เน้นการค้าเสรี แต่การกลับเข้าร่วมของ โจ ไบเดน ต้องรื้อกติกา CPTPP ใหม่ หรือทำให้คล้ายคลึงกับ TPP เดิมมากที่สุด

ในส่วนนี้ รศ.ดร.สมชาย มองว่า สหรัฐอเมริกาจะรื้อการทำข้อตกลงการค้า TPP แน่นอน เพราะปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาเสียเปรียบจีนอยู่มาก เพียงแต่อาจยังไม่ใช่ในเร็วๆ นี้ เพราะติดปัญหาจากแคมเปญหาเสียงต่างๆ ที่เคยมีการรณรงค์ไว้ แต่ยังไงก็คิดว่า สหรัฐอเมริกาต้องมีการทำข้อตกลงการค้าแน่ๆ อาจจะเป็นข้อตกลงฉบับใหม่เลย หรือปรับกติกา TPP

แตกต่างจากมุมมอง รศ.ดร.ปิติ ที่มองว่า โจ ไบเดน ไม่น่าจะกลับเข้าสู่ CPTPP หรือฟื้น TPP เพราะวิธีการของพรรคเดโมแครต ที่เรียกว่า Neoliberal Institutionalism (สถาบันนิยม-เสรีนิยมใหม่) โดยสหรัฐอเมริกาต้องเป็นฝ่ายเริ่มวางกติกาใหม่ในแง่อุตสาหกรรมการลงทุน จะต้องเป็นบ่อเกิดเวทีการค้าเสรีเอง ทั้งการวางกติกา การออกแบบกฎ และเป็นคนคุมกฎ ง่ายๆ ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นผู้เล่นหลัก เพราะฉะนั้น กรณีของ CPTPP หรือกรณีของ RCEP ไม่ได้เป็นเกมหรือเวทีที่สหรัฐอเมริกาจะทำได้ทั้ง 3 ข้อนี้ สหรัฐอเมริกาจึงน่าจะเปิดเวทีใหม่มากกว่า คงไม่กระโดดกลับเข้ามา CPTPP

แน่นอนว่า ภาพที่เราจะได้เห็น...หลังสหรัฐอเมริกาเคลียร์ศึกเลือกตั้งเสร็จสิ้น คือ การสร้างบทบาทและเวทีใหม่ที่สหรัฐอเมริกาพอจะมีบทบาทเทียบเท่ากับจีนที่วางท่าทีคุมสนาม RCEP อยู่ในเวลานี้ ส่วนอินเดียจะเลือกกลับเข้า RCEP ตามการรอคอยของจีน หรือหันไปจับมือกับสหรัฐอเมริกา ...ก็นับว่าเป็นเรื่องน่าติดตามในปี 2021 ทั้งสิ้น ซึ่งมองดูแล้ว...ความเป็นไปได้ติดลบพอๆ กันทั้ง 2 ทาง.

ข่าวน่าสนใจ :

ข้อมูลอ้างอิง :

  • อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 16 พ.ย. 2563 เวลา 17:32 น. เท่ากับ 30.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ